เมื่อเยาวรุ่นเมืองทิพย์ผู้ฝันเป็นนายกกะเทยคนแรก ต้องอัดยาแก้ใจสั่นเกินโดสสู้คดียุยงปลุกปั่น

คุยกับ 'ปาหนัน ชัญญา' เยาวรุ่นเมืองทิพย์ผู้ฝันเป็นนายกกะเทยคนแรกของไทย กลับต้องจ่ายเป็นคดียุยงปลุกปั่นและต้องอัดยาแก้ใจสั่นจากอาการแพนิคเกินโดสเพื่อซุกซ่อนความกลัว พร้อมเปิดมุมมองต่อก้อนหินและดอกไม้ที่ถูกปาเข้ามาหลังการประกาศความฝัน

ปาหนัน ชัญญา

“พี่มากสุดในชีวิตหนูเคยเป็นผู้ต้องหาคดีขี่มอเตอร์ไซค์แล้วไม่สวมหมวกกันน็อค โดนปรับไป 400 หารกับเพื่อนคนละ 200”

ปาหนัน ชัญญา เจ้าของป้าย “ฉันจะเป็นนายกกะเทยคนแรกของไทย” เป็นคนหนึ่งที่มีพัฒนาการทางคดีความแบบก้าวกระโดด (แม้จะไม่อยากมี) จากคนที่เคยถูกจับในข้อหาฝ่าฝืนกฎจราจรโดยการไม่สวมหมวกกันน็อคสู่การเป็นผู้ต้องหาในคดียุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116 ครั้งนี้โทษทัณฑ์ที่ปาหนันอาจต้องเผชิญไม่ใช่แค่การปรับเป็นตัวเงินแล้วกลับบ้านได้ ม.116 ร้ายแรงได้มากกว่านั้นเยอะ

ม.116 มีโทษสถานเดียวคือจำคุก ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งจำคุกนักโทษคดี 116 คนหนึ่งได้สูงสุดถึง 7 ปี

“มาตรา 116 ผู้ใดกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย

(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ

(3) เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี”

ฉันจะเป็นนายกกะเทยคนแรก

ปาหนันถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นตามม.116 จากการร่วมชุมนุมในแฟลชม็อบเชียงใหม่จะไม่ทนtoo ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 แฟลชม็อบบนลานท่าแพที่ผู้ชุมนุมมาเพียงเพื่อชูป้ายต่อต้านเผด็จการ และโดยไม่มีใครคาดคิดผู้ชุมนุมในแฟลชม็อบครั้งนี้ถูกบูชายัญทางกฎหมายในคดี 116 ไปถึง 37 คน หลังจากการชุมนุมผ่านไปแล้วเป็นเวลา 7 เดือน

ปาหนันในแฟลชม็อบเชียงใหม่จะไม่ทนtoo ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 63

ปาหนันไปชูป้ายในแฟลชม็อบเชียงใหม่จะไม่ทนtoo ทั้ง 2 ครั้ง และการชูป้ายอย่างสงบอาจจะกำลังนำพาปาหนันในวัย 24 ปีเข้าไปอยู่ในห้องขัง ถ้าหากป้าย “ฉันจะเป็นนายกกะเทยคนแรกของไทย” ของเธอถูกตัดสินว่าทำให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนตามม.116

ปาหนันเล่าให้เราฟังว่าป้ายนายกกะเทยคนแรกไม่ใช่ป้ายแรกที่เธอชู ก่อนหน้านี้เธอก็เคยไปชูป้ายอื่นในแฟลชม็อบที่ มช. มหาวิทยาลัยที่เธอจบมา

ปาหนันในแฟลชม็อบที่ มช. ช่วงเดือนมีนาคม 2563

“เราก็เคยเขียนป้ายไปแล้ว แต่เราก็ไม่เคยคิดว่าเราต้องมานั่งแบกรับความเสี่ยงอะไรว่าเราจะโดนเพ่งเล็ง เราแค่รู้สึกว่าเรามาเรียกร้องในฐานะประชาชน”

การเรียนในคณะรัฐศาสตร์และการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม Young Pride เชียงใหม่ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบปริญญาตรี หล่อหลอมให้ปาหนันกลายมาเป็นนักกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและความหลากหลายทางเพศ เธอมีความตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกันทั้งจากการเรียนในมหาวิทยาลัยและการทำกิจกรรม ป้าย “ฉันจะเป็นนายกกะเทยคนแรกของไทย” เกิดมาจากความอึดอัดต่อสภาพสังคมและความคิดที่ว่า

“นายกเป็นตัวแทนของ Politic ขณะที่กะเทยเป็นตัวแทนของ Gender สองคำนี้มันประจบกันได้ หนูก็เลยเขียนว่า ฉันจะเป็นนายกกะเทยคนแรก”

 

สาระสำคัญในการออกมาเคลื่อนไหวอย่างหนึ่งของปาหนันคือต้องการให้คนที่ทำงานทางด้านความหลากหลายทางเพศมีตัวตน เนื่องจาก “ที่เชียงใหม่ตอนประมาณปี 2552 ที่ทางกลุ่ม Chiang Mai Pride เคยจะจัดงานเดินขบวนเรียกร้องประเด็นเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศ เขาถูกคนที่ไม่เห็นด้วยหรือไม่เข้าใจปิดล้อม ห้ามไม่ให้เดินออกจากจุดที่ตั้งขบวน เราถูกมองว่าเป็นพวกขึดบ้านขึดเมือง ถูกห้ามจัดงาน Pride 1,500 ปี เรารู้สึกว่าเราก็เป็นผู้ถูกกดขี่เหมือนกัน”

ก้อนหินและดอกไม้ที่ถูกปาเข้ามาหลังการประกาศความฝันของนายกกะเทยคนแรก

หลังจากรูปที่ถือป้ายนายกกะเทยคนแรกในแฟลชม็อบเชียงใหม่จะไม่ทนtoo ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 63 ออกไป มีคนในโซเชียลมีเดียรู้จักปาหนันมากขึ้น เธอได้รับทั้งดอกไม้และก้อนหิน ฝั่งประชาธิปไตยมีคนให้ความสนใจเธอขึ้นมาบ้าง แต่ในขณะเดียวกันฝั่งตรงข้ามก็ลากเธอไปก่นด่าแบบไม่ให้ตั้งตัวเช่นกัน

“ตอนแรกหนูภูมิใจมาก เพราะเหมือนหนูได้โอบอุ้มโอบรับกับคนที่ทำงาน LGBT ทั้งหมด ให้เขารู้สึกว่าเขามีตัวตนมากขึ้น หนูดีใจมากที่เราได้ทำเพื่อคนอื่นด้วย แต่พอวันสองวันโดนลากไปด่าในกลุ่ม กปปส. หลังจากนั้นหนูรู้สึกว่าชีวิตหนูไม่ปลอดภัยขึ้น หนูเหมือนแพนิคขึ้น เราไม่เคยโดนอะไรแบบนี้มาก่อน มันก็ทำให้เราสั่นและรู้สึกไม่ปลอดภัย มันช็อค

เขาด่าสงสารพ่อแม่เนอะที่ลูกเขาเกิดมาเป็นแบบนี้, แค่เพศสภาพมึง มึงยังไม่รู้ตัว แล้วจะมาบริหารจัดการคนอื่นได้เหรอ, สภาพแบบนี้จะมีชีวิตอยู่ถึงตรุษจีนปีหน้าได้เหรอ

เขาด่าเราแบบไม่คิดอะไรเลย เขาพิมพ์เสร็จเขาก็ทิ้งบอมบ์ แล้วคนที่มีบาดแผลคือใคร ก็คือเรา”

ถึงจะไม่อยากบอกใครแต่ปาหนันก็ยอมแสดงด้านที่เธอต้องต่อสู้กับตัวเองออกมาให้เราได้รับรู้ ปาหนันที่มักมาพร้อมรอยยิ้มร่าเริงก็มีชีวิตที่ไม่ง่ายในแบบของตัวเอง เธอเคยเข้าพบจิตแพทย์เพื่อปรึกษาเรื่องการป้องกันตัวเองจากโรคซึมเศร้าและกินยาลดอาการแพนิคคู่กันไปด้วย การถูกคนไม่รู้จักลากไปด่าครั้งนั้นส่งผลออกมาทางจิตใจ อาการ depression ของปาหนันหนักขึ้นอย่างยากจะควบคุมตัวเองได้ เธออยู่คนเดียวไม่ไหวจนต้องโทรศัพท์ไปขอให้แม่จากจังหวัดลำปางขึ้นมาอยู่เป็นเพื่อนที่เชียงใหม่ ปาหนันใช้เวลาเกือบ 10 วันในการฟื้นฟูจิตใจและเรียกสติตัวเองกลับมา ก่อนจะกลับไปแสดงจุดยืนของตัวเองอีกครั้งในแฟลชม็อบเชียงใหม่จะไม่ทนtoo ครั้งที่ 2 ในวันที่ 29 ก.ค. 63

“จนวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ที่ทำให้โดนหมายเรียกนั่นแหละ หนูรู้สึกว่าเราต้องแสดงจุดยืนของเรา หนูก็ไปชูป้ายอีกรอบ หนูเขียนป้ายไปเยอะมาก กะเทยรักประชาธิปไตย ฉันจะเป็นนายกกะเทยคนแรก วันนั้นมีอยู่จังหวะหนึ่งที่เรายืนชูป้ายรวมกับพี่จาก Young Pride ที่โดนคดีด้วยกัน แล้วมีเสียงพิธีกรประกาศว่าน้องเขากลัว ทุกคนช่วยเป็นกำลังใจให้น้องเขาหน่อย หลังจากนั้นเราก็รู้สึกโล่ง ทุกอย่างมันปลดล็อคไปเกือบหมด คนที่อยู่ในลานท่าแพเขาสนับสนุนเราหมดเลย ทั้งที่วันนั้นเราไม่ได้เป็นแกนนำ เราไม่ได้ไปพูดอะไรเลย เราแค่มาถือป้ายของเรา เขาทำให้เราโล่งใจ เราตัดสินใจไปแบบกลัวๆ แล้วเขาทำให้เรารู้ว่า “กูยังมีความเป็นคนอยู่นะ” เราเสียเวลากับการซึมเศร้าไปหลายวันมากๆ”

ปาหนันในแฟลชม็อบเชียงใหม่จะไม่ทนtoo ครั้งที่ 2 ในวันที่ 29 ก.ค. 63

แฟลชม็อบวันนั้นช่วยชีวิตปาหนันไว้ แต่การชุมนุมครั้งนี้ก็มอบคดีความให้กับเธอเช่นกัน

“แค่ชูความฝัน แต่ฉันโดนหมาย” อัดยาสู้คดีความที่บิดเบี้ยว

“ตอนอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนวันนั้นหนูกินยาเกินโดสเลย เราไม่ได้ทำบ่อยนะ เราจะทำในโอกาสที่เรากลัวจริงๆ”

เราเคยเห็นแต่ปาหนันที่ออกมาเคลื่อนไหว แต่เราไม่เคยรู้ว่าเธอมีราคาที่ต้องจ่ายเป็นอะไรบ้างสำหรับการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศและประชาธิปไตยของตัวเอง วันนั้นที่โรงพักปาหนันจ่ายด้วยการอัดยาแก้ใจสั่นจากอาการแพนิคเข้าไป 3 เม็ด เธอรู้ดีว่ากำลังกินยาเกินโดส เนื่องจากยานี้ไม่ควรกินเกินวันละ 1 เม็ด

“วันนั้นหนูอัดยาแก้ใจสั่นไป 3 เม็ด เขาให้กินวันละเม็ด หน้าโรงพัก 2 เม็ด ตอนอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนอีก 1 เม็ด มันเป็นยากินฉุกเฉินแก้ใจสั่นเนื่องด้วยความกลัว”

ปาหนันไม่อยากใจสั่นเมื่ออยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวน เพราะหากเป็นเช่นนั้นความกลัวที่ซุกซ่อนไว้จะถูกเปิดเผยออกมาทันที สู้อัดยากดทับความกลัวของตัวเองไว้ไม่ให้เผด็จการและคนของเผด็จการรับรู้ดีกว่า

“ถึงแม้ข้างในเรากลัวยังไงก็ตาม แต่อำนาจภายในเรา เรารู้สึกว่าเราไม่สยบยอม ความกลัวมันเป็นแค่ความรู้สึกแต่มันไม่ใช่อำนาจภายในของเรา หนูก็ต้องเดินหน้าสู้”

“เราคิดมาแค่พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตอนแจ้งข้อกล่าวหาเขาก็ไม่บอกตัวเลขมาตรงๆ ว่าเป็น ม.116 เราก็ไม่รู้ หนูมารู้ตอนรอพิมพ์ลายนิ้วมือ ทุกคนที่มาวันนี้โดนม.116 หมด หนูได้แต่ร้อง “เหี้ย” จริงเหรอ” แต่ “เราไม่ผิด คนอื่นด้วยเถอะ เขาแค่มาชุมนุม”

คำถามสุดท้าย จะสยบยอมเพราะโดนคดีไหม ?

ทำไมต้องยอม เราเปิดหน้าสู้ อย่างน้อยตอนนี้สังคมก็รู้ว่าเราคือนักกิจกรรมเยาวรุ่น LGBT

หมายเหตุ : 14 เม.ย.64 เวลา 14.40 น. ประชาไทดำเนินการปรับแก้พาดหัวและเนื้อหาบางส่วน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท