Skip to main content
sharethis

การชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่ดินและอื่นๆ ในช่วงกลางมีนานี้ ของ พีมูฟ ได้ส่งผลการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่อนุรักษ์มีความคืบหน้า โดยมีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรฯ ในระดับพื้นที่ 9 เวที เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาชุมชนในกลไกของพีมูฟ จำนวน 25 จังหวัด

26 มี.ค.2564 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า วันนี้ (26 มี.ค. 64) เวลาประมาณ 09.00 น. ณ มูลนิธิอันดามัน จังหวัดตรัง มีการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ เพื่อแก้ไขปัญหาสมาชิกขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ในพื้นที่จังหวัดตรัง สตูล และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีข้อพิพาทกับกรมอุทยานฯ โดยมี พิชิต สมบัติมาก ผู้ช่วยปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธาน มีผู้เข้าร่วม ได้แก่ ไพบูลย์ โอมาก รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง อภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตรัง สตูล และประจวบคีรีขันธ์ ปลัดอำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาชุมเห็ด ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลหนองปรือ จังหวัดตรัง ภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ มูลนิธิอันดามัน สาทร วงศ์หนองเตย ผู้ช่วย ส.ส. จังหวัดตรัง และสมาชิกพีมูฟในพื้นที่จังหวัดตรัง และประจวบคีรีขันธ์ รวมประมาณ 60 คน

ผลการประชุมมีข้อสรุปแนวทางแก้ไขปัญหาใน 2 ระดับ ได้แก่ ระดับพื้นที่ และระดับนโยบาย ดังนี้ ในระดับพื้นที่  (1) กรณีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและพัฒนาคุณภาพชีวิต ในระหว่างรออนุบัญญัติ (พ.ร.บ.อุทยานฯ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า) ให้ชุมชนประสานหัวหน้าพื้นที่อนุรักษ์จัดทำโครงการร่วมกันภายใต้ระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นกรณีๆ เพื่อให้ชุมชนสามารถดำรงชีพอย่างเป็นปกติธุระ  (2) การตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงแก้ไขที่ดินกรณีบ้านหลังมุข จ.ประจวบคีรีขันธ์ เร่งรัด ทสจ. ประจวบฯ เสนอ ผวจ. แต่งตั้งคณะทำงานในเดือนเมษายน 64  (3) การประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจหลักเกณฑ์ขั้นตอนตามมติ ครม. 26 พ.ย. 61 ยังไม่ทั่วถึง ชัดเจน และเข้าใจอย่างถูกต้อง ตรงกัน กรมอุทยานฯ สั่งการ/มอบหมายเจ้าหน้าที่เร่งรัดประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจในระดับพื้นที่

การแก้ปัญหาในระดับนโยบาย ได้แก่  (1) การแก้ไขปัญหาราษฎรที่ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานฯ และมาตรา 121 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ เนื่องจากตกหล่น/หรือแปลงที่ถูกตรวจยึดจับกุมดำเนินคดี กรณีตัดโค่นไม้ยางพาราในพื้นที่/กรณีถูกจับกุมดำเนินคดีตามนโยบายทวงคืนผืนป่า กรมอุทยานฯ พิจารณาศึกษาแนวทางในการปรับปรุงคุณสมบัติราษฎรตามมติ ค.ร.ม. 26 พ.ย. 61  (2) การช่วยเหลือเยียวยาผู้ถูกดำเนินคดี เนื่องจากเข้าข่ายคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 จะนำเสนอระดับนโยบายเพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาของคณะทำงานคดีความไปสู่ระดับนโยบาย และเร่งรัดแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายของรัฐ  (3) การจัดทำกฎหมายลำดับรอง บัญญัติ (พ.ร.บ.อุทยานฯ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า) ให้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน และให้ชุมชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการ  (4) การตัดไม้ยางพารา นำเสนอระดับนโยบายเพื่อนำเสนอ ครม. ให้สามารถตัดไม้ยางพาราก่อนอนุบัญญัติ ตาม พ.ร.บ.อุทยานฯ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า มีผลบังคับใช้  (5) การขับเคลื่อนโฉนดชุมชน เร่งรัดการแต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาและศึกษาแนวทางการจัดที่ดินฯ  (6) ปัญหาเอกสารสิทธิ์ในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา (ทับซ้อนที่ดินชาวเลเกาะหลีเป๊ะ) กรมอุทยานฯ ได้ตรวจสอบพื้นที่แล้วเป็นการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ และได้ส่งเรื่องให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์แล้ว กระทรวงทรัพยากรฯ ประสานกระทรวงมหาดไทยให้กรมที่ดินเร่งรัดการพิจารณาเพิกถอนเอกสารสิทธิ์

หลังจากที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกัน ได้มีการลงนามในข้อสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาไว้เป็นหลักฐานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ กับตัวแทนพีมูฟ มีการถ่ายภาพร่วมกัน และยุติการประชุมในเวลาประมาณ 16.00 น.

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net