รายงานเผย COVID-19 ทำการพัฒนาที่ยั่งยืน ‘ถดถอย’ ร้องเพิ่มพื้นที่ทางการคลังในประเทศกำลังพัฒนา

รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนฉบับใหม่เผย โควิด-19 ทำความก้าวหน้าการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ‘ถดถอย’ และเรียกร้องให้เพิ่มพื้นที่ทางการคลังในประเทศกำลังพัฒนา

  • คะแนนดัชนี SDG เฉลี่ยทั่วโลกปี 2020 ลดลงจากปีก่อนหน้าเป็นครั้งแรกตั้งแต่มีการรับรอง SDGs เมื่อปี 2015 โดยคะแนนที่ลดลงนี้มาจากอัตราความยากจนและการว่างงานที่เพิ่มขึ้นตามมาหลังการระบาดของโควิด-19
  • ประเทศกำลังพัฒนารายได้ต่ำขาดพื้นที่ทางการคลังในการจัดหาเงินทุนเพื่อการตอบสนองภาวะฉุกเฉินและแผนการฟื้นฟูโดยการลงทุนเป็นหลักที่สอดคล้องกับ SDGs
  • SDGs สามารถใช้เป็นหลักการสำหรับแนวทางในการฟื้นตัวที่ยั่งยืน ครอบคลุม และยืดหยุ่นจากโควิด-19
  • ประเทศร่ำรวยยังคงส่งผ่านผลกระทบทางลบระหว่างประเทศที่ลดทอนความสามารถของประเทศอื่นในการบรรลุ SDGs ทั้งผ่านการค้า ห่วงโซ่อุปทานที่ไม่ยั่งยืน และการโอนกำไรไปต่างประเทศ
  • การระบาดใหญ่ได้เน้นให้เห็นถึงความจำเป็นในการเร่งความก้าวหน้าไปสู่การดูแลสุขภาพถ้วนหน้าและการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล
  • ช่องว่างของข้อมูลและความล่าช้าทางด้านเวลาในสถิติทางการยิ่งทำให้เห็นความจำเป็นในการเพิ่มการลงทุนเพื่อพัฒนาความสามารถทางสถิติและแนวทางใหม่ ๆ สำหรับติดตามความมุ่งมั่นและความก้าวหน้าของประเทศต่าง ๆ ในการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานเพื่อบรรลุ SDG ที่สำคัญ

 

14 มิ.ย.2564 ผู้สื่อข่าวได้แจ้งจากเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (SDSN Thailand) ในฐานะเครือข่ายระดับชาติของเครือข่าย Sustainable Development Solutions Network (SDSN) เผยแพร่รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2021 (Sustainable Development Report 2021) ของเครือข่าย SDSN ซึ่งรวมถึง ดัชนี SDG และแดชบอร์ด (SDG Index and Dashboards) ประจำปี 2021 เพื่อติดตามความคืบหน้าของเป้าหมายระดับโลกในปี 2030 (Global Goals 2030) นี่เป็นครั้งแรกที่รายงานประจำปีแสดงความก้าวหน้าในการดำเนินงานที่ถดถอย นับตั้งแต่ผู้นำประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้ง 193 ประเทศได้รับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติครั้งประวัติศาสตร์เมื่อปี 2015  รายงานฉบับนี้จะชี้ให้เห็นผลกระทบระยะสั้นของโควิด-19 ต่อ SDGs และอธิบายว่า SDGs จะช่วยวางกรอบการฟื้นฟูได้อย่างไร ทีมผู้เขียนรายงานนำโดยศาสตราจารย์เจฟฟรีย์ แซคส์ (Prof. Jeffrey Sachs) ประธาน Sustainable Development Solutions Network (SDSN) ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Cambridge University

นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่มีการรับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเมื่อปี 2015 ที่โลกถอยหลังในการขับเคลื่อน SDGs การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ไม่เพียงก่อให้เกิดภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพระดับโลกเท่านั้น แต่ยังสร้างวิกฤติการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย เพื่อฟื้นคืนความก้าวหน้าของ SDGs จำเป็นต้องมีการเพิ่มพื้นที่การคลังสำหรับประเทศกำลังพัฒนาให้มากพอ ผ่านการปฏิรูปภาษีโลกและการขยายการจัดหาเงินทุนโดยธนาคารเพื่อการพัฒนาระดับพหุภาคีต่าง ๆ รายจ่ายทางการคลังควรถูกใช้เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานเพื่อการบรรลุ SDGs ใน 6 เป้าหมายหลัก ได้แก่ การศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับทุกคน การดูแลสุขภาพถ้วนหน้า พลังงานและอุตสาหกรรมสะอาด เกษตรกรรมและการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน โครงสร้างพื้นฐานในเมืองที่ยั่งยืน

โดยมีรายละเอียดดังนี้ : 

ดัชนี SDG ลดลงเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่มีการรับรอง SDGs โดยประชาคมระหว่างประเทศเมื่อปี 2015

การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้การพัฒนาที่ยั่งยืนเดินถอยหลังในทุกพื้นที่ ผลการดำเนินงานตาม SDGs ทั่วโลกที่ลดลงเป็นผลมาจากอัตราความยากจนและการว่างงานที่เพิ่มขึ้น ระดับที่ลดลงนี้อาจถูกประเมินต่ำกว่าความเป็นจริงเนื่องจากความล่าช้าทางด้านเวลาของข้อมูลสถิติระหว่างประเทศ การมีนโยบายที่ดีและความร่วมมือระดับโลกที่เข้มแข็งจะสามารถฟื้นฟูและเร่งความก้าวหน้าของ SDGs ในทศวรรษหน้าได้ รายงานยังได้นำเสนอกรอบการทำงานโดยละเอียดว่าทำอย่างไรให้ประเทศต่าง ๆ สามารถ “ก้าวไปข้างหน้า (build forward)” โดยใช้ SDGs

ฟินแลนด์ครองอันดับหนึ่งดัชนี SDG ประจำปี 2021 ตามมาด้วยสองประเทศในกลุ่มนอร์ดิก ได้แก่ สวีเดน และ เดนมาร์ก ที่น่าสนใจคือ ฟินแลนด์ยังได้ลำดับสูงสุดในฐานะประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกตามข้อมูลการสำรวจของ Gallup World Poll และรายงานความสุขโลก ประจำปี 2021 (World Happiness Report) ที่เผยแพร่เมื่อมีนาคมที่ผ่านมา แต่กระนั้นฟินแลนด์และประเทศกลุ่มนอร์ดิกก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญต่อการดำเนินงานด้าน SDGs หลายประการ และไม่สามารถรักษาความสำเร็จเพื่อการบรรลุเป้าหมายฯ ทั้งหมดให้ทันได้ภายในปี 2030

ความจำเป็นเร่งด่วนในการเพิ่มพื้นที่ทางการคลังในประเทศกำลังพัฒนา

ประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่ำ (Low-income developing countries: LIDCs) ขาดพื้นที่ทางการคลังเพื่อจัดหาเงินทุนให้การตอบสนองภาวะฉุกเฉินและแผนการฟื้นฟูโดยการลงทุนเป็นหลักที่สอดคล้องกับ SDGs โควิด-19 ได้ทำให้เห็นขีดจำกัดความสามารถของประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่ำในการหาแหล่งเงินทุนจากตลาด ในขณะที่รัฐบาลประเทศรายได้สูงมีการกู้ยืมเงินจำนวนมากเพื่อรับมือการแพร่ระบาด แต่ประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่ำไม่สามารถทำเช่นนั้นได้เนื่องจากมีระดับความน่าเชื่อถือทางการเงินที่ต่ำกว่า ผลกระทบที่สำคัญระยะสั้นจากความแตกต่างของพื้นที่ทางการคลังระหว่างประเทศรายได้สูงและประเทศรายได้ต่ำ คือ ประเทศร่ำรวยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวจากโรคระบาดได้เร็วกว่าประเทศที่ยากจน

รายงานระบุ 4 วิธีเพิ่มพื้นที่ทางการเงินของประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่ำ ดังนี้

  1. การจัดการการเงินระดับโลกที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มสภาพคล่องสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่ำ
  2. การจัดเก็บภาษีที่ดีขึ้นผ่านการปฏิรูปภาษีโลกหลายระดับ
  3. มีตัวกลางทางการเงินโดยธนาคารเพื่อการพัฒนาระดับพหุภาคี (Multilateral Development Banks) เพิ่มขึ้น เพื่อสนับสนุนการระดมทุนเพื่อการพัฒนาระยะยาว
  4. การผ่อนปรนหนี้

