Skip to main content
sharethis

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าตรวจดีเอ็นเอเยาวชนปอเนาะ-ประชาชน-ผู้สูงอายุ ในพื้นที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี  เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ เรียกร้องให้ จนท. ปฏิบัติตามกฎหมาย และยุติการเก็บดีเอ็นเอ ขณะที่โควิด-19 ยังระบาดในพื้นที่

23 ก.ค. 2564 เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD) รายงานว่า เวลาประมาณ 11.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ประมาณ 11 คันรถกระบะ เดินทางไปที่ปอเนาะ (มะอูฮัดซูบูลุซซาลาม) บ้านชะเมาสามต้น ม.5 ต.เตราะบอน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี และแจ้งให้บาบอ (เจ้าของโรงเรียนปอเนาะ) ประสานเด็กปอเนาะบางส่วนที่กลับบ้านเนื่องจากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่กำลังระบาดอย่างหนัก ให้เดินทางมาที่ปอเนาะ เนื่องจากเจ้าหน้าที่จะขอเก็บดีเอ็นเอ

หลังจากนั้น เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD) ทราบข้อมูลเบื้องต้นว่า เจ้าหน้าที่เก็บดีเอ็นเอเด็กปอเนาะ อายุระหว่าง 14-23 ปี อย่างน้อย 11 คน โดยในจำนวนนี้ 2 คน เป็นลูกชายของบาบอปอเนาะดังกล่าว และยังมีประชาชนผู้สูงอายุที่เรียนปอเนาะในยามค่ำคืนอย่างน้อย 3  คน

ทราบชื่อบางส่วน ดังนี้

1. นาบีตะ เจ๊ะกอ อายุ 42 ปี

2. มะรอฟีอิง หะยีสาอิ อายุ 48 ปี

3. มูฮำหมัดนาซีร หะยีสาอิ อายุ 19 ปี

4. มูฮำหมัดนาอีม หะยีสาอิ อายุ 14 ปี

5. สูดิง ไม่ทราบนามสกุล อายุ 50 ปี 

6. แชโอะ ไม่ทราบนามสกุล อายุ 70 ปี

8. เจะสลาเมาะห์ กือนิอายุ  77 ปี

9. บีดะ เจะหะ อายุ 63 ปี

10. มือเลาะห์ ดือราแม อายุ 62 ปี

ทั้งนี้ ลักษณะการเก็บข้อมูลของเจ้าหน้าที่ ได้แก่ พิมพ์ลายนิ้วมือ 10 นิ้ว พร้อมฝ่ามือ และเก็บดีเอ็นเอจากกระพุงแก้ม 2 ข้างด้วยสำลี (Cotton Buds)

เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD) ขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ ยุติการเก็บดีเอ็นเอเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 กำลังระบาดอย่างหนัก หลายหมู่บ้านถูกปิดเส้นทางเข้าออก และขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เคารพสิทธิมนุษยชน ตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination: CERD) ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติ เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2546 และมีผลผูกพันเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2546 รวมถึงและระเบียบการเก็บตัวอย่าง ดีเอ็นเอ ตามที่กฎหมายกำหนด

ข้อมูลจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมระบุว่า ดีเอ็นเอ คือ สารพันธุกรรมที่ถ่ายทอดจากพ่อแม่สู่ลูก เป็นข้อมูลเฉพาะบุคคล อาจถูกนำไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์และโทษในทางผิดๆ เช่น นำไปใช้เป็นหลักฐานกลั่นแกล้งเราว่ากระทำความผิดในคดีอาญา โดยอ้างว่า ดีเอ็นเอของคนร้ายที่เก็บได้จากที่เกิดเหตุ ตรงกับดีเอ็นเอของเรา เราจึงเป็นคนร้าย เป็นต้น

ตามหลักสิทธิมนุษยชนและกฎหมายของไทย เจ้าหน้าที่จะเก็บดีเอ็นเอได้ต้องเป็นพนักงานสอบสวน หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับความยินยอม บนแนวปฏิบัติดังนี้

1. เจ้าหน้าที่ต้องให้ข้อมูลแก่เราอย่างละเอียด ถูกต้องเป็นจริง ชัดเจน เข้าใจได้ เช่น

  • อธิบายให้เราเข้าใจว่าดีเอ็นเอคืออะไร
  • เก็บดีเอ็นเอเรามาจากหน่วยงานไหน
  • เก็บตัวอย่างดีเอ็นเอเราไปเพื่อวัตถุประสงค์ใด
  • เมื่อนำตัวอย่างดีเอ็นเอเราไปแล้วจะเก็บไว้ที่ไหน ใครเป็นผู้ตรวจ บันทึกข้อมูล ใครเป็นผู้เก็บรักษา เก็บรักษาอย่างไร
  • จะรักษาความลับข้อมูลดีเอ็นเอของเราอย่างไร ใครสามารถเข้าถึงได้บ้าง
  • ใครมีสิทธิเอาข้อมูลดีเอ็นเอของเราไปใช้ได้บ้าง
  • จะป้องกันไม่ให้นำข้อมูลดีเอ็นเอของเราไปใช้ในทางที่ผิดได้อย่างไร

2. เจ้าหน้าที่ต้องแจ้งให้เราทราบว่า เรามีสิทธิจะให้เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจากเราหรือปฏิเสธได้ไม่บังคับ หากเราไม่ให้เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจากเรา ก็จะไม่มีผลร้ายใดๆ ต่อเรา

3. หากเราได้ให้ความยินยอมไปแล้ว เราสามารถเปลี่บยนใจและถอนความยินยอมเมื่อใดก็ได้ โดยเจ้าหน้าที่จะต้องลบทำลายข้อมูลดีเอ็นเอของเราเสีย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net