Skip to main content
sharethis

หลังจากที่รัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์ พยายามทำให้สหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงปารีสและเพิกเฉยต่อปัญหาโลกร้อนมาโดยตลอด โจ ไบเดน ก็ให้สัญญาว่าจะทำให้สหรัฐฯ กลับเข้ามาอยู่ในลู่ในทางด้วยการคืนสู่ข้อตกลงปารีสอีกครั้ง แต่บทวิเคราะห์จากสื่อก็ระบุถึงอุปสรรคปัญหาต่างๆ ในสหรัฐฯ ที่รัฐบาลไบเดนจะต้องเผชิญหลังจากนี้


แฟ้มภาพ: NASA Climate Change

มากกว่า 3 ปีครึ่งหลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีประกาศว่าจะนำสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงปารีส รัฐบาลใหม่ที่นำโดยโจ ไบเดน ก็ประกาศว่าจะออกคำสั่งพิเศษให้สหรัฐฯ กลับเข้าร่วมกับข้อตกลงปารีสที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาโลกร้อนอีกครั้ง นับเป็นหนึ่งในสิ่งที่ไบเดนจะทำการยกเลิกนโยบายล้าหลังของทรัมป์

ถึงแม้ว่ากระบวนการการขอกลับคืนเป็นสมาชิกข้อตกลงปารีสจะไม่ซับซ้อน หนึ่งเดือนหลังจากที่สหรัฐฯ ส่งจดหมายให้กับสหประชาชาติพวกเขาก็จะได้กลับเข้าร่วมข้อตกลงนี้ แต่สิ่งที่ยากและท้าทายกว่านั้นคือคือการจะทำอย่างไรให้สหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่มีการปล่อยมลภาวะมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลกทำตามข้อตกลงได้

ในปี 2558 ที่สหรัฐฯ เข้าร่วมข้อตกลงปารีสพวกเขาให้สัญญาว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 26-28 ภายในปี 2568 เมื่อเทียบกับในปี 2548 อย่างไรก็ตามความพยายามเข้าถึงเป้าหมายนี้ก็ชะงักลงในสมัยทรัมป์ อีกทั้งสหประชาชาติยังเตือนว่าการที่จะจำกัดวิกฤตโลกร้อนให้อยู่แค่ที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสได้นั้น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะต้องลดลงเกือบครึ่งหนึ่งให้ได้ภายในปี 2573 ซึ่งถ้าหากจะทำได้ตามเป้าหมายไบเดนจะต้องมีนโยบายที่จะทำให้มันเป็นจริงได้

ราเชล คลีตัส ผู้อำนวยการนโยบายเพื่อโครงการด้านปัญหาภูมิอากาศและพลังงานจากสหภาพนักวิทยาศาสตร์ผู้เป็นห่วงปัญหาโลก กล่าวว่าการกลับเข้าร่วมข้อตกลงปารีสนั้นเป็นแค่จุุดเริ่มของการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น สหรัฐฯ ต้องทำให้มากกว่านี้เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่าพวกเขาก็มีส่วนร่วมกับการแก้ไขปัญหานี้ด้วย

คลีตัสมองว่าถึงแม้รัฐบาลไบเดนน่าจะสามารถทำได้สำเร็จในหลายเรื่องรวมถึงการยกเลิกความล้าหลังของสิ่งที่รัฐบาลทรัมป์เคยทำไว้ และเสนอให้สภาคองเกรสควรจะออกกฎหมายที่ส่งผลต่อเนื่องแม้จะเข้าสู่รัฐบาลใหม่ แต่ความท้าทายจริงๆ อยู่ที่เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกซึ่งคลีตัสมองว่าเป็นไปได้ยากที่สหรัฐฯ จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ครึ่งหนึ่งตามเป้าหมายถ้าหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากสภาคองเกรส

หนึ่งในสิ่งที่ไบเดนเคยหาเสียงไว้คือการให้สัญญาว่าจะทำให้ภาคส่วนพลังงานปราศจากก๊าซคาร์บอนภายในปี 2578 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุน 2 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สหรัฐฯ มีการขยับไปใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าอย่างรวดเร็วอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ในหลายส่วนของประเทศมีพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมที่ในตอนนี้ราคาถูกกว่า

เลียร์ สโตกส์ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนียซานตาบาร์บาราที่เน้นเรื่องการเมืองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและพลังงานกล่าวว่า นโยบายพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐฯ มีอยู่แล้วมากกว่าหนึ่งในสาม มันไม่ใช่แนวคิดใหม่ที่ฟังดูเหลวไหล ขณะเดียวกันขั้นตอนต่อไปของสหรัฐฯ คือการต้องเพิ่มระดับพลังงานหมุนเวียนและต้องอาศัยสภาคองเกรสในการออกกฎหมายที่สอดคล้องกันเพื่อเป็นการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ เช่น การทำให้เครื่องมืออิเล็กโทรนิคมีลักษณะเอื้อต่อพลังงานหมุนเวียนด้วย

ฟาสต์คอมพานีระบุว่า ยานยนต์อิเล็กโทรนิคเริ่มมีราคาถูกลงจนใกล้เคียงกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน แต่ก็ยังมีการขายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอยู่น้อยในสหรัฐฯ เทียบกับนอร์เวย์ที่มีสถิติการขายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าร้อยละ 54.3 ของรถยนต์ที่ขายได้ทั้งหมดในปี 2563 นั่นเพราะรัฐบาลมีการใช้งบประมาณสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อรถพลังงานไฟฟ้าเช่นสถานที่ชาร์จไฟด้วย สโตกส์กล่าวว่าถึงแม้สภาคองเกรสจะผ่านร่างกฎหมายเมื่อปลายปี 2563 ที่ผ่านมาที่มีเรื่องเกี่ยวกับพลังงานแต่ก็ยังขาดเรื่องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานแบบนี้

สิ่งปลูกสร้างก็ถือเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกแหล่งใหญ่เช่นกัน หนึ่งในการหาเสียงของไบเดนคือการปรับปรุงแก้ไขสิ่งก่อสร้าง 4 ล้านแห่งในแง่นี้และปรับเปลี่ยนบ้านเรือน 2 ล้านหลังเพื่อประหยัดพลังงานโดยจะมีการเสนอสิ่งจูงใจให้คนเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีพลังงานความร้อนแบบอื่นนอกเหนือจากเตาแก็สแบบดั้งเดิม สโตกส์บอกว่าผู้คนยังคิดถึงเรื่องการเปลี่ยนจากพลังงานซากดึกดำบรรพ์มาใช้อย่างอื่นภายในบ้านน้อยมาก ทั้งที่มันเป็นสิ่งจำเป็นทั้งต่อวกฤตภูมิอากาศโลกและต่อสุขภาวะของพวกเขาเองเพราะเชื้อเพลิงแบบเก่าเหล่านี้ทำให้เกิดมลภาวะทางการอากาศสูง

อีกภาคส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ถือภาคส่วนอุตสาหกรรม สโตกส์เสนอว่ารัฐบาลควรช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีกับภาคส่วนอุตสาหกรรมที่ทำการลดคาร์บอนได้ยากอย่างเช่นภาคส่วนอุตสาหกรรมเหล็กกล้า เพราะอุตสาหกรรมเหล่านี้ควรจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ถ้าหากมีการดำเนินการทั้งหมดนี้สโตกส์ก็เชื่อว่าจะสามารถทำตามเป้าหมายของข้อตกปารีสได้ภายในปี 2573

ฟาสต์คอมพานีระบุว่าถึงแม้หลายประเทศจะไม่ได้พยายามถอนตัวออกจากข้อตกลงเช่นเดียวกับสหรัฐฯ แต่พวกเขาก็ไม่ได้ดำเนินการได้เร็วพอในการปรับเปลี่ยนเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน ในตอนนี้สหรัฐฯ มีโอกาสแล้วที่จะทำให้เป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง คลีตัส กล่าวว่า มันเป็นช่วงเวลาที่มีความหวังมาก จากการที่รัฐบาลจะเน้นในสิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์และความยุติธรรม และแสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ จะหันไปให้ความร่วมมือกับประชาคมโลกและประเทศพันธมิตรของพวกเขาในเรื่องนี้


เรียบเรียงจาก
The U.S. rejoined the Paris Agreement. Now comes the hard part, Fast Company, 22-01-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net