#AsianAreHuman ปลุกกระแสต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติคนเอเชีย

โลกโซเชียลพร้อมใจกันติดแฮชแท็ก #AsianAreHuman เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้วิชา รัตนภักดี ชายไทยในสหรัฐฯ วัย 84 ปีที่ถูกชาวผิวขาวทำร้ายจนเสียชีวิต และเพื่อปลุกกระแสต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติชาวเอเชียให้สังคมได้รับรู้

5 ก.พ. 2564 ชาวเน็ตทั่วโลกร่วมใจกันเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ในโซเชียลมีเดียเป็นรูปของวิชา รัตนภักดี ชายไทยในสหรัฐอเมริกาวัย 84 ปี ผู้เสียชีวิตจากการถูกทำร้ายจนเสียชีวิต เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม พร้อมขับเคลื่อนกระแสต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติชาวเอเชีย

สำนักข่าวซีทีวีนิวส์ รายงานว่า เช้าวันที่ 28 ม.ค. 2564 วิชาถูกนำนำตัวส่งโรงพยาบาลในนครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย เนื่องจากถูกชายผิวขาวคนหนึ่งจู่โจมทำร้ายอย่างรุนแรง ขณะกำลังเดินออกกำลังกายในละแวกบ้านย่านแอนซาวิสตา เป็นเหตุให้วิชาเสียชีวิตในวันที่ 30 ม.ค. 2564

เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิด พบว่า ชายคนนั้นวิ่งพุ่งเข้ามาหาวิชาจากทางขวา และผลักวิชาจนล้มคว่ำลงอย่างแรง ก่อนจะเดินจากไปอย่างใจเย็น

หลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม อองตวน วัตสัน ชายวัย 19 ปี ผู้ก่อเหตุ และส่งเรื่องต่อไปยังอัยการ โดยอัยการประจำเขตซานฟรานซิสโกยื่นฟ้องวัตสันในข้อหาฆาตรกรรมและทำร้ายผู้สูงอายุจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ต่อมาในวันที่ 3 ก.พ. 2564 วัตสันขึ้นให้การในศาลครั้งแรก โดยเขาปฏิเสธทั้ง 2 ข้อกล่าวหา

“คดีฆาตรกรรมของวิชาสร้างความเจ็บปวดและสะเทือนในอย่างมากให้แก่ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย รวมถึงชาวอเมริกันเชื้อสายแปซิฟิก ซึ่งตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง ความเกลียดชัง และการเหยียดเชื้อชาติ นับตั้งแต่เกิดโรคระบาดมา” ชีซา โบเดน อัยการประจำเขตซานฟรานซิสโกกล่าว ทั้งยังเรียกการก่อเหตุครั้งนี้ว่าเป็นการกระทำที่ขาดสติและอันตรายอย่างยิ่ง

โลกโซเชียลผลักดันแฮชแท็ก #AsainAreHuman

หลังจากสื่อหลายสำนักรายงานข่าววิชาถูกทำร้ายจนเสียชีวิต คนเชื้อสายเอเชียโดยเฉพาะในโลกออนไลน์เริ่มออกมาเคลื่อนไหวตามสื่อโซเชียลต่างๆ โดยใช้แฮชแท็ก #AsianAreHuman และ #JusticeForVicha เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้ผู้เสียชีวิต และปลุกกระแสต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติชาวเอเชีย

โจนาธาน ดี. ชาง นักวาดภาพประกอบชาวอเมริกันและเป็นหนึ่งในผู้เคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมให้วิชา วาดภาพเหมือนของวิชาและโพสต์ลงอินสตาแกรมส่วนตัว พร้อมเขียนแคปชันว่า “ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของวิชา รัตนภักดี ผมหวังว่าคุณจะได้รับความยุติธรรม”

 

 

ชางเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวของซีทีวีนิวส์ว่า หลังเห็นวิดีโอจากกล้องวงจรปิดที่แชร์กันในโลกออนไลน์ ตนรู้สึกโกรธมากที่คนอเมริกันเชื้อสายเอเชียถูกทำร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่กลับไม่มีใครพูดถึง เพื่อนของชางจึงแนะนำให้เขาวาดภาพเหมือนของวิชาและเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ เพื่อสร้างความตระหนักในสังคม ให้คนได้รับรู้ว่าอาชญากรรมจากลัทธิต่อต้านคนเอเชียนั้นรุนแรงและโหดร้ายแค่ไหน

“คนสูงอายุอย่างวิชาสมควรได้ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย สบายๆ ในช่วงเวลาบั้นปลายของชีวิต ไม่ใช่ถูกฆ่าตายริมถนนแบบไร้เหตุผล” ชางกล่าว

“ยังมีคนอเมริกันเชื้อสายเอเชียอีกมากมายที่โดนทำร้าย โดยเฉพาะคนแก่ แต่แค่ไม่เป็นข่าว และไม่ได้รับความสนใจจากโลกโซเชียล แม้กระทั่งในชุมชนคนเอเชียเอง ถ้าเราไม่แสดงออกว่ามีความอยุติธรรมเกิดขึ้นกับตัวเรา แล้วใครที่ไหนจะมาสนใจ” ชางบอกกับผู้สื่อข่าว

 

 

เอริก ลอว์สัน ลูกเขยของวิชา ผู้สร้างแคมเปญระดมทุนออนไลน์เพื่อหาเงินจัดงานศพและสู้คดี เขียนข้อความใน GoFundMe เว็บไซต์ระดมทุนว่า “ตั้งแต่เกิดโรคระบาดมา ครอบครัวของเราต้องอดทนกับการคุกคามทางวาจานับครั้งไม่ถ้วน แต่ตอนนี้มันรุนแรงถึงขั้นชีวิต เห็นชัดแล้วว่าการเหยียดเชื้อชาติเป็นอันตรายถึงตาย การเหยียดคนเชื้อสายเอเชียกลายเป็นเรื่องอันตรายสุดขีดและน่าสะพรึงกลัวต่อชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียทุกคน โดยเฉพาะที่ซานฟรานซิสโก”

คนเอเชียในสหรัฐฯ ถูกเหยียดเชื้อชาติเพิ่มขึ้นเพราะโควิด-19

กระแสการเหยียดเชื้อชาติคนเอเชียเพิ่มมากขึ้นจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะในระยะแรกที่คนส่วนใหญ่เรียกไวรัสชนิดนี้ว่า ไวรัสอู่ฮั่น และค่อยๆ รุนแรงขึ้นเมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เรียกไวรัสชนิดนี้ว่า ไวรัสจีน และยังเรียกโรคโควิด-19 ว่า Kang Flu ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า Kang Fu โดยทรัมป์ตั้งใจจะสื่อว่าโรคชนิดนี้เป็นเพียงไข้หวัดใหญ่ แต่กลับพูดล้อเลียนถึงคำว่า กังฟู ซึ่งชื่อศิลปะการต่อสู้แขนงหนึ่งของจีน

รายงานขององค์กรต่อต้านความเกลียดชังต่อคนเอเชียแปซิฟิก (Stop AAIP Hate) ระบุว่า ตั้งแต่เดือน มี.ค.-ส.ค. 2563 ทางองค์กรได้รับรายงานเหตุเลือกปฏิบัติและเหยียดเชื้อชาติชาวเอเชีย ถึง 2,583 ครั้ง ซึ่งเกิดใน 47 จาก 50 รัฐในสหรัฐอเมริกา โดยเหตุการณ์กว่า 46% เกิดขึ้นในรัฐแคลิฟอร์เนีย

รายงานยังระบุอีกว่าผู้หญิงชาวเอเชียถูกคุกคามบ่อยกว่าผู้ชายถึง 2.4 เท่า และเหตุการณ์ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในที่สาธารณะ ได้แก่ ร้านค้าหรือพื้นที่ธุรกิจ (38%) ถนน (20%) ลานจอดรถ (11%) และโลกออนไลน์ (11%)

โจ ไบเดน ให้คำมั่นว่าจะปราบปรามการเหยียดเชื้อชาติคนเอเชีย

วันที่ 26 ม.ค. ที่ผ่านมา โจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ลงนามในบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการต่อต้านการเลือกปฏิบัติและการเหยีดยเชื้อชาติชาวอเมริกันเชื้อเอเชียแปซิฟิกที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ โดยระบุว่าตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด-19 คนเชื้อสายเอเชียแปซิฟิกที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และถูกคุกคามด้วยการเหยียดเชื้อชาติมากขึ้น รัฐบาลกลางในนามของตนจึงขอประณามการกระทำเหล่านั้น พร้อมให้ยืนยันว่ารัฐบาลมีหน้าที่รับผิดชอบและป้องกันการเหยียดเชื้อชาติ รวมถึงต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อทุกคนในสหรัฐอเมริกา ทั้งยังให้คำมั่นว่ารัฐบาลจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนเชื้อสายเอเชียแปซิฟิก ทั้งในด้านบริการสุขภาพและงานบริการสังคม เช่น การหาล่าม หรือเพิ่มทางเลือกภาษาในหน่วยงานราชการ รวมถึงให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายในกรณีเกิดอาชญากรรมจากการเหยียดเชื้อชาติ

ที่มา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท