ตำรวจ-ผู้ใหญ่บ้านไปพบครอบครัวผู้แชร์โพสต์เพจ ‘คนไทยยูเค’ เรื่องผู้พิพากษาชนาธิป กดดันให้ลบโพสต์

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยตำรวจ-ผู้ใหญ่บ้านไปพบครอบครัวหนุ่มเชียงรายที่ย้ายมาอยู่ในกรุงเทพฯ ผู้แชร์โพสต์เพจ 'คนไทยยูเค' เรื่องผู้พิพากษาชนาธิป กดดันให้ลบโพสต์

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2564 ได้รับแจ้งจาก นายจตุพล ชุ่มมงคล อายุ 31 ปี ประชาชนในจังหวัดเชียงราย ที่ได้ย้ายมาอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร โดยประกอบอาชีพเป็นพนักงานขายของในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง แต่ได้ลาออกจากงานมาแล้วระยะหนึ่ง จตุพลเล่าว่าเขาได้รับแจ้งจากที่บ้านในจังหวัดเชียงรายซึ่งตัวเขามีทะเบียนบ้านอยู่ที่นั่น ว่าได้มีเจ้าหน้าที่ไม่ทราบสังกัดพร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้านเดินทางเข้ามาที่บ้านเขาถึง 2 ครั้ง เพื่อสอบถามข้อมูลของเขาและยังมีการพูดคุยกดดันเพื่อให้เขาลบโพสต์ที่มีการแชร์จากเพจ  “KTUK – คนไทยยูเค” เรื่องผู้พิพากษาชนาธิป เหมือนพะวงศ์ เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2564

เรื่องราวเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564 พี่สาวของนายจตุพลได้ติดต่อเขา บอกเล่าว่าได้มีผู้ใหญ่บ้านและตำรวจไม่ทราบจำนวนและสังกัดอย่างแน่ชัด เข้าไปที่บ้านของจตุพลในจังหวัดเชียงราย เพื่อสืบหาตัวของเขา โดยเจ้าหน้าที่ได้สอบถามที่อยู่ปัจจุบันและเบอร์โทรศัพท์ติดต่อของจตุพล แต่ที่บ้านของเขาปฏิเสธไม่ให้ข้อมูลดังกล่าว เมื่อสอบถามว่าเกิดอะไรขึ้น ทางเจ้าหน้าที่ระบุว่านายจตุพลได้มีการโพสต์หมิ่นประมาทกษัตริย์ หากติดต่อจตุพลได้ ก็จะทำการ “ปรับทัศนคติ” เมื่อทางบ้านของจตุพลไม่ให้ข้อมูล ทางเจ้าหน้าที่จึงได้เดินทางกลับไป

ต่อมาวันที่ 7 พ.ค. 2564 เวลาประมาณ 15.00 น. ได้มีเจ้าหน้าที่ไม่ทราบสังกัด พร้อมผู้ใหญ่บ้าน ได้เข้ามาสอบถามหาตัวจตุพลอีกครั้งหนึ่ง พี่สาวจึงได้โทรศัพท์หาจตุพลเพื่อให้พูดคุยกับทางเจ้าหน้าที่ เมื่อจตุพลรับสาย ทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งชื่อหรือสังกัดใดๆ แต่เริ่มพูดคุยด้วยการสอบถามว่าเขาได้แชร์โพสต์ของเพจ “KTUK – คนไทยยูเค” เรื่องผู้พิพากษาชนาธิป เหมือนพระวงศ์ เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2564 หรือไม่ เมื่อจตุพลระบุว่าเขาได้แชร์ข้อมูลดังกล่าว โดยไม่ได้เขียนข้อความใดประกอบ ทางเจ้าหน้าจึงขอให้ลบโพสต์ดังกล่าวออก เมื่อจตุพลสอบถามว่าโพสต์ดังกล่าวผิดกฎหมายอย่างไร และเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจใดในการสั่งให้เขาลบโพสต์ดังกล่าว ทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้ตอบแน่ชัดและวางสายโทรศัพท์ไป

จากนั้นผู้ใหญ่บ้านก็ได้โทรศัพท์หาจตุพลอีกครั้ง โดยพยายามขอที่อยู่ปัจจุบันของเขาและเบอร์โทรศัพท์ จตุพลได้ให้ข้อมูลไปก่อนวางสาย หลังจากนั้น แม่ของจตุพลยังโทรหาเขาอีกครั้งและพยายามขอให้ลบโพสต์เฟซบุ๊กที่ถูกแชร์มา พร้อมกับบอกให้เลิกทำกิจกรรมเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ได้แล้ว สุดท้ายจตุพลจึงตัดสินใจลบโพสต์ออก เพื่อความสบายใจของครอบครัว

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จตุพลรู้สึกว่า “ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องที่ประชาชนจะต้องมาถูกคุกคาม ทางเขา (เจ้าหน้าที่รัฐ) พยายามปิดกั้นประชาชนอย่างมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วยังมาสร้างความหวาดกลัวให้กับครอบครัวของประชาชนอีก”

ทั้งนี้ นอกจากกรณีของนายจตุพลที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงรายแล้ว ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังได้รับรายงานอีกว่าได้เกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 2 ราย ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่และนครสวรรค์ ที่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ ตำรวจสันติบาล หรือบางกรณีเป็นเจ้าหน้าที่ไม่ทราบสังกัด เข้าไปสอบถามข้อมูลส่วนตัว และพูดถึงการแชร์โพสต์ต่างๆ จากเพจ “KTUK – คนไทยยูเค” โดยทางเจ้าหน้าที่จะมีเอกสารที่มีข้อมูลส่วนตัว ชื่อ ที่อยู่ตามทะเบียนราษฎร์และรูปภาพเข้าไปแสดงที่บ้าน ก่อนจะขอความร่วมมือหรือสั่งให้ลบโพสต์เหล่านั้น โดยไม่อธิบายว่าเป็นขั้นตอนใดทางกฎหมายหรือจะมีผลทางกฎหมายหรือไม่

กระบวนการเข้าติดตามถึงบ้านที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ไม่ใช่กระบวนการที่มีกฎหมายรองรับให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถปฏิบัติการได้ จนอาจไปถึงขั้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งการข่มขู่ให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หลายครั้งเจ้าหน้าที่ไม่สวมใส่เครื่องแบบ ไม่ระบุชื่อสังกัด และไม่แสดงบัตรประจำตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งอาจเป็นใครแอบอ้างมากระทำการดังกล่าวก็ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท