ครม.อนุมัติ 6 พันล้านซื้อซิโนแวค แพทย์ชี้ mRNA ดีสุด เตรียมหาเพิ่มให้หมอด่านหน้า

6 ก.ค. 2564 ครม. อนุมัติเงินกู้ 6 พันล้านซื้อซิโนแวค ขณะที่ที่ปรึกษา ศบค. ชี้วัคซีน mRNA กระตุ้นภูมิต้านทานดีที่สุด โดยเฉพาะเมื่อต้องรับมือเชื้อกลายพันธุ์ แต่ยังยืนยันว่าวัคซีนที่มีป้องกันการป่วยหนักและตายได้สูง ด้าน สธ. เสนอจัดวัคซีนบูสเตอร์โดสให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า เร่งกระจายวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยง บังคับ work from home และปรับระบบรักษาให้ผู้ไม่มีอาการดูแลตนเองที่บ้าน เน้นลดการตายเป็นหลัก

อนุมัติเงินกู้ 6 พันล้านซื้อซิโนแวค 10.9 ล้านโดส

เว็บไซต์รัฐบาลไทย รายงานว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับบริการประชาชนในประเทศไทย เพิ่มเติมจำนวน 10.9 ล้านโดส ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรอบวงเงิน 6,111.4120 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานหรือโครงการเพื่อจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ยารักษาโรค วัคซีนป้องกันโรค และห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ตามบัญชีท้าย เงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟู เศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 พร้อมทั้งมอบหมายให้กรมควบคุมโรคเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ และดำเนินการโดยเคร่งครัด

ที่ปรึกษา ศบค. ชี้ mRNA กระตุ้นภูมิต้านทานดีที่สุด

ด้านข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. กล่าวว่า เมื่อพิจารณาข้อมูลวัคซีนปัจจุบัน เมื่อเจอสายพันธุ์เดลตา ประสิทธิภาพของวัคซีนจะลดลง อ้างอิงจากงานวิจัยในอังกฤษ พบว่า

  • วัคซีนไฟเซอร์ เมื่อพบโควิดสายพันธุ์เบตา ภูมิคุ้มกันลดลง 7.5 เท่า เมื่อพบสายพันธุ์เดลตา ภูมิคุ้มกันลดลง 2.5เท่า
  • วัคซีนแอสตราเซเนกา เมื่อพบสายพันธุ์เบตา ภูมิคุ้มกันลดลง 9 เท่า เมื่อพบสายพันธุ์เดลตา ภูมิคุ้มกันลดลง 4.3 เท่า
  • วัคซีนซิโนแวค งานวิจัยของ สวทช. ร่วมกับศูนย์วิจัยจุฬาฯ พบว่า เมื่อพบสายพันธุ์เดลต้า ภูมิคุ้มกันลดลง 4.9 เท่า

หากแปลงเป็นตัวเลขทางคลินิก ความสามารถกระตุ้นภูมิต้านทาน mRNA หรือ ไฟเซอร์ ดีที่สุด รองมาเป็นแอสตราเซเนกา และซิโนแวค ตามลำดับ

ที่ปรึกษา ศบค. กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบในเรื่องของการป้องกันโรค วัคซีนไฟเซอร์ป้องกันสายพันธุ์เดลตาลดลงจาก 93% เหลือ 88% วัคซีนแอสตราเซเนกา ป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้ลดลงจาด 66% เหลือ 60%

ส่วนการป้องกันการอยู่โรงพยาบาล หรือเจ็บป่วยรุนแรง วัคซีนไฟเซอร์ป้องกันได้ 96% และแอสตราเซเนกาป้องกันได้ 92% ไม่มีความแตกต่างทางสถิติ

ย้ำวัคซีนที่มียังป้องกันป่วยรุนแรงและตาย

นพ.อุดม ย้ำว่า แม้ประสิทธิภาพการป้องกันโรคลดลง แต่การป้องกันเจ็บป่วยรุนแรงและตายสูงมาก ส่วนซิโนแวคข้อมูลน้อย ไม่มีข้อมูลป้องกันเท่าไร ถ้าเทียบจากภูมิต้านทาน คงป้องกันโควิดสายพันธุ์เดลตาไม่ดีแน่ แต่ซิโนแวค 2 เข็ม ป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงเข้าโรงพยาบาล หรือป้องกันตายมากกว่า 90% จากข้อมูลของหลายประเทศ และประเทศไทย ที่ จ.ภูเก็ต ฉีดมากที่สุด

“ตอนนี้เราต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า วัตถุประสงค์ของการฉีดวัคซีนไม่มีทางป้องกัน 100% แต่ละตัวมีประสิทธิภาพแตกต่างออกไป แต่สำคัญคือแม้ไม่สามารถป้องกันได้ ประสิทธิภาพป้องกันลดลง แต่ประสิทธิภาพป้องกันเจ็บป่วยรุนแรงเข้า รพ. และตายยังสูงมาก เกิน 90% แม้เป็นซิโนแวค ที่อยากจะย้ำ เพราะการป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยรุนแรง ทำให้ไม่ต้องไป รพ. เตียงเราจะได้มีพอ ตอนนี้แพทย์ พยาบาล ไม่ไหวแล้ว อย่างน้อยวัคซีนป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยรุนแรงเข้าโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยหนัก มันคุ้มค่ามหาศาลสำหรับชีวิตแล้ว” ที่ปรึกษา ศบค. กล่าว

คาดระบาดระลอก 4 เชื้อกลายพันธุ์ หาที่มาไม่ได้แล้ว

ขณะที่ไทยโพสต์ รายงานว่า นพ.อุดมกล่าวว่า เรื่องนี้ยังมีความเห็นแตกต่างกันเล็กน้อยว่าเป็นการระบาดระลอกที่ 4 หรือไม่ แต่ส่วนตัวถือว่าเป็นระลอกที่ 4 หรือเวฟ 4 แล้ว เพราะเป็นไวรัสตัวใหม่กลายพันธุ์ กำลังจะเป็นสายพันธุ์เดลต้า มีพฤติกรรมไม่เหมือนเดิม ส่วนคุณสมบัติสำคัญที่บอกเป็นเวฟ 4 คือ การแพร่ระบาดในชุมชน ครอบครัว องค์กร หาที่มาที่ไปไม่ได้ เท่ากับคำจำกัดความเกิดเป็นเวฟใหม่ ตัวเลขขึ้น 5-6 พันราย ถือเป็นเวฟ 4 แล้ว ส่วนจะจบเมื่อไร เรายกระดับมาตรการแล้ว แต่ยังไม่สูงสุด

ขณะนี้เป็นแค่เซมิล็อกดาวน์ กว่าจะเห็นผล 14 วัน ตามระยะเวลาฟักตัวของไวรัส ต้องหลัง 14 วันไปก่อนถึงจะเริ่มเห็นผล ซึ่งจะครบช่วงวันที่ 11-12 ก.ค. และจะประเมินอีกทีว่าเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าจะไม่ให้มากเกินกำลังบุคลากรสาธารณสุข ทั้งเตียง ยา ต่างๆ เราต้องการเห็นตัวเลขไม่เกิน 500-1,000 วัน เราสู้ไหว ตอนนี้บอกตรงๆ ว่าสู้ไม่ไหว ต้องช่วยกัน คือเพิ่มมาตรการด้านสาธารณสุข มาตรการส่วนบุคคล และมาตรการสังคมมากกว่านี้ และเร่งฉีดวัคซีน 2 เข็มให้มากที่สุดเกิน 70% ของประชากรให้ได้ ตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญ

สธ.เสนอวัคซีนบูสเตอร์โดสให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า

ด้านสำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2564 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหาร แถลงข่าวการบริหารจัดการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในสถานการณ์โควิด-19

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 เพิ่มขึ้นมาเป็นวันละ 6 พันราย ส่วนใหญ่ยังอยู่ใน กทม. และปริมณฑล ส่วนต่างจังหวัดติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากประชาชนที่เดินทางมาจาก กทม. มีลักษณะกระจายตัว ควบคุมดูแลได้

"ที่น่าห่วงคือ กทม. ที่เป็นเมืองใหญ่ เมื่อมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้เป็นผู้ดูแลพื้นที่โดยตรง จึงเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนการควบคุมโรค การบริหารจัดการเตียง เช่น เปิดเตียง รพ.บุษราคัม เพิ่ม ดูแลผู้ป่วยอาการปานกลาง สีเหลือง 1,500 เตียง และสัปดาห์นี้ได้ร่วมกับโรงพยาบาลเอกชน โรงเรียนแพทย์ เปิดเตียงไอซียูดูแลผู้ป่วยอาการหนัก (สีแดง) รวมกันมากกว่า 100 เตียงทันที และประสานส่งต่อให้เข้ารับการดูแลรักษาทุกคน" นพ.เกียรติภูมิกล่าว

ปลักกระทรวงสาธารณสุขกล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมากใน กทม. และปริมณฑล กรมควบคุมโรคได้เสนอปรับมาตรการควบคุมโรคให้เหมาะสมใน 4 มาตรการ ได้แก่

1. การค้นหาผู้ติดเชื้อ ดูแลรักษา แยกกัก และควบคุมโรค เน้นผู้สูงอายุและผู้เสี่ยงป่วยรุนแรง

2. การจัดการเตียง มีการกักตัวดูแลรักษาที่บ้าน หากมีอาการมากขึ้นจะส่งต่อเข้ารักษา

3. มาตรการวัคซีน โดยจัดวัคซีนบูสเตอร์โดสให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า เพื่อให้ภูมิคุ้มกันสูงขึ้นป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้ โดยคณะวิชาการจะพิจารณาว่าจะใช้วัคซีนตัวไหนแต่จะดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อรักษาระบบสาธารณสุขของประเทศเดินหน้าให้บริการประชาชนได้ รวมถึงเน้นฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุและ 7 กลุ่มโรค โดยวัคซีนที่จะได้ในเดือน ก.ค. นี้ร้อยละ 80 จะฉีดให้ 2 กลุ่มนี้ เพื่อลดอัตราการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต และปรับจากการฉีดปูพรม มาฉีดกลุ่มเฉพาะเน้นควบคุมโรคในพื้นที่ระบาด

4. มาตรการทางสังคมและองค์กรก่อนเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่

"การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การควบคุมโรค 4 มาตรการนั้น เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนร่วมกันดูแลตนเองไม่ให้ติดเชื้อ ไม่นำเชื้อมาติดผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบางที่บ้าน ใส่หน้ากาก ล้างมือ วัดอุณหภูมิร่างกาย ไม่เดินทางไปสถานที่ต่างๆ โดยไม่จำเป็น และจะใช้มาตรการวัคซีนร่วมด้วย หากทำตามแผนจะทำให้การระบาดของโรคลดลงได้ มีปริมาณเตียงเพียงพอรับผู้ป่วย และพยายามให้ทุกคนในประเทศมีภูมิคุ้มกัน ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ กลับไปใช้ชีวิตแบบนิวนอร์มัล" นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าว

เน้นกระจายวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยง บังคับ work from home ให้ได้ 70%

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า มาตรการควบคุมโรคในต่างจังหวัด โดยเฉพาะที่มีการติดเชื้อไม่มาก จะเฝ้าระวังผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจที่ไปโรงพยาบาล ผู้ป่วยปอดอักเสบ และมาตรการสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง การสอบสวนโรค ค้นหาผู้ติดเชื้อเพื่อกักกันโรคตามความเสี่ยงสูงเสี่ยงต่ำ ค้นหาเชิงรุกในชุมชนเข้มข้น ส่วน กทม. และปริมณฑล ช่วง ก.ค.-ส.ค. จะปรับมาตรการให้สอดคล้อง โดยเน้นปกป้องผู้สูงอายุและผู้เสี่ยงป่วยอาการรุนแรง ดังนี้

1. จัดทำฟาสต์แทร็กหรือทางด่วนสำหรับ 2 กลุ่มนี้ให้ได้รับการตรวจลำดับแรกๆ รักษาในโรงพยาบาลทันที เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต

2. บุคคลกลุ่มอื่นจะปรับการตรวจการติดเชื้อไปจุดอื่น เช่น หน่วยตรวจเชิงรุก คลินิกชุมชน เป็นต้น

3. ปรับการสอบสวนควบคุมโรค เน้นไม่ให้เกิดกลุ่มก้อนใหญ่ (คลัสเตอร์) หาจุดเสี่ยงการระบาดใหญ่ให้ทันเวลา การสอบสวนเฉพาะราย (ไทม์ไลน์) ให้แต่ละจุดตรวจดำเนินการแทน

4. การควบคุมเชิงรุกในจุดเสี่ยงที่ทำให้เกิดการระบาดวงกว้าง (ซูเปอร์ สเปรดเดอร์) ทำมาตรการ Bubble and Seal ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว แคมป์ก่อสร้าง โรงงานสถานประกอบการ ตลาดสด ตลาดขนาดใหญ่ ชุมชนแออัด เรือนจำ สถานพินิจ แหล่งรวมตัวใหญ่ๆ เนอร์สซิ่ง แคร์ผู้สูงอายุ ร่วมกับทาง กทม.

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการวัคซีนนั้น เดือน ก.ค. 2564 ตั้งเป้าหมายไว้ 10 ล้านโดส จะกระจายทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 2-2.5 ล้านโดส เน้นในผู้สูงอายุ และ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงป่วยมีอาการรุนแรง โดยในพื้นที่ กทม. มีประมาณ 1.8 ล้านคน จะระดมฉีดให้ได้ร้อยละ 70 ภายใน 2 สัปดาห์ ปริมณฑลฉีดให้ครบใน ก.ค. นี้ และจังหวัดอื่นฉีดภายใน ส.ค. นี้

ส่วนการฉีดเพื่อควบคุมการระบาดโดยเฉพาะจุดเสี่ยงที่จะระบาดในวงกว้าง เช่น โรงงาน ตลาด เป็นต้น อธิบดีกรมควบคุมโรคชี้แจงว่า จะฉีดวัคซีนชุมชนโดยรอบเพื่อป้องกันการแพร่กระจาย กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อสูง และกลุ่มที่มีโอกาสแพร่กระจายเชื้อสูง

สำหรับการยกระดับมาตรการสังคมและองค์กร โดยเฉพาะ กทม. และปริมณฑล นพ.โอภาส กล่าวว่า ต้องบังคับมาตรการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) ในสถานที่หน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นหน่วยบริการป้องกันควบคุมโรค หรือรักษาพยาบาล และในสถานประกอบการเอกชนขนาดใหญ่ให้ได้ร้อยละ 70 และสื่อสารให้ประชาชนเพิ่มความเข้มข้นมาตรการส่วนบุคคล ประยุกต์หลักการ Bubble and Seal มาใช้กับตัวเองและครอบครัว เนื่องจากส่วนใหญ่ติดเชื้อที่บ้านและที่ทำงาน จึงขอให้ใส่หน้ากากให้มากที่สุด ทั้งบ้านและที่ทำงาน งดกิจกรรมอื่นที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะการรับประทานอาหารร่วมกัน และระมัดระวังการเดินทาง

ปรับระบบรักษาดูแลตัวเองที่บ้าน-เน้นลดตาย

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นเกือบ 1 หมื่นรายในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา โดยวันที่ 4 มิ.ย. มีผู้ป่วยครองเตียง 19,430 ราย วันที่ 4 ก.ค. มีผู้ป่วยครองเตียง 28,247 ราย เพิ่มขึ้นทุกระดับความรุนแรง ทั้งสีเขียว สีเหลือง และสีแดง โดยสีแดงเพิ่มจาก 657 ราย เป็น 1,130 ราย หรือต้องใช้เตียงไอซียูเพิ่มเท่าตัวใน 1 เดือน มีผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจจาก 200 กว่าราย เพิ่มเป็นเกือบ 400 ราย บุคลากรด่านหน้ามีจำนวนเท่าเดิมแต่ภาระงานเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวว่า การปรับมาตรการทางการแพทย์จะปรับระบบการรักษาโดยเน้นลดการเสียชีวิต ได้แก่

1.การเพิ่มเตียงและเปิดโรงพยาบาลสนามผ่านการบูรณาการของ 5 เครือข่าย คือ กทม. กรมการแพทย์ โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลทหารตำรวจ  โดยเพิ่มเตียงในทุกระดับสี

2.ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการดำเนินการมาตรการ Home Isolation และ Community Isolation ซึ่งเริ่มแล้วใน กทม.และปริมณฑล เฉพาะของโรงพยาบาลกรมการแพทย์ดูแลผู้ป่วย Home Isolation แล้วเกือบ 100 ราย และวันนี้จะหารือภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ และเอกชนทำ Community Isolation

“ที่ผ่านมาเราไม่อยากใช้การดูแลผู้ป่วยที่บ้านและชุมชนถ้าบุคลากรทางการแพทย์ไม่ตึงมือจริงๆ เพราะหากอาการแย่ลงที่บ้านจะไม่มีการดูแล และอาจแพร่เชื้อในบ้านและชุมชน หากแยกตัวเองไม่ได้ แต่สถานการณ์ตอนนี้บุคลากรหน้างานมีความเหนื่อยล้าต้องนำมาตรการมาใช้ โดยแจกเครื่องมือปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด และมีการ เทเลเมดิซีนติดตามอาการคนไข้ทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง ถ้ามีอาการรุนแรงมีการจ่ายยาให้ที่บ้าน หากอาการแย่ลงจริงๆ จะมีการส่งต่อรักษา ส่วนการให้ผู้ป่วยอยู่บ้านไม่ออกไปซื้ออาหารข้างนอก ทาง สปสช.มีการจ่ายเงินให้โรงพยาบาลซื้ออาหาร 3 มื้อส่งให้ผู้ป่วยถึงบ้าน ซึ่งประกันสังคมอยู่ระหว่างการหารือเพื่อให้สิทธิด้วย ตอนนี้เราพยายามปรับเปลี่ยนสถานการณ์เพื่อให้ระบบสาธารณสุขอยู่ได้ และบุคลากรไม่เหน็ดเหนื่อยจนเกินไป” นพ.สมศักดิ์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท