Skip to main content
sharethis

ผู้เสียหายจากการสลายการชุมนุม #ม็อบ17พฤศจิกา 2563 หน้ารัฐสภา 9 คน ยื่นฟ้อง สตช. และ ผบ.ตร. เรียกค่าเสียหายต่อเสรีภาพการชุมนุม และสิทธิในชีวิตและร่างกาย พร้อมทั้งค่ารักษาพยาบาล และขอให้กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปิดกั้นขัดขวางและใช้กำลังสลายการชุมนุมโดยไม่เป็นไปตามกฎหมายการชุมนุมสาธารณะและหลักสากล

ทีมข่าวภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน รายงานว่า 12 พ.ย. 2564 ผู้เสียหายจากการสลายการชุมนุมที่หน้าอาคารรัฐสภาในวันที่ 17 พ.ย. 2563 จำนวน 9 คน พร้อมภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เข้ายื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร) ต่อศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย ต่อเสรีภาพการชุมนุม และสิทธิในชีวิตและร่างกาย ค่ารักษาพยาบาล และขอให้กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปิดกั้นขัดขวางและใช้กำลังสลายการชุมนุมโดยไม่เป็นไปตามกฎหมายการชุมนุมสาธารณะและหลักสากล

อัมรินทร์ สายจันทร์ ทนายความภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า คดีนี้สืบเนื่องจากการชุมนุมสาธารณะที่จัดขึ้นในนามกลุ่มราษฎร เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 บริเวณใกล้กับอาคารรัฐสภา เพื่อร่วมติดตามการประชุมรัฐสภาในวาระการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ และเรียกร้องให้รัฐสภาลงมติเห็นชอบเพื่อรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขที่ประชาชนร่วมกันใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอกว่า 1 แสนรายชื่อ อันเป็นการใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรอง

ทนายความภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูลว่า วันดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจ ออกประกาศพื้นที่ห้ามชุมนุมในรัศมี 50 เมตร รอบรัฐสภาและปิดกั้นเส้นทางสัญจรในบริเวณรอบรัฐสภาด้วยเครื่องกีดขวางต่างๆ เพื่อสกัดกั้นผู้ชุมนุม ไม่ให้ผู้ฟ้องคดีและประชาชนใช้เสรีภาพในการชุมนุม หรือเดินทางผ่านเข้าออกบริเวณหน้ารัฐสภาได้ ทั้งยังมีการสลายการชุมนุมด้วยการฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมี และใช้แก๊สน้ำตาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและหลักการสากล จนเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีและประชาชนผู้ชุมนุมจำนวนมากถูกละเมิดเสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ได้รับบาดเจ็บ มีอาการคัน แสบร้อน ผิวหนังมีแผลไหม้พุพอง ปวดอักเสบ แสบตา แสบคอ หายใจไม่ออก เกิดอาการแพ้ และมีเลือดออกทางจมูก บางรายถูกยิงโดยผู้ก่อเหตุไม่ทราบฝ่าย

อัมรินทร์ สายจันทร์ (ซ้ายสุด) และผู้เสียหายให้สัมภาษณ์หน้าศาลแพ่ง

อัมรินทร์ สายจันทร์ (ซ้ายสุด) และผู้เสียหายให้สัมภาษณ์หน้าศาลแพ่ง

อัมรินทร์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ผู้เสียหายร่วมกับทนายความจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยื่นฟ้องผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2564 แต่ศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาโดยเห็นว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาต่อศาลปกครองสูงสุด

ทนายความภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ชี้ว่า ปัญหาความคลุมเครือของเขตอำนาจศาลเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีบางส่วนจำนวน 9 คน ตัดสินใจถอนฟ้องจากศาลปกครองและยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นคดีใหม่ต่อศาลแพ่งในวันนี้ ด้วยเหตุผลทางอายุความ ที่หากต้องการฟ้องคดีนี้ใหม่ต่อศาลยุติธรรม ต้องยื่นฟ้องภายในระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่เกิดเหตุละเมิด โดยการฟ้องแพ่งในครั้งนี้ก็เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย ต่อเสรีภาพการชุมนุม และสิทธิในชีวิตและร่างกาย ค่ารักษาพยาบาล และขอให้กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปิดกั้นขัดขวาง และใช้กำลังสลายการชุมนุมโดยไม่เป็นไปตามกฎหมายการชุมนุมสาธารณะและหลักสากล

อัมรินทร์กล่าวอีกว่า การยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่งในวันนี้ เพื่อยืนยันว่าการปิดกั้นขัดขวางการใช้เสรีภาพการชุมนุมและการใช้กำลังความรุนแรงต่อประชาชนผู้ชุมนุมตามอำเภอใจ เป็นการละเมิดต่อกฎหมายและสิทธิมนุษยชนที่ต้องถูกตรวจสอบโดยกระบวนการยุติธรรม ไม่ปล่อยให้กลายเป็นการลอยนวลพ้นผิด เพื่อให้ความเสียหายที่เกิดขึ้นได้รับการเยียวยา และเพื่อเป็นบรรทัดฐานในการปกป้องคุ้มครองการใช้เสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกของประชาชน ให้สามารถกระทำได้อย่างปลอดภัยตามที่รัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองให้การรับรอง

ด้านอังคณา นีละไพจิตร อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หนึ่งในผู้เสียหายที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องในครั้งนี้ กล่าวว่า ตนได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ในขณะที่ไปปฏิบัติหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร ก่อนที่การชุมนุมจะเริ่มต้นด้วยซ้ำ นอกจากนี้ ยังมีประชาชนจำนวนมากที่สัญจรบริเวณอาคารรัฐสภาก่อนที่จะเริ่มมีการชุมนุม ดังนั้น เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนจึงนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมเพื่อเป็นบรรทัดฐานไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ จนทำให้ประชาชนต้องได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยคุมฝูงชน โดยผู้ฟ้องคดีมีอาการแพ้สารเคมีที่เจ้าหน้าที่นำมาผสมในการใช้น้ำแรงดันสูง (water cannon) ฉีดใส่ ทำให้ประชาชนหลายคนมีอาการแพ้อย่างรุนแรง โดยบางคนยังเป็นเด็กเล็ก ที่ได้รับผลกระทบอย่างมากทั้งที่หลายคนไม่ได้เป็นผู้ร่วมชุมนุม

อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ในส่วนของผู้ร่วมชุมนุม ตามที่ตนประจักษ์ ผู้ชุมนุมใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ เพื่อร่วมรับฟังการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขของประชาชนถูกนำเข้าสู่การพิจารณา ทั้งนี้ ที่ผ่านมานับแต่อดีต สภาผู้แทนราษฎรถือเป็นพื้นที่ที่ประชาชนสามารถมาเรียกร้องต่อผู้แทนของตนในเรื่องต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนได้ ดังนั้น พื้นที่บริเวณสภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นพื้นที่ที่ประชาชนสามารถที่จะมารวมกลุ่มโดยสงบ เพื่อเสนอข้อเรียกร้องต่อผู้แทนราษฎร เจ้าหน้าที่ตำรวจคุมฝูงชนจึงไม่มีความชอบธรรมใดๆ ในการสลายการชุมนุมโดยสงบ ด้วยวิธีรุนแรงและส่งผลกระทบต่อผู้ชุมนุมและประชาชนในบริเวณนั้น

อังคณากล่าวอีกว่า ในการฟ้องคดีวันนี้ ส่วนตัวไม่ได้กังวลแต่อย่างใดเพราะไม่ได้กระทำผิด จึงขอให้ศาลพิจารณาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น และขอให้ศาลกำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองประชาชนผู้ใช้เสรีภาพโดยสุจริตจากการใช้อำนาจเกินจำเป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ขณะที่วรรณา บุตรคลาน หนึ่งในผู้เสียหายที่ยื่นฟ้อง กล่าวว่า ตนเป็นอีกคนที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันที่ 17 พ.ย. 2563 โดยได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ฉีดในการสลายการชุมนุม ตนมีโรคประจำตัวคือโรคเบาหวาน สารเคมีจึงทำให้อาการของโรคประจำตัวตนกำเริบ และผิวหนังของตนที่ผุพองจากสารเคมีกว่าจะรักษาให้หายตนต้องใช้เวลาในการรักษาตัวเกือบเดือน ทำให้ตนเสียโอกาสในการประกอบอาชีพ และทำให้การใช้ชีวิตประจำวันมีอุปสรรค

ผู้เสียหายรายนี้ยืนยันว่า สิทธิในการชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิที่คนไทยทุกคนมี การใช้กำลังสลายการชุมนุมจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง จึงอยากให้การฟ้องร้องของตนและคนอื่นๆ จะเป็นบรรทัดฐานให้กับการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไปในอนาคต

ด้านเพจภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลแพ่งกำหนดวันนัดชี้สองสถานเพื่อกำหนดแนวทางคดี ในวันที่ 8 ก.พ. 2565 เวลา 09.00 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net