นิด้าโพลเผยผลสำรวจ 'เพื่อไทย' ยังครองใจคนอีสาน - พรรคย้ำยังไม่รีบเปิดตัว 'แคนดิเดตนายก'

24 ต.ค. 2564 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “วันวานไทยรักไทย…วันนี้เพื่อไทยในอีสาน” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 18-20 ตุลาคม 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,320 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับวันวานไทยรักไทย…วันนี้เพื่อไทยในอีสาน การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงการเคยเลือกพรรคไทยรักไทย หรือพรรคพลังประชาชน หรือพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่มีสิทธิเลือกตั้ง พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 81.14 ระบุว่า เคยเลือกพรรคไทยรักไทย หรือพรรคพลังประชาชน หรือพรรคเพื่อไทย รองลงมา ร้อยละ 12.65 ระบุว่า ไม่เคยเลือกทั้ง 3 พรรค ร้อยละ 4.24 ระบุว่า ยังไม่เคยไปเลือกตั้งเลย และร้อยละ 1.97 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

สำหรับการลงคะแนนเสียงเลือกพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา (เฉพาะผู้ที่เคยเลือกพรรคไทยรักไทย หรือพรรคพลังประชาชน หรือพรรคเพื่อไทย) พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 70.59 ระบุว่า เลือกพรรคเพื่อไทย ขณะที่ ร้อยละ 29.41 ระบุว่า ไม่ได้เลือกพรรคเพื่อไทย ซึ่งในจำนวนผู้ที่ไม่ได้เลือกพรรคเพื่อไทย พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 30.49 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ รองลงมา ร้อยละ 19.05 ระบุว่า เลือกพรรคพลังประชารัฐและไม่ได้ไปเลือกตั้ง ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 15.87 ระบุว่า เลือกพรรคอนาคตใหม่ ร้อยละ 6.98 ระบุว่า เลือกพรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 4.13 ระบุว่า ไปลงคะแนน ไม่เลือกใคร (Vote NO) ร้อยละ 1.90 ระบุว่า เลือกพรรคเสรีรวมไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ในสัดส่วนที่เท่ากัน และร้อยละ 0.63 ระบุว่า เลือกพรรคเศรษฐกิจใหม่

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการลงคะแนนเสียงเลือกพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้า พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 48.33 ระบุว่า จะเลือกพรรคเพื่อไทย รองลงมา ร้อยละ 37.12 ระบุว่า ยังไม่แน่ใจ ร้อยละ 12.35 ระบุว่า จะไม่เลือกพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 0.91 ระบุว่า จะไปลงคะแนน ไม่เลือกใคร (Vote NO) ร้อยละ 0.76 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ และร้อยละ 0.53 ระบุว่า จะไม่ไปเลือกตั้ง

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างทั้งหมดมีภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยส่วนใหญ่ ร้อยละ 14.40 ระบุว่าเป็น นครราชสีมา รองลงมา ร้อยละ 8.56 ระบุว่าเป็น ขอนแก่น ร้อยละ 8.18 ระบุว่าเป็น อุบลราชธานี ร้อยละ 7.42 ระบุว่าเป็น อุดรธานี ร้อยละ 6.44 ระบุว่าเป็น สุรินทร์ ร้อยละ 6.36 ระบุว่าเป็น ร้อยเอ็ด ร้อยละ 6.21 ระบุว่าเป็น บุรีรัมย์ ร้อยละ 4.85 ระบุว่าเป็น มหาสารคาม ร้อยละ 4.77 ระบุว่าเป็น ศรีสะเกษ ร้อยละ 4.55 ระบุว่าเป็น สกลนคร ร้อยละ 4.39 ระบุว่าเป็น ชัยภูมิ ร้อยละ 3.86 ระบุว่าเป็น กาฬสินธุ์ ร้อยละ 3.41 ระบุว่าเป็น เลย ร้อยละ 2.88 ระบุว่าเป็น นครพนมและยโสธร ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 2.65 ระบุว่าเป็น หนองบัวลำภู ร้อยละ 2.50 ระบุว่าเป็น หนองคาย ร้อยละ 2.20 ระบุว่าเป็น อำนาจเจริญ ร้อยละ 1.82 ระบุว่าเป็น มุกดาหาร และร้อยละ 1.67 ระบุว่าเป็น บึงกาฬ

ตัวอย่างร้อยละ 48.79 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.21 เป็นเพศหญิง ตัวอย่างร้อยละ 6.67 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 15.45 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 20.23 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 35.15 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 22.50 อายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 98.49 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 0.08 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.45 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 0.98 ไม่ระบุศาสนา

ตัวอย่างร้อยละ 19.70 สถานภาพโสด ร้อยละ 76.90 สมรสแล้ว ร้อยละ 2.42 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 0.98 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 36.36 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 35.76 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.29 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 16.52 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 3.56 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 1.51 ไม่ระบุการศึกษา

ตัวอย่างร้อยละ 9.77 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 10.83 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 18.26 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 22.06 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.98 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 19.24 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.12 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 1.74 ไม่ระบุอาชีพ

ตัวอย่างร้อยละ 18.79 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 33.79 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 21.59 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 8.56 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 3.02 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 4.17 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 10.08 ไม่ระบุรายได้

ยังไม่รีบเปิดตัว 'แคนดิเดตนายก'

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงว่าขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาเปิดตัวบุคคลที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เพราะต้องรอหลังจากประกาศยุบสภา หรือวันเลือกตั้งใหม่ ทั้งนี้บุคคลที่พรรคจะสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ นั้นมีแล้ว แต่ยังไม่ขอเปิดตัว อย่างไรก็ดีจากประสบการณ์ของพรรค ในปี 2554 ที่เปิดตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ​ เพียง 49 วันก่อนลงคะแนน ทำให้พรรคชนะการเลือกตั้ง ส่วนกรณีที่มีผู้เตรียมนำคำพูดของนายทักษิณ ชินวัตร หรือ โทนี่ วู้ดซัม ซึ่งระบุต่อประเด็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคไปฟ้องยุบพรรคนั้น ตนฐานะรองหัวหน้าพรรคไม่กังวล เพราะพรรคเพื่อไทยไม่มีใครครอบงำได้ และในพรรคมีความหลากหลาย เป็นประชาธิปไตย สามารถแสดงความเห็นได้อิสระ

“การเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและพรรค จะเป็นไปตามข้อบังคับพรรค การพิจารณาของกรรมการบริหาร และผู้บริหารของพรรค อีกทั้งตามกฎหมายพรรคการเมือง ซึ่งเป็นกระบวนการและขั้นตอนที่จะพิจารณา ซึ่งผมยืนยันว่าคุณทักษิณไม่ได้ครอบงำหรือชี้นำพรรคเพื่อไทยได้” นายยุทธพงศ์ กล่าว 

ขณะที่ น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวในประเด็นดังกล่าวด้วยว่าพรรคเพื่อไทยมีชื่อบุคคลที่จะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีไว้พร้อมแล้ว ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ เป็นที่รู้จัก ไม่จำเป็นต้องโปรโมทล่วงหน้า อีกทั้งที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยได้รับเลือกตั้งเพราะนโยบายและผู้บริหารของพรรคที่เป็นมืออาชีพ ส่วนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นเพียงส่วนเสริม ทั้งนี้ตนมองว่าหากมีจังหวะเปิดตัวที่เหมาะสม อาจเป็นการหัวเราะทีหลังดังกว่า

น.ส.อรุณี กล่าวด้วยว่าพรรคเพื่อไทยได้จัดทำโพลเพื่อสำรวจคะแนนนิยมของพรรคตลอด แต่ไม่เผยแพร่และไม่ขอเผยแพร่ต่อสาธารณะหรือสื่อมวลชน เพราะมั่นใจในความนิยมของตนเอง อีกทั้งการทำสำรวจความนิยมดังกล่าวนั้นเพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดทัพเลือกตั้ง และเพื่อความแม่นยำในกาารกำหนดนโยบายและผู้สมัครรับเลือกตั้ง