ทศวรรษแห่งการดำเนินการอย่างจริงจัง (Decade of Action) เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจำเป็นต้องมีระบบพหุภาคีที่เข้มแข็ง

ความท้าทายระดับโลกที่ไม่เพียงแต่สถานการณ์โรคระบาดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและวิกฤติความหลากหลายทางชีวภาพ จำเป็นต้องอาศัยระบบพหุภาคีที่เข้มแข็งในการจัดการ จึงต้องมีการสนับสนุนระบบพหุภาคีในเวลานี้ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นมา ความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้ SDG 17 (ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน) สามารถเร่งแนวทางการรับมือที่น่าพอใจต่อการระบาดใหญ่และการฟื้นตัวที่ยั่งยืน ครอบคลุมและยืดหยุ่นได้ การศึกษาบทเรียนจากการระบาดใหญ่ครั้งนี้เป็นกุญแจสำคัญในการเสริมความสามารถของประชาคมระหว่างประเทศในการเตรียมพร้อม ตอบสนอง และฟื้นตัวจากความเสี่ยงครั้งใหญ่อื่น ๆ ในอนาคต

การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นความรับผิดชอบระดับโลก กลยุทธ์ภายในประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจะต้องหลีกเลี่ยงการสร้างผลกระทบทางลบ หรือ ‘การส่งผ่านผลกระทบ (spillovers)’ ไปยังประเทศอื่น ๆ รายงานแสดงให้เห็นว่าประเทศรายได้สูงและกลุ่มประเทศในองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดการส่งผ่านผลกระทบทางลบที่ใหญ่ที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบทางลบผ่านห่วงโซ่อุปทานที่ไม่ยั่งยืน การถูกกัดกร่อนฐานภาษีและการโอนกำไรไปต่างประเทศ (Base Erosion and Profit Shifting: BEPS) ซึ่งต้องมีการทำความเข้าใจการส่งผ่านผลกระทบ มีการวัดผล และมีการจัดการอย่างรอบคอบ

ข้อค้นพบอื่น ๆ จากรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี 2021

  • ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้มีความก้าวหน้าในการขับเคลื่อน SDGs มากกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ทั้งเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2010 และตั้งแต่การรับรองเป้าหมายดังกล่าวในปี 2015 โดยสามประเทศที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดตามคะแนนดัชนี SDG ตั้งแต่ปี 2015 ได้แก่ บังกลาเทศ โกตดิวัวร์ และอัฟกานิสถาน ในบางประเทศที่ก้าวหน้ามากที่สุดนี้มีข้อมูลฐานตั้งต้น (baseline) ที่ห่างไกลจากความยั่งยืนมากกว่าประเทศอื่น ในทางตรงกันข้าม สามประเทศที่ความก้าวหน้าถดถอยมากที่สุด คือ เวเนซุเอลา ตูวาลู และบราซิล
  • มีความคลาดเคลื่อนระหว่างการแสดงการสนับสนุนทางเมืองต่อ SDGs และการผนวกเป้าหมายเข้ากับกระบวนการนโยบายสาธารณะเชิงยุทธศาสตร์ แบบสำรวจของ SDSN ประจำปีนี้ในประเด็นความพยายามของรัฐบาลในการดำเนินงานเพื่อ SDGs ได้เผยให้เห็นว่า ประเทศที่ถูกสำรวจจำนวนน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง (20 จาก 48 ประเทศ) กล่าวถึง SDGs หรือใช้คำที่เกี่ยวข้องในเอกสารงบประมาณทางการฉบับล่าสุด การติดตามนโยบายแบบมองไปข้างหน้า (forward looking) สำหรับการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สำคัญ (SDG transformations) สามารถช่วยให้เราก้าวไปไกลกว่าแค่ความมุ่งมั่นและติดตามการดำเนินงานของประเทศต่าง ๆ ได้
  • กว่าห้าปีหลังการรับรอง SDGs ช่องว่างขนาดใหญ่ในสถิติทางการยังคงมีอยู่ในแง่ของจำนวนประเทศที่ครอบคลุมและความทันต่อความต้องการใช้ข้อมูลใน SDGs หลายเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SDG 4 (มีคุณภาพด้านการศึกษา), SDG 5 (ความเท่าเทียมระหว่างเพศ), SDG 12 (การมีแบบแผนการผลิตและการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ), SDG 13 (การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) และ SDG 14 (การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล)

สรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับสถานะและอันดับใน SDG Index ของประเทศไทย

  • ดัชนี SDG จัดอันดับประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 43 ของโลกจากทั้งหมด 165 ประเทศ ได้คะแนนรวมของดัชนี 74.2 คะแนน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ที่ 65.7 คะแนน อย่างไรก็ดี อันดับและคะแนนของไทยลดลงเมื่อเทียบกับปี 2020 ที่ได้อันดับ 41 และคะแนนรวม 74.5 คะแนน
  • ประเทศไทยยังมีคะแนนสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย โดยประเทศอันดับรองลงมา คือ เวียดนาม (อันดับ 51) มาเลเซีย (อันดับ65) สิงคโปร์ (อันดับ76) บรูไนดารุสซาลาม (อันดับ 84) อินโดนีเซีย (อันดับ97) เมียนมาร์ (อันดับ 101) กัมพูชา (อันดับ 102) ฟิลิปปินส์ (อันดับ 103) และลาว (อันดับ 110)
  • เปรียบเทียบกับปี 2020 มี SDG รวม 4 เป้าหมายที่มีสถานะแย่ลงและไม่มีเป้าหมายใดเลยที่ถูกขยับสถานะให้ดีขึ้น เป้าหมายทั้ง 4 ข้างต้น ประกอบด้วย
    • SDG 2 (ขจัดความหิวโหย) จากสถานะ ท้าทาย (สีส้ม) มาเป็น ท้าทายมาก (สีแดง)
      • ตัวชี้วัดที่มีสถานะแย่ลง คือ ตัวชี้วัดด้านความชุกของภาวะทุพโภชนาการ และตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับอัตราการส่งออกยาฆ่าแมลง (ตัวชี้วัดใหม่)
    • SDG 8 (งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ) จากสถานะ ยังมีความท้าทายบางส่วน (สีเหลือง) มาเป็น ท้าทาย (สีส้ม)
      • ตัวชี้วัดที่มีสถานะแย่ลง คือ อัตราการเติบโตของ GDP อัตราการว่างงาน และการรับประกันสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานอย่างมีประสิทธิผล
    • SDG 14 (การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล) จากสถานะ ท้าทาย (สีส้ม) มาเป็น ท้าทายมาก (สีแดง)
      • ตัวชี้วัดที่มีสถานะแย่ลง คือ ร้อยละของพื้นที่โดยเฉลี่ยที่ได้รับการปกป้องในพื้นที่ทางทะเลที่สำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และดัชนีสุขภาพมหาสมุทรด้านคะแนนน้ำสะอาด (มลพิษทางทะเล)
    • SDG 15 (การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศบนบก) จากสถานะ ท้าทาย (สีส้ม) มาเป็น ท้าทายมาก (สีแดง)
      • ตัวชี้วัดที่มีสถานะแย่ลง คือ ขนาดพื้นที่เฉลี่ยที่ได้รับการปกป้องในพื้นที่บนบกที่สำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพและพื้นที่ชุ่มน้ำ

ตั้งแต่ปี 2015 รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปีได้ให้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันที่สุดเพื่อติดตามและจัดอันดับผลการดำเนินงาน SDGs ของประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้งหมด ในฐานะเครื่องมือติดตามอย่างไม่เป็นทางการที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Cambridge University ซึ่งเป็นส่วนหนุนเสริมความพยายามในการติดตามการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นทางการโดยรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ และองค์การสหประชาชาติ

เกี่ยวกับ SDSN

Sustainable Development Solutions Network (SDSN) คือ เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลกที่ได้ระดมความเชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์และทางเทคนิคจากทั้งภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาในทางปฏิบัติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับโลก SDSN ได้ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2012 ภายใต้การสนับสนุนของเลขาธิการสหประชาชาติ ปัจจุบัน SDSN กำลังสร้างเครือข่ายสถาบันการศึกษาระดับชาติและระดับภูมิภาค เครือข่ายเชิงประเด็นที่เน้นการแก้ปัญหา และตั้ง SDG Academy ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยออนไลน์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (SDSN Thailand) ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อมีนาคม 2020 โดยมี 4 องค์กรภาคีขับเคลื่อน ได้แก่ ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ในนามคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (สทย.) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ปัจจุบันมีสมาชิกทางการในประเทศไทยเป็นมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย 12 แห่ง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท