Skip to main content
sharethis
  • ประเสริฐพงษ์ ส.ส.ก้าวไกล ชี้ คำสารภาพ ‘นิพนธ์’ ยอมรับครอบครัวมีเอี่ยวขบวนการกว้านซื้อดินหาประโยชน์จาก ‘นิคมฯจะนะ’ เป็นความวิบัติร่วมกันของคณะรัฐมนตรี ด้าน ‘อมรัตน์’ งัดลายเซ็น ‘ประยุทธ์’ โชว์สภา จี้ รับผิดชอบคำสัญญากับประชาชน
  • 'นิพนธ์' ยันรวบรวมที่ดินแล้วต้องทำตามขั้นตอนกฎหมายอยู่ดี หวังแก้ปัญหาความยากจน ระบุที่ดินจะนะ เป็นดินทรายปลูกอะไรก็ลำบาก 
  • 'ธนาธร' ยก 5 เหตุผล ชี้ นิคมฯ 'จะนะ' ไม่ตอบโจทย์พัฒนาอุตสาหกรรม - พยากรณ์จะกลายเป็นนิคมฯร้าง-ไร้นักลงทุน

8 ธ.ค.2564 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า ที่อาคารรัฐสภา ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนภาคใต้ พรรคก้าวไกล แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ถึงกรณีที่ นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนถึงกรณีที่เขาและครอบครัวมีส่วนในการกว้านซื้อที่ดินเพื่อเอื้อต่อนายทุนในการก่อสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา 

ประเสริฐพงษ์ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นผู้ภิปรายไม่ไว้วางใจ นายนิพนธ์ ในเรื่องนี้ และจากกรณีที่นายนิพนธ์ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนและปรากฎไปยังพี่น้องประชาชน ตนถือว่าเป็นคำสารภาพที่นายนิพนธ์ ยอมรับว่ามีการรวบรวมที่ดินเเละกว้านซื้อที่ดินไปขายนายทุนจริง และขอตั้งคำถามต่อไปยัง นายนิพนธ์ ว่าจริงหรือไม่ ที่นายนิพนธ์ได้เเถลงต่อ สภา อบจ.สงขลา ถึงนโยบายสนับสนุนนิคมจะนะในปี 2556 ในสมัยที่ดำรงตำเเหน่งนายก อบจ.สงขลา ซึ่งขัดเเย้งกับคำให้สัมภาษณ์เมื่อวานนี้ที่ระบุว่า รัฐบาลมีโครงการตั้งแต่ปี 2559 

ประเด็นต่อมา การรวบรวมที่ดินเพื่อหาประโยชน์จากส่วนต่างและทำกำไรหลักร้อยล้านบาท ผ่านเป็นเครือข่ายญาติพี่น้องจากโครงการที่ นิพนธ์ เป็นผู้ผลักดัน ถือว่าผิดกฎหมายว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่ เพราะนิพนธ์ดำรงตำเเหน่งในคณะรัฐมนตรี ย่อมรู้ล่วงหน้าตามข้อเท็จจริงที่ตนอภิปรายไม่ไว้วางใจถือเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบหรือไม่ และมีคำถามต่อไปว่า ตกลงแล้วนิคมฯจะนะมีเพื่อรองรับผลประโยชน์ของใครกันแน่ มีนักเก็งกำไรในพื้นที่จริงหรือไม่ มีการเปลี่ยนแปลงผังเมืองโดยมิชอบหรือไม่ เเละการสั่งให้สำนักงานที่ดินสงขลาและเครือข่ายรีบออกเอกสารสิทธิ์อย่างรวดเร็วจริงหรือไม่ มีการจัดลำดับการออกเอกสารสิทธิ์อย่างไม่เป็นธรรมโดยประชาชนที่รอมานานยังคงไม่ได้รับการออกเอกสารสิทธิ์แต่ไปจัดอยู่อันดับท้ายๆ แต่กลุ่มที่ได้เอกสารสิทธิ์คือกลุ่มที่จะสามารถรีบขายต่อได้จริงหรือไม่ และมีการส่งตำรวจทหาร นักปกครอง ไปข่มขู่คุกคามให้ร้ายประชาชน ครูสอนศาสนาอิสลาม และพี่น้องประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการที่ทำลายวิถีชุมชนเเละทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่จะนะจริงหรือไม่

“นอกจากนี้ ผมขอตั้งคำถามฝากไปยัง วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เเละพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ด้วยว่า ท่านกระอักกระอ่วนใจหรือไม่ในการที่นั่งประชุมคณะรัฐมนตรี ครม.กับคนที่ท่านเซ็นคำสั่งให้พ้นจากราชการ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ หากกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งให้พ้นจากราชการ จะไม่มีโอกาสมานั่งในคณะรัฐมนตรีแน่นอน นี่คือบรรทัดฐานคุณธรรมจริยธรรมของคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์หรือไม่ โครงการนี้คือการกระทำเเบบนายทุนคิด ทหารดัน นักการเมืองหาผลประโยชน์ สิ่งที่รัฐบาลกำลังกระทำมันชอบธรรมต่อประชาชนหรือไม่ ประเด็นเหล่านี้พวกท่านต้องตอบคำถามให้ได้” ประเสริฐพงษ์ กล่าว

นอกจากนี้ ในช่วงปรึกษาหารือของสภาผู้แทนราฎร อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ต่อกรณีที่รัฐใช้กำลังสลายการชุมนุมอย่างสงบของพี่น้องชาวจะนะอย่างป่าเถื่อนที่หน้าทำเนียบรัฐบาล พวกเขาเดินทางเกือบหนึ่งพันกิโล จากสงขลามาทวงสัญญาที่หน้าทำเนียบเพราะรัฐบาลสัญญากับพวกเขาเมื่อเดือน ธ.ค.ปีกลายว่า จะยุติการดำเนินการโครงการสร้างนิคมฯ จนกว่าจะมีการตรวจสอบความไม่ปกติตามที่ถูกตั้งข้อสังเกตเสร็จสิ้น แต่สุดท้ายก็ทำผิดสัญญาโดยมีการขยับขับเคลื่อนโครงการในพื้นที่ต่อ 

“พวกเขามารอที่หน้าประตูทำเนียบรัฐบาล เพียงต้องการเจรจาพูดคุยกับนายก ด้วยเหตุผล 2 ข้อ คือ
หนึ่งโครงการนี้ดำเนินงานโดย ศอ.บต. ที่มี นายกฯเป็นประธาน และสองนายกฯ เป็นผู้เซ็นคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาปัญหาการสร้างนิคมฯจะนะขึ้นมาโดยเฉพาะ ดังนั้น ท่านจะปัดความรับผิดชอบไปให้คนอื่นไม่ได้ พวกท่าน ธรรมนัส-ประยุทธ์ จะขบเหลี่ยมทางการเมืองกันอย่างไรเป็นเรื่องหนึ่ง แต่สำหรับพวกเขาท่านคือ ครม.เดียวกัน คือรัฐบาลที่มีหน้าที่รับผิดชอบคำสัญญาและแก้ไขปัญหาให้

นอกจากจะไม่ดูดำดูดี ไม่ออกมาเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมที่มารอถึงหน้าประตูทำเนียบอย่างคนมีวุฒิภาวะแล้ว ยังใช้กำลัง คฝ.สลายการชุมนุมโดยสงบสันติของพวกเขาอย่างป่าเถื่อน และรุนแรงเกินกว่าเหตุ
ที่เลวร้ายที่สุดอีกอย่างหนึ่งคือการลิดรอนจำกัดเสรีภาพสื่อสารมวลชน ‘เสียชีพอย่าเสียสัตย์’ สำหรับเรียก ‘ลูกเสือ’ แต่พวกไม่เคยรักษาสัจจะวาจาที่ให้ไว้กับประชาชน เขาเรียกว่า ‘ลูกหมา’ ” อมรัตน์ ระบุ

'นิพนธ์' ยันรวบรวมที่ดินแล้วต้องทำตามขั้นตอนกฎหมายอยู่ดี หวังแก้ปัญหาความยากจน ระบุที่ดินจะนะ เป็นดินทรายปลูกอะไรก็ลำบาก 

ด้าน นิพนธ์ ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า รมช.มหาดไทย และอดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา ว่า โครงการนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กฎหมายระบุว่าจะต้องให้มีการทำอีไอเอเสียก่อน ต้องว่ากันไปตามขั้นตอน ตนไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว อย่างไรก็ตาม โครงการนี้มีอยู่ 2 มุม คือ ถ้ากังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ต้องไปดูเรื่องสิ่งแวดล้อมและสร้างหลักประกันให้เกิดขึ้น แต่หากบอกว่าพื้นที่นี้ทำอะไรไม่ได้เลยจะต้องมาพิจารณาเหมือนกับการลงทุนทั่วไป ถ้าเอกชนสนใจที่จะลงทุนก็ต้องไปพิจารณาว่าเขาพร้อมทำตามกฎหมายหรือไม่ หากกฎหมายให้ทำอีเอไอ หรือให้ทำอีเอชไอเอ ต้องทำให้ครบถ้วน

ต่อกรณีการทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่นั้น นิพนธ์ กล่าวว่า ต้องปล่อยให้เป็นกระบวนการของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดีกว่า ปล่อยไปตามขั้นตอน ถึงแม้ว่าตนจะเป็นคนในพื้นที่นั้นก็ตาม ขอให้ไปฟังคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ดูแล้วกัน ส่วนกรณีที่มีกลุ่มคนมาคัดค้านที่หน้าทำเนียบฯนั้น ต้องขอให้ไปพิจารณาดูด้วยว่าโครงการจะต้องทำตามขั้นตอนกฎหมายอย่างไร เพราะกฎหมายกำหนดไว้แล้วว่ากรณีไหนต้องทำอีไอเอ กรณีไหนต้องทำอีเอชไอเอ ต้องดำเนินการตามที่กฎหมายบังคับใช้ ความจริงเรื่องนี้มีการพูดคุยกันมาหลายปีแล้ว ตั้งแต่ประมาณปี 59 ก่อนที่รัฐบาลนี้จะมาเสียอีก

ต่อคำถามที่ว่า กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวมาเรียกร้องอยู่หน้าทำเนียบฯ และกล่าวหาว่านิพนธ์เองเป็นผู้รวบรวมโฉนดให้กับนายทุนนั้น นิพนธ์ กล่าวว่า เรื่องที่ดินนั้นหากเอกชนเขาสนใจก็มีสิทธิ์ที่จะดำเนินการเหมือนกับเรื่องทั่วๆ ไป แต่เมื่อรวบรวมที่ดินแล้วต้องทำตามขั้นตอนกฎหมายอยู่ดี

สำหรับกรณีที่ตัวนิพนธ์เอง มีส่วนเข้าไปรวบรวมที่ดินตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่นั้น นิพนธ์ กล่าวว่า หลายคนที่ไปรวบรวมก็เป็นสิทธิของเขา เพราะการรวบรวมที่ดินไม่ผิดกฎหมาย แต่ถ้าการที่จะทำโรงงานแล้วไม่ทำตามขั้นตอนกฎหมายนั่นถือเป็นประเด็น ส่วนที่กล่าวหาตนว่าเป็นคนรวบรวมที่ดินนั้น หากเขาถามตนว่าเห็นด้วยกับโครงการนี้หรือไม่ ตนเห็นด้วยที่จะเข้าไปทำตรงที่ดินนั้น เนื่องจากที่ดิน อ.จะนะ เป็นที่ดินที่ปลูกอะไรก็ลำบาก เป็นพื้นทราย

นิพนธ์เห็นด้วยกับโครงการนี้จึงรวบรวมที่ดินให้กับเอกชน นายนิพนธ์ กล่าวว่า “ก็ใช่ ในเบื้องต้นเขาถามผมว่าทำได้หรือไม่ ผมก็บอกว่าทำได้ แต่การจะอนุญาตหรือไม่ ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ตอนนั้นผมยังไม่ได้เป็นรัฐมนตรี ตอนนั้นอยู่ในตำแหน่งอื่นที่ไม่ใช่รัฐมนตรี ซึ่งโครงการนี้เริ่มคิดมาตั้งแต่ปี 59”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า เหตุผลส่วนตัวที่ไปรวบรวมที่ดิน เพราะต้องการเห็น อ.จะนะ พัฒนาอย่างไรนั้น นิพนธ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์กับพื้นที่ อ.จะนะ จะเกิดการจ้างงานขึ้น เราต้องยอมรับว่าพื้นที่ อ.จะนะเป็นพื้นที่ความมั่นคง เป็นพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลาที่ระบุว่าใครจะไปลงทุนแล้วจะได้สิทธิพิเศษ เพราะต้องการหาคนไปลงทุนให้มาก เนื่องจากมีระเบิดและมีกิจกรรมที่ไม่ปลอดภัยอยู่ ดังนั้น การส่งเสริมให้คนไปลงทุนโดยการให้สิทธิพิเศษ เอกชนก็อยากไปลงทุน ชาวบ้านจะได้มีงานทำ โครงสร้างนั้นตนเห็นด้วย และที่เห็นได้ชัดคือ จังหวัดชายแดนภาคใต้เราแก้ปัญหาได้แล้ว ทั้งการศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน ความไม่ปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน ดีกว่าเมื่อก่อนมาก ขณะนี้เหลือปัญหาเดียวคือ ความยากจนของประชาชน ฉะนั้น การทำให้คนในพื้นที่มีงานทำ ตนถือว่าเป็นการแก้ปัญหาหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้ศึกษากันมานานกว่า 20 ปี

ต่อคำถามที่ว่าดูแล้วประโยชน์ที่ได้รับจะมีมากกว่าใช่หรือไม่นั้น นิพนธ์ กล่าวว่า นี่คือสิ่งที่ทำให้คนส่วนใหญ่สนับสนุน ลูกหลานเรียนจบมาตอนนี้ขึ้นมาทำงานกันที่ กทม. ภาคตะวันออก เพราะในพื้นที่ไม่มีการลงทุน ไม่มีการจ้างงาน แทนที่คนกลุ่มนี้จะอยู่ในพื้นที่เพื่อพัฒนา แต่ไม่มีโอกาส ศอ.บต.จึงคิดโครงการนี้ขึ้น เพื่อให้มีงานทำ

'ธนาธร' ยก 5 เหตุผล ชี้ นิคมฯ 'จะนะ' ไม่ตอบโจทย์พัฒนาอุตสาหกรรม - พยากรณ์จะกลายเป็นนิคมฯร้าง-ไร้นักลงทุน

ขณะที่วานนี้ (7 ธ.ค.) ทีมสื่อคณะก้าวหน้า รายงานด้วยว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้ให้สัมภาษณ์กับรายการ The Politics บนช่องทางเฟซบุ๊กมติชนทีวี ให้ความเห็นต่อกรณีการสลายการชุมนุมประชาชนกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น ที่เกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา พร้อมยกเหตุสนับสนุนคัดค้านโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา ซึ่งเป็นเหตุแห่งการชุมนุมของประชาชน

อัด “ประยุทธ์” อย่าปัดสวะ ชี้ ในฐานะนายกฯสั่งยับยั้งตำรวจไม่ให้ทำเกินกว่าเหตุ-ลากคอคนสั่งการรับผิดชอบได้

ธนาธร ระบุว่าสำหรับกรณีการสลายการชุมนุมเมื่อคืนวันที่ 6 ธันวาคมนั้น แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะได้ปฏิเสธความรับผิดชอบว่าไม่ได้เป็นผู้สั่งการ แต่เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่

แต่ข้อเท็จจริงคือ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี คือผู้กำกับดูแลตำรวจโดยตรง และไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะอ้างว่าตัวเองไม่ได้สั่ง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล มีอำนาจในการออกคำสั่งยับยั้งการกระทำได้ และหาคนสั่งการมาลงโทษให้ได้

ธนาธรยังระบุว่า การชุมนุมของประชาชนกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นนั้น เป็นการชุมนุมอย่างสันติ ไม่ได้เกิดเหตุรุนแรงหรือการปะทะใด ๆ การสลายการชุมนุมและยังยัดข้อหา ย่อมเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ควรหาคนสั่งการมารับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ รัฐบาลต้องยกเลิกการแจ้งข้อหาผู้ชุมนุมทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไขทันที ทั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าหน้าที่ที่ให้ยุติการชุมนุม

รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ควรรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนด้วยตนเอง เพื่อให้ทราบถึงความเดือดร้อนที่เป็นเหตุแห่งการชุมนุมในครั้งนี้

“การที่ประชาชนเดินทางพันกิโลเมตรมานอนตากแดดตากฝนบนถนนในกรุงเทพมันไม่สนุกหรอก ลองฟังพวกเขาว่าทำไมต้องลงทุนลงแรง แทนที่จะได้ทำมาหากิน อยู่กับครอบครัว เพราะพวกเขาต้องมาต่อสู้กับสิ่งที่รัฐยัดเยียดให้ ในรูปแบบโครงการขนาดใหญ่ที่พวกเขาไม่ต้องการ” ธนาธรกล่าว

นอกจากนี้ ธนาธรยังระบุด้วย ว่าพรรคการเมืองต่าง ๆ ควรมีท่าทีที่ชัดเจนต่อกรณีโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ได้แก่ 1) การตรวจสอบว่าโครงการนี้มีกลุ่มทุน และนักการเมืองกลุ่มใดได้รับผลประโยชน์อะไรที่ไม่ควรได้หรือไม่ 2) ปกป้องเสรีภาพในการชุมนุมโดยสันติของประชาขน และ 3) แสดงจุดยืนเรื่องนิคมอุตสาหกรรมจะนะให้ชัดเจน ว่าสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนอย่างไร เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งต่อไปได้

ยก 5 เหตุผลนิคมฯจะนะไม่คุ้มค่า - ชี้ จะกลายเป็นนิคมร้าง แลกกับทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชาวบ้านจะนะ

ธนาธรยังกล่าวต่อไป ว่าตนมีเหตุผล 5 ประการด้วยกัน ที่สนับสนุนการคัดค้านนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ได้แก่

ประการแรก พื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.สงขลาไม่ได้ขาดแคลนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เนื่องจากในจุดที่จะมีการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ล้วนแต่มีนิคมอุตสาหกรรมอยู่แล้ว เช่นนิคมอุตสาหกรรมรับเบอร์ซิตี้ ไปทางตะวันตก 60 กิโลเมตรจากจะนะ และนิคมอุตสาหกรรมสะเดา ไปทางตะวันตกเฉียงใต้จากจะนะ 93 กิโลเมตร

ซึ่งทั้งสองนิคมอุตสาหกรรม ล้วนเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ไม่มีใครมาลงทุน สภาพเหมือนถูกทิ้งร้าง อย่างเช่นที่สะเดา มีการใช้พื้นที่ไปเพียง 10% เท่านั้น และเป็นพื้นที่ ๆ มีการพัฒนาเพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมอยู่แล้ว

ดังนั้น ภาคใต้จึงไม่ได้ขาดแคลนนิคมอุตสาหกรรม หากแต่มีนิคมอุตสาหกรรมรับเบอร์ซิตี้และนิคมอุตสาหกรรมสะเดา ที่ยังใช้พื้นที่ไม่เต็มศักยภาพจนถึงทุกวันนี้อยู่แล้ว

ประการที่สอง หากเราไปดูแผนผังพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมจะนะ จะเห็นว่าพื้นที่ที่เป็นสีม่วง คือเขตอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า ซึ่งไม่ได้มีความจำเป็นสำหรับประเทศไทย ณ ตอนนี้ ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองล้นเกินไปมากแล้ว ถึง 58.8% ซึ่งเป็นเหตุให้ค่าไฟแพงกว่าที่ควรเป็น จากค่าบำรุงรักษาด้วยที่ต้นทุนมาตกอยู่กับประชาชนด้วย

ประการที่สาม เราจะสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ และทรัพยากรธรรมชาติจะหายไปทันที ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกนิคมอุตสาหกรรมที่ผ่านมา เมื่อมีการสร้างสิ่งก่อสร้างยื่นลงไปในทะเล ชายหาดจะกลายเป็นดินเลน สัตว์น้ำอยู่ไม่ได้ และวิถีชาวประมงของชาวจะนะก็จะหายไปทันที

“เพราะฉะนั้น การมีนิคมอุตสาหกรรมในจะนะเป็นเรื่องที่ไม่คุ้มอย่างยิ่ง เราจะได้นิคมอุตสาหกรรมที่ไม่มีใครมาลงทุนเหมือนรับเบอร์ซิตี้และสะเดา แต่เราจะสูญเสียทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ของจะนะไปตลอดกาล” ธนาธรกล่าว

ธนาธรยังกล่าวต่อไป ถึงเหตุผลอีกสองประการสุดท้าย นั่นคือ ประการที่สี่ นิคมอุตสาหกรรมจะนะ เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มทุนและนักการเมืองบางกลุ่มเท่านั้น ดังจะเห็นได้ว่าพื้นที่ที่เคยเป็นผังเมืองสีเขียว ก่อนกลายเป็นสีม่วงได้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือไปมา ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม 2563

ได้แก่พื้นที่ตำบลตลิ่งชัน นาทับ และสะกอม ซึ่งบัดนี้อยู่ในมือของกลุ่มทุนแล้วเป็นจำนวนมาก โดยมีเครือญาติของนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไป ไปไล่ซื้อที่ดินจากชาวบ้าน ก่อนนำไปขายต่อให้นายทุนก่อน จนบรรดาเครือญาติของนิพนธ์ร่ำรวยขึ้นกว่า 200 ล้านบาท

นอกจากนี้ ผู้ลงทุนคนสำคัญในนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ก็คือทีพีไอ ซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่งที่ให้การสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ ในการระดมทุนของพรรคเมื่อเดือนธันวาคม 2561 โดยสองบริษัทในเครือทีพีไอ เข้าไปบริจาคเงินให้พรรคพลังประชารัฐถึงรายละ 3 ล้านบาท

และประการสุดท้าย การประชาพิจารณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เป็นไปในลักษณะกีดกันฝ่ายเห็นต่างไม่ให้มีส่วนร่วมแสดงความเห็น โดยเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2562 มีการเปิดประชาพิจารณ์ในโครงการนี้ แต่ทว่าผู้จัดประชาพิจารณ์กลับนำกำลังเจ้าหน้าที่กว่าพันนายล้อมสถานที่จัดประชาพิจารณ์ ไม่ให้คนคัดค้านนิคมอุตสาหกรรมจะนะเข้าร่วมแสดงความเห็น

ทำให้ในที่สุด การประชาพิจารณ์ครั้งนั้น กลายเป็นการรับฟังความคิดเห็นของฝ่ายสนับสนุนฝ่ายเดียว ไม่เปิดให้ชาวบ้านในพื้นที่ ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการเข้าร่วมกระบวนการ

อัดรัฐวิสัยทัศน์ตีบ 7 ปีสร้างนิคมฯทั่วประเทศแต่ไม่มีดีมานด์ ทำนิคมฯร้างไร้เงานักลงทุน

ธนาธรยังกล่าวต่อไปอีก ว่าเอาเข้าจริงแล้วประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนนิคมอุตสาหกรรม แต่ขาดการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรม ดังจะเห็นได้ว่าในรอบ 7 ปีที่ผ่านมามีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจไปทั่วประเทศ แต่ปัญหาก็คือทุกที่ต่างไม่มีนักลงทุนเข้ามาทำอุตสาหกรรม นั่นก็เพราะไม่มีความต้องการจากภาคอุตสาหกรรม

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรทำมากกว่า คือการสร้างความต้องการจากภาคอุตสาหกรรม เช่น ในช่วงหลังนี้ตนได้ศึกษาเรื่องน้ำประปามามาก หากเป็นตนจะทำนโยบายเปลี่ยนมิเตอร์น้ำให้เป็นมิเตอร์น้ำอัจฉริยะทั่วประเทศภายใน 5 ปี

มิเตอร์น้ำอัจฉริยะเพียงอย่างเดียว สามารถสร้างความต้องการได้เป็นสิบ ๆ ล้านผลิตภัณฑ์ นี่คือกำลังซื้อจากภาครัฐที่เอกชนสามารถมองเห็นได้ และหากมีการกำหนดเป้าหมายทิศทางให้ชัด เอกชนจะเห็นปริมาณความต้องการในอนาคตที่ชัดเจน การลงทุนในอุตสาหกรรมก็จะเกิดขึ้นได้

และยังจะเกิดผลพลอยได้ตามมา นั่นคือการลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้เรามีเทคโนโลยีของตัวเอง ได้การสร้างงาน และการรักษาสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมๆ กัน

ธนาธรระบุว่าสิ่งนี้เป็นเพียงตัวอย่างเดียวเท่านั้น ของการนำกำลังซื้อจากภาครัฐไปทำให้เกิดความต้องการลงทุนจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งรัฐสามารถสร้างความต้องการทางอุตสาหกรรมได้อีกหลายเรื่อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์กว่าการสร้างนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มอย่างเห็นได้ชัด

“นี่คือการสร้างดีมานด์และอุตสาหกรรม ไม่ใช่เอางบประมาณไปสร้างนิคมอุตสาหกรรมแล้วคิดเองเออเองว่าอุตสาหกรรมจะเกิด สิ่งที่เราต้องการตอนนี้ไม่ใช่นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีมากเกินไปแล้ว แต่คือการสร้างดีมานด์ในอุตสาหกรรม ที่ยังขาดแคลนอย่างมากในประเทศของเราต่างหาก” ธนาธรกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net