Skip to main content
sharethis

ส.ว.สหรัฐ 9 ราย นำโดยบ็อบ เมเนนเดซ กมธ.ต่างประเทศ เสนอข้อมติวุฒิสภาเพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมในประเทศไทย แทมมี ดักเวิร์ธ ขอให้ผู้นำไทยรับฟังประชาชนและเคารพหลักการประชาธิปไตย

3 ใน 9 ส.ว. สหรัฐฯ ที่เสนอข้อมติสนับสนุนประชาธิปไตยไทย (จากซ้ายไปขวา) บ็อบ เมเนนเดซ, ดิก เดอร์บิน และ แทมมี ดักเวิร์ธ (ที่มา: แฟ้มภาพ/วิกิพีเดีย)

เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. บ็อบ เมเนนเดซ วุฒิสมาชิกสหรัฐ รัฐนิวเจอร์ซีย์ สมาชิกอาวุโสของคณะกรรมาธิการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วุฒิสภาสหรัฐ และดิก เดอร์บิน วุฒิสมาชิกจากรัฐอิลลินอยส์ นำสมาชิกวุฒิสภารวม 9 รายชื่อ เข้าร่วมเสนอข้อมติของวุฒิสภา เพื่อย้ำถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐอเมริกาต่อสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมในประเทศไทย ข้อมติของวุฒิสมาชิกเกิดขึ้นหลังจากที่การเดินขบวนประท้วงของประเทศไทยเมื่อเร็ว ๆ นี้ และถูกปราบปรามด้วยความรุนแรง

วุฒิสมาชิกคนอื่นๆ ที่ร่วมกับ เมเนนเดซ และเดอร์บิน ในการเสนอมติ ได้แก่ วุฒิสมาชิก เบน คาร์ดิน (Ben Cardin) (D-Md.), ไดแอน ไฟน์สทีน (Dianne Feinstein) (D-Calif.), คริส คูนส์ (Chris Coons) (D-Del.), เอ็ด มาร์คีย์ (Ed Markey) (D-Mass.) จอน ชาฮีน (Jeanne Shaheen) (DN. H. ), แทมมี ดักเวิร์ธ (Tammy Duckworth) (D-Ill.) และคริส เมอร์ฟี (Chris Murphy) (D-Conn.)

"ในช่วงเวลาที่ประชาธิปไตยไทยถูกโจมตีมาเป็นเวลานาน เป็นเรื่องสำคัญที่วุฒิสภาสหรัฐอเมริกาจะยืนหยัดร่วมกับขบวนการประชาธิปไตยในประเทศไทย” เมเนนเดซกล่าว “นักปฏิรูปประเทศไทยไม่ต้องการการปฏิวัติ พวกเขาเพียงแค่โหยหาการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประชาธิปไตยในระบบการเมืองของประเทศของตน ให้มีเสรีภาพในการพูดและการชุมนุมและเพื่อให้ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมของประเทศประชาธิปไตย ด้วยมตินี้เราส่งข้อความที่ชัดเจนถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและการสนับสนุนเสรีภาพในการพูดและเสรีภาพในการชุมนุมในประเทศไทย และขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายไม่ให้ใช้ความรุนแรงหรือการคุกคามโดยไม่จำเป็น สหรัฐฯ จำเป็นต้องแสดงความชัดเจนต่อคนไทยและประชาคมระหว่างประเทศว่าพันธมิตรและความร่วมมือระยะยาวกับไทยจะยังคงอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์และคุณค่าร่วมกันและการเคารพซึ่งกันและกันต่อประชาธิปไตยสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและหลักนิติธรรม"

"ประเทศไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญของอเมริกา ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ก้าวขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือเพื่อนบ้านชาวพม่าในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย วันนี้ทั่วโลกกำลังจับตาดูขณะที่คนไทยเปล่งเสียงเพื่อยืนยันปณิธานประชาธิปไตยแบบเดียวกับที่พวกเราชาวอเมริกันยึดถือเป็นอย่างยิ่ง" เดอร์บินกล่าว "ในขณะที่คนไทยถกเถียงกันเรื่องการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ อนาคตทางการเมืองของพวกเขาควรถูกกำหนดผ่านการเจรจาอย่างสันติ ไม่ใช่การใช้ความรุนแรงการคุกคามหรือการกดขี่ข่มเหง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงของนักเรียนและเยาวชนไทยที่กล้าหาญจำนวนมากสมควรได้รับความสนใจและเคารพ"

"ในฐานะคนไทย–อเมริกันที่ต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิในการประท้วงอย่างสันติที่บ้าน ดิฉันรู้ดีว่าความสัมพันธ์อันยาวนานและแน่นแฟ้นระหว่างสหรัฐฯ และไทยตลอดจนสิทธิในระบอบประชาธิปไตยของแต่ละคนมีความสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาและปกป้อง" แทมมี ดักเวิร์ธกล่าว "ประเทศไทยเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งกับสหรัฐฯ ทั้งในแง่ของความมั่นคงแห่งชาติที่เรามีร่วมกันและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและคนไทยมีประวัติศาสตร์ที่น่าภาคภูมิใจในการปฏิรูปประชาธิปไตย ดิฉันขอให้ผู้นำไทยรับฟังประชาชนและเคารพหลักการประชาธิปไตยซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของรัฐบาลที่พวกเขาทำงานอย่างหนักเพื่อก่อตั้ง"

ทั้งนี้ในข้อมติของวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ระบุ 5 ข้อเสนอในเอกสารได้แก่ 1. เน้นย้ำความสัมพันธ์สหรัฐฯ - ไทย บนพื้นฐานของคุณค่าทางประชาธิปไตยและผลประโยชน์ด้านยุทธศาสตร์ร่วมกัน

2. สนับสนุนชาวไทยในการเรียกร้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย การปฏิรูปการเมือง สันติภาพในระยะยาว และการเคารพมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล

3. เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปกป้องและสนับสนุนประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม และสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสันติ เสรีภาพในการแสดงออก และปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข รวมทั้งหยุดคุกคาม ข่มขู่ หรือข่มเหงผู้เข้าร่วมประท้วงอย่างสันติ เน้นการดูแลสิทธิและความปลอดภัยของเด็กและนักเรียนนักศึกษาเป็นพิเศษ

4. เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ สนับสนุนสิทธิของชาวไทยในการกำหนดอนาคตของพวกเขาอย่างสันติและเป็นไปตามหลักประชาธิปไตย

5. ระบุอย่างชัดเจนว่าการทำรัฐประหารเพื่อแก้วิกฤติทางการเมืองในปัจจุบันจะทำให้เกิดผลในทางตรงกันข้าม และอาจส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-ไทย มากขึ้น

อนึ่งในเอกสารระบุถึงสถานการณ์การเมืองไทยนับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ว่าต่อมาวงจรการเกิดรัฐประหารและรัฐบาลทหารหลายครั้งในรอบเกือบศตวรรษ การรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2557 การประกาศใช้รัฐธรรมนูญปัจจุบันที่ร่างโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ทำให้ "ประชาธิปไตยในไทยและการคุ้มครองสิทธิตามรัฐธรรมนูญเสื่อมถอย"

กลุ่ม Association for Democracy, United States of America แปลมติดังกล่าว โดยมีรายละเอียดดังนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net