Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์ 'รอมฎอน ปันจอร์' ผู้ชวนเข้าชื่อถึงสำนักจุฬาฯ วินิจฉัยเรื่อง 'ซื้อสิทธิ์ ขายเสียง' เรื่องที่ยังไม่พบคำวินิจฉัยและความเห็นของจุฬาก่อนหน้านี้ และเรื่องที่น่าแปลกที่ยังเป็นข้อถกเถียง ทั้งที่ควรจะเป็นบรรทัดฐานไปแล้ว

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ที่ผ่านมาปรากฎการรณรงค์ร่วมลงชื่อผ่านการชักชวนทางเฟซบุ๊ก Romadon Panjor ซึ่งเป็นของ รอมฎอน ปันจอร์ นักวิชาการ สถาบันเฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ เรื่อง ขอให้สำนักจุฬาราชมนตรี และองค์กรกิจการด้านศาสนา ได้วินิจฉัยเรื่องการซื้อสิทธิ์ ขายเสียง ตามฮูกุ่ม(บทบัญญัติของศาสนา) ภายใต้บรรยากาศของการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งจังหวัดชายแดนใต้ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และภายใต้บรรยากาศ ท่ามกลางกระแสทางการเมืองที่มีการพูดถึงประชาธิปไตยเป็นอย่างสูง (เช้าวันที่ 21 ธ.ค.63 มีผู้ร่วมลงชื่อแล้ว 250 คน)

ในโอกาสนี้จึงพูดคุยกับ รอมฎอน เพิ่มเติมถึง ความหมายของการเลือกตั้งท้องถิ่นจังหวัดชายแดนใต้ว่าสะท้อนอะไรบ้าง บทบาทหน้าที่ของสำนักจุฬาต่อประเด็นการเมืองและกระแสตอบรับหลังจากเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกนี้

 

ต่อประเด็นความหมายหรือสิ่งที่สะท้อนออกมาหลัง การเลือกตั้งท้องถิ่นจังหวัดชายแดนใต้ในครั้งนี้ รอมฎอน กล่าวว่า ผลการเลือกตั้ง ทั้ง จ.ยะลา จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส แชมป์เก่าก็ยังสามารถครองตำแหน่งเอาไว้ได้ แต่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ ในพื้นที่ของจังหวัดนราธิวาส มีการพยายามรวมกลุ่มกันข้ามกลุ่มข้ามพรรคการเมือง เพื่อพยายามอย่างสูงในการล้มแชมป์เก่า แต่ผลก็ไม่สำเร็จ และที่น่าสังเกตอีกอย่างก็คือ ตัวแทนของคณะก้าวหน้าได้คะแนนในอันดับที่ 3

อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบคะแนนของตัวแทนของคณะก้าวหน้ากับคะแนนการเลือกตั้งอนาคตใหม่ ในปี 2562 พบว่าคะแนนนั้น ก็ไม่ต่างกันมากนัก

รอมาฎอน บอกว่า โดยส่วนตัวไม่ได้สนใจผลการเลือกตั้งเป็นหลัก ว่าใครจะชนะใครจะแพ้ แต่สิ่งที่สนใจและเชิญชวนคนอื่นๆ มาร่วมลงชื่อในจดหมายฉบับนี้ด้วย คือข้อชี้ขาดตามกรอบของศาสนา

นักวิชาการจากสถาบันเฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ยังมองว่า การเลือกตั้ง ภายใต้วัฒนธรรมทางการเมืองในปัจจุบันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีคนพูดถึงการซื้อสิทธิ์ขายเสียง อย่างที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าในระดับโครงสร้าง ก็มีกฎหมายการเลือกตั้งที่ระบุไว้ชัดเจน โดยส่วนตัวจะขอไม่พูดในมิตินี้ เพราะทราบดีอยู่แล้ว ว่าการซื้อสิทธิ์ขายเสียง เป็นการทำลายหลักการ ของการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ซึ่งเป็นส่วนประกอบร่างสำคัญในระบอบประชาธิปไตยเป็นที่ทุนเดิมอยู่แล้ว แต่บริบทชายแดนใต้ ซึ่งชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม จึงมีหลักการที่ยึดถือไม่ใช่แค่ในมิติกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่ยังพบว่ามีวัฒนธรรมทางการเมืองและการพยายามในการสร้างชุดคำอธิบายอันประกอบไปด้วยหลักการศีลธรรมที่พ่วงกับความเชื่อทางศาสนาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งความเข้าใจแต่เดิม คือเข้าใจผิดมาโดยตลอด ว่าทั้งผู้รับและผู้ให้สินบนนั้น รับรู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นขัดกับกฎหมายและหลักศีลธรรม แต่มันไม่ใช่อย่างที่คิด กลับพบว่ามีนักบรรยายศาสนา ให้คำอธิบายว่าการให้เงินของนักการเมือง ซึ่งต้องดูที่ต้นเจตนาเป็นหลัก ว่าการให้เงินหรือของมีค่าอย่างอื่นนั้น เป็นผลให้การตัดสินใจในการลงคะแนนเสียงของบุคคลนั้นเปลี่ยนไปหรือไม่ ถ้าหากว่าไม่ ก็ถือว่าเงินหรือของมีค่านั้นรับเอาไว้ได้ โดยไม่ขัดต่อหลักการศาสนาแต่อย่างใด จึงมีการพยายามในการปรับใช้คำเพื่อให้สอดคล้องกับการให้ดังกล่าว เช่น ฮิบะห์ ซอดาเกาะห์ (การบริจาคทาน ที่ให้โดยเสน่หา) หรือคำว่าฮาดิยะห์ (ให้เป็นของขวัญกำนัน) เพื่อหลีกเลี่ยงคำที่ตรงความหมายอย่างคำว่าริชวะห์ ที่แปลว่าสินบน หรือเงินซื้อเสียง   

ยังไม่พบคำวินิจฉัยและความเห็นของจุฬาก่อนหน้านี้

จากความเห็นที่ต่างกันของบรรดาผู้รู้ศาสนาและนักบรรยาย ในการสร้างคำอธิบายเพื่อกำกับความคิดให้รองรับต่อการกระทำแบบนี้ เมื่อย้อนกลับไปดู พ.ร.บ.องค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 มาตรา 8 วรรค 4 พบว่าจุฬาราชมนตรีสามารถออกประกาศเกี่ยวกับข้อวินิจฉัยตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามได้ การร่วมลงรายชื่อในครั้งนี้ก็เป็นไปตามช่องทางและกระบวนการที่สามารถทำได้ รอมฎอนกล่าวว่า จากการค้นในเว็บไซต์ของสำนักจุฬา https://www.skthai.org/th/pages/6799  ต่อคำตัดสินในเรื่องนี้ กลับไม่พบคำวินิจฉัยและความเห็นของจุฬาแต่อย่างใด

ทั้งนี้มีบทความของ วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะประธานศูนย์ประสานงานสำนักจุฬาราชมนตรี (ภาคใต้) ที่ยกบทตัวบทฮาดิษ(วจนะของศาสดามูฮัมหมัด) ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับสินบน จะถูกสาปแช่งโดยพระผู้เป็นเจ้า

น่าแปลกที่ยังเป็นข้อถกเถียง ทั้งที่ควรจะเป็นบรรทัดฐาน

รอมฎอน กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าแปลกใจคือสิ่งเหล่านี้กลายเป็นข้อถกเถียงในบริบทแบบนี้ ท่ามกลางกระแสการเลือกตั้งแบบนี้ มันกลายเป็นข้อถกเถียงได้อย่างไร ทั้งๆ ที่มันควรจะเป็นบรรทัดฐานของสังคมต่อเรื่องดังกล่าว ว่าการกระทำในลักษณะการให้สินบนมันไม่ถูกต้องแน่ๆ แต่ในเมื่อมันมีความเห็นที่หลากหลาย ทั้งสอดรับกับตัวบทกฎหมายซึ่งเป็นหลักปฏิบัติร่วมกัน และยังมีความเห็นที่ต่างออกไป ด้วยอำนาจของจุฬาราชมนตรีสามารถที่จะชี้ขาดต่อประเด็นดั่งกล่าวได้ เพื่อสร้างความกระจ่างแจ้งให้กับประชาคมมุสลิมไทย และเมื่อเราไปย้อนดูของประเทศอื่นที่มีมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ เช่นอินโด หรืออียิปต์ ก็มีคำวินิจฉัยโดยองค์กรกิจการด้านศาสนาอย่างชัดเจน ว่าการซื้อสิทธิ์ขายเสียงนั้นขัดต่อบทบัญญัติศาสนา แต่ไม่ใช่สำนักจุฬาราชมนตรีเพียงอย่างเดียว ที่จะยื่นหนังสือเพื่อให้วินิจฉัย ยังมีสภาอุลาอฺฟาฏอนีดารุสลาม(สภาผู้รู้และนักวิชาการศาสนาในสามจังหวัดชายแดนใต้)ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่ได้ถูกจัดตั้งอย่างเป็นทางการ แต่มีอำนาจในการชี้นำสังคมมุสลิมในชายแดนใต้ ความคาดหวังในครั้งนี้ คือการให้องค์กรและผู้ที่เชี่ยวชาญในหลักการบทบัญญัติ ได้ชี้ขาดต่อประเด็นคำถาม อาจจะเห็นด้วยหรือเห็นต่างกันก็ได้ ซึ่งจะสามารถถกเถียงในหลักวิชาต่อไป แต่อย่างน้อยที่สุด มันจะสร้างฐานการอ้างอิงที่ยึดโยงกับความเชื่อและหลักการผ่านผู้รู้ทางศาสนา

กระแสตอบรับ

สำหรับกระแสตอบรับหลังออกจดหมายเปิดผนึกเชิญชวนนั้น รอมฎอน กล่าวว่า มีกระแสการตอบรับที่หลากหลายและแตกต่างออกไป บ้างก็ให้ความเห็นว่ามันเป็นเรื่องปกติที่ต้องมีพร้อมกับการเลือกตั้ง แต่ก็มีเสียงที่บอกว่าให้ถึงที่สุดเงินไม่ใช่ปัจจัยสำคัญเพียงอย่างเดียวที่จะชีวัดผลการเลือกตั้ง เพราะยังมีปัจจัยอื่น และประชาชนก็มีการปรับตัวรับรู้เท่าทันและต่อรองมากขึ้น เราอาจจะได้เห็นกระแส “รับแต่ไม่เลือก”อยู่บ้าง ซึ่งประเด็นนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผมสนใจในครั้งนี้ ประเด็นหลักๆคือ มิติการเมืองกับศาสนาในการเลือกตั้งเราจะสร้างบรรทัดฐานไว้อย่างไรทั้งในฐานะพลเมืองไทยและประชาชาติอิสลาม ที่น่าสังเกตคือรอมาฎอนชี้ให้เห็นว่า อย่างน้อยที่สุดมันมีจุดร่วมในประเด็นดังกล่าวอยู่สามกลุ่มหลักๆ

กลุ่มแรกคือฝ่ายที่เชื่อในการหลักการประชาธิปไตย ว่าการซื้อสิทธิ์ขายเสียงจะเป็นการทำลายการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ฝ่ายที่สองคือ ฝ่ายที่ยึดโยงตัวเองกับหลักการศาสนาก็จะบอกว่าริชวะห์ หรือเงินซื้อเสียงนั้นเป็นสินบนที่ขัดกับหลักการศาสนาอย่างชัดเจน และฝ่ายที่สามคือฝ่ายที่ต้องการบอกกับสังคมว่าประชาชาติหนึ่งๆ ในสังคมนั้นๆ สามารถที่จะกำหนดชะตากรรมตนเองได้ (Rights Self Determinations) ซึ่งแน่นอนอยู่แล้วว่ามันต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน แต่หนึ่งในนั้นคือการให้สิทธิ์ในการออกความเห็นและตัดสินใจต่อการลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งเพื่อสื่อถึงเจตนารมณ์ของประชาชาตินั้นได้อย่างแท้จริง จะเป็นไปไม่ได้ หากไม่สามารถที่จะสลัดอิทธิพลหรือปัจจัยอย่างอื่นที่จะควบคุมการเลือกตั้ง เช่นการซื้อสิทธิ์ขายเสียง และยังมีกระแสที่บอกว่าจะให้สำนักจุฬาฯเข้ามาชี้ขาดได้อย่างไร ในเมื่อที่มาของเก้าอี้ต่างๆในสำนักจุฬาฯ ก็ยังมีข้อกังขาต่อสังคมอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน แต่รอมาฎอนก็บอกว่า นั้นไม่ใช่สิ่งที่เขากังวัลใจต่อให้มันเป็นจริงอย่างข้อกังขาสักทีก็ตาม แต่การยื่นจดหมายในครั้งนี้ เพียงเพราะยื่นในฐานะว่าสำนักจุฬามีอำนาจในการชี้ขาดต่อข้อคำถามและบทบัญญัติในลักษะณะแบบนี้

สำหรับ ฟาห์เรนน์ นิยมเดชา ผู้รายงานข่าวนี้ เป็นนักศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ปัจจุบันฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net