Skip to main content
sharethis

เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญถูกห้ามถ่ายทอดสดการประชุม กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้ทำหนังสือขออนุญาตแล้ว แต่ถูก รปภ. เชิญออกนอกอาคารรัฐสภาโดยไม่ได้รับการแจ้งเหตุผลและคำอธิบายที่ชัดเจน ด้านสิระ เจนจาคะ โฆษก กมธ. แจง ผู้มาถ่ายทอดสดไม่เป็นกลาง ทำให้ กมธ. ถูกเหยียดหยาม

22 ม.ค. 2564 เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) ทำหนังสือถึงวิรัช รัตนเศรษฐ ในฐานะประธานกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ) เนื่องจากในวันนี้มีการประชุมของรัฐสภาในวาระที่สอง ซึ่งจถกเถียงกันในรายละเอียดทีละมาตรา ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย

จารุวรรณ สาทลาลัย เจ้าหน้าที่เครือข่าย CALL เล่าว่า เดินทางไปถึงห้องประชุมกรรมาธิการ ชั้น 6 อาคารรัฐสภาเกียกกายตั้งแต่เวลาประมาณ 08.30 น. และยื่นหนังสือขออนุญาตถ่ายทอดสดให้ประธานกรรมาธิการก่อนที่การประชุมจะเริ่มในเวลา 09.30 น. สาเหตุที่ต้องมายื่นหนังสือล่วงหน้า เพราะเมื่อวานนี้มาตั้งกล้องถ่ายทอดสดแล้ว แต่เกิดความสับสน จึงถ่ายทอดสดไปได้ไม่ตลอด

จารุวรรณ เล่าย้อนว่า เครือข่าย CALL คุยกันว่า ในการประชุมกรรมาธิการแต่ละนัด จะมีเจ้าหน้าที่บันทึกวิดีโอและถ่ายทอดออกมายังจอโทรทัศน์ที่หน้าห้องประชุมอยู่แล้ว จึงอยากประสานงานเพื่อขอเข้าถึงสัญญาณการถ่ายทอดดังกล่าว แต่ประสานงานเบื้องต้นแล้วไม่ได้รับอนุญาต แต่ได้รับแจ้งว่า สามารถมาถ่ายต่อจากจอโทรทัศน์หน้าห้องอีกครั้งหนึ่งได้ และได้รับแจ้งว่าสื่อมวลชนก็ใช้วิธีการเดียวกันในการติดตามการประชุม

วันที่ 21 ม.ค. 2564 จารุวรรณเดินทางไปที่อาคารรัฐสภาเป็นครั้งแรก ได้พบและขออนุญาตประธาน กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยปากเปล่า ประธานรับทราบแล้วจึงออกมาตั้งกล้องถ่ายอยู่หน้าห้องประชุม ระหว่างการถ่ายทอดสดในช่วงเช้า ผ่านเฟซบุ๊กของเครือข่าย CALL เห็นการยกมือประท้วงของกรรมาธิการเป็นระยะว่า ไม่สบายใจที่มีคนมาถ่ายทอดสดอยู่หน้าห้อง ทั้งที่ไม่ใช่สื่อมวลชน ไม่ได้ลงทะเบียนสื่อกับกรมประชาสัมพันธ์ จากนั้น มีเจ้าหน้าที่เดินออกมาบอกให้หยุดถ่ายเป็นระยะ มีทั้งคนที่อ้างว่าเป็นเลขาฯ กรรมาธิการ และมี ส.ส. จำนวนหนึ่งออกมาบอกให้หยุดถ่าย

จารุวรรณเล่าต่อว่า เวลาประมาณ 12.00 น. เริ่มมีการแจกอาหารกลางวันให้กรรมาธิการรับประทานในห้อง เจ้าหน้าที่รัฐสภาคนหนึ่งจึงเดินมาบอกว่า กรรมาธิการจะกินข้าว ให้หยุดถ่ายเพราะเป็นภาพที่ไม่เหมาะสม แต่ขณะนั้นยังมีกรรมาธิการอภิปรายในเนื้อหาอยู่ จึงแจ้งกลับไปว่า เมื่อคนสุดท้ายพูดจบแล้วจะหยุดถ่ายทอดสด แต่เจ้าหน้าที่ก็ใช้วิธีตัดการถ่ายทอดสดจากในห้องประชุม ทำให้จอโทรทัศน์กลายเป็นจอดำ จากนั้นเมื่อการประชุมดำเนินต่อ ก็ไม่มีการถ่ายทอดสดออกมาที่จอโทรทัศน์ด้านนอกห้องประชุมอีก

ต่อมาวันที่ 22 ม.ค. 2563 เจ้าหน้าที่เครือข่าย CALL ทำหนังสือมายื่นต่อประธาน เพื่อขออนุญาตถ่ายทอดสดอย่างเป็นทางการ เพื่อไม่ให้มีข้อครหาจากรรมาธิการว่า “ใครก็ไม่รู้” มาถ่ายทอดสด และให้ข้อมูลว่า เมื่อยื่นหนังสือต่อเจ้าหน้าที่ประมาณ 08.30 น. โทรทัศน์ด้านหน้าห้องประชุมยังถ่ายทอดสดการประชุมจากด้านใน จนกระทั่งการประชุมกำลังจะเริ่มประมาณ 09.30 น. จอด้านนอกก็ถูกตัดสัญญาณอีกครั้ง แต่ยังพอมองผ่านกระจกเข้าไปเห็นการประชุมได้บ้าง การหารือในห้องประชุมดำเนินไปจนกระทั่งเวลา 10.30 น. เห็นว่ามีการยกมือเพื่อลงมติ ผลออกมา คือ 20 ต่อ 8 เสียง จึงเข้าใจได้เองว่า เป็นการลงมติเรื่องการอนุญาตให้ถ่ายทอดสด แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดมาแจ้งผลการขออนุญาตอย่างเป็นทางการ

ระหว่างที่กำลังรอเพื่อสอบถามจากเจ้าหน้าที่หรือกรรมาธิการที่อยู่ด้านในเกี่ยวกับผลการตอบคำขออนุญาต จารุวรรณเล่าว่า มีคนแจ้งว่าเป็นผู้อำนวยการฝ่ายรักษาความปลอดภัยมาสอบถามว่า ขึ้นมาได้อย่างไร จากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในเครื่องแบบตำรวจรัฐสภาสองนาย กับเจ้าหน้าที่สวมสูทหนึ่งนาย มาเชิญตัวออกจากพื้นที่ โดยอ้างเหตุโควิด-19 และให้เจ้าหน้าที่ 3 คนพาทีมงานของ CALL มาส่งจนถึงประตูทางออก ในเวลาประมาณ 11.10 น.

เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่พาตัวทีมงานเครือข่าย CALL ออกจากรัฐสภา

จากนั้น ในเวลาประมาณ 12.10 น. หลังจารุวรรณเดินทางกลับแล้ว ได้รับโทรศัพท์จากนิกร จำนง กรรมาธิการสัดส่วนพรรคร่วมรัฐบาล นิกรกล่าวขอโทษ พร้อมอธิบายว่า เจ้าหน้าที่ส่วนประชาสัมพันธ์ “เข้าใจผิด” ประชาชนสามารถกลับเข้าไปนั่งบริเวณหน้าห้องประชุมอย่างเดิมได้ แต่ยังคงห้ามถ่ายทอดสด

ต่อมา ประมาณ 13.00 น. สิระ เจนจาคะ ในฐานะโฆษก กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า สาเหตุที่ กมธ. พิจารณาช้ากว่ากำหนด เพราะมีกรรมาธิการบางคน “บ้าน้ำลาย” ทำให้เสียเวลาในการประชุมไปมาก มีเพียง 1-2 คนที่คิดว่าตัวเองดี ส่วนคนอื่นนั้นไม่ดี ขอให้หยุดบ้าน้ำลายและมีมารยาทด้วย

ส่วนกรณีที่ไม่อนุญาตให้ประชาชนถ่ายทอดสดนั้น เนื่องจากคนที่จะมาถ่ายทอดสดนั้นไม่ได้เป็นกลาง มีธงอยู่ในใจ ถ้าหากกรรมาธิการพูดสิ่งที่ไม่ตรงใจก็จะถูกด่า ถูกเหยียดหยาม เป็นการลิดรอนสิทธิของกรรมาธิการ ส่วนสื่ออื่นๆ ถ้าจะถ่ายทอดสดก็สามารถไปถ่ายได้เลย เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ถ้าไม่เชื่อก็ให้ไปดูความเห็นจากการถ่ายทอดสดของเฟซบุ๊กดังกล่าวในวันก่อนได้เลยว่า กรรมาธิการถูกด่าอย่างไรบ้าง

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net