ตร.เตรียมดำเนินคดี #ม็อบ24มิถุนา สนธิญาขอถอนประกันราษฎร กสม.ชี้ต้องคำนึงโรคระบาด

25 มิ.ย. 2564 บชน. แถลงเตรียมดำเนินคดี #ม็อบ24มิถุนา ทั้งกลุ่มราษฎร คนไทยไม่ทน และประชาชนคนไทย ฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สนธิญายื่นศาลอาญาถอนประกันกลุ่มราษฎร กสม. ลงพื้นที่ชี้การชุมนุมไม่มีเหตุรุนแรง แต่ควรคำนึงถึงสิทธิด้านสุขภาพของสังคมโดยรวมด้วย

บชน. เตรียมดำเนินคดี #ม็อบ24มิถุนา

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. ในฐานะโฆษก บช.น. และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีวันที่ 24 มิ.ย. 2564 มีการจัดกิจกรรมทางการเมืองหลายกลุ่ม ในหลายพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 05.30-20.30 น. โดยสถานการณ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่มีเหตุรุนแรง

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า การรวมตัวทำกิจกรรมดังกล่าว ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 กลุ่มหมู่บ้านทะลุฟ้า นำโดยจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน, กลุ่มคณะราษฎร นำโดยอานนท์ นำภา หรือทนายอานนท์, กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นำโดยพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน โดยจัดกิจกรรมตั้งแต่เวลา 05.30 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากนั้นเคลื่อนขบวนไปที่รัฐสภา (เกียกกาย) และเวลา 17.00 น. เคลื่อนขบวนไปที่สกายวอล์กแยกปทุมวัน

กลุ่มที่ 2 กลุ่มคนไทยไม่ทนฯ นำโดยจตุพร พรหมพันธุ์ จัดกิจกรรมตั้งแต่เวลา 16.00 น. ที่สะพานผ่านฟ้า จากนั้นเคลื่อนขบวนไปที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ และกลุ่มที่ 3 กลุ่มประชาชนคนไทย นำโดยนิติธร ล้ำเหลือ หรือทนายนกเขา จัดกิจกรรมตั้งแต่เวลา 14.00 น. ที่แยกอุรุพงษ์ จากนั้นเคลื่อนขบวนไปที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ กระทั่งเวลา 20.30 น. มีการประกาศยุติการชุมนุมของทั้ง 3 กลุ่ม

ขณะนี้ คณะพนักงานสอบสวน สน.ต่างๆ รวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม ผู้ชักชวนการชุมนุม ผู้สนับสนุนการชุมนุม อาทิรถเครื่องเสียง รถสุขา หรือวิธีการหนึ่งวิธีใด โดยวันนี้เวลา 13.00 น.ที่ผ่านมา พล.ต.ต.สุคุณ พรหมายน รอง ผบช.น. ฝ่ายกฎหมาย เรียกประชุมพนักงานสอบสวน บช.น.และสรุปผลการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมทั้ง 3 กลุ่ม เบื้องต้นมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฝ่าฝืนข้อกำหนดมาตราการควบคุมโรค, พ.ร.บ.โรคติดต่อ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.จราจรฯ ตามที่ บช.น. แจ้งเตือนไว้

ส่วนความผิดอื่นๆ ในการปราศรัย การจัดกิจกรรม หรือการดำเนินการต่างๆ พนักงานสอบสวนแบ่งงานถอดเทปคำปราศรัย ตรวจสอบภาพบันทึกทั้งหมดของการชุมนุมทั้ง 3 กลุ่มว่า มีการกระทำความผิดกฎหมายอื่นหรือไม่ รวมทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมที่ยังเป็นผู้ต้องหา หรือจำเลยในคดีอาญาอยู่ระหว่างประกันตัว ได้กระทำผิดเงื่อนไขในการชุมนุม หรือการประกันตัวหรือไม่ หากมีข้อมูลปรากฏว่าได้กระทำผิดจริง พนักงานสอบสวนจะรวบรวมพยานหลักฐานเสนอศาล เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง อาจเป็นการถอนประกัน เรียกนายประกันมาว่ากล่าว หรือเปรียบเทียบปรับ หรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามอำนาจของศาล

ทั้งนี้ ในการรวมตัวทำกิจกรรมวานนี้ได้มีกลุ่มคนไทยไม่ทนฯ นำโดยจตุพร พรหมพันธุ์ และกลุ่มประชาชนคนไทย นำโดยนิติธร ล้ำเหลือ หรือทนายนกเขา ประกาศชักชวนให้มีการทำกิจกรรมต่อในวันที่ 26 มิ.ย. 2564 โดยกลุ่มของจตุพรนัดหมายรวมตัวที่สะพานผ่านฟ้า และเคลื่อนขบวนไปที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ส่วนกลุ่มของนิติธรนัดหมายรวมตัวที่แยกอุรุพงษ์ และเคลื่อนขบวนไปที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเช่นเดียวกัน

ในส่วนนี้ บช.น.ขอเตือนว่า ขณะนี้ในเขตกรุงเทพฯ เป็นช่วงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การกระทำดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นผู้ชักชวนทางไมค์ โซเชียล โปรแกรมต่างๆ หรือด้วยประการหนึ่งประการใด ผู้เข้าร่วมชุมนุม ผู้อยู่ในสถานที่ชุมนุมโดยเจตนา ผู้ทำหน้าที่รถเครื่องเสียง รถสุขา การ์ด หรือการสนับสนุนการชุมนุมด้วยประการหนึ่งประการใด จะเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรการควบคุมโรค) และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ อาจถูกดำเนินคดีและได้รับโทษตามกฎหมาย สำหรับการจัดกิจรรมวานนี้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวต่อว่า กรณีรถขยายเสียงของกลุ่ม ทนายนกเขา เคลื่อนตัวมุ่งหน้าข้ามสะพานชมัยมรุเชฐ ก่อนที่ตำรวจจัดเตรียมรถฉีดน้ำแรงดันสูง (จีโน่) และนำกำลังตั้งแนวขวางกั้นเส้นทาง เป็นไปตามขั้นตอนการปฏิบัติที่ถูกต้องหรือไม่นั้น การกระทำดังกล่าวเป็นการหยุดรถขยายเสียง เพื่อตรวจสอบว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เป็นหน้าที่ของตำรวจในการตรวจสอบอยู่แล้ว บางครั้งอาจก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน ตำรวจได้บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้กระทำผิด ไว้เป็นพยานหลักฐานดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ส่วนกรณีเผยแพร่ภาพการสลายการชุมนุมในเหตุการณ์อื่น แล้วนำมาโยงกับเหตุการณ์ชุมนุมวานนี้นั้น บช.น.มีข้อมูลในระดับหนึ่งแล้ว จะทำการตรวจสอบว่าการนำเข้าข้อมูลผ่านระบบคอมพิวเตอร์ดังกล่าว เป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่ ถ้านำข้อมูลอันเป็นเท็จ อันเป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรือเป็นการนำข้อมูลอันเป็นเท็จโดยผิดกฎหมาย จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ปี 2530 มาตรา 14 พนักงานสอบสวนจะพิจารณา ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดรวมทั้งผู้นำเข้าและผู้ส่งต่อ

พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า สำหรับการทำกิจกรรมในพื้นที่อื่นนอกจากกรุงเทพฯ การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจจะเป็นมาตรฐานเดียวกับที่ บช.น.ได้รับผิดชอบในเขตกรุงเทพฯ ผบ.ตร.แสดงความเป็นห่วงเป็นใยต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน และเห็นว่า การชุมนุมเป็นเรื่องสิทธิของแต่ละบุคคล แต่อยากให้คำนึงถึงเรื่องการเยียวยาของประเทศ การสร้างภูมิคุ้มกันโหว่ การฉีดวัคซีน ในฐานะคนไทยต้องช่วยกันขับเคลื่อน ให้ผ่านพ้นภาวะวิกฤตนี้ไปได้ เพื่อให้สภาพเศษรฐกิจกลับมาเหมือนเดิม 

โดยการร่วมมือร่วมใจปฏิบัติตามกฎหมาย ปฏิบัติตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติตามประกาศของผู้ว่าฯแต่ละจังหวัดและกรุงเทพฯ จะเป็นตัวกำหนดว่าต้องปฏิบัติอย่างไร ในส่วนการดำเนินคดี หรือการดำเนินการของตำรวจมีขั้นตอน มีผู้รับผิดชอบ เราผ่านเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองมาหลายปี ทุกครั้งจะมีการนำแต่ละเหตุการณ์มาเป็นบทเรียน เป็นตัวตั้ง ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจเป็นไปตามกรอบกฎหมาย ยึดหลักมนุษยชนสามารถตอบคำถามสังคมได้

สนธิญายื่นถอนประกันกลุ่มราษฎรที่ศาลอาญา

ขณะที่ข่าวหลายสำนักรายงานอีกว่า สนธิญา สวัสดี ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ยื่นหนังสือถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เพื่อขอให้ถอนการประกันตัวแกนนำ และแนวร่วมกลุ่มราษฎร 6 คน ได้แก่ 'เพนกวิน' พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, 'ไมค์' ภาณุพงศ์ จาดนอก, 'ไผ่' จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, 'ครูใหญ่' อรรถพล บัวพัฒน์ และ 'รุ้ง' ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

สนธิญา ระบุว่า ขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย กรณีผู้ต้องหาในคดีตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112 เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง จากการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่าอาจจะขัดต่อเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว จึงนำภาพถ่ายและคลิปวิดีโอ ยื่นศาลพิจารณาวินิจฉัยและเพิกถอนการประกันตัว

กสม. ลงพื้นที่ดูการชุมนุม ชี้ควรคำนึงเรื่องสิทธิด้านสุขภาพด้วย

ขณะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ ระบุว่า ตัวแทน กสม. และคณะกรรมการสมานฉันท์ ลงพื้นที่สังเกตการณ์การชุมนุมในบางพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 24 มิ.ย. 2564 

กสม. เห็นว่าภาพรวมการชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แม้จะมีเหตุกระทบกระทั่งกันบ้างระหว่างผู้ชุมนุมบางส่วนกับเจ้าหน้าที่ซึ่งทำหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย แต่ก็ไม่มีเหตุรุนแรงใดๆ กสม. ต้องการเห็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบและปราศจากอาวุธ ตามที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคี อย่างไรก็ตาม การใช้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ควรคำนึงถึงสิทธิด้านสุขภาพของตนเอง ผู้อื่น และสังคมโดยรวมด้วย

กสม. ย้ำว่า จะยังคงเฝ้าระวังและติดตามการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ตามภารกิจของ กสม. เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท