เอ็นจีโอเกือบ 1,900 องค์กรร่วมออกแถลงการณ์ค้านร่าง พ.ร.บ.คุมเอ็นจีโอ ของรัฐบาล ยันพร้อมให้ตรวจสอบแต่กฎหมายไม่สอดคล้องสิทธิ รธน.และกติกาสากล

เครือข่ายองค์กรไม่แสวงกำไร 1867 องค์กร ออกแถลงการณ์ค้านร่างกฎหมายคุมเอ็นจีโอ ยืนยันไม่ได้ปฏิเสธการตรวจสอบแต่ร่างกฎหมายไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและกติกาสากล ไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นการใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขต ส่อเจตนาไม่บริสุทธิ์ของรัฐเผด็จการทหาร

7 ม.ค.2565 เครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชนที่มีองค์กร 1,867 องค์กร(ดูรายชื่อองค์กร ที่นี่)ร่วมกันออกแถลงการณ์คัดค้านร่างพ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. .... ของรัฐบาล หรือที่เรียกว่า พ.ร.บ.คุมเอ็นจีโอ ซึ่งขณะนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางของร่างกฎหมายดังกล่าวของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ไปเมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา และให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ไปดำเนินการรับฟังความเห็น

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่าร่างดังกล่าวไม่สอดคล้องกับเสรีภาพในการร่วมในการรวมกลุ่ม การชุมนุมสาธารณะ การแสดงออก และสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร มีการใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขต โดยเฉพาะอำนาจข้าราชการในการใช้ดุลพินิจว่ากิจการใดขัดต่อความสงบเรียบร้อย ขัดต่อความมั่นคงของรัฐได้ตามอำเภอใจ มีอำนาจสั่งห้ามไม่ให้มีการกระทำนั้นๆได้โดยไม่สามารถฟ้องร้องศาลปกครองได้ แม้ว่าสิทธิเหล่านี้จะได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

แถลงการณ์ยังระบุอีกว่าร่างกฎหมายนี้มีเจตนาและเนื้อหาต้องการควบคุมกำกับและเข้าข่ายคุกคามการรวมกลุ่มของประชาชนทุกรูปแบบโดยอ้างเหตุผลว่าต้องการจัดระเบียบทั้งที่ไทยเองก็มีกฎหมายหลายฉบับทำหน้าที่กำกับดูแลอยู่แล้ว

“ดังนั้นความพยายามของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ กำลังส่อเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์และกำลังใช้ระบบราชการอำนาจนิยมแบบเผด็จการทหาร ในการกำกับ ควบคุมภาคประชาชนให้ดำเนินกิจกรรมอยู่ภายใต้การรวมศูนย์อำนาจของตนเองเท่านั้น อันเป็นภัยคุกคามการรวมกลุ่มของประชาชน มากกว่ามองเห็นเป็นหุ้นส่วน ซึ่งเป็นปฏิปักษ์และบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอย่างสิ้นเชิง และขัดต่อหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ” แถลงการณ์ระบุ

นอกจากนั้นในท้ายแถลงการณ์ยังมีการย้ำอีกว่าเครือข่ายไม่ได้ต้องการปฏิเสธการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส และเรียกร้องให้กลุ่มองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนต่างๆ ออกมาปกป้องสิทธิเสรีภาพของตนเองในการรวมกลุ่มทำกิจกรรมเพื่อสาธารณะประโยชน์ร่วมกัน

ทั้งนี้ประเด็นในร่างกฎหมายที่ผ่านที่ประชุม ครม.ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากด้านองค์กรภาคประชาสังคมคือความไม่ชัดเจนในส่วนของข้อห้ามที่กำหนดว่าองค์กรนั้นๆ จะต้องไม่ดำเนินงานตามลักษณะดังนี้
(1) กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ รวมถึงความมั่นคงของรัฐด้านเศรษฐกิจหรือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

(2) กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม

(3) กระทบต่อประโยชน์สาธารณะรวมทั้งความปลอดภัยสาธารณะ

(4) เป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมาย

(5) เป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น หรือกระทบต่อความเป็นอยู่โดยปกติสุขของบุคคลอื่น

โดยในร่างมีการกำหนดโทษปรับทางอาญาเอาไว้ในกรณีที่เจ้าพนักงานสั่งให้แก้ไขการดำเนินงานหรือให้หยุดปฏิบัติงานแล้วองค์กรดังกล่าวไม่ปฎิบัติตาม

หลังที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางร่างกฎหมายฉบับนี้ เมื่อ 6 ม.ค.2565 ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ นักวิชาการองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร แสดงความไม่เห็นด้วยเนื่องจากเห็นว่าเดิมมีกฎหมายที่รองรับอยู่แล้วและองค์กรที่จดทะเบียนจะมีการส่งรายงานให้หน่วยงานรัฐต่างๆ ตรวจสอบได้อยู่แล้ว แต่ร่างกฎหมายนี้กลับมีนิยามของลักษณะองค์กรไม่แสวงกำไร อีกทั้งหากกฎหมายนี้ออกมาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายหรือโครงการของรัฐเมื่อต้องการออกมาเรียกร้องก็อาจจะถูกมองว่าเป้นภัยต่อความมั่นคง เช่นการเรียกร้องของชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท