ราชกิจจาฯ เปิดเกณฑ์พระราชทานอภัยโทษ วาระวันเฉลิมฯ ร.10

ราชกิจจาฯ ประกาศเกณฑ์ผู้ต้องโทษที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษให้ปล่อยตัวและลดโทษเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษารัชกาลที่ 10 ผู้ต้องโทษที่ไม่เข้าเกณฑ์คือกลุ่มผู้ต้องโทษประหารที่เคยได้รับพระราชทานอภัยโทษ ผู้ต้องโทษคดีผลิตหรือค้ายาเสพติดจำคุกเกิน 8 ปีหรือตลอดชีวิตหลังพระราชทานอภัยโทษเมื่อ 5 ธ.ค.63 ทำผิดซ้ำและไม่ใช่นักโทษชั้นเยี่ยม นักโทษที่ต้องปรับปรุงตัว

เรือนจำรัตนบุรี จ.สุรินทร์ แฟ้มภาพ 

27 ก.ค.2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2564 ระบุหลักเกณฑ์ของผู้ต้องขังที่จะได้รับการพระราชทานอภัยโทษเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ใน 28 ก.ค.2564 โดยมีผลนับตั้งแต่วันนี้ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ประกาศลงในราชกิจจานุกเบกษา สำหรับเกณฑ์ผู้ที่จะได้รับการอภัยโทษปล่อยตัวหรือลดโทษมีเงื่อนไข ดังนี้

มาตรา 5 ผู้ที่ต้องโทษดังต่อไปนี้ ให้ได้รับการปล่อยตัว

    1. ผู้ต้องกักขัง ซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาด และยังไม่ได้รับโทษกักขังแทนโทษจำคุก หรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับ ให้ผู้ต้องกักขังนั้นได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป 

    2. ผู้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธษรณะประโยชน์แทนค่าปรับ และ

    3. ผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ

มาตรา 6 ภายใต้บังคับมาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 12 และมาตรา 13นักโทษเด็ดขาดดังต่อไปนี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป

    1. ผู้ต้องโทษจำคุก ไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดีและเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้บังคับใช้

    2. ผู้ที่เข้าหลักเกณฑ์เป็นผู้พิการ ผู้สูงวัย มีโรคประจำตัวร้ายแรงและผู้ที่เพิ่งได้รับโทษครั้งแรกมีเกณฑ์ดังต่อไปนี้

        1. เป็นคนพิการโดยตาบอดทั้งสองข้าง มือหรือเท้าด้วนทั้งสองข้าง หรือเป็นบุคคลซึ่งแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่าสองคนได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าเป็นคนทุพพลภาพมีลักษณะอันเห็นได้ชัด

        2. เป็นคนเจ็บป่วยด้วยโรคอัมพาต โรคสมองเสื่อม โรคสมองพิการ โรคจิต โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังขั้นรุนแรง โรคตับวายเรื้อรัง โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์) โรคโลหิตจางจากไขกระดูกไม่สร้างเม็ดโลหิต หรือโรคเรื้อน หรือเป็นคนเจ็บป่วยซึ่งมีภาวะติดเตียงหรือมีโรคที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่จำเป็นต้องรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางราชการได้ทำการรักษามาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือนในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ และแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่า 2 คนได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าไม่สามารถจะรักษาในเรือนจำให้หายได้และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษตามกำหนดโทษ

        3. เป็นคนเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายหรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์) ระยะสุดท้าย ซึ่งแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่า 2คนได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าเป็นระยะสุดท้าย และไม่สามารถจะรักษาในเรือนจำให้หายได้ เป็นคนเจ็บป่วยซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับตามที่ปรากฏในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร หรือทะเบียนรายตัวของเรือนจำ ในกรณีไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่จำเป็นต้องรักษาพยาบาลอยู่ในสถานพยาบาลของเรือนจำหรือสถานพยาบาลภายนอกเรือนจำอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 1 ปีในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับซึ่งแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่า 2 คนได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าไม่สามารถจะรักษาในเรือนจำให้หายได้

        4. เป็นหญิงซึ่งต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษตามกำหนดโทษ

        5. เป็นคนมีอายุไม่ต่ำกว่า 60ปีบริบูรณ์ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับตามที่ปรากฏในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร หรือทะเบียนรายตัวของเรือนจำ ในกรณีไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดีซึ่งมีโทษจำคุกตามกำหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่ไม่เกิน 3 ปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ หรือเป็นคนมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป

        6. เป็นผู้ต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก และมีอายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับตามที่ปรากฏในทะเบียนบ้านหรือทะเบียนรายตัวของเรือนจำ ในกรณีไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านและไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดีต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่า 1 ใน 3ของโทษตามกำหนดโทษ หรือ

        7. เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดีซึ่งมีโทษจไคุกตามกำหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่ไม่เกิน 2 ปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

มาตรา 7 ภายใต้บังคับมาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 12 และมาตรา 13 นักโทษเด็ดขาดซึ่งมิได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไปตามมาตรา 6 ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษดังต่อไปนี้

    1. ผู้ที่ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตให้เหลือโทษจำคุก 50 ปี แล้วให้ลดโทษตามลำดับชั้นนักโทษ

    • ชั้นเยี่ยม 1 ใน 2
    • ชั้นดีมาก 1 ใน 3
    • ชั้นดี 1 ใน 4
    • ชั้นกลาง 1 ใน 5

โดยให้นับโทษจำคุกตั้งแต่วันที่ต้องรับโทษ เว้นแต่กรณีที่จะต้องนับโทษต่อจากคดีอื่นให้นับโทษต่อจากคดีอื่นนั้น

    2. ผู้ต้องโทษจำคุกไม่ถึงตลอดชีวิต ให้ลดโทษจากกำหนดโทษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาดตามข้อ 1

    3. ผู้ต้องโทษจำคุกเพราะความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท ไม่ว่าจะมีความผิดอื่นร่วมด้วยหรือไม่ ให้ลดโทษจากกำหนดโทษลง 2 ใน 3 เฉพาะความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท

มาตรา 8 ภายใต้บังคับมาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 12 และมาตรา 13 นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษตามบัญชีลักษณะความผิดท้ายพระราชกฤษฎีกานี้(ล้อมกรอบข้างท้าย) ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ ดังต่อไปนี้

    1. ผู้ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ให้เปลี่ยนเป็นกำหนดโทษจำคุกห้าสิบปี แล้วให้ลดโทษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหาร ดังต่อไปนี้
    • ชั้นเยี่ยม 1 ใน 3
    • ชั้นดีมาก 1 ใน 4
    • ชั้นดี 1 ใน 5
    • ชั้นกลาง 1 ใน 6

โดยให้นับโทษจำคุกนั้นตั้งแต่วันที่ต้องรับโทษ เว้นแต่กรณีที่จะต้องนับโทษต่อจากคดีอื่นให้นับโทษต่อจากคดีอื่นนั้น

    2. ผู้ต้องโทษจำคุกไม่ถึงตลอดชีวิต ให้ลดโทษจากกำหนดโทษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาดข้อ 1

มาตรา 9 ภายใต้บังคับมาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 12 และมาตรา 13 นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกไม่เกินแปดปี ในความผิดฐานผลิต นำเข้า หรือส่งออกหรือผลิต นำเข้า หรือส่งออกเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ กฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาด ดังต่อไปนี้

    • ชั้นเยี่ยม 1 ใน 5
    • ชั้นดีมาก 1 ใน 6
    • ชั้นดี 1 ใน 7
    • ชั้นกลาง 1 ใน 8

มาตรา 10 ภายใต้บังคับมาตรา 12 และมาตรา 13 นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเกินแปดปี หรือจำคุกตลอดชีวิต  ก่อนหรือในวันที่พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ พ.ศ. 2563ใช้บังคับ ในความผิดฐานผลิต นำเข้า หรือส่งออกหรือผลิต นำเข้า หรือส่งออกเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ กฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ ดังต่อไปนี้

    1. ผู้ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ให้เปลี่ยนเป็นกำหนดโทษจำคุก 50ปี แล้วให้ลดโทษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหาร ดังต่อไปนี้

    • ชั้นเยี่ยม 1 ใน 6
    • ชั้นดีมาก 1 ใน 7
    • ชั้นดี 1 ใน 8
    • ชั้นกลาง 1 ใน 9

โดยให้นับโทษจำคุกนั้นตั้งแต่วันที่ต้องรับโทษ เว้นแต่กรณีที่จะต้องนับโทษต่อจากคดีอื่นให้นับโทษต่อจากคดีอื่นนั้น

    2. ผู้ต้องโทษจำคุกไม่ถึงตลอดชีวิต ให้ลดโทษจากกำหนดโทษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาดข้อ 1

มาตรา 11 ภายใต้บังคับมาตรา 12 และมาตรา 13 นักโทษเด็ดขาดซึ่งมิได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว และเป็นคนมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไปในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับตามที่ปรากฏในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร หรือทะเบียนรายตัวของเรือนจำในกรณีไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษลงเป็นพิเศษอีก 1 ใน 5 จากกำหนดโทษที่ได้รับการพระราชทานลดโทษลงแล้วตามพระราชกฤษฎีกานี้

มาตรา 12 ภายใต้บังคับมาตรา 13 นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยมซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดซ้ำให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษจากกำหนดโทษลง 1ใน 6

มาตรา 13 ภายใต้บังคับมาตรา 15 นักโทษเด็ดขาดดังต่อไปนี้ไม่อยู่ในข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี
    1. นักโทษเด็ดขาดซึ่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษประหารชีวิตที่เคยได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว
    2. ผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเกินแปดปี หรือจำคุกตลอดชีวิต  ภายหลังวันที่พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ พ.ศ. 2563 ใช้บังคับ ในความผิดฐานผลิต นำเข้า หรือส่งออกหรือผลิต นำเข้า หรือส่งออกเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ กฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท 
    3. ผู้กระทำความผิดซ้ำและมิใช่นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม
    4. นักโทษเด็ดขาดชั้นต้องปรับปรุงหรือชั้นต้องปรับปรุงมาก

มาตรา 14 ภายใต้บังคับมาตรา 10 มาตรา 12 และมาตรา 13 นักโทษเด็ดขาด ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานเรือนจำมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปีในวันที่ พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษลงเป็นพิเศษอีก 1 ปี

มาตรา 15 นักโทษเด็ดขาดที่ต้องโทษประหารชีวิตได้ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต

มาตรา 16 นักโทษที่จะได้รับการปล่อยตัวต้องผ่านหรือเคยอบรมเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัวตามที่กรมราชทัณฑ์หรือกระทรวงกลาโหมกำหนดเว้นแต่สภาพร่างกายหรือจิตใจไม่เป็นปกติจนไม่อาจรับการอบรมได้

ทั้งนี้ในพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ยังให้ตั้งคณะกรรมการ 3 คนประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้พิพากษาหรือตุลาการศาลทหารในท้องที่ 1 คน พนักงานอัยการหรืออัยการทหาร 1 คน ตรวจสอบผู้ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้วส่งรายชื่อต่อศาลท้องที่นั้นๆ ภายใน 120 วันนับตั้งแต่ 27 ก.ค.64 ซึ่งคือวันที่พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ใช้บังคับเพื่อให้ศาลท้องที่ออกหมายปล่อยหรือลดโทษ(มาตรา16) ส่วนนักโทษเรือนจำทหารให้รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมตั้งข้าราชการเป็นคณะกรรมการตามที่เห็นสมควรเพื่อตรวจสอบผู้ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้วส่งให้ศาลทหารภายในกรอบเวลาเดียวกัน(มาตรา 19)

ลักษณะความผิดตามมาตรา 8 ที่ได้รับการลดโทษ

  1. ความผิดในภาค 2 ความผิด แห่งประมวลกฎหมายอาญา
  • ลักษณะ 1/1 ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย มาตรา 135/1 ถึงมาตรา 135/4

  • ลักษณะ 2 ความผิดเกี่ยวกับการปกครอง หมวด 1 ความผิดต่อเจ้าพนักงาน มาตรา 139 มาตรา 140 มาตรา 143 และมาตรา 144 และในหมวด 2 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ มาตรา 147 ถึง มาตรา 166

  • ลักษณะ 3 ความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม หมวด 1 ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม มาตรา 167 มาตรา 172 - 175 มาตรา 177 มาตรา 179 - 181 มาตรา 187 มาตรา 189 มาตรา 191 -192 และมาตรา 198 หมวด 2 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม มาตรา 200-205

  • ลักษณะ 5 ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน มาตรา 209-213

  • ลักษณะ 6 ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน มาตรา 218 มาตรา 220 วรรคสอง มาตรา 221 มาตรา 222 มาตรา 224 มาตรา 228 -232 มาตรา 234 – 238

  • ลักษณะ 9 ความผิดเกี่ยวกับเพศ มาตรา 276 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม มาตรา 277 มาตรา 277 ทวิมาตรา 277 ตรี มาตรา 280 มาตรา 282 มาตรา 283 และมาตรา 285

  • ลักษณะ 10 ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย หมวด 1 ความผิดต่อชีวิต มาตรา 288 – 290 หมวด 2 ความผิดต่อร่างกาย มาตรา 297 – 298

  • ลักษณะ 11 ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง หมวด 1 ความผิดต่อเสรีภาพ มาตรา 313 - 315 และมาตรา 317

  • ลักษณะ 12 ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ หมวด 2 ความผิดฐานกรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์ มาตรา 339 วรรคห้า มาตรา 339 ทวิ วรรคห้า มาตรา 340 วรรคห้า มาตรา 340 ทวิ วรรคหกและมาตรา 340 ตรี หมวด 3 ความผิดฐานฉ้อโกง มาตรา 343

  1. ความผิดที่มีโทษตามมาตรา 78 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490

  2. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ กฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติและกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ

  3. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

  4. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ

  5. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน

  6. ความผิดเกี่ยวกับการยักยอกหรือฉ้อโกงหรือประทุษร้ายต่อทรัพย์หรือกระทำโดยทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ กฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน หรือกฎหมายว่าด้วย หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งกระท าโดยกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบ หรือมีประโยชน์เกี่ยวข้องในการด าเนินงานของสถาบันการเงินนั้น

  7. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น

  8. ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

  9. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท