คณาจารย์นิติศาสตร์-ศูนย์ทนายฯ-ก้าวไกล จี้ยกเลิกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ชี้ขัด รธน.

30 ก.ค. 2564 คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ 70 คน, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, และพรรคก้าวไกล ออกแถลงการณ์-ตั้งข้อสังเกต ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 29 ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แทรกแซงองค์กรอิสระ จำกัดเสรีภาพประชาชนและสื่อมวลชน

คณาจารย์นิติศาสตร์ชี้ ข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 29 ขัดรัฐธรรมนูญและไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คณาจารย์คณะนิติศาสตร์จำนวน 70 คน จากหลายมหาวิทยาลัยร่วมออกแถลงการณ์ ชี้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหาร ราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) ขัดรัฐธรรมนูญ มีความคลุมเครือไม่ชัดเจนขัดต่อหลักกฎหมาย และนายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจออกข้อกำหนดดังกล่าว

นอกจากนี้ คณาจารย์ยังเรียกร้องให้ยกเลิกหรือแก้ไขข้อกำหนดดังกล่าว และเตือนว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยกเว้นความรับผิดเฉพาะกรณีที่เจ้าหน้าที่กระทำไปโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือเกินจำเป็นเท่านั้น

แถลงการณ์คณาจารย์นิติศาสตร์

30 กรกฎาคม 2564

ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ออก “ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29)" ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 และให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2560 นั้น

คณาจารย์นิติศาสตร์ในสถาบันต่างๆ รวม 70 คน ดังรายนามปรากฎท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ เห็นว่า ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน แม้รัฐสามารถจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ แต่ก็ไม่สามารถระงับการใช้สิทธิเสรีภาพได้อย่างสิ้นเชิง การจำกัดสิทธิฯ ต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง ภายใต้หลักความได้สัดส่วนพอสมควรแก่เหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่มีสภาพบังคับเป็นโทษทางอาญา

และเห็นว่า ข้อกำหนดดังกล่าวมีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างแจ้งชัด ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. การห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มี “ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว" ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 มาตรา 35 และมาตรา 29 ประกอบมาตรา 26 เนื่องจาก

1.1 ความดังกล่าวมีลักษณะ “คลุมเครือ ไม่ชัดเจน วิญญูชนหรือบุคคลทั่วไปไม่อาจคาดหมายได้ว่า ข้อความใด “อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว"

ในช่วงวิกฤตนี้ ความหวาดกลัวย่อมเป็นปฏิกิริยาปกติของประชาชนทั่วไปต่อข่าวสารในทางลบ การเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นความจริง เพื่อให้ภาครัฐหรืออาสาสมัครเข้าช่วยเหลือผู้ป่วย หรือเพื่อเตือนบุคคลอื่นให้หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรค และการรายงานข่าวตามความเป็นจริงเพื่อให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง หากเป็นข่าวสารในแง่ลบ ก็อาจถูกตีความได้ว่าเป็น “ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” และเป็นความผิดตามกฎหมายได้

การออกข้อกำหนดที่มีเนื้อหาเช่นนี้ เท่ากับเป็นการห้ามประชาชนมีให้ใช้เสรีภาพในการแสดงออก และห้ามสื่อมวลชนมิให้ใช้เสรีภาพในการนำเสนอข่าว เพราะบุคคลดังกล่าวย่อมไม่แน่ใจว่า คำพูด การแสดงออก หรือการนำเสนอข่าวสาร จะผิดกฎหมายหรือไม่ ส่งผลให้ประชาชนและสื่อมวลชนส่วนหนึ่งอาจเลือกที่จะไม่แสดงออกหรือไม่นำเสนอข่าวเลย (chitting effect) ทั้ง ๆ ที่ข้อมูลดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ด้วยเกรงผลทางกฎหมายที่จะตามมา ดังนั้น ข้อกำหนดนี้จึงมิใช่มาตรการที่เหมาะสมแต่อย่างใด

1.2 การฝ่าฝืนข้อกำหนดดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกินสองปี จึงเป็นกรณีการกำหนดความผิดและโทษทางอาญาโดยบทบัญญัติที่ “คลุมเครือ" (vagueness) และ “มีความหมายไม่เฉพาะเจาะจง” (indefinite / non Specificity) ถึงขนาดที่วิญญชนไม่อาจรู้และเข้าใจได้ว่า ข้อความใดสามารถเผยแพร่ได้ ข้อความใดไม่อาจเผยแพร่ได้ ขัดต่อหลัก “ไม่มีกฎหมาย ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ" (No crime nor punishment withou law)

แม้ค้าว่า “หวาดกลัว" เคยปรากฏในกฎหมายไทย แต่กฎหมายดังกล่าวก็บัญญัติองค์ประกอบความผิดข้ออื่นไว้อย่างชัดเจน และมีบทยกเว้นความผิดด้วย อาทิ

- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 ต้องมีการกระทำที่เป็นความผิด เช่น ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อความเสียหายแก่ระบบการขนส่งสาธารณะ ต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ โดยมีความมุ่งหมายเพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน จึงจะเป็นความผิดฐานก่อการร้าย ที่สำคัญกว่านั้น กฎหมายยังบัญญัติชัดว่า “การกระทำในการเดินขบวน ชุมนุม ประท้วง โต้แย้ง หรือเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือหรือให้ได้รับความเป็นธรรมอันเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นการกระทำความผิด"

- ปว. ฉบับที่ 17 พ.ศ. 2501 หรือ ปร. ฉบับที่ 42 พ.ศ. 2519 ก็ห้ามเผยแพร่เฉพาะ "ข้อความซึ่งเป็นเท็จในลักษณะที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตกใจหรือวิตกกังวลหรือเกิดความหวาดกลัว"

การลงโทษทางอาญานั้น ดูที่เจตนาเป็นหลัก ผู้กระทำความผิด ต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผล ให้การส่งข้อความของตน ส่งผลเสียหายต่อบุคคลหรือสังคมส่วนรวม การกำหนดโทษที่ตัวข้อความ โดยมิได้พิเคราะห์ถึงเจตนาของผู้ส่งสาร ย่อมขัดต่อหลักดังกล่าว และเป็นการกำหนดความผิดอาญาที่เกินความจำเป็น (overcriminalization)

1.3 เมื่อพิเคราะห์ถึงความเหมาะสม ความจำเป็น และประโยชน์ที่ได้จากการบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าว เปรียบเทียบกับความเสียหายที่เกิดจากการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน และประโยชน์สาธารณะที่จะได้จากการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ตลอดจนความเสี่ยงที่รัฐบาลอาจใช้มาตรการนี้ ปิดกั้นการแสดงออกซึ่งความเห็นต่าง หรือปกปิดข้อความจริงที่เป็นผลลบต่อรัฐบาล กรณีจึงเห็นได้ชัดว่า ข้อกำหนดดังกล่าวขัดต่อหลักความได้สัดส่วนพอสมควรแก่เหตุ

1.4 แม้ข้อกำหนดนี้ คัดลอกถ้อยคำมาจากมาตรา 9 (3) แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 ก็ตาม แต่ก็เห็น ได้ชัดว่า บทบัญญัติมาตรา 9 (3) อันเป็นกฎหมายแม่บท ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเสียเอง เช่นนี้ สมควรให้มีการเสนอคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามช่องทางที่เหมาะสมต่อไป

อนึ่ง แม้เคยมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 แต่ก็เป็นข้อวินิจฉัยในมาตรา 9 (2) มาตรา 11 (1) และมาตรา 16 (คำวินิจฉัยที่ 9/2553 และคำวินิจฉัยที่ 10-11/2553) มิใช่มาตรา 9 (3)

1.5 แม้เจ้าหน้าที่ของรัฐบางท่าน ยืนยันว่า การเสนอข่าวตามความจริง ไม่เป็นความผิด แต่นั่นก็เป็นความเห็นของท่านเพียงลำพัง มิได้ผูกพันเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตำรวจ อัยการ และศาล ข้อกำหนดที่ "คลุมเครือ ไม่ชัดเจน" เช่นนี้ ยังคงสุ่มเสี่ยงต่อการตีความและบังคับใช้กฎหมายตามอำเภอใจได้

2. การกำหนดให้ สำนักงาน กสทช. แจ้งผู้รับใบอนุญาตให้บริการอินเตอร์เน็ตตรวจสอบ IP address และให้แจ้ง สนง. กสทช. ทราบ และให้ระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ตแก่ IP address ที่เผยแพร่ข่าวสารซึ่งมีลักษณะต้องห้ามในทันที เป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 มาตรา 36 ประกอบมาตรา 26 เนื่องจาก

2.1 เจ้าหน้าที่ของรัฐจะจำกัดเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ อันได้แก่ เสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกัน และเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารซึ่งเป็นมุมกลับของเสรีภาพในการแสดงออกได้นั้น ต้องมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติหรือเทียบเท่า ให้อำนาจไว้โดยชัดแจ้ง

การสั่งระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ตแก่ IP address ใด ย่อมกระทบต่อเสรีภาพสองประการดังกล่าว ดังนั้น หากนายกรัฐมนตรี และ สนง. กสทช. ต้องการระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ต ท่านก็ต้องมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้อำนาจท่านไว้ด้วย

2.2 เมื่อพิจารณาความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่นายกรัฐมนตรีใช้ในการออกข้อกำหนดดังกล่าว กลับไม่พบข้อความใดๆ ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนด หรือประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่ “สั่งระงับหรือยับยั้งการติดต่อหรือการสื่อสาร” หรืออีกนัยหนึ่ง คือ การสั่งระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ตได้เลย

อำนาจดังกล่าว ปรากฏอยู่ในมาตรา 11 (5) แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548

อย่างไรก็ดี การใช้อำนาจตามมาตรา 11 (5) นี้ นายกรัฐมนตรีจะใช้ได้ ก็ต่อเมื่อมีการประกาศให้สถานการณ์ฉุกเฉินนั้นเป็น “สถานการณ์ที่มีความร้ายแรง” ตามมาตรา 11 วรรคหนึ่งแล้วเท่านั้น

นับแต่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน (ประกาศฉบับที่ 29 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2560) นายกรัฐมนตรี ยังไม่เคยประกาศยกระดับสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็น "สถานการณ์ที่มีความร้ายแรง" แต่อย่างใด

2.3 เมื่อมาตรา 9 มิได้บัญญัติให้อำนาจในการสั่งระงับการติดต่อสื่อสารไว้ และยังมิได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตามมาตรา 11

- นายกรัฐมนตรี ย่อมไม่อาจออกข้อกำหนดให้ ผู้รับใบอนุญาต “ให้ระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ตแก่ IP address” ที่เผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารที่ต้องห้ามได้

- สนง.กสทช. ย่อมไม่อาจอาศัยอำนาจตามความในข้อกำหนดนี้ สั่งการให้ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ตแก่ IP address ใดๆ ได้

- ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตที่ระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ตแก่ IP address ใด ตามข้อกำหนดหรือตามคำสั่งของ สนง.กสทช. ย่อมเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายด้วยเช่นกัน

2.4 เมื่อพิจารณากฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ มาตรา 31 และมาตรา 44/5 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 หรือมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ย่อมเห็นได้ว่า กรณีตามข้อกำหนดนี้ ไม่เข้าเงื่อนไขในการใช้อำนาจออกคำสั่งของสำนักงาน กสทช. ต่อผู้รับใบอนุญาต

2.5 ปัจจุบัน การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตกลายเป็นปัจจัยที่ห้า จำเป็นต่อการดำรงชีวิต การระงับการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตโดยปราศจากเหตุผลที่แน่ชัด จึงเท่ากับเป็นการลงโทษที่เป็นสัดส่วน เป็นการจำกัดเสรีภาพของประชาชนเกินสมควร

ด้วยเหตุนี้ ข้อกำหนดดังกล่าวทั้งสองข้อ จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียกเลิกหรือแก้ไขข้อกำหนดดังกล่าวเสียใหม่

โปรดสังวรด้วยว่า มาตรา 17 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 ยกเว้นความรับผิดทางกฎหมายให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ เฉพาะแต่กรณีที่กระทำโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น เท่านั้น

ศูนย์ทนายฯ ตั้งข้อสังเกต ข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 29 แทรกแซงองค์กรอิสระ

ด้านศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยแพร่ข้อสังเกตต่อข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 29 ว่า มีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญ แทรกแซงองค์กรอิสระ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 ไม่ได้ให้อำนาจตัดอินเทอร์เน็ต

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตต่อข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ (ฉบับที่ 29) ดังต่อไปนี้

1. ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ (ฉบับที่ 29) ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

แม้มาตรา 9 (3) พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะให้อำนาจในการกำหนดมาตรการ ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือทั่วราชอาณาจักร 

แต่การกำหนดมาตรการตามข้อ 1 ของข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 29) ยังต้องเคารพเสรีภาพในการแสดงออกของบุคคลตาม มาตรา 34 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560[1] และเสรีภาพของสื่อมวลชนในการเสนอข่าวสารตามมาตรา 35 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560[2] แม้รัฐธรรมนูญจะมีข้อยกเว้นในการจำกัดสิทธิตามรัฐธรรมนูญได้ แต่การจำกัดสิทธินั้นต้องไม่จำกัดเสรีภาพของบุคคลเกินกว่าเหตุตามมาตรา 26 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560[3] 

กล่าวคือ ในสถานการณ์ของโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยเกินกว่าที่ระบบสาธารณสุขจะรองรับ ประชาชนจำเป็นต้องเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง และสื่อมวลชนมีหน้าที่ในการนำเสนอข่าวตามความจริง ไม่ว่าข้อมูลดังกล่าวนั้นจะสร้างความหวาดกลัวหรือไม่ก็ตาม แต่การกำหนดมาตรการห้ามเผยแพร่ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนหวาดกลัว ซึ่งเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจอย่างกว้างขวางและเป็นอัตวิสัย ย่อมเป็นอุปสรรคในการแสดงออก การสื่อสารของประชาชน รวมถึงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน เป็นการจำกัดสิทธิที่เกินกว่าเหตุ ไม่จำเป็นและไม่ได้สัดส่วน ข้อกำหนดดังกล่าวจึงขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้มาตรการในการระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ตตามข้อ 2 ของข้อกำหนดฉบับนี้ ยังขัดต่อเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกันตามมาตรา 36 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560[4] เนื่องจากหากข้อความใดมีปัญหาว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย ก็ย่อมเป็นความผิดเฉพาะข้อความนั้นเท่านั้น แต่การระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ตตามข้อกำหนดดังกล่าวข้างต้น เป็นการให้อำนาจปฏิบัติที่ข้ามขั้นตอนการตรวจสอบ ที่โดยปกติจะต้องมีการรวบรวมพยานหลักฐานตามสมควร และยื่นคำร้องให้ศาลตรวจสอบน้ำหนักของพยานหลักฐานก่อนมีคำสั่งในทางใดเสียก่อน ทั้งยังส่งผลกระทบต่อการสื่อสารในเรื่องราวอื่นๆ ข้อความอื่นๆ ซึ่งอาจไม่เกี่ยวข้องกับข้อความที่เป็นปัญหา รวมไปถึงอาจส่งผลต่อบุคคลอื่นๆ ซึ่งใช้บริการที่ได้รับเลขที่อยู่ไอพี (IP Address) เดียวกันขณะใช้งานในเวลาอื่น 

การกำหนดมาตรการดังกล่าวโดยมีเพียงการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ไม่มีองค์กรตุลาการเข้ามาตรวจสอบ และไม่เปิดโอกาสให้คู่กรณีได้โต้แย้งแสดงเหตุผล จึงเป็นการกำหนดมาตรการที่เกินสมควรกว่าเหตุและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน

2. การกำหนดให้สำนักงาน กสทช. แจ้งผู้รับใบอนุญาตให้บริการอินเตอร์เน็ตตรวจสอบ IP Address และระงับการให้บริการนั้นเป็นการแทรกแซงองค์กรอิสระ

บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หมวดที่ 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 60 วรรคสาม[5]  กำหนดให้รัฐต้องจัดให้มีองค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่… รวมตลอดทั้งป้องกันการกระทําที่มีผลเป็นการขัดขวางเสรีภาพในการรับรู้ หรือปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลหรือข่าวสารที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของประชาชน และป้องกันมิให้บุคคล หรือกลุ่มบุคคลใดใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่โดยไม่คํานึงถึงสิทธิของประชาชนทั่วไป… รัฐจึงได้ตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขึ้นมาตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 เพื่อทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการดังกล่าว อันรวมถึงกิจการโทรคมนาคมในการให้ใบอนุญาตให้บริการอินเตอร์เน็ต  

กสทช. จึงเป็นองค์กรอิสระไม่อยู่ใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด การกำหนดมาตรการตามข้อ 2 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 29) ให้สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบ IP Address และระงับการให้บริการนั้นจึงเป็นการแทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระ และกลายเป็นรัฐที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอันขัดต่อหน้าที่ของรัฐตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ไว้เอง

3. มาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ให้อำนาจระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ต

ตามหลักการกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมายนั้น การที่รัฐจะจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนต้องมีกฎหมายให้อำนาจในการจำกัดสิทธิไว้ ซึ่งมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ[6] ได้กำหนดมาตรการไว้เพียง 6 มาตรการ กล่าวคือ ห้ามออกนอกเคหสถาน ห้ามชุมนุม ห้ามเสนอข่าว ห้ามใช้เส้นทาง ห้ามใช้อาคาร และให้อพยพ แต่ไม่ได้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการตรวจสอบ IP Address หรือระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ตแต่อย่างใด 

ดังนั้น การกำหนดมาตรการตามข้อ 2 ของข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงไม่มีฐานทางกฎหมายมารองรับ ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 29) ข้อ 2 นี้ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตว่า วันที่ 27 เมษายน 2564 นายกรัฐมนตรีได้รวบอำนาจของรัฐมนตรีภายใต้บังคับบัญชามาสั่งการเองกว่า 31 ฉบับ ตามประกาศ เรื่องการกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3) โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 7 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ[7] อย่างไรก็ตาม ประกาศดังกล่าวนั้นไม่รวมถึงอำนาจของ กสทช. ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 เนื่องจากมาตรา 7 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ให้อำนาจไว้ 

นายกรัฐมนตรีจึงไม่อาจเข้ามาใช้อำนาจในการระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ต หรือกำหนดเงื่อนไขใดๆ เพิ่มเติมในใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ต รวมถึงการเพิกถอนใบอนุญาตในกรณีผู้ให้บริการฝ่าฝืนไม่ดำเนินการตามคำสั่งได้

ด้วยเหตุที่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพสื่อมวลชน เสรีภาพในการติดต่อสื่อสาร ทั้งยังเป็นการแทรกแซงการใช้อำนาจขององค์กรอิสระ และออกข้อกำหนดโดยไม่มีอำนาจรองรับ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญและขัดต่อกฎหมาย 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยกเลิกข้อกำหนดดังกล่าวในทันที เพราะวิกฤติของโรคระบาดโควิด-19 นั้น จะผ่านพ้นไปได้ ด้วยการยอมรับความจริงและเผชิญการแก้ไขปัญหาร่วมกัน มิใช่การปกปิดข้อมูลและการดำเนินคดีต่อประชาชนและสื่อมวลชน ซึ่งไม่ทำให้โรคระบาดยุติลงแต่อย่างใด

ก้าวไกลจวก รบ. ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปิดกั้นเสียงประชาชน

นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลยังออกแถลงการณ์ต่อกรณีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกข้อกำหนดจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนและละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน โดยมีชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล และ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคเป็นผู้แถลง

ชัยธวัช กล่าวว่า ตามที่เมื่วันที่ 29 ก.ค. 2564 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยมีสาระสำคัญ ได้แก่ การห้ามเสนอข่าวหรือเผยแพร่ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเป็นข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ รวมถึงให้อำนาจแก่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารดังกล่าว และส่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินคดีต่อไปนั้น

ต่อกรณีดังกล่าว พรรคก้าวไกลมีความเห็นดังนี้

ประการแรก การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน อยู่ในสถานการณ์วิกฤตรุนแรงกว่าที่ควรจะเป็น เป็นเพราะการบริหารที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเจตนาที่จะแทงม้าตัวเดียวเรื่องวัคซีน และความบกพร่องในการยกระดับระบบสาธารณะให้เตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ที่แย่ที่สุด มิได้เกิดจากการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน เมื่อสถานการณ์การระบาดเข้าขั้นวิกฤตในขณะนี้ แทนที่รัฐบาลจะใช้อำนาจที่มีเร่งแก้ไขความบกพร่องผิดพลาดของตนเองในอดีต และสื่อสารกับประชาชนด้วยข้อมูลที่รอบด้านและชัดเจนไม่สับสน รัฐบาลกลับมองสื่อมวลชนและประชาชนเป็นภัยความมั่นคง แล้วใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินจำกัดการเสนอข่าวสารอย่างรอบด้านของสื่อมวลชน และปิดกั้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน ซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดจากการออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 เมื่อวานนี้

ประการที่สอง การกำหนดข้อห้ามในลักษณะเช่นนี้เคยเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ในข้อกำหนดฉบับที่ 27 ที่ออกเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2564 และแม้จะมีเสียงคัดค้านเป็นวงกว้างจากทั้งประชาชน นักวิชาการ รวมถึง 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่เห็นว่าเป็นการใช้อำนาจเกินกว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้วก็ตาม แต่รัฐบาลก็หาได้รับฟังไม่ ยังคงเนื้อหาข้อห้ามไว้เช่นเดิมในข้อบังคับฉบับล่าสุดคือฉบับที่ 29 ซึ่งการมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. สามารถระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ผู้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารได้นั้น ถือเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 36 ที่รับรองเสรีภาพของบุคคลในการติดต่อสื่อสารถึงกันไม่ว่าในทางใดๆ เนื่องจากการระงับให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ผู้ใช้บริการรายใดๆ นั้นหมายความว่าผู้ใช้บริการนั้นมิอาจเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยสมบูรณ์ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานประการใดก็ตาม

ประการที่สาม พรรคก้าวไกลเคยเตือน พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลไว้ตั้งแต่ก่อนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในแถลงการณ์ของพรรคเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2563 ว่าหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 มิใช่อำนาจพิเศษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หากแต่เป็นการมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน การบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ การวางแผนอย่างรอบคอบ เตรียมความพร้อมและประเมินผลกระทบมาอย่างรอบด้านแล้ว รวมถึงการสื่อสารที่ชัดเจนหนักแน่นและการเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา

“พรรคก้าวไกลยังได้กำชับรัฐบาลต้องไม่ฉวยโอกาสใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตามอำเภอใจ แต่ต้องใช้อย่างจำกัดและระมัดระวังเพียงเพื่อวัตถุประสงค์ของการแก้ปัญหาโควิด-19 เท่านั้น รวมถึงต้องไม่ฉวยโอกาสลิดรอนเสรีภาพของสื่อมวลชนและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และละเมิดสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน เนื่องจากข้อมูลข่าวสารที่รอบด้านมีความสำคัญในช่วงเวลาวิกฤต เพื่อให้ประชาชนเท่าทันกับสถานการณ์ที่เป็นจริงและสามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้”

ชัยธวัช กล่าวต่อว่า ทว่าตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี 4 เดือนที่ผ่านมา ตลอดการประกาศและต่ออายุสถานการณ์ฉุกเฉินมาแล้วทั้งสิ้น 14 ครั้ง เรากลับเห็นรัฐบาลเน้นใช้อำนาจพิเศษไปกับการปราบปรามการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ในขณะที่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือประชาชนทั้งประเทศให้รอดพ้นจากวิกฤต ทั้งการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคมาฉีดโดยเร็วที่สุด ทั้งการอนุมัติยา เครื่องมือตรวจโรค และอุปกรณ์จำเป็นต่างๆ ทั้งการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรค ทั้งหมดนี้ควรได้รับประโยชน์จากการรวมศูนย์บริหารจัดการและลดขั้นตอนดำเนินงานโดยผลของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่กลับกลายเป็นว่าในทางปฏิบัติก็ยังคงต้องมาติดหล่มของระเบียบวิธีราชการเหมือนที่เคยเป็นมา เกิดปัญหาความซ้ำซ้อนกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ และขาดหน่วยงานรับผิดชอบที่ชัดเจน ทุกอย่างสับสนวุ่นวายท่ามกลางสถานการณ์ที่ประชาชนต้องเสียชีวิตไปวันละนับร้อยคนเป็นอย่างน้อย

“ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาแล้ว พรรคก้าวไกลจึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ยกเลิกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ทันที และจากนั้นควรยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 แล้วกลับไปสู่การรับมือและแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 อย่างจริงจังภายใต้ระบบกฎหมายปรกติ โดยรัฐบาลที่สามารถแก้ไขวิกฤตได้ ไม่ใช่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกต่อไปแล้ว เพราะในวันนี้พิสูจน์แล้วว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นภาระอันหนักอึ้งเหลือเกินสำหรับประเทศนี้”

ด้าน วิโรจน์ กล่าวว่า หากข่าวรัฐมีความโปร่งใส ข่าวลือใดๆ ก็จะไม่มี แต่ที่ผ่านมารัฐบาลประยุทธ์ไม่เคยเปิดเผยข้อเท็จจริงให้ประชาชนทราบอย่างโปร่งใสเลย ล่าสุด มีประชาชนจำนวนมากเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลห่วงโซ่ความเย็นเพื่อตรวจสอบการส่งมอบวัคซีน ปรากฏว่าถึงวันนี้ก็ยังไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ เมื่อรัฐบาลปกปิดความจริงจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ประชาชนจะต้องมีความกังวลและสื่อสารกันเองเพื่อสะท้อนความห่วงใยและเอื้ออาทรต่อกัน ยิ่งมีเอกสารข้อเท็จจริงที่หลุดออกมาไม่ตรงกับการสื่อสารที่รัฐบาลสื่อสารมาก่อนหน้า การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลก็เป็นเรื่องที่ประชาชนจะถ่ายทอดความรู้สึกนั้นได้ และยืนยันนั่นไม่ใช่เฟคนิวส์ แต่เป็นสัญญาณสะท้อนว่ารัฐบาลประยุทธ์ได้ล่มสลายด้านความน่าเชื่อถือต่อประชาชนเป็นที่เรียบร้อยแล้วหรือเป็นรัฐบาลที่รอวันพังทลายลง

วิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลบอกว่าจะมีการส่งมอบวัคซีน 6 ล้านโดสในเดือน มิ.ย. 2564 และ 10 ล้านโดสในเดือนถัดๆ ไป แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าไม่สามารถส่งมอบได้ นอกจากนี้ สัญญาจัดซื้อ 35 ล้านโดส เพิ่งมีการลงนามในสัญญาทั้งสองฝ่ายเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2564 ประชาชนจึงมีความชอบธรรมที่จะสงสัยว่าแล้วที่ผ่านมารัฐบาลให้คำมั่นกับประชาชนได้อย่างไร

โฆษกพรรคก้าวไกลตั้งคำถามอีกว่า วันที่ 17 ก.พ. 2564 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล้าที่จะให้คำมั่นกลางสภาผู้แทนราษฎรว่า ในไตรมาสที่ 3 จะมีวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าอยู่เต็มโรงพยาบาล อยู่เต็มแขนพี่น้องประชาชนได้อย่างไร และยังกล้าให้คำมั่นว่าจะไม่มีใครมาตัดคิว จะไม่มีใครมาแย่งจากมือของพี่น้องประชาชนไปได้ เพราะวัคซีนผลิตในบ้านของเรา

"นายกรัฐมนตรีมีการสื่อสารที่ผิดพลาดกับประชาชนมาตลอด วันที่ 2 มิ.ย. 2564 พูดว่าการตัดสินใจไม่เข้าร่วม COVAX เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง แต่วันที่ 21 ก.ค. ที่ผ่านมา ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ออกมาขอโทษ พี่น้องประชาชนและดูเหมือนว่าจะตัดสินใจเข้าร่วม COVAX ยังมีอีกหลายการสื่อสารที่ประชาชนตั้งข้อสังเกต เช่นการพูดว่าจะไม่ให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ทดลองวัคซีน ดังที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูดไว้เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2564 และสำทับด้วยคำพูดของ อนุทิน ชาญวีรกูล เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2564 แต่ในท้ายที่สุดก็มีการประกาศใช้วัคซีนสูตรผสมด้วยการใช้วัคซีนชิโนแวคเป็นเข็มแรก และวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเป็นเข็มที่สอง ทั้งที่ยังไม่ได้มีการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบที่มากพอ นี่คือสิ่งที่ทั้งคู่ไม่สามารถทำได้ตามพูดและทำให้ประชาชนไม่อาจเชื่อถือได้อีกต่อไป"

นอกจากนี้ วิโรจน์กล่าว่า ในวันที่ 19 ก.ค. 2564 กระทรวงสาธารณสุข ยังเปิดเผย 4 ผลการศึกษา ในทำนองที่ยืนยันว่าวัคซีนชิโนแวคยังมีประสิทธิภาพถึง 75% ในการรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์ได้ ทำให้ประชาชนตั้งข้อสงสัยว่า ถ้ามีประสิทธิภาพถึงขนาดนั้น ทำไมต้องใช้วัคซีนสูตรผสมในการรับมือสายพันธุ์เดลต้า และการสื่อสารครั้งนี้ก็ไม่สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ที่แม้ไม่ได้สื่อสารตรงๆ ว่าไม่ให้สั่งซื้อวัคซีนชิโนแวค แต่แนะนำให้สั่งซื้อวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ชี้ว่า วัคซีนชิโนแวคยังไม่มีผลยืนยันที่เชื่อได้ว่าจะสามารถรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์ได้ นอกจากนี้ แพทยสภาและแพทย์จากรามาธิบดี 604 คนก็ได้ให้ความเห็นในทำนองเดียวกัน แต่รัฐบาลก็ไม่ได้นำคำแนะนำขององค์กรทางการแพทย์ที่มีความน่าเชื่อถือระดับสูงมาใช้แต่อย่างใด

วิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า จากประกาศอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 29 นี้ พรรคก้าวไกลจึงขอตั้งคำถามว่าการบิดเบือนที่ผ่านมาของรัฐบาลไม่มีความผิดเลยหรือ และการสื่อสารที่ทำให้ประชาชนรู้สึกสิ้นหวัง กังวลหมดอาลัยตายอยาก ถูกเหยียบย่ำซ้ำเติมไม่มีความผิด ไม่มีความรับผิดชอบจากรัฐบาลเลยหรืออย่างไร เช่น กรณีที่ รมช.สาธารณสุข พูดว่าจะมีประชาชนโชคร้ายที่ต้องตายที่บ้านบ้าง พรรคก้าวไกลยืนยันว่าประชาชนที่เสียชีวิตที่บ้านเขาไม่ใช่เพราะโชคร้าย แต่ที่เขาต้องเจอกับสภาพแบบนี้ก็เพราะความด้อยประสิทธิภาพของรัฐบาล การไม่นำพาต่อคำติติงแนะนำของรัฐบาล ไม่ตระเตรียมความพร้อมที่ดีเพื่อรองรับสถานการณ์

นอกจากนี้ ยังมีการสื่อสารของข้าราชการการเมืองที่มีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐ ที่กล่าวหาเหยียบย่ำซ้ำเติมประชาชนว่าภาพที่ประชาชนล้มลงบนถนนนั้นคือ ‘การจัดฉาก’ ซึ่งสื่อมวลชนได้นำเสนอและชี้แจงไปแล้วว่า ภาพดังกล่าวมีทั้งประชาชนที่ล้มลงด้วยโรคโควิด บางรายก็ล้มลงด้วยสาเหตุอื่น แต่ก็ไม่สามารถไปช่วยได้ เพราะกังวลว่าคนที่ล้มลงจะป่วยโควิดหรือไม่ การสื่อสารว่าจัดฉากคือการเหยียบย่ำประชาชนและมองไม่เห็นความสูญเสียเลย

"ยังมีคำถามจากประชาชนว่ามีการอำพรางตัวเลขการติดเชื้อของประชาชนหรือไม่ ถ้ามีจะเป็นภัยร้ายต่อการจัดการสถานการณ์อย่างมาก จะนำไปสู่การตัดสินใจออกทะเลและนำไปสู่การสูญเสียของพี่น้องประชาชนมากกว่าเดิม หลายครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ และอนุทินให้คำมั่นกับประชาชนแล้วทำไม่ได้ ประชาชนจึงมีสิทธิทวงสัญญาว่า เช่นที่บอกว่าจะไม่ให้ประชาชนเสียชีวิตเพราะการรอเตียงอีก แต่ก็ไม่ได้มีการปรับปรุงใดๆอย่างมีนัยยะสำคัญ ศูนย์พักคอยก็ไม่ได้มีมากพอต่อการรองรับผู้ติดเชื้อที่มากขึ้น ต่อมา วันที่ 23 ก.ค. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ ทำเพียงการออกคำสั่ง โดยไม่มีขั้นตอนรายละเอียดใดว่า ห้ามมิให้มีประชาชนตายริมถนนอีก ด้วยการที่ไม่ทำงานหน้างานจริงและไม่ดูอุปสรรคจากหน้างาน ในที่สุดวันที่ 27 ก.ค. 2564 สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ก็ต้องออกมาสารภาพด้วยความสิ้นหวังของประชาชนว่า อาจจะโชคร้ายที่มีประชาชนต้องตายที่บ้านบ้าง นี่คือความล้มเหลวของรัฐบาลและเป็นความล้มเหลวในการสื่อสารกับประชาชนทั้งสิ้น"

วิโรจน์ กล่าวอีกว่า แม้แต่การสั่งการเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิที่จะมีชีวิตรอด มีสิทธิเข้าถึงยาต้านไว้รัสอย่างรวดเร็วภายใน 4 วันนับแต่วันที่มีอาการซึ่งเป็นแนวเวชปฏิบัติที่ออกโดยกรมการแพทย์เพื่อทำให้สามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ได้ทำ กลับมาออกคำสั่งที่ 29 เพื่อควบคุมการเผยแพร่ข่าวสารของสื่อมวลชนและพยายามยัดเยียดการวิพากษ์วิจารณ์และการเห็นต่างของประชาชนให้เป็นเฟกนิวส์ ขอถามหน่อยว่า แม้แต่เสียงบ่นของประชาชนก็จะไม่ให้เขาส่งเสียงหรือ

“เด็กสองคนคนที่กำพร้าแม่ เป็นความจริง เด็กสองขวบที่ต้องเสียคุณพ่อและจะไม่มีโอกาสได้รับอ้อมกอดที่อบอุ่นจากพ่อเขาอีกตลอดชีวิตเป็นความจริง เด็กหลายคนที่ต้องเป็นกำพร้าเป็นความจริง เด็กไร้เดียงสาที่มาไหว้พนมมือขอผ้าห่ม เพื่อไปห่มให้แม่ที่ตัวเย็นโดยที่เขาไม่รู้ว่าร่างที่เย็นนั้นเป็นร่างที่ไร้วิญญาณแล้วเป็นความจริง

"ให้ประชาชนเขาได้สะท้อนบ้าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่าเหยียบย่ำซ้ำเติมมากกว่านี้ อย่าก่อกรรมทำเข็ญให้ประชาชนได้รู้สึกเสียอกเสียใจไปมากกว่านี้ พรรคก้าวไกลจึงขอยืนยันให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยกเลิกประกาศ ฉบับที่ 29 โดยพลัน จงให้เกียรติประชาชนให้มากกว่านี้ และเร่งดำเนินการใดๆที่พรรคก้าวไกลได้นำเสนอและสั่งการไปยัง พล.อ.ประยุทธ์แล้วโดยพลัน” วิโรจน์ระบุ

ในช่วงตอบคำถาม สื่อมวลชนได้ตั้งคำถามว่า การห้ามสื่อเสนอข้อมูลที่สร้างความหวาดกลัว แม้จะเป็นความจริงจะนำไปสู่อะไร ชัยธวัชตอบว่า ข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วนรอบด้านที่สุด จะทำให้สังคมเข้าใจว่าเราอยู่ในสถานการณ์แบบไหนและจะนำไปสู่การคลี่คลายวิกฤตได้ดีที่สุด หากข้อมูลไม่ครบถ้วน ประชาชนก็ไม่รู้สถานการณ์จริง เราก็จะก้าวข้ามวิกฤตไปไม่ได้เลย

“แทนที่ตอนนี้รัฐบาลจะพุ่งเป้าป้ายสีข้อมูลและเสียงของประชาชนว่าเป็นเฟกนิวส์ คำถามคือรัฐบาลต่างหากที่เป็นผู้ผลิตเฟกนิวส์เองหรือไม่ และเฟกนิวส์ของรัฐบาลจะส่งผลต่อการแก้ไขปัญหามากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ตกลงวันนี้ เราเชื่อหรือไม่ว่าข้อมูลผู้ติดเชื้อและข้อมูลผู้เสียชีวิตที่รัฐบาลแถลงทุกวัน ตรงกับข้อเท็จจริง หรือมีความตั้งใจที่จะคุมตัวเลขนี้ให้ต่ำกว่าความจริง ตรงนี้สำคัญมาก ถ้าตรวจสอบไม่ได้ ตั้งคำถาม วิจารณ์ไม่ได้ แถมยังถูกดำเนินคดีก็ไม่นำไปการแก้ปัญหาได้

"เฟกนิวส์อีกประเด็นที่สำคัญคือเรื่องวัคซีน รัฐบาลยังยืนยันเสมอว่า ปีนี้จะได้วัคซีน 100 ล้านโดส มาฉีดให้ประชาชน นี่คือเฟกนิวส์หรือไม่ ยืนยันหรือไม่ว่าจะได้จริงตามนั้น เฟกนิวส์ประเภทนี้ต่างหากที่จะส่งผลต่อความมั่นคง เจตนาการออกข้อกำหนดนี้ คือความตั้งใจสร้างความหวาดกลัวให้ประชาชน ไม่ใช่ทำให้ไม่เกิดข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนกลัว ตรงข้าม นี่คือเจตนาให้ประชาชนไม่กล้าแสดงความคิดเห็นหรือให้ข่าวสารที่ไม่ตรงกับรัฐบาล แต่เชื่อว่าประชาชนเลยเส้นกลัวรัฐบาลไปแล้ว เพราะขณะนี้ความผิดพลาดล้มเหลวของรัฐบาลมันเข้าไปกระทบกับชีวิต เลือดเนื้อจริงๆ ของเขารวมถึงญาติพี่น้องและเศรษฐกิจของเขา ถ้าเป็นแบบนี้ นี่คือการที่รัฐบาลกำลังทำสงครามกับประชาชน เพราะถ้าคนไม่กลัวก็ใช้กฎหมายไปดำเนินคดีมากขึ้น ที่ผ่านมาก็ทำ แต่ประชาชนก็ไม่กลัว และคิดว่าสื่อมวลชนและสมาคมสื่อมวลชนเองก็จะร่วมกันต่อต้านการใช้กฎหมายพิเศษลักษณะนี้ถึงที่สุด" เลขาธิการพรรคก้าวไกลกล่าว

ขณะที่วิโรจน์ตอบคำถามดังกล่าวว่า ความกลัวที่อยู่บนพื้นฐานของความจริงจะช่วยให้ประเทศคุมสถานการณ์ได้ดีและมีประสิทธิภาพ แต่ความไม่กลัวบนการสื่อสารที่บิดเบือนของรัฐบาลต่างหาก ที่จะทำให้สถานการณ์แพร่ระบาดรุนแรงขึ้นและรัฐบาลจะไม่อยู่ในสภาพที่รับผิดชอบได้เลย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท