Skip to main content
sharethis

 

สวรส. ชงผลวิจัย “แบบจำลองสถานการณ์” ทางออกวิกฤตโควิด-19 เสนอรัฐแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ป้องกันวงจรอุบาทว์ “คนติดเพิ่ม-เตียงเต็ม-รอนาน-หมอขาด-อาการหนัก/ตาย” พร้อมสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจกับการแก้ปัญหาการระบาด

3 พ.ค.2564 หน่วยงานสื่อสาร สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) รายงานว่า สวรส. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล “สังเคราะห์ข้อเสนอเพื่อสนับสนุนกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายและการวางแผนการปรับตัวในภาวะวิกฤตของระบบสุขภาพของประเทศไทย โดยการประยุกต์ใช้แบบจำลองสถานการณ์พลวัตระบบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” ต่อยอดจากแบบจำลองทางระบาดวิทยาของกรมควบคุมโรค รวมทั้งเชื่อมโยงกับข้อมูลต่างๆ เพื่อคาดการณ์ด้านระบาดวิทยาไปวางแผนควบคุมโรค ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม

ผศ.ดร.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล นักวิจัยเครือข่าย สวรส.

ผศ.ดร.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล นักวิจัยเครือข่าย สวรส.
กล่าวว่า งานวิจัยนี้รวบรวมข้อมูลทางระบาดวิทยาในประเทศไทย ตลอดจนข้อมูลความสามารถในการรองรับผู้ติดเชื้อในระบบบริการสุขภาพในพื้นที่ต่างๆ ร่วมกับการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์  ซึ่งในเชิงระบาดวิทยาสามารถคาดการณ์ได้แม่นยำระดับหนึ่งว่า ในอนาคตอันใกล้จะมีจำนวนผู้ป่วยแต่ละประเภทเท่าไหร่ ทั้งผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ผู้ป่วยที่มีอาการน้อย และผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ เพื่อช่วยในการตัดสินใจในการเตรียมระบบบริการสาธารณสุข หรือมาตรการควบคุมโรค

“ตัวแปรในการศึกษาจะถูกนำเข้าในแบบจำลองฯ เช่น ข้อมูลระบาดวิทยาจากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันในพื้นที่ต่างๆ ที่รายงานโดย ศบค. กำหนดให้จำนวนผู้ป่วยคืออุปสงค์ของระบบสุขภาพ ส่วนอุปทานจะเป็นจำนวนเตียง จำนวนการรองรับของ รพ.สนาม/Hospitel หรือในกรณีการแยกโรคที่บ้าน (Home Isolation) ที่ถูกพูดถึงขณะนี้ แต่ยังไม่ได้มีการดำเนินการนั้น เนื่องจากระบบหลักยังรองรับผู้ป่วยได้ และยังต้องมีการเตรียมมาตรการที่เหมาะสม โดยในการแยกโรคที่บ้าน มีทั้งข้อดีและข้อเสีย”

ผศ.ดร.นพ.บวรศม อธิบายว่า ตัวอย่างจากแบบจำลองสถานการณ์ในกรณีที่ทำการแยกโรคที่บ้าน ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ แสดงให้เห็นว่าหากผู้ถูกแยกโรคที่บ้าน 10-15% ปฏิบัติตนไม่ได้ตามมาตรฐานและยังแพร่เชื้อในชุมชน จะทำให้ในระยะยาวการทำการแยกโรคที่บ้านอาจสร้างความต้องการเตียงเพิ่มขึ้นมากกว่ากรณีไม่ทำการแยกโรคที่บ้าน ดังนั้นการทำการแยกโรคที่บ้านไม่สามารถทำได้กับผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการทุกกลุ่ม และควรมีการประเมินจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขก่อนว่าแต่ละบ้านมีความพร้อมหรือไม่ ถ้ายังไม่พร้อมต้องรีบจัดการให้ผู้ป่วยเข้าสู่ระบบบริการให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ หากผู้กำหนดนโยบายพิจารณาใช้นโยบายการทำการแยกโรคที่บ้าน ควรมี “เกณฑ์คัดเลือก” และเกณฑ์ปฏิบัติตามมาตรฐานส่วนกลาง เช่น หลีกเลี่ยงการแยกโรคที่บ้านถ้าคนในครอบครัวมีกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และอาจมีการพิจารณาให้วัคซีนแก่ครอบครัวของผู้ถูกแยกกักโรคที่บ้าน แม้ว่าระยะเวลาที่ฉีดวัคซีนให้อาจไม่ทันสร้างภูมิคุ้มกันให้ครอบครัว แต่อาจช่วยการป้องกันการติดเชื้อในชุมชน และช่วยเพิ่ม Vaccine Coverage ในประชากรกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงได้ เป็นต้น

นักวิจัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การประยุกต์ใช้กระบวนการคิดเชิงระบบเป็นวิธีการหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหาที่นโยบายต้องนำไปพิจารณา เพราะหากขาดสิ่งนี้วงจรของความขาดแคลนอาจเกิดขึ้นได้กับประเทศ คือ พอเตียงเริ่มเต็ม ทั้งเตียงธรรมดาหรือ ICU ทำให้ผู้ป่วยต้องรอเข้ารับการรักษาเป็นเวลานาน ที่เริ่มมีให้เห็นบ้างแล้วในรายที่รอนานจนเสียชีวิตที่บ้าน หรือบางคนที่รอนานจนอาการหนัก ทำให้เมื่อเข้าโรงพยาบาลจึงใช้เวลาในการครองเตียงนาน ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้ เกิดเป็นวงจรอุบาทว์ ถ้าจะหลุดจากวงจรนี้ ต้องทำให้ผู้ติดเชื้อสามารถเข้าถึงระบบบริการได้อย่างรวดเร็ว ส่วนผลการวิจัยกรณีการลดระยะเวลานอนโรงพยาบาลจาก 14 วัน เป็น 10 วัน และให้กลับไปพักฟื้นที่บ้านต่ออีก 14 วันนั้น พบว่า เป็นทางเลือกเชิงนโยบายที่อาจช่วยลดจำนวนผู้ป่วยครองเตียงในแต่ละวันได้เพียงระยะสั้น แต่ในระยะยาวความต้องการเตียงสำหรับผู้ติดเชื้อในแต่ละวันยังคงเพิ่มมากขึ้นตามแนวโน้มการระบาดในระดับประเทศ

ผลวิจัยได้นำเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข และบางส่วนได้มีการนำไปเป็นนโยบายดำเนินการแล้ว ส่วนความต้องการเตียงสำหรับการรักษาและควบคุมโรคเพิ่มเติมในระยะ 30-45 วันข้างหน้า จากการคาดการณ์พบว่า จำนวนเตียงที่เตรียมไว้จำนวน 32,037 เตียง (ข้อมูล 19 เม.ย.64) น่าจะ “เพียงพอ” ต่อการรองรับผู้ติดเชื้อในช่วงสูงสุดประมาณต้นเดือนพฤษภาคม  แต่ปัญหาเฉพาะหน้าสำคัญตอนนี้คือ จำนวน ICU อาจมี “ไม่เพียงพอ” ที่จะรองรับผู้ป่วยที่มีอาการวิกฤต โดยเฉพาะถ้าผู้ป่วยวิกฤตที่มีระยะเวลาการครองเตียง ICU เฉลี่ยมากกว่า 21 วัน ซึ่งควรมีการสำรอง ICU ทั้งประเทศ รวมทั้งห้องแยกโรคติดเชื้อแรงดันลบ (Modified AIIRs) ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ให้ได้ประมาณ 1,900 units หรือควรมีจำนวนเพิ่มเติมอีกประมาณ 1-1.2 เท่า ของจำนวน ICU ที่กำลังถูกใช้งานในปัจจุบัน (ประมาณ 800 units) สำหรับกำลังคนด้านสุขภาพที่สามารถดูแลผู้ป่วยวิกฤตได้ ซึ่งมีจำนวนจำกัดมากนั้น อาจยังเป็น “คอขวดของระบบ” ที่จะทำให้การรักษาโรคดำเนินไปด้วยดี

นอกจากการทำแบบจำลองสถานการณ์ในระดับประเทศ แต่ขณะนี้กำลังมีการพัฒนาโมเดลระดับพื้นที่ เช่น กรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเตียงผู้ป่วยเต็มเร็ว หรือในกรณีต่างจังหวัด เช่น ภูเก็ต การพัฒนาแบบจำลองอาจเข้ามาช่วยตอบโจทย์การเปิดเมืองได้ระดับหนึ่งทั้งในเรื่องวัคซีนพาสปอร์ต การคาดการณ์โรคเพื่อการบริหารจัดการทีมสอบสวนโรคในการติดตามและควบคุมการแพร่ระบาดได้ รวมทั้งในระยะถัดไปมีการวางแผนที่จะทำแบบจำลองสถานการณ์เรื่องวัคซีนนอกเหนือจากมาตรการควบคุมโรคด้วย  

ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัยอาวุโส สวรส. กล่าวว่า งานวิจัยเชิงระบบของ สวรส. ที่เร่งดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ร่วมกับ สกสว. และ ม.มหิดล ได้พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายในลักษณะนี้มาตั้งแต่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทย เพื่อนำข้อมูลหรือหลักฐานเชิงประจักษ์นี้เสนอต่อหน่วยนโยบายต่างๆ ในการพิจารณาตัดสินใจกำหนดมาตรการหรือปรับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง โดยนำเสนอต่อผู้กำหนดนโยบาย และ ศบค. แล้ว ซึ่งคาดว่าข้อมูลจากงานวิจัยจะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม ทันต่อสถานการณ์ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net