Skip to main content
sharethis
  • สปสช.เขต 6 ชี้เทรนด์การระบาดโควิด-19 ในภาคตะวันออกมีแนวโน้มลดลง แต่รูปแบบเปลี่ยนจากระบาดในโรงงานขนาดใหญ่เป็นคลัสเตอร์ในโรงงานขนาดเล็ก ล้งผลไม้ แคมป์คนงาน ตลาดสด ได้จับมือศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี ลุยแจก ATK ในกลุ่มเสี่ยงสูงเป็นพิเศษ เผยบูรณาการวางแผนร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เขตสุขภาพที่ 6 ศูนย์อนามัยที่ 6 ทำให้กระจาย ATK ได้มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศรองจาก กทม. 
  • เร่งช่วยเหลือเบื้องต้นฯ ผู้เสียชีวิต 2 ราย ในจังหวัดนนทบุรี และศรีสะเกษ หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 เตรียมนำเรื่องสู่อนุกรรมการฯ ช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ระดับเขตพิจารณาเยียวยา

 

9 พ.ย.2564 ทีมสื่อ สปสช. รายงานต่อสื่อมวลชนว่า วิศิษฏ์ ยี่สุ่นทอง รองผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 6 ระยอง เปิดเผยว่า พื้นที่ สปสช. เขต 6 ซึ่งประกอบด้วย 8 จังหวัดในภาคตะวันออก ประกอบด้วย สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และสระแก้ว ได้รับการจัดสรรชุดตรวจ antigen test kit (ATK) สำหรับกระจายให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงนำไปตรวจที่บ้านรวมจำนวน 740,000 ชุด ขณะเดียวกัน ศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี ก็ได้รับการจัดสรร ATK จากกรมอนามัยอีกประมาณ 67,000 ชุด ทาง สปสช.เขต 6 จึงได้ประสานงานกับผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 6 และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 6 เพื่อกำหนดกลุ่มเป้าหมายและวางแผนการกระจาย ATK ร่วมกัน 

วิศิษฏ์ กล่าวต่อไปว่า หลังจากหารือกันแล้วได้กำหนดแนวทางการกระจาย ATK เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ ATK ที่จะกระจายลงไปในพื้นที่ของแต่ละจังหวัด และกลุ่มต่อมาคือกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงสูงและเน้นในการตรวจเป็นพิเศษ เพราะแม้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในเขตสุขภาพที่ 6 ปัจจุบันจะมีแนวโน้มลดลง จากจาก 3,000 กว่าคน/วัน เป็น 1,000 คน/วัน แต่รูปแบบการระบาดเปลี่ยนจากเดิมที่อยู่ในโรงงานขนาดใหญ่ มาเป็นคลัสเตอร์ในโรงงานขนาดเล็ก ล้งผลไม้ แคมป์คนงาน เชื่อมโยงตลาดสดและชุมชน จึงต้องเร่งดูแลในกลุ่มนี้ 

"เมื่อวางแผนร่วมกันแล้ว กลุ่มเป้าหมายที่ศูนย์อนามัยที่ 6 เสนอมา บางส่วนมีความคล้ายกัน เช่น ภัตตาคาร ร้านอาหาร แผงลอย ขนส่งสาธารณะ แคมป์คนงาน ผู้สูงอายุ และประชาชนทั่วไป ก็เลยบูรณาการทำแผนงานโดย สปสช. อบรมการกระจาย ATK ผ่านหน่วยบริการโดยใช้แอปพลิเคชันเป๋าตัง รวมทั้ง สปสช. ยังมีข้อเสนอว่าในส่วนของจังหวัดมีช่องทางกระจายหลายช่องทาง สามารถให้กระจายผ่านคลินิกและร้านขายยาด้วย รวมทั้งยังมีกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่รับ ATK ไปกระจายต่อในชุมชน ทำให้ช่วงนี้เราสามารถกระจาย ATK ได้มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศรองจาก กทม. โดยกระจายไปแล้วประมาณ 220,000 -230,000 ชุด เฉลี่ยวันละ 10,000 ชุด" วิศิษฏ์ กล่าว 

ด้าน นพ.พนิต โล่เสถียรกิจ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 6 กล่าวว่า ในภาพรวมของเขตสุขภาพที่ 6 มีการกระจาย ATK เป็น 2 ส่วน ส่วนแรกกระจายไปตามจังหวัดต่างๆ และอีกส่วนคือศูนย์อนามัยที่ 6 เป็นผู้กระจายเอง โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงสูงตามที่กรมอนามัยกำหนด เช่น ตลาด แคมป์คนงาน ร้านเสริมสวย ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ฯลฯ รวมประมาณ 8-9 กลุ่มเป้าหมาย โดยวางแผนร่วมกับผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 6 ว่าแต่ละกลุ่มเป้าหมายที่จะกระจายไปใน 8 จังหวัดมีจำนวนเท่าใด รวมทั้งประสานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในแต่ละจังหวัดเพื่อชี้เป้าว่ากลุ่มเสี่ยงอยู่ในจุดไหนบ้างและลงพื้นที่ไปแจก ATK ร่วมกับทีมของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โดยขณะนี้ได้แจกไปแล้ว 26,000 ชุด  ขณะเดียวกันก็ร่วมกับ สปสช.เขต 6 ในการติดตามข้อมูลในภาพรวมของทั้งเขต ทำให้เห็นเทรนด์การติดเชื้อว่าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งขณะนี้แนวโน้มการติดเชื้อเริ่มลดลงแล้ว 

สปสช.เช่วยเหลือผู้เสียชีวิต 2 ราย หลังฉีดวัคซีนโควิด กรณีจังหวัดนนทบุรีและศรีสะเกษ

จินตนา กวาวปัญญา หัวหน้าหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน มาตรา 50(5) ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จ.นนทบุรี เปิดเผยว่า ได้รับการประสานจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี เพื่อเข้าไปดูแลและให้คำปรึกษาและประสานช่วยเหลือครอบครัว นายสมบูรณ์ บุตรวงษ์ อายุ 54 ปี ที่ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

ทั้งนี้ได้ดำเนินการประสานกับกลุ่มงานประกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี (สสจ.) และ สภ.ปลายบาง จ.นนทบุรี พร้อมทั้งส่งทีมงานลงพื้นที่ห้องพักในพื้นที่ หมู่ 7 ซอยวัดหูช้าง ถนนนครอินทร์ ต.บางคูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี โดยได้พูดคุยกับเพื่อนบ้านนายสมบูรณ์ในการประสานการช่วยเหลือ ซึ่งนายสมบูรณ์ได้รับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด- 19 ที่โรงพยาบาลเพชรเวช กทม. โดยฉีดเข็มที่ 1 เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 64 และฉีดเข็มที่ 2 วันที่ 18 ต.ค. 64 ซึ่งหลังจากฉีดโควิด-19 เข็มที่ 2 แล้ว มีอาการแขนขาอ่อนแรง ไม่มีแรง เหนื่อย ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ จึงเกิดความเครียด เนื่องจากมีภาระที่ต้องดูแลพี่ชายที่พิการและภรรยาที่ป่วยหนักด้วย  

“การช่วยเหลือได้ให้บุตรสาวของนายสมบูรณ์เขียนแบบคำร้อง เพื่อยื่นขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งมี สสจ.นนทบุรี เป็นผู้รับคำร้อง เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาต่อไป พร้อมทั้งร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลศพในคราวนี้ด้วย” จินตนา กล่าว

มลุลี แสนใจ รองผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 10 อุบลราชธานี เปิดเผยว่า จากกรณีที่นายสุรัตน์ ศรปัญญา อายุ 68 ปี เสียชีวิตหลังจากได้รับการฉีดวัคซีนโควิด เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564 ที่ รพ.สต.สร้างเหล่า ต.ยาง อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ เมื่อวานนี้ (8 พ.ย.) ตนพร้อมด้วย นพ.อดุลย์ โบจรัส ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกันทรารมย์ เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธรณสุขจังหวัดศรีสะเกษ และเจ้าหน้าที่ รพ.สต.สร้างเหล่า ได้รุดเยี่ยมครอบครัวผู้เสียชีวิต และประสานการช่วยเหลือ

นางมลุลี กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้สูญเสียนี้ ซึ่งผู้ได้รับความเสียหายหลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่ว่าจะมีอาการเล็กน้อยจนถึงภาวะรุนแรง รวมถึงกรณีเสียชีวิต จะมีกลไกดูแลในการช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยเร็วที่สุด โดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิดว่าเกิดจากวัคซีนหรือไม่ แต่มุ่งบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ประชาชน และจะไม่มีการเรียกเงินคืนแต่อย่างใด

“การมาเยี่ยมครอบครัวผู้เสียชีวิตวันนี้ ได้มารับคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นฯ ด้วย และจะรีบนำเรื่องเข้าสู่ณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนโควิด-19 ของเขตต่อไป” รอง ผอ.สปสช.เขต 10 อุบลราชธานี กล่าว

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ 1.กรณีเจ็บป่วยต้องรักษาต่อเนื่อง จ่ายไม่เกิน 1 แสนบาท 2.กรณีความเสียหายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะหรือพิการจนมีผลต่อการดำรงชีวิต จ่ายไม่เกิน 2.4 แสนบาท และ 3.กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จ่ายไม่เกิน 4 แสนบาท โดยผู้ได้รับผลกระทบหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ยื่นคำร้องได้ที่โรงพยาบาลที่ไปรับการฉีด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และ สปสช. ทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องฯ จะพิจารณาคำร้องให้แล้วเสร็จภายใน 5 วัน 

สอบถามเพิ่มเติม สายด่วน สปสช. 1330 ดาวน์โหลดแแบบคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโควิดได้ที่ https://www.nhso.go.th/storage/files/841/001/nhso_VaccinCovid19.pdf

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net