จากต้มกบสู่ “ย้ายประเทศกันเถอะ”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“มึงหนีออกนอกประเทศไปเลยดีที่สุด จริงๆ ผมบอกหลานแบบนี้ ข้างหน้าต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร แผนไทยแลนด์ 4.0 จะสำเร็จเหรอ ในเมื่อมันขับเคลื่อนโดยระบบราชการ นักการเมืองคงไม่ต้องพูดถึง ถูกจัดให้เป็นเพียงตัวประกอบ คิดว่าระบบราชการจะขับเคลื่อนตัวเองออกจากต้มกบได้หรือ ดูเพียงระบบราชการที่ล้าสมัย ต้องมาขับเคลื่อนแผนการ 4.0 ผมก็ไม่มีความเชื่อมั่นแล้ว ไม่ต้องพูดถึงเนื้อหาแผนเลย  แล้วความขัดแย้งทางการเมืองจะจบไหม เมื่อรัฐธรรมนูญยังไม่สามารถแก้ไขได้ กลไกการแก้รัฐธรรมนูญอย่างสันติไม่มี ทุกอย่างถูกล็อคเอาไว้หมดแล้ว ผมว่าในทางการเมือง ไม่ใช่ว่าเอาฝาปิดหม้อต้มกบอย่างเดียวหรอก เอาหินทับอีกด้วย” (28 มิ.ย. 2560, https://waymagazine.org/20-yrs-tyk-crisis_1/)  

เกือบสี่ปีแล้วเมื่อผมถูกขอคำแนะนำว่า “สำหรับคนรุ่นต่อไปควรจะใช้ชีวิตอย่างไรให้อยู่รอด” จนถึงวันนี้ที่ภายในเวลาไม่กี่วันเพจ “ย้ายประเทศกันเถอะ” มียอดสมาชิกถึง 675,000  ผมมีความรู้สึกผสมปนเปไปหมด ในแง่หนึ่งก็ “ดีใจ” ว่าผมเดาภาพไม่ผิดไปจากสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงๆ ในอีกมุมหนึ่งก็สะทกสะท้านที่คนรุ่นใหม่จะ “ทำตาม” คำแนะนำ แต่ในอีกแง่หนึ่งผมก็เข้าใจได้ว่า ทำไมคนรุ่นใหม่อยากย้ายหนีออกจากบ้านเกิดที่ไร้อนาคต  ก็ในเมื่อยกหินออกไม่ได้ก็หนีออกไปเลย ง่ายกว่าไงครับ  เห็นได้ชัดว่าสาเหตุต่างๆ ที่ทำให้ผมแนะนำเช่นนั้นไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นเลย ตรงข้ามกับเลวร้ายลงเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่คนรุ่นใหม่ได้พยายาม “เปล่งเสียง” ในหลากหลายรูปแบบ ชุมนุนประท้วงก็แล้ว เดินขบวนก็แล้วตลอดครึ่งปี 2563 แต่ผู้มีอำนาจกลับไม่ได้ยินเสียงเขาเลย

ภาวะเศรษฐกิจที่โตช้าๆ จนสังคมเรากลายเป็นสังคมที่แก่ก่อนรวย ซึ่งผมเรียกว่า “ต้มกบ” นั้น มันหมายความว่า “ความซวย” จะตกบนบ่าคนรุ่นใหม่ เพราะรายได้จะเพิ่มขึ้นช้าๆ หรือไม่เพิ่มเลย ในขณะที่จะต้องแบบรับภาระเลี้ยงดูพ่อแม่ที่ส่วนใหญ่ไม่มีเงินออมพอที่จะดูแลตนเองในยามชรา  ยิ่งถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิทซึ่งเมื่อหยุดการระบาดหมดไปแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็อาจมีผลถาวรที่ทำให้แนวโน้มของอัตราการเติบโตต่ำลงไปกว่าก่อนโควิทเสียอีก สำหรับคนรุ่นใหม่แล้วอนาคตทางเศรษฐกิจจึงดูมืดมัว แม้ว่าจะพยายามมองโลกให้แง่ดีที่สุดแล้วก็ตาม

 อย่างไรก็ตาม เรายังพอคาดเดาได้ว่าในทางเศรษฐกิจเราจะถึงจุดต่ำสุดภายในปีนี้ แต่กระบวนการยุติธรรมที่เปิดเปลือยความอยุธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจทำให้เรายังมองไม่เห็นจุดต่ำสุดของวิกฤตการเมืองที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2549  เหตุการณ์ต่างๆ ตั้งแต่หลังเลือกตั้งเมื่อสองปีก่อนทำให้เราซาบซึ้งดีว่า กติกาแบบรัฐธรรมนูณปี 2560 ทำให้การเลือกตั้งนั้นไม่มีความหมายในทางปฏิบัติ แต่การที่ศาลปฏิเสธสิทธิการประกันตัวผู้ต้องหาคดีอาญามาตรา 112 ครั้งแล้วครั้งเล่าในระหว่างที่คดียังไม่ได้รับการตัดสินว่าผิดจริง จนนักศึกษาผู้ถูกกล่าวหาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากประท้วงต่อความอยุติธรรมนี้โดยการอดอาหารประท้วง สิ่งนี้ก็อาจเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่ส่งสัญญาณให้คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งตัดสินใจเลิกพยายามยกหินออกจากหม้อต้มกบก็เป็นได้

ถึงจุดนี้สังคมเราอาจจะกำลังสูญเสียความเชื่อมั่นที่มีต่อศาลยุติธรรม ซึ่งเป็น “สถาบันแห่งการจัดการความขัดแย้ง” (Institutions for social conflict management) หลักไปอีกสถาบันหนึ่งถัดจากสถาบันการเลือกตั้ง สำหรับนักเศรษฐศาสตร์แล้ว หลังๆ นี้เห็นร่วมๆ ว่า สถาบันประเภทนี้เป็นอีกหนึ่งในบรรดาสถาบันที่จำเป็นต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบมีคุณภาพ เนื่องจากสถาบันแห่งการจัดการความขัดแย้งจะทำงานโดยส่งสัญญาญแก่คู่ขัดแย้งว่า ผู้ชนะจะไม่ได้ทั้งหมดและผู้แพ้จะไม่เสียทั้งหมดในแต่ละรอบแห่งความขัดแย้ง  สิ่งนี้จะสร้างแรงจูงใจให้คู่ขัดแย้งหันมาร่วมมือกัน โดยไปลดผลประโยชน์จากการที่ตัวแสดงทางเศรษฐกิจจะเล่นเกมแบบไม่ร่วมมือกัน  (เช่นเกม prisoner's dilemma) ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะเป็นโทษต่อผู้เล่นทั้งสังคม

ผมได้แต่หวังว่าในวันที่ 6 พ.ค.นี้ที่ศาลอาญานัดไต่สวนเพื่อพิจารณาว่าจะให้ประกันตัวในคดี 112 นี้จะกลับมาส่งสัญญาญแก่คนรุ่นใหม่ว่า การประนีประนอมนั้นเป็นไป และกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขายังไม่ตัดสินใจขั้นเด็ดขาดที่จะทิ้งประเทศนี้ไป

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท