อินโดนีเซียจับผู้ประท้วงหลายพัน-เหตุชุมนุมต้านกฎหมายทำลายกลไกคุ้มครองแรงงาน

ทางการอินโดนีเซียจับกุมประชาชนหลายพันคนที่เข้าร่วมชุมนุมประท้วงต่อต้านกฎหมายฉบับใหม่ หลังจากที่มีการชุมนุมต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยที่กฎหมายฉบับใหม่ของอินโดนีเซียที่รัฐบาลอ้างว่าเพื่อดึงดูดการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ถูกวิจารณ์ว่าได้ยกเลิกกลไกคุ้มครองแรงงานที่เคยมี รวมทั้งเรื่องเงินค่าแรงขั้นต่ำและวันหยุด

หนังสือพิมพ์ The Jakarta Post ฉบับวันที่ 7 ตุลาคม 2020 ลงข่าวการประท้วงทั่วประเทศของคนงานอินโดนีเซียที่เริ่มต้นเมื่อ 6 ตุลาคม 2020

สำนักงานตำรวจแห่งชาติอินโดนีเซียเปิดเผยเมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ผ่านมาว่าพวกเขาจับกุมตัวผู้ประท้วงทั่วประเทศอินโดนีเซียรวมแล้ว 3,862 ราย จากการประท้วงต่อเนื่องในช่วงไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นการประท้วงต่อต้านกฎหมายใหม่ของอินโดนีเซียที่จะกระทบสิทธิคนทำงาน

กฎหมายฉบับใหม่นี้ฝ่ายรัฐบาลอ้างว่าเป็น "กฎหมายสร้างงาน" ที่เพิ่งผ่านร่างไปในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว เรื่องนี้ทำให้มีผู้คนในอินโดนีเซียจำนวนหายหมื่นคนออกมาประท้วง รวมถึงมีการนัดหยุดงานประท้วงในหลายเมือง ในรายงานของยะฮูนิวส์รายงานว่าการประท้วงในช่วงต้นสัปดาห์ที่แล้วเป็นไปอย่างค่อนข้างสงบ แต่ก็มีการจับกุมผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งที่ตำรวจกล่าวหาว่าพวกเขามีระเบิดขวดหรืออาวุธมีคมไว้ในครอบครอง

ในหมู่ผู้ที่ถูกจับกุมตัวนั้นมีทั้งคนทำงานและนักเรียนนักศึกษารวมถึงกลุ่มที่ทางการกล่าวหาว่าเป็น "พวกอนาธิปไตย" ตำรวจอ้างว่ากลุ่มคนที่ถูกจับกุมก่อเหตุทำลายทรัพย์สินและยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบในสังคม โฆษกของตำรวจเปิดเผยว่าคนที่ถูกจับกุมมีนักเรียนนักศึกษาอยู่ประมาณ 1,991 ราย และมีกลุ่มที่ทางการอ้างว่าเป็นอนาธิปไตย 796 ราย ทั้งนี้ยังมีผู้ประท้วงบางส่วนที่ได้รับบาดเจ็บและถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา สื่อจากาตาร์โพสต์ระบุว่าการประท้วงในอินโดนีเซียเริ่มรุนแรงมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

กฎหมายฉบับที่เป็นปัญหานี้เพิ่งมีการผ่านร่างไปเมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่ผ่านมาในสภาของอินโดนีเซีย ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีการเปลี่ยนแปลงในหลายด้านของอินโดนีเซียทั้งด้านการดำเนินธุรกิจ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยที่ร่างกฎหมายนี้มีความยาว 1,028 หน้า และเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเดิม 79 ฉบับ รวมถึงกฎหมายแรงงาน โดยมีการอ้างว่าการแก้ไขกฎหมายเหล่านี้เป็นไปเพื่อ "ดึงดูดการลงทุน" และ "กระตุ้นเศรษฐกิจ"

ถึงแม้ว่าประธานาธิบดี โจโค วิโดโด จะเคยมีกฎหมายฉบับนี้โดยบอกว่ามันจะเป็นการลดกระบวนการทางราชการในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความคล่องตัวหลังจากที่อินโดนีเซียมีเศรษฐกิจหดตัวลดลงร้อยละ 5.3 ในช่วงไตรมาสที่สองของปีนี้ แต่ส่วนหนึ่งในการแก้กฎหมายนี้ก็กลายเป็นการทำให้การคุ้มครองคนทำงานถดถอยลง

ตัวอย่างเช่นการที่ร่างกฎหมายฉบับล่าสุดจะยกเลิกการจัดแบ่งค่าแรงขั้นต่ำตามภาคส่วนการทำงานกลายเป็นการให้อำนาจผู้ว่าราชการในส่วนภูมิภาคสามารถกำหนดค่าแรงขั้นต่ำได้เอง นอกจากนี้ยังยกเลิกเงินชดเชยแก่คนทำงานจากเดิมที่ตั้งไว้สูงสุดเทียบเท่าเงินเดือน 32 เดือน กลายเป็นสูงสุดเทียบเท่าเงินเดือน 19 เดือน อย่างไรก็ตามรัฐบาลระบุว่าจะใช้เงินงบประมาณจ่ายชดเชยเพิ่มเติมให้กับคนที่ต้องออกจากงานเทียบเท่าเงินเดือน 6 เดือน

การคุ้มครองแรงงานที่แย่ลงอีกเรื่องหนึ่งคือเวลาทำงาน โดยที่กฎหมายใหม่จะอนุญาตมีชั่วโมงทำงานล่วงเวลาได้มากที่สุด 4 ชั่วโมงต่อวันและ 18 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ กฎหมายระบุให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องให้แรงงานหยุดงานได้ 1 วันต่อสัปดาห์เท่านั้นจากเดิม 2 วันต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ยังลดความเข้มงวดในเรื่องการจ้างงานแบบจัดจ้างภายนอกหรือ Outsource อีกด้วย

นอกจากกรณีแรงงานแล้วร่างกฎหมายใหม่ยังจะทำให้มาตรฐานการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมลดลง โดยจะอนุญาตให้ธุรกิจส่งข้อมูลการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมห้ทางการแต่เฉพาะโครงการที่ถูกประเมินว่ามีความเสี่ยงสูงเท่านั้น

เรียบเรียงจาก

Thousands arrested, over 100 injured in jobs law protests, The Jakarta Post, 09-10-2020

Indonesia: Thousands protest against 'omnibus law' on jobs, Yahoo!, 08-10-2020
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท