Skip to main content
sharethis

คุยกับ พ.ต.ท.ทรงศักดิ์ ธิติธารวัฒน์ อดีตรองผู้กำกับฝ่ายอำนวยการ ตำรวจภูธรจังหวัดพะเยา เรื่องหลักการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ในวันที่ตำรวจคือแนวปะทะแรกของผู้ชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองและสถาบันกษัตริย์ ความกังวลเกี่ยวกับแนวทางการควบคุมฝูงชนที่เด็ดขาดขึ้นเรื่อยๆ และการโพสต์เตือนใจตำรวจจนมีทีมเจรจาติดต่อมาหา เพราะสะเทือนใจ ‘นาย’

การชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 ที่เรียกร้องการปฏิรูปการเมืองและสถาบันพระมหากษัตริย์ กำลังพบเจอกับการตอบโต้ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จากฝ่ายรัฐ รูปธรรมที่ชัดเจนอย่างหนึ่งที่กำลังเห็นชัดขึ้นและบ่อยขึ้นคือยุทธวิธีการตอบโต้ และสลายการชุมนุมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ที่มีความเข้มข้น รุนแรงและเด็ดขาด จนการชุมนุมในแต่ละวันมักจบลงด้วยภาพของความรุนแรง ประหนึ่งอยากจะให้เสียงระเบิดปิงปองและปืนยิงกระสุนยางกลบเสียงของข้อเรียกร้องไป

คำถามก็คือสิ่งที่ คฝ. กำลังทำนั้นอยู่ในส่วนไหนของหลักสูตร การรับมือการชุมนุมเป็นไปตามหลักการที่ควรจะเป็นหรือไม่ ประชาไทคุยกับ พ.ต.ท.ทรงศักดิ์ ธิติธารวัฒน์ อดีตรองผู้กำกับฝ่ายอำนวยการ ตำรวจภูธรจังหวัดพะเยา ครูฝึกในศูนย์ฝึกตำรวจ เกี่ยวกับหลักสูตรควบคุมฝูงชนของไทย ความกังวลเกี่ยวกับแนวทางการควบคุมฝูงชนในการชุมนุมและความรุนแรงที่ประชาชนและเจ้าหน้าที่กำลังไต่ระดับกันขึ้นไป

ลำดับขั้นการควบคุมฝูงชน

ทรงศักดิ์เล่าว่า ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ระบุไว้ว่าเจ้าพนักงานที่จะควบคุมฝูงชนได้ต้องเป็นเจ้าพนักงานที่ผ่านการฝึกอบรมการควบคุมฝูงชนตาม พ.ร.บ. ข้างต้นจึงจะเป็นเจ้าพนักงานชุดควบคุมฝูงชนโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนนอกจากจะมีอำนาจในทางกฎหมายตาม พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะแล้วยังมีอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) และประมวลการหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อาญา)

ระดับการใช้กำลังนั้นมีตั้งแต่การใช้ในระดับทั่วไปตาม ป.อาญา และ ป.วิ.อาญา หรือที่เรียกว่าตามยุทธวิธีตำรวจ ระดับการใช้กำลังจะมีตั้งแต่เบาสุดไปจนถึงหนักสุด ในกรณีที่ไม่ใช่เรื่องการควบคุมฝูงชน ก็จะเป็นการปรากฏตัวในเครื่องแบบ หรือส่งเสียงเตือน ไปจนถึงการใช้อุปกรณ์จากเข็มขัดยุทธวิธี ตั้งแต่อาวุธที่ไม่ทำให้ถึงแก่ชีวิตอย่างสเปรย์พริกไทย ดิ้ว กระบอง ไปจนถึงระดับการใช้กำลังขั้นสูงสุดคือการใช้อาวุธปืน ซึ่งเป็นอาวุธที่มีผลให้ถึงแก่ชีวิต

ในกรณีเจ้าพนักงานควบคุมฝูงชน ตามกฎหมายห้ามเจ้าพนักงานควบคุมฝูงชนพกอาวุธปืน และไม่สามารถพกอาวุธที่สามารถทำอันตรายต่อผู้ชุมนุมให้ถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นตำรวจควบคุมฝูงชนจะไม่มีอาวุธปืนประจำกาย แต่จะมีอาวุธที่ไม่มีผลถึงแก่ชีวิตเช่น กระบอง ปืนยิงกระสุนยาง แก๊สน้ำตา การใช้กำลังควบคุมฝูงชนในระดับที่มีการใช้อาวุธอย่างกระบอง ต้องเป็นกรณีที่กระทำด้วยความจำเป็น กล่าวคือ ไม่สามารถกระทำด้วยวิธีการอื่นๆ ได้ กฎหมายจึงจะคุ้มครองเจ้าพนักงาน โดยวัตถุประสงค์หลักของการใช้กำลังควบคุมคือการรักษาระยะห่างระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนไม่ให้เกิดการปะทะกัน อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาระยะห่างก็คือการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง (จีโน่) ส่วนระดับที่เพิ่มมากขึ้นกว่าการใช้รถฉีดน้ำก็คือการใช้แก๊สน้ำตาเพื่อรักษาระยะห่าง โดยเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ประเมินว่าผู้ชุมนุมมีแนวโน้มจะคุกคามเจ้าหน้าที่

ไม่มีเจรจา ย่อมมีความขัดแย้ง

ทรงศักดิ์ระบุว่าการบังคับใช้พระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ที่มีการยกเว้นการบังคับใช้ พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ ทำให้ตัดกระบวนการการควบคุมฝูงชนตามที่ พ.ร.บ. ระบุไว้ก็เป็นปัญหา เนื่องจากตาม พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ การควบคุมฝูงชนในระดับแรกสุดจะใช้การเจรจา อันเป็นการยุติข้อพิพาทของการชุมนุมได้ดีที่สุด แต่ส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อการรับมือผู้ชุมนุมคือที่มาของรัฐบาล ถ้ารัฐบาลในขณะนั้นมีที่มาจากการเลือกตั้งจะมีมุมมองในการควบคุมฝูงชนโดยยึดที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง วิธีรับมือจะเป็นการเจรจาหรือรับฟังข้อเรียกร้อง ซึ่งการเจรจาเป็นการยุติข้อพิพาทของการชุมนุมได้ดีที่สุด แต่ถ้าหากรัฐบาลขณะนั้นมีที่มาจากการรัฐประหาร จะไม่มีการเจรจา

เมื่อไม่มีการเจรจา ก็ย่อมเกิดเงื่อนไขการปะทะ

“พอลงถนนแล้วเจอแนวปะทะ ตามธรรมชาติก็จะมีการช่วงชิงพื้นที่กัน ฝ่ายผู้ชุมนุมก็จะไป ฝ่ายเจ้าพนักงาน คฝ. ก็จะปิดกั้นเอาไว้ มันก็จะเกิดแรงกดดัน ก็จะมีการยั่วยุกันไป ยั่วยุกันมา ก็จะมีการข้ามการเจรจาไป” 

“(การควบคุมฝูงชน) ถ้าตามกฎหมายจริงๆ คือการขจัดข้อเรียกร้องให้หมดไป คือทำตามข้อเรียกร้องไปเลย หรือถ้าทำตามข้อเรียกร้องไม่ได้ อาจจะต้องมีเงื่อนเวลา ก็จะต้องมีการพูดคุยกันว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร แต่ช่วงหลังนี่ไม่มีการเจรจา พอไม่มีการเจรจา ต่างฝ่ายก็ต่างที่จะบรรลุเป้าหมายของตัวเอง”

“ถ้าต่างคนต่างบรรลุเป้าหมายกันไม่ได้ มันก็จะเกิดข้อขัดแย้ง ก็จะเกิดการใช้กำลังซึ่งกันและกัน ปัญหาที่ตามมาของการปะทะกัน สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือมือที่สาม มือที่สามนี่ผมจะพูดเสมอว่า ไม่ว่าจะมาจากผู้ชุมนุม หรือเจ้าหน้าที่ มันเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์ใด มันจะทำให้การชุมนุมที่สงบ กลายเป็นไม่สงบไป”

เช่น มาจากผู้ชุมนุม ก็จะมีพวกฮาร์ดคอร์ต่างๆ ที่ต้องการให้เห็นภาพให้ดุเดือด ก็อาจจะแฝงด้วยการพกระเบิดมา พวกระเบิดปิงปอง หรืออาวุธที่พอจัดหามาได้ ก็มาทำร้ายเจ้าพนักงาน ส่วนมือที่สามที่อาจจะมาจากฝ่าย จนท. ก็อาจเป็นการหวังให้เกิดภาพรุนแรงเพื่อล้อมปราบ หรือสลายการชุมนุมก็เป็นไปได้

เมื่อถามว่าการสลายชุมนุมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเด็ดขาดในช่วงปี 2564 ได้มาตรฐานหรือไม่ ทรงศักดิ์ตอบว่า

“ข้อแรกก็ไม่ได้แล้ว การเจรจาไม่มี คือถ้าคุณไม่ทำตามขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก การควบคุมฝูงชน จะมองยังไงก็ไม่เป็นมาตรฐาน”

“ผมไม่แน่ใจว่าทางเจ้าหน้าที่จะตีความคำว่าเจรจาเป็นแบบไหน ถ้าหมายถึงการมีรถเครื่องเสียงประกาศข้อกฏหมายให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม อันนี้ไม่น่าใช่การเจรจา เพราะการเจรจาคือการส่งตัวแทนแต่ละฝ่ายมาพูดคุยกันถึงข้อเรียกร้อง”

หากมองแบบเป็นธรรม เวลาลงถนนกันจริงๆ ในมุมมองของเจ้าหน้าที่รัฐจะดูออกยากว่าใครเป็นผู้ชุมนุม ใครเป็นชาวบ้าน เหมือนเวลาที่จับวงไพ่ ก็อาจจะไม่รู้ว่าใครเป็นใคร บางคนมาส่งของ แต่ผู้สื่อข่าวน่าจะแยกออกได้เพราะมีสัญลักษณ์ชัดเจน

แจกของแถม มีทั้งจากตำรวจและจากประชาชน

เมื่อถามถึงภาพการใช้กำลังจากตำรวจที่เกินสัดส่วน หรือที่บางคนเรียกว่า ‘แถม’ ทรงศักดิ์ที่อยู่กับศูนย์ฝึกตำรวจมาเป็นเวลา 30 ปี เล่าว่า ตำรวจตั้งแต่ระดับปฏิบัติการไปจนถึงระดับผู้บังคับบัญชาเองก็เป็นประชาชนที่มีแนวคิดหลากหลาย บางคนฝักใฝ่ประชาธิปไตย บางคนก็ไม่ฝักใฝ่ประชาธิปไตย หรือที่สมัยนี้เรียกว่าสลิ่ม ซึ่งจะส่งผลต่อการมองผู้ชุมนุมในเหตุการณ์จริง 

“บางคนถูกชุดความคิดแต่ละชุดที่แตกต่างกันหล่อหลอมมา เวลาเขาไปลงในพื้นที่ แล้วประกอบกับสถานการณ์ แรงกดดันต่างๆ และชุดความคิดที่ไม่เหมือนกัน อารมณ์ก็ออกแตกต่างกันออกไป บางคนก็มองผู้ชุมนุมเป็นศัตรู บางคนก็มองผู้ชุมนุมเป็นญาติ บางคนมองผู้ชุมนุมเป็นเพื่อน”

“อย่าว่าแต่เจ้าหน้าที่ไปแถมประชาชนเลย ประชาชนบางทีก็แถมเจ้าพนักงานเหมือนกัน อารมณ์ร่วมมันแตกต่างกัน”

“สถานการณ์มันจะแรงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าผู้ชุมนุมถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ คราวต่อไปมันก็จะเพิ่มดีกรีไป ผู้ชุมนุมก็จะพกอุปกรณ์ป้องกันตัวหรืออุปกรณ์เอาคืนเพื่อไปแก้แค้น ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะบอกว่า คราวที่แล้วมีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ คราวต่อไปก็จะตัดขั้นตอนเรื่องซอฟต์ๆ เปิดมาก็เอาลูกแรงเลย เปิดฟลอร์มาก็ซัดเลย”

“ถ้ามองย้อนไปสมัยปี 52-53 เจ้าหน้าที่ คฝ. จะเป็นทหาร พอเป็นทหารก็มีการใช้ปืน M-16 ควบคุมฝูงชน มีการประกาศเขตกระสุนจริง ทำอย่างกับผู้ชุมนุมเป็นผู้ก่อการร้าย ถึงกับล้อมปราบล้อมฆ่ากัน ตายกันเป็นร่วมร้อยคน เราก็ไม่อยากให้เหตุการณ์อย่างนั้นย้อนกลับมาอีก ผมถึงอยากจะเตือนน้องๆ ที่เข้าร่วมชุมนุม และที่จะจัดการชุมนุม ขอให้จัดระบบการ์ดให้ดี ควบคุมคนที่จะมีพฤติกรรมที่จะสร้างความรุนแรง”

โพสต์เตือนสติ คฝ. แต่จี้ใจดำ ‘นาย’

หลังการสลายการชุมนุมเมื่อ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา ทรงศักดิ์โพสต์ในเฟซบุ๊คส่วนตัวเพื่อเตือนสติตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ หลังเห็นการใช้กระสุนยางเยอะมากผ่านหน้าสื่อ โพสต์ดังกล่าวกลายเป็นกระแสที่ตีแผ่ในหน้าข่าวหลังจากมีคนกดไลค์ไปราว 170,000 คน ทรงศักดิ์ตกเป็นข่าวอีกครั้งหลังโพสต์ว่าได้รับการติดต่อจากตำรวจในพื้นที่ ขอให้เพลาๆ เรื่องการโพสต์ ต่อมาเขาจึงตัดสินใจลบโพสต์ออกเอง

ทรงศักดิ์เล่าว่าเขาโพสต์ไปเพราะไม่อยากให้เหตุการณ์ความรุนแรงที่ขยายวงในอดีตย้อนกลับมาอีก

“มีสองช่วงที่เขาไม่ชอบคือ นายของท่านมาจากระบบอุปถัมภ์ จุดหนึ่ง และตอนท้ายอีกจุดหนึ่ง”

“ผมเขียนเตือนถึงเจ้าหน้าที่ คฝ. เอาไว้ว่า ถึงนายจะสั่งมาอย่างไรก็เถอะ พอลงพื้นที่จริงเราสามารถยืดหยุ่นการใช้กำลังในสถานการณ์ได้ นายสั่งให้ยิง เราไม่จำเป็นต้องยิง เขาให้กระสุนมาสิบนัด เราไม่ยิงเลยสักนัดก็ได้” 

“เราสามารถยืดหยุ่นการใช้กำลังได้ด้วยการทำตามสเต็ปที่เราฝึกมา เช่น เอาน่ะ คุยกันก่อน คุยกับผู้ร่วมชุมนุมก่อน หรือเจรจาขอให้ถอยห่างไป อย่างเมื่อสมัยปีที่ล้อมปราบเสื้อแดง วันแรกที่มีการยิงกันที่สี่แยกคอกวัว ผมก็อยู่ในพื้นที่ชุมนุม ผมก็ไปเจรจรากับฝ่ายทหารให้ต่างคนต่างถอยแนวออกไปคนละ 50 เมตร เพื่อให้ระยะห่างมากพอกว่าที่จะขว้างอะไรถึงกัน เพื่อป้องกันไม่ให้มือที่สามมาแทรกแซง”

ข้อความถึงผู้ชุมนุม และ คฝ.

“ผมอยากจะฝากไปถึงน้องๆ คฝ. ว่าเจ้าหน้าที่ คฝ. ส่วนใหญ่ที่คัดเลือกมาจะอายุไม่เกิน 40 จริงๆ ตามมาตรฐานจะต้อง 35 ลงมา ดังนั้น อายุราชการของท่านยังอีกหลายปี ท่านจะยังอยู่ในอายุราชการอีกอย่างน้อย 20 หรือ 25 ปี อย่าลืมนะครับว่าผู้มีอำนาจต่างมาแล้วก็สาบสูญ ใครมีอำนาจมา แล้วก็มาสร้างชุดความคิดครอบพวกท่าน ขอให้ท่านเคารพหลักกฎหมายเป็นหลัก หลักเมตตาธรรมเป็นหลัก มองว่าประชาชนคือลูกหลาน ประชาชนคือญาติพี่น้องของท่าน” 

“เพราะว่าถ้าท่านกระทำการรุนแรง ไม่ว่าการกระทำความรุนแรงด้วยอารมณ์ไหน อาจจะเกิดจากแรงกดดัน หรือคำสั่งพิเศษอะไรก็ตามแต่ ผลของการกระทำของคุณถ้าหากว่าผิดกฏหมายเมื่อไหร่ ท่านมีสิทธิ์ถูกฟ้องร้องได้ ถึงเวลานั้นไม่มีใครช่วยท่านได้ ผู้บังคับบัญชาก็ช่วยไม่ได้ ผมเห็นพรรคพวกหลายคนต้องติดคุก ออกจากราชการก่อนเกษียณราชการหลายคน ผมก็ไม่อยากให้น้องๆ โดนอย่างนั้น ผมถึงเขียนว่า ประชาชนเขาเอาคืนแน่ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติหน้าที่ขอให้เคารพหลักเมตตาธรรม เคารพความเป็นพี่เป็นน้อง หลักภราดรภาพแล้วค่อยเอากฏหมายเข้าไปกำกับ”

“ส่วนฝ่ายผู้ชุมนุม บางคนไม่มีประสบการณ์การชุมนุมโดยเฉพาะการ์ด ผมเป็นห่วงมากเลยที่ใช้การ์ดอาชีวะ เพราะการ์ดอาชีวะกำลังเป็นวัยเจริญพันธุ์ พูดง่ายๆ คือกำลังห้าว เพราะฉะนั้นถ้ามีการฝึก การอบรม หรือวางแผนกันไม่ดี บางทีอารมณ์มันพาไป มันจะเพิ่มความรุนแรง ทีนี้ความรุนแรงนี้มันจะมีแต่ขึ้นไม่มีลง สมมติถ้าเป็นเบอร์ คราวนี้ความรุนแรงเบอร์สี่  คราวต่อไปก็เบอร์ห้า เบอร์หก เบอร์เจ็ดหรือแปดไปจนถึงเก้า หรือไปจนถึงขั้นล้อมปราบกัน ผมไม่อยากให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายอีกในประเทศเรา” ทรงศักดิ์กล่าว

สำหรับ ธนรัตน์ เขียวลายเลิศ ผู้ถอดความและเรียบเรียงบทสัมภาษณ์นี้ เป็นนักศึกษาจากสาขาวารสารศาสตร์ วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ปัจจุบันฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net