ประชาชนทุกคนเท่าเทียมกัน แต่ประชาชน (เสื้อเหลือง) บางคนเท่าเทียมกว่าคนอื่น ๆ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 “สัตว์ทุกตัวเท่าเทียมกัน แต่สัตว์บางตัวเท่าเทียมกว่าตัวอื่น ๆ”

(“All animals are equal, but some animals are more equal than others.”)

ประโยคคลาสสิคจากหนังสือเรื่อง ‘แอนิมอลฟาร์ม’ (Animal Farm) ของจอร์จ ออร์เวล (George Orwell, 1903-1950) ที่ครั้งหนึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยแนะนำให้คนไทยอ่านเป็นคู่มือดำเนินชีวิต ดูจะมองเห็นภาพชัดขึ้นในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ฉีดน้ำแรงดันสูงและแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้ชุมนุมกลุ่ม ‘คณะราษฎร 2563’ ตั้งแต่ช่วงบ่าย เพียงเพราะพวกเขาต้องการไปปักหลักหน้าอาคารรัฐสภา เพื่อกดดันให้ในสภารับร่างรัฐธรรมฉบับประชาชน

ในขณะที่อีกฝ่าย ‘กลุ่มไทยภักดี’ ที่เดินทางมาคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนตั้งแต่เช้า กลับได้รับการต้อนรับเข้าไปประชิดอาคารรัฐสภาเป็นอย่างดี ภาพที่ตัดกันเช่นนี้ เกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติต่อทั้งสองฝ่ายอย่างไม่เท่าเทียมกัน

ในเมื่อตามหลักการประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกันทุกคน ไฉนจึงมีประชาชนบางคนเท่าเทียมกว่าคนอื่น ๆ อยู่

ภาวะที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพราะสีของอาภรณ์ที่สวมใส่บนร่างกาย หรือเพราะอุดมการณ์ทางการเมืองที่สอดแทรกอยู่ภายใต้อาภรณ์นั้นกันแน่…

ประวัติศาสตร์ถูกผูกขาด อย่าริเห็นต่างทางการเมือง

บ่อยครั้งที่เรามักจะได้ยินคำพูด คำสัมภาษณ์ หรือคำปราศรัยของตัวแทนคนเสื้อเหลืองกลุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาชีวะช่วยชาติ กลุ่มไทยภักดี คณะพลังแผ่นดินสยาม หรือกลุ่มเยาวชนช่วยชาติ ที่มีใจความสำคัญว่า การที่พวกเขาออกมาเคลื่อนไหวนั้น เป็นการปกป้องและเทิดทูน 3 สถาบันหลักของประเทศ ได้แก่ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์

อุดมการณ์ที่เขามุ่งปกป้องและเทิดทูนนั้น สัมพันธ์กับโครงเรื่องประวัติศาสตร์ไทยแบบกระแสหลัก ดังตัวอย่างที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ผู้ก่อตั้งกลุ่มไทยภักดี ให้สัมภาษณ์ในสารคดี SBS Dateline ตอน Thailand on the Brink ว่า

“ประเทศไทยมันเกือบ 800 ปี และมีสถาบันพระมหากษัตริย์มาตลอด และที่สำคัญที่สุด คือ เราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของตะวันตก งั้นเรามองว่า การที่สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ คือ ศูนย์รวมจิตใจ”

ถ้อยคำที่เอ่ยออกมาจากคำสัมภาษณ์นี้ สะท้อนความรับรู้และความเข้าใจประวัติศาสตร์ของกลุ่มคนเสื้อเหลืองที่ออกมาต่อต้านคณะราษฎร 2563 ได้เป็นอย่างดี

ประวัติศาสตร์ที่พวกเขาเลือกที่จะสมาทานอย่างสุดจิตสุดใจ ธงชัย วินิจจะกูล เรียกว่า ‘ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม’[1] (ราชา+ชาติ) กล่าวอย่างย่นย่อ คือ เป็นประวัติศาสตร์ที่มีการวางโครงเรื่องเป็นเส้นตรง ความเป็นชาติไทยในความหมายแบบรัฐชาติ (Nation state) มีความเป็นมาอันยาวนานตั้งแต่ยังไม่มีราชธานีอย่างเป็นทางการ จนมาถึงสมัยที่มี 4 ราชธานีเป็นลำดับต่อกัน ตั้งแต่สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ก็มีพระมหากษัตริย์เป็นผู้ปกครองทุกยุคทุกสมัย และมีบทบาทในการทำสงครามปกป้องดินแดนและกอบกู้เอกราชหลายต่อหลายครั้ง ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีความสามารถในการดำเนินนโยบายกับชาติตะวันตกจนรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้น ทำให้ไทยมีเอกราชมาจนถึงทุกวันนี้

วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ถือเป็นความทรงจำบาดแผลครั้งใหญ่ที่ไทยอยู่ในภาวะเกือบจะเสียเอกราชให้แก่ฝรั่งเศส ซึ่งมีผลต่อแนวคิดของชนชั้นนำในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา) ในการปรับเปลี่ยนวิธีการเขียนประวัติศาสตร์และการวางโครงเรื่องเสียใหม่ จากเดิมที่เป็นขนบการเขียนแบบพงศาวดาร ตำนาน หรือจดหมายเหตุ ใจความสำคัญของเนื้อหาเป็นการเล่าถึงประวัติศาสตร์แบบจารีตที่ไม่ได้มีกลิ่นอายของความเป็นรัฐชาติเจือปน ก็เปลี่ยนมาสู่การเขียนประวัติศาสตร์โดยสอดแทรกแนวคิดเรื่องรัฐชาติเข้าไป และลำดับการวางโครงเรื่องแบบใหม่ให้สอดคล้องกับคตินี้ โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้ที่ได้รับการยกย่องเป็น ‘พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย’ มีส่วนสำคัญที่ให้กำเนิดประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมขึ้นมา

เมื่อพิจารณาคำอธิบายประวัติศาสตร์รูปแบบนี้ร่วมกับคำสัมภาษณ์ของ นพ.วรงค์ หรือคำปราศรัยของคนอื่น ๆ ที่ปรากฏในหน้าสื่อทั่วไป จะเห็นได้ชัดว่าเป็นแนวคิดแบบเดียวกัน และยิ่งถ้าพิจารณาร่วมกับข้อเรียกร้องและคำปราศรัยของกลุ่มคณะราษฎร 2563 ก็เข้าใจได้ไม่ยากว่า ทำไมคนกลุ่มนี้ถึงออกมารณรงค์ปกป้องประวัติศาสตร์ที่พวกเขารักกันอย่างแข็งขัน เพราะเนื้อหาประวัติศาสตร์ที่สอดแทรกอยู่ในข้อเรียกร้องและคำปราศรัยของกลุ่มคณะราษฎร 2563 นั้น เป็นการตีแผ่ประวัติศาสตร์ไทยอีกโฉมหน้าหนึ่งที่ความเป็นชาติไทยไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยโบราณ และประวัติศาสตร์การปฏิวัติ 2475 ที่ได้รับการกล่าวขานอย่างมากบนท้องถนน รวมถึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์และชื่อของกลุ่มการเคลื่อนไหวไปแล้วนั้น ส่งผลสะเทือนต่อประวัติศาสตร์แบบที่พวกเขาสมาทานโดยตรง

แล้วอะไรที่ทำให้กลุ่มคนเสื้อเหลืองเลือกที่จะเชื่อถือประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมเพียงอย่างเดียว ?

ถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมา คนที่หยิบเสื้อสีเหลืองมาสวมใส่เพื่อปกป้องสถาบันหลักของประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในรุ่นเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) ที่เกิดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงช่วงทศวรรษ 2510 หรือยุคต้นของสงครามเย็น ซึ่งในขณะนั้น สหรัฐอเมริกาผู้นำโลกเสรีประชาธิปไตยได้ใช้ประเทศไทยเป็นฐานปฏิบัติการทางกำลังอาวุธและแผนจิตวิทยาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่ถูกมองว่าเป็นภัยแดงหรือปีศาจร้ายที่กำลังกลืนกินประเทศต่าง ๆ

ในช่วงสงครามเย็นนี้เองที่รัฐไทยได้ดำเนินการตามแผนจิตวิทยาของสหรัฐฯ อย่างแข็งขัน แลกกับการพัฒนาประเทศในหลายด้าน หนึ่งในเครื่องมือที่นำมาใช้ คือ ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้สถาบันกษัตริย์ไทยเป็นศูนย์รวมใจในการต่อต้านคอมมิวนิสต์[2]

เมื่อการมองว่าคอมมิวนิสต์เป็นปีศาจร้ายที่จะมาทำลายประเทศไทย กอปรกับประวัติศาสตร์แบบโฆษณาชวนเชื่อเพียงด้านเดียวที่พวกเขาต้องเสพซ้ำ ๆ และตอกย้ำจนกลายเป็นความเชื่อที่ฝังหัวไป ทำให้เมื่อมีผู้ที่คิดเห็นแตกต่างนอกรีตนอกรอยทางการเมืองแบบที่พวกเขายึดถือ พวกเขาจะรู้สึกว่ามีความชอบธรรมพอที่จะก่อความรุนแรงกับอีกฝ่ายได้

ใบอนุญาตก่อความรุนแรง ในบ้านเมืองที่มีวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด

ผลจากโฆษณาชวนเชื่อยุคสงครามเย็น ทำให้คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ซึมซับความรู้จากรัฐเพียงด้านเดียว ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือตามชนบท ภาพและตัวอักษรบนสื่อสิ่งพิมพ์ เสียงตามวิทยุ หรือภาพพร้อมเสียงในหน้าจอโทรทัศน์ ล้วนมีหน้าที่ปลูกฝังความเชื่อแบบรัฐลงไปให้ตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้คน

ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมที่วางโครงเรื่องแบบมีฝ่ายธรรมะ (ไทย) และฝ่ายอธรรม (ประเทศเพื่อนบ้านและตะวันตก) ที่ถูกเผยแพร่ภายใต้บริบทสงครามเย็น ได้สร้างความเข้าใจให้แก่ผู้คนที่เสพเนื้อหาว่า การสังหารอริราชศัตรูที่จะมาทำลายชาติบ้านเมืองย่อมทำได้ เพราะผู้ปกครองไทยในอดีตที่นำพาประเทศเป็นเอกราชได้ก็ทำแบบนี้เช่นกัน

ในช่วงสงครามเย็น รัฐไทยสร้างภาพลักษณ์ให้คอมมิวนิสต์เป็นปีศาจที่จะมาทำลายประเทศ แม้แต่พระสงฆ์ในร่มบวรพระพุทธศาสนาบางองค์ยังเอ่ยปลุกใจชาวพุทธว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ภาวะความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ที่ก่อตัวขึ้นในใจของผู้คนบางกลุ่ม ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ที่โหดเหี้ยมที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยในเช้าวันที่ 6 ตุลาฯ 2519 ภาพการสังหารและประชาทัณฑ์ศพที่สามารถค้นหาดูได้ทั่วไป ผลจากมุมมองทางประวัติศาสตร์แบบนี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดมันขึ้นมา

ฉะนั้น ภาพของประชาชนที่สวมใส่เสื้อเหลืองมีความเท่าเทียมกว่าประชาชนที่มาชุมนุมต่อต้านรัฐบาล จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด และไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากด้วย เพราะรัฐไทยมอบสถานะอภิสิทธิ์ชนให้คนบางกลุ่มมาโดยตลอด

เพียงแต่… อภิสิทธิ์ชนที่รัฐไทยมอบให้นั้น เป็นอภิสิทธิ์ที่มาพร้อมกับใบอนุญาตก่อความรุนแรง มิหนำซ้ำภายใต้วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดที่ไม่เคยสูญสิ้นไปจากสังคมไทย ก็สร้างความมั่นอกมั่นใจให้แก่ฝ่ายที่เลือกยืนอยู่ข้างรัฐในการที่จะฉวยโอกาสใช้ความรุนแรง

ภาพที่มีคนสวมใส่เสื้อเหลือง หมวกสีฟ้า ในมือถือก้อนหินขว้างใส่กลุ่มคณะราษฎร 2563 ก็ดี หรือภาพที่บางคนถือพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ขณะก่อความรุนแรงก็ดี สะท้อนให้เห็นถึง ความสัมพันธ์ระหว่างอุดมการณ์ทางการเมืองกับประวัติศาสตร์ที่มีส่วนสร้างความชอบธรรมให้แก่คนกลุ่มดังกล่าว โดยไม่ต้องไม่อธิบายอะไรให้มากความ

ขอจบบทความนี้ด้วยคำพูดของสรวิศ ชัยนามที่ว่า “การเมืองมีศัตรูได้ แล้วคุณไม่จำเป็นต้องรักศัตรูของคุณ เพียงแต่การไม่รักศัตรูไม่ได้ หมายความว่าจะต้องกำจัดและทำลายเสมอไป มันมีวิธีการปฏิบัติต่อศัตรูในลักษณะอื่นอยู่”[3]

 

 

อ้างอิง

[1] ธงชัย วินิจจะกูล, โฉมหน้าราชาชาตินิยม (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2559)

[2] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน ณัฐพล ใจจริง, ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2563)
[3] DemocracyXInnovation. (2563). In Their Views กับ สรวิศ ชัยนาม (II): สเปกตรัมของความเป็นซ้าย. จาก https://www.youtube.com/watch?v=q158-WGVBSc&fbclid=IwAR2--GFW7wrMPNYskypijtLoter5um7yNvQQd4-5-CBuBTFqEQaeJFiZ48M

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท