Skip to main content
sharethis

พรรคก้าวไกลห่วงสถานการณ์ศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ จ.ตาก หลังเกิดเหตุจลาจล ประท้วง อส. เพราะไม่พอใจที่ จนท.ใช้กำลังทำร้ายผู้ลี้ภัย พร้อมเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งตรวจสอบเหตุการณ์ประท้วง และความไม่เป็นธรรมภายในค่าย ด้านภาคประชาชนหวังรัฐทบทวนมาตรการล็อกดาวน์ค่ายผู้ลี้ภัย แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

ภายในศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ หลังเกิดเหตุการณ์ประท้วงวันที่ 14 ธ.ค. 64 (ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Mae La Information Team)

15 ธ.ค. 64 ผู้สื่อข่าวพิเศษบีบีซีไทย รายงานข่าววันนี้ (15 ธ.ค.) เมื่อเวลา 14.40 น. สรุปสถานการณ์ผู้ลี้ภัยภายในพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จ.ตาก ก่อเหตุจลาจล ประท้วงเจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดน (อส.) ภายในพื้นที่ ก่อนบานปลายเป็นความรุนแรง และมีการทำลายจุดตรวจและทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่หลายแห่ง 

เหตุเริ่มเมื่อวานนี้ เวลาประมาณ 19.40 น. ผู้ลี้ภัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละกว่า 30,000 คนออกมาประท้วงเจ้าหน้าที่ เนื่องจากไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่มีการควบคุมตัวและทำร้ายผู้ลี้ภัย จำนวน 4 ราย ขณะกลับมาจากการทำงานนอกพื้นที่ 

ขณะที่เจ้าหน้าที่ อส. ประจำพื้นที่พักพิงบ้านแม่หละ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาจาก มาตรการเข้มงวดการระบาดของโรคโควิด-19 เช่น การเข้า-ออกพื้นที่พักพิง การสวมหน้ากากอนามัย ทำให้ผู้ลี้ภัยบางกลุ่มไม่พอใจ และปลุกระดมออกมาชุมนุมประท้วงครั้งนี้
.
แหล่งข่าวจากพื้นที่พักพิงฯ เล่าเหตุการณ์ว่า ช่วงแรก ผู้ชุมนุมเพียงนำภาชนะและไม้ไผ่มาเคาะเพื่อแสดงถึงความไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่กระทำต่อผู้ลี้ภัยเกินกว่าเหตุ แต่เมื่อดึกขึ้นก็เริ่มมีการนำทรัพย์สินของทางราชการมาเผาบนทางหลวงสายท่าสองยาง-แม่ระมาด ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องประกาศปิดถนนตั้งแต่เวลาประมาณ 21.00 น. นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าจุดตรวจของ อส. ถูกเผาทำลาย 7 จุด ขณะที่เจ้าหน้าที่ อส. กว่า 200 คน รวมทั้งปลัดอำเภอท่าสองยางที่เป็นผู้ดูแลพื้นที่พักพิงฯ ต้องหนีออกจากพื้นที่เพื่อความปลอดภัย

การชุมนุมเกิดขึ้นต่อเนื่องอีกหลายชั่วโมงก่อนจะยุติลง

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวพิเศษบีบีซีไทย รายงานเพิ่มว่า ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ อส. ยังไม่สามารถกลับเข้าพื้นที่ได้ และยังมีผู้ลี้ภัยกว่า 20 คนอยู่ภายในสำนักงานปลัดอำเภอภายในพื้นที่พักพิงฯ ส่วนความเสียหายเบื้องต้นพบว่ามีรถยนต์ รถจักรยานยนต์ของเจ้าหน้าที่ และร้านค้าของ อส. หลายคูหาถูกรื้อหรือเผาทำลาย อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการรายงานจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุดังกล่าว 

'ก้าวไกล' ร้องรัฐเร่งสอบชนวนเหตุประท้วง

ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานวันนี้ (15 ธ.ค.) นายคริษฐ์ ปานเนียม ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล เขต 1 จ. ตาก ระบุว่าไม่ว่าปัญหาที่เกิดขึ้น จะมีชนวนเหตุมาจากฝ่ายใด แต่ประเทศไทยในฐานะเจ้าของประเทศที่ได้เชื้อเชิญข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) มาทำงานร่วมกันช่วยเหลือผู้อพยพตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 อาจมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับ UNHCR ว่าด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้
.
ที่ผ่านมา ศูนย์พักพิงแม่หละมีการผ่อนปรนให้ผู้ลี้ภัยบางรายเข้านอกออกในได้ตามสะดวก เพราะมีผลประโยชน์ต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน อาทิ การใช้แรงงานเพื่อการเกษตรในพื้นที่ การเก็บหาของป่า หรือการซื้อมาขายไปสิ่งของอุปโภค บริโภค บางกระแสข่าวระบุว่ามีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสิ่งของบริจาคระหว่างกันด้วย
.
เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐจะบังคับใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมโรคติดต่อ ลำพังเพียงแค่อธิบายขยายความให้ผู้อพยพทราบโดยทั่วกันก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ง่าย แต่เหตุที่ไม่เป็นเช่นนั้นและเกิดการจลาจลวุ่นวาย เพราะต่างฝ่ายต่างไม่เกรงกลัวกัน มีผลประโยชน์แลกเปลี่ยนกัน มีทั้งเจ้าหน้าที่และผู้อพยพที่มีอิทธิพล ใช้อำนาจกดทับความรู้สึกของผู้อพยพและเจ้าหน้าที่ที่ประพฤติดี พื้นที่ดังกล่าวจึงค่อนข้างเปราะบางและสุ่มเสี่ยง กระทั่งปะทุขึ้นกลายเป็นความขัดแย้งรุนแรงในที่สุด
.
“เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากหากเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้กำลังทำร้ายผู้อพยพ และหากได้ประพฤติเช่นนั้นจริง ยิ่งเป็นเครื่องตอกย้ำถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความไม่เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของฝ่ายข้าราชการไทยในท้องถิ่น เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและขัดต่อหลักการคุ้มครองดูแลช่วยเหลือ ระหว่างรัฐบาลไทย กับ UNHCR” นายคริษฐ์ระบุ

นายคริษฐ์ยังระบุด้วยว่า รัฐบาลไทยจำเป็นต้องเข้าไปตรวจสอบ สืบสวน สอบสวนโดยเร็วที่สุด และมีบทลงโทษต่อเจ้าหน้าที่รัฐกลุ่มที่ประพฤติมิชอบในเหตุการณ์นี้โดยเร็ว เพื่อยับยั้งความเสียหายต่อภาพลักษณ์ประเทศ และประเทศไทยต้องตระหนักเสมอว่า ผู้อพยพและพื้นที่พักพิงชั่วคราวทุกแห่งทั่วประเทศ ณ เวลานี้ เป็นความร่วมมือที่รัฐบาลไทยเมื่อปี พ.ศ. 2518 เชิญทั้งองค์กรที่เกี่ยวข้อง และ UNHCR มาร่วมกันทำงานเพื่อคุ้มครองผู้ลี้ภัย รัฐบาลควรมีท่าทีต่อสังคมโลกให้เห็นว่ารัฐบาลไทย และคนไทยทั้งประเทศ ร่วมกันจรรโลงและเคารพสิทธิมนุษยชนเฉกเช่นสังคมโลกยึดถือปฏิบัติ
.

ภายในศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ หลังเกิดเหตุการณ์ประท้วงวันที่ 14 ธ.ค. 64 (ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Mae La Information Team)
 

ในส่วนของนายปรัชญา ปุณหะกิจ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล ในพื้นที่ ต.แม่หละ จ.ตาก ระบุว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่รวมกันหลายกลุ่ม ทั้งผู้อพยพจากประเทศเมียนมา ที่ต่างศาสนากันทั้งคริสต์ พุทธ มุสลิม รอบค่ายก็ยังมีทั้งคนไทย และชาติพันธุ์กะเหรี่ยง นี่จึงเป็นพื้นที่ที่มีความเปราะบางสูงมาก น้ำผึ้งหยดเดียวสามารถนำไปสู่เหตุการณ์รุนแรงได้เสมอ
.
ประเด็นที่เป็นชนวนเหตุ มีข้อมูลรายงานว่ามาจากการกลุ่มผู้อพยพในนั้นออกมาทำมาหากิน มีมาตรการโควิด แต่ไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย ถูกเจ้าหน้าที่ถีบรถ ทำร้ายร่างกาย เพื่อนที่มาช่วยขอร้องเจ้าหน้าที่ก็โดนทำร้ายด้วยเช่นกัน
.
สิ่งที่ตนอยากตั้งคำถาม ก็คือการที่ผู้อพยพบางส่วนให้ข้อมูลว่า พวกเขาได้รับการปฏิบัติอย่างกดขี่มาโดยตลอด จนเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหมือนน้ำผึ้งหยดเดียว ที่ทำให้ทุกอย่างที่สะสมมาเกิดลุกลามบานปลาย ว่าเรื่องนี้มีมูลความจริงมากน้อยแค่ไหน
.
จริงหรือไม่ ที่มีการพูดกันมานานแล้ว ว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อิทธิพลของทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและผู้อพยพบางส่วนด้วยกันเอง ของบริจาคที่มาจากยูเอ็นไม่เคยถึงมือผู้อพยพ ของที่ดีๆ เจ้าหน้าที่เอาไปหมด เหลือแต่เศษเล็กน้อยให้ผู้อพยพ รวมทั้งจริงหรือไม่ ที่ อส. รู้เห็นเป็นใจให้ผู้มีอิทธิพลเข้าไปคุกคามล่วงละเมิดทางเพศกับผู้อพยพบ่อยครั้ง
.
“เรื่องที่พูดกันเหล่านี้จะเป็นความจริงมากน้อยแค่ไหน ทั้งทาง UN และรัฐบาลไทย ซึ่งเป็นผู้ดูแลค่ายผู้อพยพ ควรต้องเข้ามาทำการตรวจสอบ ทั้งเรื่องอิทธิพล การเรียกรับผลประโยชน์ การละเมิดสิทธิต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รวมทั้งกรณีการทำร้ายร่างกายล่าสุดที่เกิดขึ้นด้วย” นายปรัชญา กล่าว

ด้านนายมานพ คีรีภูวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในสัดส่วนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวานเป็นเรื่องของความกดดันที่สะสมมาเป็นสิบๆ ปี ทั้งรื่องการหาผลประโยชน์ในศูนย์อพยพ เช่น การค้าขาย การอนุมัติออกไปข้างนอก สินค้าที่จะเข้าไปขายในศูนย์ ล้วนต้องจ่ายผลประโยชน์ให้เจ้าหน้าที่ เป็นความไม่เป็นธรรมหนึ่งสำหรับผู้อพยพที่สะสมมาเป็นสิบๆ ปี มาตรการโควิดที่เกิดขึ้นก็มีหลายมาตรฐาน เลยเกิดความกดดันที่จุดชนวนความไม่พอใจขึ้นมา

ส่วนการแก้ปัญหาเรื่องนี้ นายมานพระบุว่าเคยมีการเสนอขึ้นมาครั้งหนึ่ง ว่าให้รัฐบาลไทยกับเมียนมา ทำงานร่วมกันโดยการให้สัญชาติเมียนมากับผู้อพยพเหล่านี้ จากนั้นก็ออกพาสปอร์ตให้ เปลี่ยนสถานะจากผู้อพยพที่ไม่มีตัวตน ไม่มีเอกสาร ให้กลายเป็นแรงงานถูกต้องตามกฎหมาย

“เมื่อประเทศไทยขาดแรงงานอยู่แล้ว คนเหล่านี้ไม่มีเอกสารราชการเมียนมาอยู่เลย รัฐบาลไทยกับเมียนมาก็รับรองสถานะบุคคลเหล่านี้เป็นเป็นพลเมืองเมียนมา แล้วค่อยออกพาสปอร์ตกับกรีนการ์ดให้ทำงานในประเทศไทย ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาในระดับหนึ่งได้” นายมานพ กล่าว

บรรยากาศภายในศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ หลังเกิดเหตุประท้วงเมื่อ 14 ธ.ค. 64 (ภาพจาก Mae La Information Team)

นายมานพยังกล่าวอีกว่าต้องเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาระหว่างประเทศ คนเหล่านี้ไม่อยากมาอยู่ที่นี่ แต่เขาอยู่ที่ประเทศตัวเองไม่ได้ โดยหลักสิทธิมนุษยชน ปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัย อย่างไรประเทศเราต้องยอมรับ ที่ผ่านมาพวกเขาอยู่ในกรอบกติกามาตลอด ทีนี้เมื่ออยู่มานานเกินไปแล้ว โดยไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ปัญหาจึงสะสมขึ้นมา ซึ่งก็ต้องตั้งข้อสังเกตด้วย ว่าเป็นเพราะผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาลตรงนี้หรือไม่ ที่เป็นเหตุให้ไม่มีความพยายามแก้ปัญหาให้สุดทางอย่างที่ควรจะเป็น

“อยากให้มองถึงเรื่องรากเหง้าปัญหาจริง ๆ คนที่มาอาศัยที่นี่ล้วนหนีร้อนมาพึ่งเย็น ถ้าไม่เหนือบ่ากว่าแรง ถ้าไม่มีมูลเหตุเขาไม่ลุกขึ้นสู้หรอก มันมีมูลเหตุให้คนเหล่านี้ที่ถูกกดทับลุกขึ้นสู้ พวกเขาเองก็รู้ดีว่าการที่ตัวเองไม่มีอำนาจในมือ ไม่มีแม้แต่สถานะบุคคล มันเป็นเรื่องยากอยู่แล้วที่จะเรียกร้องอะไร การที่พวกเขาลุกขึ้นสู้แบบนี้มันย่อมเกิดความไม่ปกติที่เกิดขึ้นจากกลไกการบริหารภายในค่ายเป็นมูลเหตุสำคัญ” นายมานพ กล่าวทิ้งท้าย

ทบทวนมาตรการล็อกดาวน์ค่ายผู้ลี้ภัย

พรสุข เกิดสว่าง จากมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน ซึ่งเป็นกลุ่มภาคประชาสังคมที่ทำงานเรื่องผู้ลี้ภัย อ้างอิงแหล่งข้อมูลในพื้นที่ระบุว่า ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ อส. และผู้ลี้ภัยในศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ เป็นปัญหาสะสมต่อเนื่องตั้งแต่โควิด-19 เริ่มระบาด เนื่องจากรัฐมีการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ค่ายผู้อพยพทุกค่าย ทำให้มีการจำกัดการเดินทางเข้า-ออกพื้นที่ การขายสินค้าภายในค่าย จนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของผู้ลี้ภัย ก่อนที่จะวานนี้จะเป็น ‘ฟางเส้นสุดท้าย’ ระเบิดเป็นการประท้วงภายในค่าย

ภาพการประท้วงภายในศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 64 (ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Mae La Information Team)

จากเหตุดังกล่าว พรสุข เรียกร้องให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้านและเป็นกลาง ไม่ใช่แค่เฉพาะเหตุการณ์ประท้วงที่เกิดขึ้น แต่รวมถึงสาเหตุความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ อส. และผู้ลี้ภัย ตลอดจนเรื่องผู้ลี้ภัยร้องเรียนในประเด็นต่างๆ 

นอกจากนี้ เธอเรียกร้องให้ภาครัฐทบทวนมาตรการล็อกดาวน์ค่ายผู้ลี้ภัย เนื่องจากไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้จริง และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ลี้ภัย ไม่สามารถออกไปประกอบอาชีพนอกพื้นที่ได้ 

“เวลาล็อกดาวน์ ชาวบ้านจะออกมาทำมาหากินไม่ได้ แม้ว่าตามกฎหมายไทย จะไม่อนุญาตให้ผู้ลี้ภัยออกมาทำงานได้ แต่ช่วงก่อนโควิด แต่ละค่าย เขาก็มักจะใช้วิธีอะลุ่มอล่วย เพราะในความเป็นจริง มันเป็นแบบนั้นไม่ได้ที่จะไม่ให้คนออกมา และมีเรื่องความช่วยเหลือจากภายนอกที่ลดลงทุกปี อาหารในค่ายมันไม่พอ ยังไงผู้ลี้ภัยต้องออกมารับจ้างทำงานเกษตร ก็มีการอะลุ่มอล่วยกันมา”

“แต่ตอนนี้ห้ามออกทุกที่ หมายความว่าชาวบ้านไม่สามารถออกมารับจ้างได้ ผู้ลี้ภัยเขาก็บ่นไม่มีเงิน เด็กบางคนต้องออกจากโรงเรียน เนื่องจากพ่อ-แม่ไม่มีเงินให้ ในขณะที่ค่ายใช้เงินเพิ่มขึ้น แต่ออกมาทำงานไม่ได้ อันนี้ต้องพิจารณาแล้วว่าผู้ลี้ภัยจะอยู่กันยังไง และที่บอกว่าการล็อกดาวน์ป้องกันโควิดไม่ได้ เนื่องจากก็มีรายงานจากภายในค่ายตลอดว่า ต่อให้ล็อกดาวน์ก็มีการระบาดภายในค่ายอยู่ดี” พรสุข กล่าว

สำหรับศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ ถือว่าเป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในไทย ตั้งอยู่บนพื้นที่ 1,150 ไร่ ใน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก โดยค่ายแห่งนี้มีจำนวนผู้ลี้ภัยจากการสู้รบราว 43,715 คน โดยประชากรส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยงร้อยละ 80 และที่เหลือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net