ชาวเลอันดามันลำบากหนักช่วงโควิด-19 ขาดรายได้ ซ้ำถูกนายทุน-อุทยานไล่รื้อชุมชนและแหล่งทำกิน

องค์กรภาคประชาชนจัดเสวนาออนไลน์ ‘เสียงจากชาวเลอันดามัน’ เผยสถานการณ์ชุมชนชาวเลหลายแห่งเผชิญวิกฤตช่วงโควิด-19 ขาดรายได้ขายของไม่ได้ ซ้ำถูกนายทุน-อุทยานไล่ที่และแหล่งทำกิน ขณะที่ชาวเลบางชุมชนไม่มีบัตรหมายเลข 0 หรือบัตร ปชช. เข้าไม่ถึงการเยียวยาและการรักษาของรัฐ

 

30 ก.ย. 64 สำนักข่าวชายขอบ รายงานเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 64 มูลนิธิภาคใต้สีเขียว มูลนิธิชุมชนไท มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ เครือข่ายชาวเลอันดามัน และกลุ่ม #SaveAndaman ร่วมกันงานจัดเสวนาออนไลน์ “เสียงจากชาวเลอันดามัน” ซึ่งมีตัวแทนจากเครือข่ายที่ทำงานแก้ไขปัญหาของชาวเล และตัวแทนชุมชนชาวเลในอันดามันร่วมแลกเปลี่ยน

นายวิทวัส เทพสง ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเลอันดามัน กล่าวว่า ในขณะที่พี่น้องชาวเลชุมชนหาดราไวย์ จ.ภูเก็ต ถูกล้อมคอกด้วยสังกะสีเพื่อกักกันหรือควบคุมโรค ในคืนวันที่ 27 ก.ย. 64 ตำรวจเข้าไปในชุมชนตามตัวชาวบ้านที่ถูกฟ้องร้องกรณีพิพาทเรื่องที่ดินกับนายทุน แต่มีชาวบ้านออกมาคัดค้านการกระทำของตำรวจ เพราะอยู่ในยามวิกาล และเป็นช่วงที่ทุกคนอยู่ในสถานการณ์โควิด-19 หากโดนจับกุมตัวจะลำบาก เพราะเงินจะใช้จ่ายประจำวันยังไม่มี อยากให้ทุกคนได้รับรู้ว่าพี่น้องชาวเลราไวย์มีความเดือดร้อนทุกข์ยากจากปัญหาที่ดินตั้งแต่ปี 2556-2558 ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง น้ำท่วมชุมชนทุกปี โดยเฉพาะช่วงที่ผ่านมามีการให้ข่าวว่าชาวเลติดโควิดจำนวนมาก เป็นขยะสังคม ซึ่งเป็นความพยายามใช้ความด้อยโอกาสทำลายชาวบ้าน รวมถึงกรณีล้อมสังกะสีชุมชนก็สะท้อนว่าชาวเลอาจกำลังถูกกระทำจากอำนาจบางอย่าง ไม่ใช่เพียงแค่สถานการณ์ของโรคโควิด-19 แบบปกติ

จังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งปิดชุมชนชาวเลราไวย์ เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 64
 

นายวิทวัส กล่าวถึงสถานการณ์ของชุมชนชาวเลในอันดามันว่า 1.ชุมชนแหลมตุ๊กแกพบมีการระบาดของสถานการณ์โควิด ทำให้ชาวบ้านขาดรายได้ และมีปัญหาพิพาทกรณีที่ดินกับเอกชน ปัญหาจากอคติว่าชาวเลสกปรก จะนำเชื้อไปแพร่ระบาดทำให้ไม่มีใครมาซื้อของ ประชากร 800 คน ยังต้องการความช่วยเหลือ และมีปัญหาเข้าไม่ถึงเงินช่วยเหลือนักเรียนจากรัฐ 2,000 บาท 2.ชาวเลเกาะจำ แม้โควิดจะแพร่ไปไม่ถึง แต่ภายในในวันที่ 10 ต.ค. 64 ชาวบ้านกำลังจะตกเป็นผู้ต้องหาบุกรุกเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เนื่องจากการมีคำสั่งรื้อบากัต หรือเพิงพักเพื่อหากินตามฤดูกาล ที่เป็นวิถีหากินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งชาวบ้านโดนถ่ายรูปเก็บข้อมูลหลักฐานไว้แล้ว กรณีนี้กำลังเข้าสู่กลไกการแก้ปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)

ลักษณะบากัตของชาวเลราไวย หรือเพิงพักเพื่อหากินตามฤดูกาล (ที่มา สำนักข่าวชายขอบ)
 

นายวิทวัส กล่าวต่อว่า 3.ชุมชนชาวเลมอแกลนเกาะเหลา จ.ระนอง มีชาวบ้าน 7 คนติดเชื้อโควิด ต้นทุนชีวิตไม่มี ข้าวสารแทบไม่มีกรอกหม้อ ตอนนี้ผู้ชายออกไปรับจ้างเรืออวนปู ผู้หญิงหากินด้วยการเก็บหอยชายฝั่ง แต่ตอนนี้มีปัญหาไปขายไม่ได้ เพราะคนจะรังเกียจ 4.เกาะลันตา จ.สตูล แม้โควิดไปไม่ถึง แต่มีการนำคนกลุ่มเสี่ยงจากนอกพื้นที่ไปกักตัวตามมาตรการแซนด์บ็อกซ์ ชาวบ้านกังวลว่าจะกลายเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ เพราะโรงแรมไม่สามารถกำหนดให้ผู้ติดเชื้ออยู่แต่ในโรงแรมได้ 5.เกาะพีพี มีผู้ติดเชื้อ 1 ราย ชุมชนชาวเลมีการเตรียมพร้อมระดับหนึ่ง มีการคัดกรองกลุ่มเสี่ยง แต่หลังจากนี้ไม่กี่วันจะขาดแคลนอาหารแน่นอน เพราะหลายคนถูกกักตัวไม่ได้ทำงาน 6.เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล สถานการณ์ดีขึ้น แม้มีพนักงานรีสอร์ตติด แต่ชาวลได้ไปให้ความรู้ช่วยเหลือในการหยุดการแพร่ระบาด

นายวิทวัส กล่าวต่อว่า 7.ชุมชนชาวเลหินลูกเดียว จ.ภูเก็ต มีการนำคนนอกพื้นที่มากักตัว ทำให้ชุมชนถูกมองอย่างอคติว่าชาวบ้านเป็นผู้ติดเชื้อ ทำให้ออกไปขายของไม่ได้ 8.ชุมชนชาวเลทุ่งหว้า จ.พังงาน ทุ่งหว้า เป็นชุมชนอยู่ในพื้นที่เมือง มีผู้ติดเชื้อ สถานประกอบการ ร้านอาหารยังคงปิด ทำให้ปลายังขายไม่ได้ 9.ชุมชนทับตะวัน จ.พังงาน แม้มีผู้ติดเชื้อ แต่ตอนนี้อาการดีขึ้นแล้ว 10.ชุมชนบ้านน้ำเค็ม เมื่อต้นเดือน ก.ย. พบการแพร่ระบาด แต่ตอนนี้มีความพร้อมที่ดีขึ้น มีการเตรียมตัวรับมือของผู้นำและชุมชน มีการรักษาในศูนย์พักคอย และบางส่วนกักตัวอยู่ที่บ้าน แต่การที่ถูกกักตัวทั้งชุมชนทำให้ไม่มีเงินซื้อข้าวสารอาหารแห้ง

นายวิทวัส กล่าวอีกว่า 11.มอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงาน โครงการส่งเสริมทำผลิตภัณฑ์ปรากฏว่าขายไม่ออก เพราะไม่มีนักท่องเที่ยว และเป็นมรสุมเกาะปิด ไม่สามาระจับปลาไปแลกข้าวสารอาหารแห้งได้เหมือนเดิม ทำให้พี่น้องที่ห่างไกลขาดความมั่นคง ขาดการเข้าถึงข้าวสารอย่างสิ้นเชิง 12.ชุมชนชาวเลหาดราไวย์ น่าเป็นชุมชนที่น่าห่วงสุด เพราะถูกกดทับทางนโยบายอย่างยาวนาน และมีเบี้องหลังในการจัดการโควิดที่อาจเกี่ยวโยงกับปัญหาที่ดินทำให้มีการจับกุมชาวบ้าน ตอนนี้ชาวบ้านหลายรายไม่มีเงินจ่ายค่าไฟทำให้ถูกตัดกระแสไฟฟ้า ปลาที่หามาได้ไม่สามารถนำไปขายที่ตลาด เพราะไม่มีคนมาซื้อ กลัวว่าชาวเลจะนำเชื้อโควิด-19 มาแพร่กระจาย

นายไมตรี จงไกรจักร มูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า ปัญหาตั้งต้นของชาวเลในอันดามันถูกจำกัดด้วยนโยบายด้านการท่องเที่ยวและการกำหนดเขตอนุรักษ์ทางทะเลและชายฝั่ง ทำมาหากินในทะเลก็ยาก ต้องออกไปหากินในทะเลไกลจากฝั่ง หาปลาหน้าบ้านได้เพียงแค่กิน ห้ามขาย เพราะเป็นความผิดจับสัตว์น้ำในเขตอนุรักษ์ เป็นการปิดกั้นการทำมาหากิน นับเป็นการละเมิดสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างรุนแรง อีกเรื่องคือการเข้าไม่ถึงการเยียวยาจากรัฐ บางกลุ่มไม่มีบัตรเลข 0 หรือไม่มีบัตรประชาชน เมื่อต้องปิดการท่องเที่ยวเพราะโควิดก็เป็นวิกฤติที่ทำให้ลำบากมากขึ้น 

"อคติของเจ้าหน้าที่บางคน บางหน่วยงาน มองว่า ชาวเลจัดการดูแลโควิดยาก ใช้มาตรการที่แตกต่างจากคนทั่วไป เช่น ที่ราไวย์ เอาสังกะสีมากั้นล้อมชุมชนแล้วเอาอาหารมาหย่อนให้ การกระทำดังกล่าวก็ส่งผลกระทบพอสมควร ส่วนเรื่องโควิดเป็นการระบาดที่เร็วมาก ต้องชื่นชมพี่น้องชาวเลและภาคีที่ทำให้พี่น้องชาวเลที่ลุกขึ้นมาป้องกันช่วยเหลือ ใช้ยาสมุนไพร ระดมพลัง" นายไมตรี กล่าว

อาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก กล่าวว่า สถานการณ์ตอนนี้เจอทั้งน้ำท่วมกับโควิด ชาวบ้านเจอปัญหาทางกฏหมายกระทบวิถีการทำมาหากินเกิดขึ้นหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพี่น้องชาวเลหรือบนดอย หรือขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐ แต่วันนี้เราจัดตั้งทีมงานขยายไป 40 กว่าพื้นที่ หนึ่งในนั้นคือ อ.จะนะ จ.สงขลา จัดตั้งกองกำลังประจำถิ่นเพื่อสู้โควิด-19 เป็นศูนย์ต่อสู้โควิด-19 ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงาน ทำการค้นหาสมุนไพรหรือภูมิปัญญาชาวบ้าน เร่งระดมการปลูกสมุนไพรพึ่งตนเองให้ได้ และได้ถ่ายทอดเชื่อมโยงในทุกจังหวัดในเขตอันดามัน เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้มีอาหารกิน มียารักษาโรค ระยะยาวสามารถตั้งกลุ่มดูแลพี่น้อง ร่วมทุกภาคส่วน หลายปัญหาที่เรื้อรังก็จะแก้ไปได้ และพยายามจัดตั้งกลุ่ม เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติอันดามัน 

ครูแสงโสม หาญทะเล ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล กล่าวว่า เนื่องจากหลีเป๊ะมีการระบาดใหญ่ มีจำนวนผู้ติดเชื้อกว่า 200 คน ทำให้เหลือแต่ครูที่ออกพื้นที่ได้ ชุมชนเหมือนถูกตัดขาด เพราะเจ้าหน้าที่ส่งของมาที่เกาะได้แค่ที่ท่าเรือปากบารา เจ้าหน้าที่หมอและพยาบาลมีแค่ 8 คน แต่ต้องดูแลคนป่วยมากว่า 200 คน กำลังของหมอยังไม่เพียงพอ จึงได้เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และภาคี มาร่วมจัดตั้งศูนย์โควิดด้วยสมุนไพรไทย ซึ่งประสบผลสำเร็จในการควบคุมโรค จึงได้นำองค์ความรู้ในการจัดการชุมชนของเกาะหลีเป๊ะขยายให้พื้นที่ชุมชนชาวเลอื่นๆ ที่พบการระบาดหนัก เช่น ราไวย์ แหลมตุ๊กแก สะปำ เป็นต้น

นายนิรันดร์ หยังปาน ตัวแทนชาวเลชุมชนหาดราไวย์ จ.ภูเก็ต กล่าวว่า ชุมชนกำลังจะกำหนดการกักตัว ชาวบ้านจะสามารถใช้ชีวิตแบบเดิมที่เข้าออกชุมชนได้ แต่กังวลว่าขณะนี้ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อในอีกหลายชุมชนชาวบ้านไม่อาจรู้ว่าใครเป็นใครบ้าง เพราะที่ราไวย์มีตลาดอาหารทะเล นักท่องเที่ยวที่เข้ามาอาจนำพาเชื้อโควิดมาแพร่ให้ชาวบ้าน ส่วนเรื่องการปิดสังกะสีทางเราได้คุบกับท้องถิ่นว่าจะเป็นการควบคุมทั้งเรื่องโควิดและยาเสพติด นอกจากนี้ พบชาวบ้านที่ถูกตัดกระแสไฟฟ้าต้องออกมานอนที่ทางเข้าหมู่บ้าน เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าไฟที่แพงเดือนละ 2,000-2,500 บาท

ชาวเลชุมชนหาดราไวย จ.ภูเก็ต ขณะรอตรวจโควิด-19 เมื่อ 7 ก.ย. 64

นางสาวพรสุดา ประมงกิจ ชาวเลชุมชนหาดแหลมตง เกาะพีพี จ.กระบี่ กล่าวว่า ที่เกาะพีพีพบผู้ติดเชื้อโควิด 1 คน ที่เดินทางมาจากจังหวัดภูเก็ต เริ่มแรกไม่พบเชื้อเพราะอยู่ในช่วงเชื้อฟักตัว ซึ่งก่อนนี้ชุมชนได้ประสานเครือข่ายชาวเลต้องรอด และหลายเครือข่าย เตรียมความพร้อมประสานงานเรื่องยา อุปกรณ์การแพทย์ สมุนไพร ฟ้าทะลายโจร ไบโอเนียร์ จากกสิกรรมธรรมชาติส่งมาจำนวนหนึ่ง เนื่องจากเกาะห่างจากฝั่งมาก หากไม่ได้เตรียมพร้อมเราก็จะลำบากมาก เพราะที่นี่มีการเปิดให้นักท่องเที่ยวในโครงการแซนด์บ็อกซ์เข้าออก แม้จะอยู่ในช่วงปิดเกาะก็ตาม การขนส่งลำบาก มีสองช่องทางประสานได้คือ ติดต่อชุมชนและฝากขนส่งทางไปรษณีย์มาถึงเกาะได้ แต่เรือโดยสารยังคงหยุดให้บริการ จะมีเพียงเรือนักท่องเที่ยวแซนด์บ็อกซ์ที่เข้ามาที่เกาะ

ด้านชาวบ้านเครือข่ายจากเกาะลันตา จ.สตูล กล่าวว่า แม้ชุมชนชาวเลไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด แต่ขณะนี้มีผู้เสี่ยงสูงจากต่างจังหวัดเข้ามากักตัวในเกาะลันตา ทำให้ชาวบ้านกังวลว่านักท่องเที่ยวในโครงการแซนด์บ็อกซ์ที่เข้ามาอาจเป็นผู้นำเชื้อมาแพร่ระบาด เนื่องจากพบว่าทางโรงแรมหรือบังกะโลไม่สามารถควบคุมนักท่องเที่ยวเหล่านี้ได้ พบมีการแอบหนีออกจากโรงแรมไปเที่ยวข้างนอก

นางเนาวนิตย์ แจ่มพิศ ผู้ประสานงานชาวเล เกาะเหลา จ.ระนอง กล่าวว่า วิกฤติแรกของชาวเลเกาะเหลาคือเหตุการณ์สึนามิที่ทำให้สังคมรู้ว่ามีชาวมอแกลนอาศัยอยู่ในอันดามันกว่า 500 คน แต่จนถึงสถานการณ์โควิดทำให้รู้ว่าชาวเลเหล่านี้ยังไม่ได้รับสิทธิหรือสถานะทางทะเบียนอีกจำนวนมาก เฉพาะที่เกาะเหลาอีกหลายสิบคน แม้พ่อแม่จะมีบัตรประชาชน แต่ลูกหรือหลานกลับยังไม่ได้รับสิทธิ ตนไปติดต่อประสานงานกับอำเภอหลายครั้งจนเจ้าหน้าที่บอกว่ามาทีไรนำปัญหามาให้เจ้าหน้าที่ทุกครั้ง ปัญหาที่หนักมากเจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจว่าทำไมชาวบ้านต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้บัตรประชาชน ก็เพราะพอเจ็บไข้ได้ป่วยโรงพยาบาลจะถามหาแต่บัตรประชาชน หากไม่มีก็ต้องจ่ายเงินค่ารักษา หรือซื้อยาพาราเซลตามอนกินเอง ปัญหาของเด็กๆ ที่เกาะเหลา เมื่อเข้าสู่การเรียนออนไลน์ ชุมชนไฟฟ้า น้ำประปาไม่มี มีเพียงบ่อน้ำตื้นบ่อเดียวบนเขา ห่าง 1 กิโลเมตร เคยมีงบหน่วยงานลงมาเจาะบ่อบาดาล 1.8 ล้านบาท แต่ไม่ได้ใช้งาน หรือช่วงสึนามิเกาะเหลาได้งบหลายสิบล้าน คนมักพูดกันว่าช่วยมอแกลนไม่รู้จักพอ เหมือนเอาเกลือไปละลายแม่น้ำ แต่หารู้ไม่ว่าไม่เคยติดตามผลโครงการ เชื่อแต่รายงาน อยากให้ผู้รับผิดชอบเข้ามาดูปัญหาในพื้นที่จริงๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท