Skip to main content
sharethis

เตือนแรงงานข้ามชาติเร่งตรวจโควิด-เก็บอัตลักษณ์ ก่อน 16 เม.ย. หลังคืบแค่ 3.9%

18 มีนาคม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้นำรัฐบาล ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อย่างยิ่ง ได้กำชับให้กระทรวงแรงงานซึ่งมีหน้าที่ กำกับ ดูแล การจ้างแรงงานต่างด้าวให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตรวจสอบและรายงานความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง

“สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน รายงานผลการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 29 ธันวาคม 2563 โดยข้อมูล ณ วันที่ 12 มีนาคม 2564 มีแรงงานต่างด้าวลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ (15 ม.ค. – 13 ก.พ. 64) จำนวน 654,864 คน แยกเป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา 203,679 คน ลาว 67,108 คน และเมียนมา 384,077 คน คนต่างด้าวได้รับอนุมัติบัญชีรายชื่อ จำนวน 599,201 คน หรือร้อยละ 91.5 จัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) จำนวน 209,985 คน หรือร้อยละ 32.07 ผ่านการตรวจหาเชื้อโควิด-19 จำนวน 25,546 คน หรือร้อยละ 3.9 และได้รับอนุญาตทำงาน (อนุมัติ บต.48) จำนวน 25,536 คน หรือร้อยละ 3.9 โดยขณะนี้ระยะเวลาที่กำหนดให้นายจ้าง/สถานประกอบการ พาแรงงานต่างด้าวไปจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) และตรวจหาเชื้อโควิด-19 เหลืออีกเพียง 1 เดือนเท่านั้น ซึ่งหากไม่ดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนวันที่ 16 เมษายน 2564 และดำเนินการต่อในขั้นตอนถัดไปตามระยะเวลาที่กำหนด จะทำให้มีสถานะเป็นแรงงานผิดกฎหมาย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา และผู้ติดตาม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2563 สามารถเข้ารับการตรวจโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กับสถานพยาบาลหรือหน่วยงานอื่นตามรายชื่อห้องปฏิบัติการเครือข่ายตรวจ SAR-CoV-2 ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ประกาศ ซึ่งสถานพยาบาลหรือหน่วยงานอื่นดังกล่าวได้ทำข้อตกลงกับสถานพยาบาลที่ได้รับการขึ้นทะเบียนประกันสุขภาพแล้ว และในส่วนการดำเนินการอื่นเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพ ให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ พ.ศ. 2564 ลงวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2564

“กรมการจัดหางาน ขอย้ำเตือน คนต่างด้าวทั้งที่มีนายจ้าง และยังไม่มีนายจ้าง เร่งนัดหมายเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด – 19 และซื้อประกันสุขภาพกับสถานพยาบาลของรัฐ (เป็นระยะเวลา 2 ปี) พร้อมทั้งดำเนินการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 โดยอย่ารอดำเนินการช่วงใกล้สิ้นสุดระยะเวลา เนื่องจากเดือนเมษายนมีวันหยุดตามเทศกาลสงกรานต์ติดต่อกันหลายวัน ซึ่งอาจทำให้นายจ้างและแรงงานต่างด้าวเองติดขัดหรือเกิดความไม่สะดวกในการดำเนินการ ทั้งนี้ ในส่วนการตรวจโรคต้องห้ามหากมีเหตุให้ดำเนินการไม่ทัน ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 ให้ไปดำเนินการให้แล้วเสร็จ ไม่เกินวันที่ 18 ตุลาคม 2564” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

สามารถสอบถามขั้นตอนขอรับใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่ไลน์ @Service_Workpermit หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694 ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำวิธีการดำเนินการ

ที่มา: มติชนออนไลน์, 18/3/2564

ส.อ.ท.ยื่นขอวัคซีนโควิด-19 นำร่องแสนโดส ควักจ่ายเองเร่งฉีดให้แรงงาน มิ.ย.ดัน ศก.

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ส.อ.ท.ได้หารือกับองค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข ที่จะเปิดให้เอกชนนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ที่ขึ้นทะเบียนต่อองค์การอาหารและยา (อย.) แล้วให้นำมาฉีดแก่แรงงานในภาคอุตสาหกรรมซึ่งเห็นว่าหลังจากฉีดให้แก่ผู้ที่จำเป็นและผู้ที่เสี่ยงสูงแล้ว ภาคแรงงานในอุตสาหกรรมและส่งออกมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจซึ่ง ส.อ.ท.ได้มีการสอบถามสมาชิกถึงความต้องการไปเบื้องต้นได้เสนอความต้องการมากกว่า 51,000 ราย จาก 109 บริษัท ใน 22 จังหวัดทั่วประเทศ คาดว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนในสถานที่ที่ภาครัฐจัดเตรียมให้เสร็จในระยะแรกภายในเดือน มิ.ย.นี้

“เรากังวลถ้าการระบาดยังขยายตัวอยู่เรื่อยๆ ซึ่งภาคผลิตและส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อน ยิ่งฉีดเร็วเท่าใดก็ยิ่งส่งผลดีและเห็นว่าโควิด-19 ยังยืดเยื้อถึงสิ้นปี เราจึงต้องการเข้ามาช่วยให้การฉีดเร็วขึ้น และเอกชนจำนวนมากมีความพร้อมที่จะดำเนินการ เราก็นำเสนอว่าอยากให้รัฐเปิดโอกาสให้เอกชนสั่งซื้อวัคซีนที่นำเข้ามาโดยรัฐกำกับดูแล โดย ส.อ.ท.ได้มีการหารือกับองค์การเภสัชฯ เบื้องต้น และเรารวบรวมได้ไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นรายยินดีที่จะจ่ายเงินเอง หรือราว 1 แสนโดส ลดงบประมาณให้รัฐ” นายสุพันธุ์กล่าว

ทั้งนี้ ส.อ.ท.ได้สอบถามความต้องการออกไปเพียง 1 สัปดาห์ พบว่ามีสมาชิกแสดงความจำนงขอรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 มากกว่า 51,000 ราย จาก 109 บริษัทใน 22 จังหวัดทั่วประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าโรงงานต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยมีความพร้อมในการจัดซื้อวัคซีนเองซึ่งเบื้องต้นคิดเป็นเงินโดสละราว 1,000 บาท (ต้องฉีดคนละ 2 โดส) และคาดว่าความต้องการยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น ส.อ.ท.ยังคงเดินหน้าเปิดรับความต้องการฉีดวัคซีน COVID-19 เฟส 2 ต่อไป โดยจะปิดรับในวันที่ 31 มีนาคม 2564 นี้

“ความต้องการวัคซีนของเอกชนครั้งนี้จะไม่ไปยุ่งกับส่วนที่รัฐจะจัดหามาฉีดให้แก่ประชาชน เราขอเพิ่มพิเศษเข้าไปเพื่อแบ่งเบาภาระภาครัฐ และช่วยให้การฉีดวัคซีนเร็วขึ้น แต่อยากเสนอรัฐบาลขอนำค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 2 เท่าหากเป็นไปได้” นายสุพันธุ์กล่าว

นายปณิธาน ปวโรฬารวิทยา รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ ส.อ.ท.จะเป็นผู้แทนภาคอุตสาหกรรมไทยสั่งซื้อวัคซีน COVID-19 ผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมได้รับการฉีดวัคซีนภายในเดือนมิถุนายน 2564 นี้ โดยความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งวัคซีนที่จะฉีดตอนนี้คือวัคซีนจาก “ซิโนแวค” ถือเป็น 1 ใน 2 ของวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย.แล้ว โดยผู้ที่ผ่านการฉีดวัคซีนแล้วจะได้รับใบรับรองการฉีดวัคซีน (Vaccine Certificate) และสามารถตรวจสอบประวัติการฉีดวัคซีนย้อนหลังได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ส.อ.ท.จะเดินหน้าหารือกับกระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขจังหวัด เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกเข้าไปฉีดวัคซีน COVID-19 ให้กับสถานประกอบการที่มีพนักงานจำนวนมาก เพื่อลดการเคลื่อนย้ายแรงงานจำนวนมากที่จะไปรอรับการฉีดวัคซีน สำหรับสถานประกอบการที่มีพนักงานจำนวนไม่มาก ให้ไปรับการฉีดวัคซีนในสถานที่ที่ภาครัฐจัดเตรียมให้ โดยอาจมีการปรับโรงพยาบาลสนามเป็นสถานที่ให้บริการฉีดวัคซีน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 18/3/2564

ครม.ไฟเขียวจ่ายค่าตรวจ COVID-19 ให้พนักงานรัฐวิสาหกิจ คู่สมรส บุตร

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ประจำวันที่ 16 มี.ค. 2564 ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการ ร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องหลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาล "โควิด" กรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน โรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัศโคโรนา 2019 โดยมีสาระสำคัญและรายละเอียด ดังนี้

1. ช่วยจ่ายกรณีตรวจ "โควิด" และค่ารักษาต่อเนื่อง

กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิที่จะได้รับค่าใช้จ่าย จากการตรวจหาเชื้อโควิดทางห้องปฏิบัติการ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ สำหรับตนเอง คู่สมรส หรือบุตร ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ทางกระทรวงสาธารณสุขกำหนด

และในกรณีที่มีผลการตรวจยืนยันว่าไม่ติดเชื้อโควิด แต่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ก็ให้ใช้ประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ หลักเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาพยาบาล กรณีประสบอันตราย เจ็บป่วย อันเนื่องด้วยไม่ใช่จากการทำงานมาบังคับใช้

2. ช่วยจ่าย กรณีเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินจากโรค "โควิด"

นอกจากนี้ มีการกำหนดสิทธิให้ได้รับค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลสำหรับตนเอง คู่สมรส หรือบุตร กรณีได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินจากโรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ

3. ถ้าปฏิเสธการรักษา/ย้ายไป รพ.อื่น ต้องจ่ายเอง!

กำหนดให้กรณีลูกจ้าง คู่สมรส หรือบุตร หรือญาติ ปฏิเสธการส่งตัวผู้ป่วย "โควิด" ไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลอื่น อันนี้ผู้ป่วยจะต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นเอง

4. ร่างประกาศฉบับนี้ ช่วยให้ความคุ้มครองที่มากขึ้น

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานก็ได้จัดทำงบประมาณในการสูญเสียรายได้ของภาครัฐ พบว่าตามที่ได้ประมาณการรายจ่ายค่ารักษาพยาบาล กรณีโควิด-19 ของแต่ละรัฐวิสาหกิจ ในปี 2564 จำนวน 6,230 ล้านบาทนั้น คาดว่าจะไม่เพิ่มขึ้นจากเดิม และร่างประกาศฉบับนี้ก็จะส่งผลให้พนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่มีจำนวนกว่า 285,000 คน ได้รับความคุ้มครอง และทำให้สถานพยาบาลได้รับค่าใช้จ่ายจากรัฐวิสาหกิจโดยตรงและรวดเร็วขึ้น

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 16/3/2564

ก.แรงงาน เผยยอดผ่านเกณฑ์ ม33เรารักกัน 7.4 ล้านคน ยืนยันสิทธิแล้ว 3.9 ล้านคน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการ "ม33เรารักกัน" ว่าจากผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 8,208,286 คน พบว่าไม่ผ่านการตรวจสอบข้อมูลกับกรมการปกครอง จำนวน 622,172 คน ไม่ผ่านเงื่อนไขเงินฝากเกิน 500,000 บาท จำนวน 168,679 คน ซึ่งมีผู้ผ่านเกณฑ์ได้รับสิทธิแล้ว จำนวน 7,417,435 คน และกดเข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 3,991,206 คน คิดเป็น 54%

ส่วนผลการให้บริการ ศูนย์ประสานงานทบทวนสิทธิโครงการ ม33เรารักกัน ทั้ง 2 กลุ่ม (ข้อมูล ณ วันที่ 16 มี.ค. 2564 เวลา 08.00 น.) กลุ่มทบทวนสิทธิยอดผู้ลงทะเบียนสำเร็จสะสม จำนวน 494,380 คน และกลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟนผู้ลงทะเบียนสำเร็จสะสม จำนวน 3,838 คน

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า โครงการ ม33เรารักกัน ได้ช่วยเหลือเยียวยาแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของผู้ประกันตนมาตรา 33 ให้ได้รับสิทธิคนละ 4,000 บาท และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบสิทธิผู้มีสิทธิได้รับเงินทางเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com และยืนยันตัวตนในแอพพลิเคชั่น "เป๋าตัง" ตั้งแต่วันที่ 15-21 มี.ค. 2564 หากตรวจสอบแล้วไม่มีสิทธิ จะต้องรีบทบทวนสิทธิตั้งแต่วันที่ 15 -28 มี.ค. 2564

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 16/3/2564

รัฐบาลปั้นวิสาหกิจเพื่อสังคมเพื่อคนพิการ จับมือ 17 หน่วยงานดูแลครบวงจร ก.แรงงาน ตั้งเป้า 4.4 หมื่นคนมีงานทำ

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลด้านการส่งเสริมอาชีพคนพิการว่า ในปี 2564 กระทรวงแรงงานได้กำหนดแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ที่ตั้งเป้าให้คนพิการจำนวน 4.4 หมื่นรายเข้าถึงการจ้างงาน และในส่วนของคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ซึ่งมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ได้ผลักดันนโยบายดังกล่าวควบคู่ไปกับการทำงานของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) ที่แม้สำนักงานฯเพิ่งเริ่มจัดตั้งเมื่อปีที่แล้ว แต่มีวิสาหกิจเพื่อสังคมมาจดทะเบียน 148 แห่ง ที่สำคัญมีองค์กร สมาคมของคนพิการ มาจดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคมเพื่อคนพิการ 5 แห่ง อาทิ บริษัทออทิสติกไทย ประกอบกิจการขายสินค้า ให้บริการ และส่งเสริมการจ้างงานในท้องถิ่น โดยนําผลกําไรไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ไปลงทุนในกิจการหรือเพื่อใช้ประโยชน์ของสังคม บริษัทเด็กพิเศษ มีการจ้างงานกลุ่มผู้ด้อยโอกาส หรือคนพิการไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของจํานวนพนักงานประจํา มีการถือครองหุ้นโดยกลุ่มคนด้อยโอกาสและหรือคนพิการไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมด และยังมีบริษัทที่จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม ทีมีวัตถุประสงค์จ้างงานคนพิการ จํานวน 4 แห่ง

ทั้งนี้ เมื่อวิสาหกิจ นำกำไรที่ได้ไปทำประโยชน์เพื่อสังคม จะได้รับการยกเว้นเรื่องภาษีตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด มากไปกว่านั้น ยังจะได้รับการสนับสนุนในเรื่องการเข้าถึงเงินทุน การพัฒนาสินค้าและการจัดการ และการส่งเสริมการตลาด จากองค์กรพันธมิตรของ สวส. ที่ขณะนี้มี 17 แห่ง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารออมสิน บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย เป็นต้น ที่มีเป้าหมายร่วมกัน คือ ขับเคลื่อนการดำเนินการของวิสาหกิจเพื่อสังคมให้เกิดความยั่งยืน

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มอบหมายให้นายจุรินทร์ฯ ผลักดันการจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมอย่างเต็มที่ และเน้นย้ำในเรื่องการส่งเสริมให้ผู้พิการเข้าถึงโอกาสการจ้างงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้พิการได้ใช้ศักยภาพตนเอง และมีรายได้อย่างยั่งยืน เพราะรัฐบาลนี้ “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่งในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ให้ความสนใจการทำธุรกิจเพื่อสังคมเพิ่มขึ้นมาก ถือเป็นก้าวใหม่ที่สำคัญของประเทศ ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมสนับสนุนให้องค์กรธุรกิจได้เข้ามามีส่วนในการรับใช้สังคมอย่างจริงจัง และองค์กรภาคประชาสังคมได้มีโอกาสสร้างรายได้ในรูปแบบธุรกิจที่ไม่แสวงหากำไร นำไปสู่การจ้างงานผู้สมควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ การแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาชุมชนสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงขอเชิญชวนผู้สนใจเกี่ยวกับการจัดตั้งหรือการลงทุนในวิสาหกิจเพื่อสังคม หาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์สำนักงาน สวส. www.osep.or.th หรือโทร 02-659-6473

ทั้งนี้ ภาพรวมของการดำเนินการด้านคนพิการของประเทศไทย เป็นไปอย่างสอดคล้องกับแนวทางของสหประชาชาติ ที่มุ่งเป้าคนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดำรงชีวิตในสังคมชุมชนได้อย่างอิสระเท่าเทียม ซึ่งกรมส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ทำงานร่วมกับหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย 7 ประเด็นเร่งด่วน คือ 1. การส่งเสริมศักยภาพและพัฒนาอาชีพคนพิการ 2. การส่งเสริมเข้าถึงสิทธิคนพิการ 3. การส่งเสริมการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ 4. การคุ้มครองสวัสดิภาพคนพิการ 5. การเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมขององค์กรด้านคนพิการและเครือข่าย 6. การพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายและแผนด้านคนพิการ และ 7. ระบบการบริหารจัดการด้านคนพิการให้มีผลสัมฤทธิ์สูง

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 14/3/2564

ก.แรงงาน ย้ำต่างด้าวตามมติ ครม. 29 ธ.ค. 2563 ทำงานได้ทุกงานยกเว้น 40 งานห้าม

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 เป็นอย่างยิ่ง ด้วยเป็นแรงงานสำคัญในการขับเคลื่อนด้านการผลิต การเกษตร และการบริการในหลายภาคส่วน ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาขาดแคลนแรงงาน พร้อมจำกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคของศบค. โดยไม่ทิ้งหลักสิทธิมนุษยชน กระทรวงแรงงานจึงมีบทบาทสำคัญ ในการตรวจสอบ ควบคุม และบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ให้ปฏิบัติตามกฎหมายได้ถูกต้อง

“ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 กำหนดไว้ชัดเจนว่าให้คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำงานตามประกาศฉบับนี้มีสิทธิทำงานกับนายจ้างได้ทุกประเภทงานที่ไม่ได้เป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ เช่นเดียวกับคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกความตกลง หรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ (MoU) และในกรณีที่ทำงานกรรมกรหรืองานขายของหน้าร้านก็ให้เป็นไปตามประกาศกรมการจัดหางาน เรื่อง เงื่อนไขการรับคนต่างด้าวเข้าทำงานกรรมกรและงานขายของหน้าร้านกับนายจ้าง และหากคนต่างด้าวออกจากงานจะต้องทำงานกับนายจ้างใหม่ภายใน 30 วันนับแต่วันที่เลิกทำงานกับนายจ้างเดิม” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ มีจำนวนรวม 40 งาน เป็นงานห้ามคนต่างด้าวทำเด็ดขาด 27 งาน และงานที่ให้คนต่างด้าวทำได้โดยมีเงื่อนไข 13 งาน โดยแบ่งงานออกเป็น 4 บัญชี บัญชีที่ 1 งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยเด็ดขาด จำนวน 27 งาน ได้แก่ 1.งานแกะสลักไม้ 2.งานขับขี่ยานยนต์ ยกเว้นงานขับรถยก (Forklift) 3.งานขายทอดตลาด 4.งานเจียระไนเพชร/พลอย 5.งานตัดผม/เสริมสวย 6.งานทอผ้าด้วยมือ 7.งานทอเสื่อ หรืองานทำเครื่องใช้ด้วยกก หวาย ฟาง ไม้ไผ่ ขนไก่ เส้นใย ฯลฯ 8.งานทำกระดาษสาด้วยมือ 9.งานทำเครื่องเขิน 10.งานทำเครื่องดนตรีไทย 11.งานทำเครื่องถม 12.งานทำเครื่องทอง/เงิน/นาก 13.งานทำเครื่องลงหิน 14.งานทำตุ๊กตาไทย 15.งานทำบาตร 16.งานทำผ้าไหมด้วยมือ 17.งานทำพระพุทธรูป 18.ทำร่มกระดาษ/ผ้า 19.งานนายหน้า/ตัวแทน 20.งานนวดไทย 21.งานมวนบุหรี่ 22.งานมัคคุเทศก์ 23.งานเร่ขายสินค้า 24.งานเรียงอักษร 25.งานสาวบิดเกลียวไหม 26.งานเลขานุการ และ 27.งานบริการทางกฎหมาย

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 13/3/2564

โรงงานชุดชั้นในนิคมฯบางพลี ประกาศปิดกิจการ พนักงานตกงานทันที 1,300 คน

วันที่ 11 มี.ค. 2564 เมื่อเวลา 08.00 น. มีคนงานกว่า 1,000 คน รวมตัวกันด้านหน้าโรงงาน ภายใน ซอย 7 นิคมอุสาหกรรมบางพลี ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ เนื่องจากโรงงานปิดกิจการ ไม่สามารถเข้าไปทำงานได้ พบว่าเป็น บริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด มีพนักงานรวมตัวกันด้านหน้าโรงงานไม่สามารถเข้าไปทำงานได้โดยด้านหน้าของโรงงานได้ล็อกปิดประตูรั้ว และมีการปิดประกาศ ข้อความ ระบุว่า บริษัทจะปิดโรงงาน ตั้งแต่ วันที่ 11 มี.ค. 2564 เป็นต้นไป อ้างว่าภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ตั้งแต่ปี 2562 รวมทั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบกับบริษัท คู่ค้าสั่งระงับการผลิต เนื่องจากไม่สามารถส่งออกต่างประเทศได้ ทำให้บริษัทขาดสภาพคล่องทางธุรกิจ

นายจิตรณวัชรี พะนัด ประธานสหภาพแรงงานไทยอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย กล่าวว่าบริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด ประกอบกิจการผลิตชุดชั้นใน ส่งออกไปยังประเทศแถบยุโรป มีพนักงานจำนวน 1,300 คน เมื่อช่วงกลางเดือน ก.พ. 2564 มีการขนย้ายเครื่องจักรออกจากบริษัท โดยทางบริษัทแจ้งว่า ย้ายเครื่องจักรไปอินโดนีเซียและเวียดนาม แต่ในไทยก็ยังดำเนินกิจการอยู่ตามปกติ พนักงานยังคงมีการทำงานล่วงเวลากันด้วยซ้ำ บริษัทไม่มีการแจ้งเลิกจ้างล่วงหน้า พนักงานทราบเรื่อง ก็หลังมีการนำประกาศมาติด ช่วงเย็นวันที่ 10 มี.ค. 2564 ต่อมาเวลา 08.30 น. แรงงานทั้งหมด ได้เคลื่อนย้ายจากด้านหน้าโรงงานไปสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการ

นายนายพงศ์เทพ เพชรโสม สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า ในวันนี้ตนเองได้ขอให้ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดมารวมตัวกัน ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการ ซึ่งห่างจากบริษัทประมาณ 2 กม. เนื่องจากด้านหน้าบริษัทนั้น กีดขวางการจราจรทำให้ผู้ที่สัญจรไปมาได้รับผลกระทบ ซึ่งที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการนั้น ตนเองได้จัดให้ลูกจ้างทั้งหมดเขียนคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ตาม พรบ.แรงงาน พ.ศ. 2541

และขอให้ลูกจ้างตั้งตัวแทนจำนวน 15 คน เพื่อที่จะสื่อสารกับพนักงานและเข้าประชุมกับทางเจ้าหน้าที่ หลังจากนี้จะเร่งติดต่อ นายจ้างมาสอบถามชี้แจงและจะเร่งรัดออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย ในวันนี้ยังมีหน่วยงานราชการในสังกัดกระทรวงแรงงาน มาอำนวยความสะดวกให้กับลูกจ้าง ในการประกันการว่างงาน ตำแห่งงานที่ว่างสำหรับคนที่ต้องการหางาน และการฝึกอาชีพเพิ่มเติม

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 11/3/2564

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net