เสนอ 5 ข้อ ปมสัมปทาน BTS แนะมหาดไทยนำไปใช้

นายยุทธพงศ์​ ยังกล่าวถึงประเด็นรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือ BTS ว่า เมื่อวันอังคารที่ 19 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้ถอนวาระเสนอต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าBTSส่วนต่อขยายให้กับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ออกจากการประชุมคณะรัฐมนตรี​(ครม.) โดยพรรคเพื่อไทยได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ เกี่ยวกับเรื่อง ความไม่ชอบมาพากลและความไม่โปร่งใสในการต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ออกไปอีก 40 ปีทั้งที่สัมปทานจะหมดอายุในปี 2572 อย่างไรก็ตามเรื่องนี้มีความซับซ้อน โดยเส้นทางหลักหรือไข่ตั้งแต่หมอชิต-สะพานตากสิน​-อ่อนนุชอีกเส้นทางหนึ่งคือบริเวณสนามกีฬา ผ่าน สยามสแควร์มายังสะพานตากสิน เส้นทางดังกล่าวเรียกว่าไข่แดงซึ่งอายุสัมปทานในปี 2572 และจะมีส่วนต่อขยายจากอ่อนนุชไปแบริ่ง และจากตากสินไปบางหว้า กรุงเทพมหานครส่วนต่อขยายที่ทางกรุงเทพฯได้จ้างทางรถไฟฟ้า BTS วิ่ง รถไฟ ซึ่งสัญญาตรงนี้จะหมดในปี 2585 นอกจากนี้ยังมีส่วนต่อขยาย หมอชิตถึงคูคตและแบริ่งถึงเคหะ จังหวัดสมุทรปราการ

นายยุทธพงศ์​ กล่าวว่า​ การดำเนินการของกรุงเทพมหานคร​เริ่มจากปี​ 2555 ทางกทม.ได้ว่าจ้างบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด​(KT)​ วิ่งรถส่วนต่อขยายสถานีสะพานตากสินไปบางหว้าโดยทางบริษัทได้ว่าจ้าง BTS จัดหาขบวนรถวิ่งถึง​ ปี​ 2585 ต่อมา​ ปี​ ​2559 สมัยรัฐบาลรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้รับทราบมติ ของคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มอบให้​กทม.วิ่งรถแทน การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย​ (รฟม.) และกทม.ได้จ้าง​ KT เพื่อจ้างBTS ทั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลและวิ่งรถถึงปี​ 2585 โดยวิธีวิเศษไม่มีการประมูล​ทั้งที่ยังไม่มีการโอนทรัพย์สินมาจาก รฟม. ในส่วนต่อขยายหมอชิตไปคูคตและแบริ่งไปสมุทรปราการ​ แล้วที่เป็นปัญหาคือในทุกวันนี้ทางกทม.ก็ยังไม่จ่ายเงินให้กับ รฟม.​ จึงทำให้กระทรวงคมนาคมคัดค้าน ว่าจะไปวิ่งรถได้อย่างไร ในเมื่อทรัพย์สิน​ยังไม่ได้เป็นของทางกทม.แต่ดันไปให้ BTS วิ่งรถและจากการไปวิ่งรถในส่วนต่อขยายก็ทำให้เป็นหนี้ 3 หมื่นล้าน​ที่ทางBTS ฟ้องกทม.และ KT อยู่ใน ขณะนี้​ และปัญหาสำคัญคือ เมื่อรถวิ่งไฟฟ้าวิ่งบริเวณไข่แดงตรงนี้อยู่ในพระราชบัญญัติ​(พ.ร.บ.)การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน แต่เมื่อออกจากไข่แดงไม่ได้อยู่ในพ.ร.บ.ดังกล่าวแต่เป็นการจ้างวิ่งที่กทม.โดยKTไปจ้างให้BTSวิ่งรถ​ ทั้งที่เป็นทรัพย์สินอยู่ในพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เป็นการจ้างวิ่งรถ ทั้งที่เป็นรถขบวนเดียวกัน จึงเป็นเรื่องที่ผิดปกติว่าทำไมถึงไม่เอาเข้าพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ

เมื่อกระทรวงมหาดไทยถอนเรื่องออกไปจากครม.สิ่งที่พรรคเพื่อไทยได้เห็นว่าเสนอให้ดำเนินการดังนี้​

1. ให้ไปดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ​ พ.ศ.2562 มีกระบวนการขั้นตอนให้เป็นที่ยอมรับ ของ สาธารณรัฐประชาชน เปิดโอกาสให้มีการแข่งขัน จากเอกชนซึ่งจะเกิดประโยชน์กับประชาชนผู้ใช้รถไฟฟ้า สายสีเขียวในการที่จะได้รับอัตราค่าโดยสารที่สอดคล้องกับต้นทุนและเกิดความเป็นธรรมกับประชาชน

2. อัตราค่าโดยสารที่กำหนดว่า 65 บาท ตลอดสายให้มีการจราจรในอัตราที่ถูกกว่านี้และเป็นธรรมเพราะหากสัญญาไข่แดงหมดทุกอย่างจะกลับมาเป็นของรัฐในปี 2572 ดังนั้นพอกลับมาเป็นของรัฐต้นทุนต่างๆจะต้องถูกลงเพราะทุกอย่างกลับมาเป็นของรัฐแล้วตรงนี้จะสามารถเอามาลดค่าโดยสารให้กับประชาชนผู้ใช้รถไฟฟ้าสายสีเขียวได้

3. การต่อขยายต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งรีบเพราะสัญญา หมดในปี 2572 และในสัญญาบอกว่าถ้าบริษัทBTSมีความประสงค์ที่จะวิ่งไฟฟ้ากับกทม.จะต้องให้เวลามากกว่า 5 ปีและไม่น้อยกว่า 3 ปีในการเจรจา ซึ่งขณะนี้ เป็นปี 2564 ยังมีเวลาอยู่กว่าจะถึงในเวลาดังกล่าวจึงไม่จำเป็นที่จะต้องเร่งรีบในการเจรจาเพื่อต่อขยายสัมปทานแต่อย่างใด

4. บริษัท BTS ฟ้องกทม. เกิดจากเมื่อปี 2561 ในส่วนต่อขยาย หมอชิตถึงคูคตและแบริ่งถึงสมุทรปราการ ไปจ้างให้ทาง BTS วิ่งรถแต่ไม่เก็บเงินค่าโดยสารตั้งแต่ปี 61 มา กทม.ใช้อำนาจอย่างไรถึงให้ประชาชนนั่งฟรีและเป็นหนี้​ ในส่วนนี้จึงจะต้องไปไล่เบี้ยถึงผู้ที่เกี่ยวข้องที่เปิดให้นั่งฟรีและเป็นหนี้ถึง​ 3 หมื่นล้าน​

5. สภาผู้แทนราษฎรได้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษาเรื่องการต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้า BTS ออกไปอีก 40 ปีเมื่อปี 2562 และมติของสภาฯก็ไม่ให้มีการดำเนินการต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้าออกไปอีก 40 ปี​ ซึ่งตรงนี้เป็นข้อเรียกร้องที่พรรคเพื่อไทยมีท่าทีและจุดยืนมาโดยตลอดว่าคัดค้านและไม่เห็นด้วยต่อการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไปอีก​ 40 ปีและให้ดำเนินการตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯที่มีเมื่อปี 2562

 

ที่มาเรียบเรียงจาก: มติชนออนไลน์ [1] [2] | กรุงเทพธุรกิจ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท