‘สงกรานต์ปฏิวัติ’ เมื่อราษฎรพม่างดเล่นน้ำ แห่ประท้วงต้านเผด็จการ

สงกรานต์ของพม่าหลายเมืองเป็นไปอย่างเงียบงัน เนื่องจากประชาชนงดเล่นน้ำ แต่ออกมาประท้วง ‘สงกรานต์ปฏิวัติ’ ลั่นจะกลับมาเล่นน้ำเมื่อประเทศมีประชาธิปไตย ด้านทางการพม่าออกหมายจับบุคลากรทางการแพทย์ต้านรัฐประหาร 19 ราย

การประท้วงสีแดงที่เมืองเนปยีดอ เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2564 (ที่มา Khit Thit Media)

การประท้วงสีแดงที่เมืองเนปยีดอ เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2564 (ที่มา Khit Thit Media)

16 เม.ย. 2564 สำนักข่าว ไทยพีบีเอส รายงานเมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2564 ระบุว่า พม่างดเล่นน้ำเทศกาลสงกรานต์ หรือภาษาพม่าเรียกว่า ตะจ่านปแว หรือติงจั่นปแว เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยปีแรกรัฐบาลพม่าต้องการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 แต่ปีนี้ (พ.ศ. 2564) นักกิจกรรมพม่าเรียกร้องให้บอยคอตการเล่นสงกรานต์ เพื่อแสดงความไม่พอใจที่กองทัพทำรัฐประหารยึดอำนาจพลเรือน และจะกลับมาเล่นน้ำอีกครั้งเมื่อประเทศมีประชาธิปไตย 

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา เยาวชนนักกิจกรรมหลายพื้นที่ในประเทศพม่า เช่น นครย่างกุ้ง เมืองตองจี ซึ่งเป็นเมืองหลวงรัฐฉาน และอื่น ๆ ออกมาเรียกร้องให้ประชาชนงดเข้าร่วมเทศกาลสงกรานต์ ด้วยความหวังที่ว่า ถ้าแคมเปญรณรงค์นี้สำเร็จ จะเป็นการตอกหน้ากองทัพพม่า ที่พยายามประโคมข่าวให้นานาชาติเห็นว่า กองทัพพม่าสามารถควบคุมสถานการณ์กลับคืนสู่สภาวะปกติได้แล้ว 

“เราเรียกร้องอย่างจริงจัง ขอทุกคนอย่าเข้าร่วมเทศกาลสงกรานต์ โดยเฉพาะครั้งนี้ที่พวกเราตกอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการกองทัพพม่า ซึ่งยึดกุมอำนาจมาอย่างไร้ความชอบธรรม” เยาวชนจากเขตเทศบาลหล่าย นครย่างกุ้ง ประกาศขอความร่วมมือ 

ในประกาศยังเตือนราษฎรพม่าว่า การเข้าร่วมเทศกาลสงกรานต์จะเป็นการช่วยกระพือข่าวลวงของกองทัพที่พยายามแสดงให้ประเทศพม่าและโลกเห็นว่า สถานการณ์ภายในประเทศกลับคืนสู่ปกติแล้ว 

“มากกว่านั้น พวกเราร้องขอให้คุณแสดงความเห็นอกเห็นใจแก่ประชาชนที่ถูกสังหารและบาดเจ็บ และครอบครัวทุกครอบครัวที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก โดยการกระทำของกองทัพ” แถลงการณ์ระบุเพิ่ม 

การขอความร่วมมือของนักกิจกรรมพม่าดูจะสัมฤทธิ์ผล เมื่อสื่อท้องถิ่นรายงานว่า เทศกาลสงกรานต์พม่าไม่คึกคักเหมือนอย่างเคย ส่วนใหญ่ไม่มีค่อยมีผู้คนและรถยนต์บนถนน ขณะที่รัฐยะไข่ ยังมีการเล่นน้ำสงกรานต์ตามปกติ

การประท้วงหม้อดินเผา และการประท้วงสีแดง

ช่วง 13-15 เม.ย. ถือเป็นช่วงวันหยุดยาวของพม่า และภาพที่เราควรเห็นควรจะเป็นการเฉลิมฉลองและเล่นน้ำสงกรานต์ แต่ภาพวันนี้คือประชาชนพม่าออกมาประท้วงต้านกองทัพอย่างต่อเนื่อง โดยเรียกการประท้วงช่วงสงกรานต์ว่า “สงกรานต์ปฏิวัติ”

ประท้วงคว่ำบาตรกระถางดอกไม้ เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2564 โดยประชาชนประท้วงกองทัพพม่าโดยการนำกระถางดินเผาสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมสงกรานต์พม่า มาระบายสีเป็นสโลแกนข้อความต้านรัฐประหาร และกองทัพ หรือบางรายวาดเป็นรูป ชูสามนิ้ว สัญลักษณ์การประท้วงครั้งนี้ (ที่มา Khit Thit Media)
 

สำนักข่าวท้องถิ่น Myanmar Now และ อิระวดี รายงานเมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2564 ระบุว่า วันที่ 13 เม.ย. 2564 ถือเป็นวันเปิดแคมเปญประท้วงช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยวันแรกนี้จะเป็นการประท้วงด้วยกระถางดินเผา ซึ่งมีการเรียกแคมเปญนี้ว่า “การคว่ำบาตรหม้อดอกไม้”

สิทธิพร เนตรนิยม โพสต์ข้อความบนกลุ่มสาธารณะสื่อโซเชียลออนไลน์เฟซบุ๊ก ระบุถึงความหมายของหม้อดอกไม้ จากสัญลักษณ์ของเทศกาลสงกรานต์ สู่การเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

วันแรกของประเพณีสงกรานต์พม่า เป็นวันที่ต้องทำ "อะต่าโอ" หรือ หม้อดินเผาใส่ดอกไม้ หรือ "หม้อบูรณฆฏะ" เพื่อต้อนรับพญาสงกรานต์ (ตะจ่านมิน) หรือพระอินทร์ ในคติเมียนมา รั้งตำแหน่งหัวหน้านัต ซึ่งจะลงมายังโลกมนุษย์ในวันแรกของเทศกาลสงกรานต์ทุกปี

แต่วันนี้หม้อดินเผากลายเป็นสัญลักษณ์เพื่อการต่อสู้กับกองทัพ ผู้ประท้วงในนครย่างกุ้งเดินขบวนถือหม้อดินเผา จากภาพจะเห็นประชาชนใช้สีขีดเขียนบนตัวหม้อ เป็นคำขวัญแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย อย่างข้อความ “(คุณ) จะไม่สามารถปกครองพวกเราได้”, วาดเป็นรูปชูสามนิ้ว, เราสนับสนุน CRPH และอื่น ๆ อีกวิธีคือประชาชนสามารถเขียนข้อความต้านกองทัพพม่าใส่กระดาษและวางระหว่างช่อดอกไม้ หรือสามารถทำสองอย่างพร้อมกัน

ขณะที่วันที่ 14 เม.ย. ถือเป็นวันที่ 2 ของสงกรานต์ปฏิวัติ แคมเปญวันนี้เรียกว่า “ประท้วงสีแดง” โดยประชาชนพม่าหลากหลายเมือง เช่น ที่กรุงเนปยีดอ เมืองมัณฑะเลย์ และอื่นๆ จะใช้สีสเปรย์ หรือสีทาบ้าน สีแดงละเลงเขียนข้อความบนพื้นผิวถนน ป้ายรถเมล์ ป้ายสาธารณะ รวมถึงกำแพง ทั้งนี้ อิระวดี รายงานว่า การใช้สีแดงเพื่อสื่อความหมายถึง ‘เลือด’ ของนักสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ต้องสูญเสียไปจากความโหดร้ายของกองทัพพม่า 

การประท้วงที่เขตหล่าย นครย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2564 (ที่มา Khit Thit Media)
 

จ่อจี กวีและผู้อาศัยในเมืองมัณฑะเลย์ให้สัมภาษณ์กับ Myanmar Now ระบุความเห็นที่เมืองมัณฑะเลย์งดเล่นน้ำสงกราต์ว่า นี่ควรเป็นช่วงเวลาที่เราจะระลึกถึงผู้วายชนจากการปราบผู้ประท้วงของกองทัพ ไม่ใช่ให้ความสำคัญกับคำโป้ปดของกองทัพพม่า ที่บอกว่าสถานการณ์กลับคืนสู่ปกติแล้ว 

นอกจากนี้ ภาพจากบัญชีทวิตเตอร์ของ Myanmar Now และ อิระวดี เผยให้เห็นการประท้วงสีแดงตามเมืองต่าง ๆ เริ่มที่เมืองโมนยวา ภูมิภาคสกาย มีการเขียนบนถนนว่า “การปฏิวัติต้องสำเร็จ” และมีภาพที่ประชาชนทาสีแดงเป็นรูป ‘สามนิ้ว’ ตามที่ต่าง ๆ รวมถึงที่มือ 

ที่เมืองย่างกุ้ง อดีตเมืองหลวง มีเยาวชนออกมาใช้สีแดงระบายบนถนน และป้ายรถเมล์กันตั้งแต่เช้า บนจุดที่เคยมีการสังหารผู้ประท้วงต้านรัฐประหาร ขณะที่ในเขตอินเส่ง ชาวบ้านพ่นสีตามที่ต่าง ๆ อย่างกำแพง และถนน เป็นรูปมือชูสามนิ้ว 

เมืองพะโค อีกหนึ่งเมืองหลวงสมัยอาณาจักรพม่าโบราณ เมื่อวันที่ 14 เม.ย.ที่ผ่านมา มีประชาชนเดินขบวนประท้วงกองทัพ นำโดยนักศึกษา และเยาวชน มีการใช้สีแดงเขียนเป็นข้อความต้านกองทัพบนป้ายผ้าสีขาว แม้ว่าวันที่ 9 เม.ย. ที่ผ่านมา ผู้ประท้วงที่เมืองพะโคถูกทหารล้อมปราบอย่างหนักจนมีผู้ประท้วงต้านรัฐประหารเสียชีวิตอย่างน้อย 82 รายภายในวันเดียวก็ตาม 

ออกหมายจับแพทย์พม่าต้านรัฐประหาร 19 ราย

สำนักข่าวอิระวดี รายงานเมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2564 ระบุว่า เมื่อวันที่ 13 เม.ย. เผด็จการพม่าออกหมายจับแพทย์โรงพยาบาลรัฐบาลทั่วประเทศ ชุดแรก 19 ราย ประกอบด้วย ผู้อำนวยการกระทรวงสาธารณสุขของพม่า เจ้าหน้าที่ระดับสูง และแพทย์เฉพาะทาง ฐานละเมิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 505[a] ซึ่งระบุว่า ผู้ใดผลิต เผยแพร่ หรือกระจายข้อความ ข่าวลือ หรือรายงานใดๆ ด้วยเจตนาให้หรืออาจทำให้เจ้าหน้าที่ ทหารบก ทหารเรือ หรือทหารอากาศในกองทัพต้องฝ่าฝืนคำสั่ง เพิกเฉย หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ถือว่ามีความผิด 

การออกหมายจับนี้เกิดขึ้นหลังบุคลากรทางการแพทย์กลุ่มนี้ชักชวนคนให้ผละงาน ตามขบวนการอารยขัดขืน หรือชาวพม่าเรียกว่า CDM และให้การสนับสนุนรัฐบาลคู่ขนาน หรือคณะกรรมการผู้แทนสภาแห่งสหภาพ (CRPH) ซึ่งพยายามตั้งรัฐบาลต่อต้านคณะรัฐประหารพม่า โดยสมาชิกส่วนใหญ่เป็น ส.ส.จากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ที่ชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปีที่แล้ว มีหัวเรือใหญ่คือ อองซานซูจี

ทั้งนี้ รายงานจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองในพม่า หรือ AAPP องค์กรที่ติดตามการควบคุมตัวนักโทษการเมือง ระบุตัวเลขของผู้ที่ถูกออกหมายจับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 14 เม.ย. 2564 ทั้งสิ้น 813 ราย และมีผู้ถูกจับกุมในข้อหาทางการเมืองทั้งสิ้น 3,151 ราย
 

แปลและเรียบเรียงจาก

Myanmar Youths Call for Boycott of Traditional Water Festival to Defy Junta, Honor Those Slain

Myanmar Junta Charges and Arrests Striking Doctors and Senior Medical Staff

เมียนมาประท้วงไม่เล่นน้ำสงกรานต์ แต่ยังมีการชุมนุมไล่รัฐบาลทหาร

Thingyan takes a revolutionary turn, as nation refuses to celebrate under a hated regime

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท