Skip to main content
sharethis

เลขาธิการพรรคกล้า ยืนยันว่า ม.112 ไม่ควรแก้ การตั้ง “กรรมการกลั่นกรองคดี 112” เหมาะสมกับสถานการณ์ ด้าน 'สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล' มองเสียเวลาเปล่า ชี้มีตั้งแต่สมัยอภิสิทธิ์ เป็นนายกฯ ก็ไม่ช่วยอะไรขึ้นมา ระบุ ความจริง ปชป. ควรเห็นปัญหา กม.นี้ เหตุแก้ไขให้เข้มข้นขึ้นหลังการโค่นอำนาจ ปชป. ญี่ปุ่นก็ยกเลิกไปแล้ว

4 ม.ค.2564 จากกรณีเมื่อวันที่ 2 ม.ค.ที่ผ่านมา อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า เปิดเผยว่าขณะนี้นายกรัฐมนตรีเซ็นเห็นชอบแล้ว จากกรณีการยื่นข้อเรียกร้องไปยังกระทรวงยุติธรรม เพื่อเสนอให้ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการดำเนินคดี ม.112 โดยมีผู้แทนผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน มาคอยเสนอแนะแนวทางในการดำเนินคดี

อย่างไรก็ตามวันเดียวกัน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ลี้ภัยทางการเมือง โพสต์เฟซบุ๊ก Somsak Jeamteerasakul แสดงความคิดเห็นถึงเรื่องดังกล่าวว่า อรรถวิชช์ เอาเรื่องดังกล่าว มาโฆษณาเสียใหญ่โต ตนมองว่า เสียเวลาเปล่า "คณะกรรมการ" แบบที่ว่าที่มีตั้งแต่สมัยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ ก็ไม่ช่วยอะไรขึ้นมา

สมศักดิ์ โพสต์ต่อว่า ความจริงอรรถวิชช์และใครต่อใครในพรรคกล้า (หรือประชาธิปัตย์) ควรตระหนักว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้ ที่แก้ไขให้เข้มข้นขึ้น เกิดขึ้นหลังการโค่นอำนาจพรรคประชาธิปัตย์ มีขึ้นเพื่อปกป้องสิ่งที่ไม่ชอบธรรม สมควรยกเลิกเสีย แบบเดียวกับญี่ปุ่นที่ยกเลิกไป

"อรรถวิชช์และใครต่อใครในพรรคกล้า (และประชาธิปัตย์) สมควรฟังและคิดให้ดี ถึงสิ่งที่คุณกษิต ภิรมย์พูดไว้เมื่อ 10 ปีก่อน และทำตัวให้สมกับชื่อพรรคของตน" สมศักดิ์ โพสต์ทิ้งท้าย

'อรรถวิชช์' ยัน ม.112 ไม่ควรแก้ การตั้ง กก.กลั่นกรองคดีเหมาะสมกับสถานการณ์

ต่อมา อรรถวิชช์ โพสต์ตอบ สมศักดิ์ ด้วยว่า ยืนยันว่า ม.112 ไม่ควรแก้ การตั้ง “กรรมการกลั่นกรองคดี 112” เหมาะสมกับสถานการณ์ เป้าหมายเราอาจต่างกัน ลองฟังเหตุผลเพื่อส่วนรวมดู 1. แก้ ม.112 ตอนนี้ยิ่งจะไปกันใหญ่ กว่าครึ่งของการกล่าวโทษดำเนินคดีคือประชาชนที่รักสถาบัน ไม่ใช่รัฐ ถ้าไม่รักษากฎหมายไว้ จะตีกันยกใหญ่อีก และวงจรรัฐประหารเดิมๆ ก็มาอีก มันวนกันแบบนี้ไม่จบสักที

2. เคยมีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองม.112 มาแล้วยุคนายกอภิสิทธิ์ ที่มีการชุมนุมเสื้อแดง และถูกยกเลิกไปยุคนายกยิ่งลักษณ์ โดยช่วงที่มีกรรมการกลั่นกรองนั้น มีคดีสำคัญที่ถูกสั่งไม่ฟ้องชั้นสอบสวนพอสมควรเลย และโชคดีที่มันไม่บานปลายไปต่อให้ต้องเดือดร้อนอีกหลายคน เจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการก็ทำงานได้สะดวกขึ้นด้วย

3. ป้องกันการไขข่าวต่อ จากการพูดเพียง “ครึ่งเดียว” จากนักวิชาการที่ชำนาญ คนสอนรอด คนฟังที่ไปพูดต่อต้องติดคุก และ 4. มีความเสมอภาค เสรีภาพ แล้ว ต้องอย่าลืม “ภราดรภาพ” ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

อรรถวิชช์ ระบุด้วยว่าการเมืองสร้างสรรค์มันทำได้ และยังยกเอาพรปีใหม่ของในหลวง ร.10 ปีนี้ ตอนหนึ่งว่า “ความรักสามัคคี ความอดทน และความเข้าใจปัญหา จะพาให้เราผ่านพ้นอุปสรรคทั้งหลาย” 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net