มูลนิธิพฤษภาประชาธรรมเตรียมจัดงาน '30 ปี พฤษภา 35' ชำระประวัติศาสตร์ เชื่อมโยงอภิวัฒน์สยาม

มูลนิธิพฤษภาประชาธรรมและคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 เตรียมจัดงาน "30 ปี พฤษภา 2535" ยิ่งใหญ่เทียบเท่างานรำลึกที่กวางจู ภาคประชาชนเรียกร้องชำระประวัติศาสตร์-เปิดผลสอบข้อเท็จจริง-จัดงานรัฐพิธี-เวทีเรียนรู้ประชาธิปไตยเชื่อมโยง "90 ปี 24 มิถุนา 2475" ด้านประธานญาติวีรชนเรียกร้องรัฐบาลเปิดเผยความจริงผู้สูญหายใต้ฐาน พล.ร.9 กาญจนบุรี พร้อมอโหสิกรรมเพื่อบ้านเมืองเกิดการปรองดอง

27 ม.ค. 2565 วานนี้ (26 ม.ค. 2565) เวลา 10.00 น. ที่อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม สวนสันติพร ถ.ราชดำเนิน กรรมการมูลนิธิพฤษภาประชาธรรมและคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 นำโดยอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงานรำลึกครบรอบ 30 ปีพฤษภาประชาธรรม

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล กรรมการมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตเลขาธิการ สนนท. ปี 2535 กล่าวว่า เนื่องในเหตุการณ์ครบรอบ 30 ปี มูลนิธิเพื่อประชาธรรม เครือข่ายต่างๆ และเครือญาติวีรชนประชาธรรม จะได้จัดงานที่สำคัญยิ่งกว่าทุกปี งานพฤษภาประชาธรรมในปีนี้จะไม่จบแค่ 17 พ.ค. แต่เราตั้งใจจะไปจบที่เดือน มิ.ย. ปีนี้เราจะจัดงานครบรอบ 30 ปีประชาธรรม ไปจนถึงครบรอบประชาธิปไตย 90 ปี วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญครั้งแรกของประเทศไทย วันที่ 27 มิ.ย. 2475 และหวังว่าการจัดงานพฤษภา 35 ครบรอบ 30 ปี จะช่วยเป็นบทเรียนให้สังคมไทยสามารถอยู่ร่วมกันได้ ท่ามกลางความเห็นต่าง สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้โดยไม่ต้องมีการนองเลือดอีก และต้องมีการเรียกร้องให้เปิดเผยรายงานเมื่อ 30 ปีที่แล้วในส่วนที่ปิดบังไว้ เปิดเผยความจริง เพื่อให้เป็นบทเรียนแก่ทุกฝ่าย

 

ปรีดา เตียสุวรรณ์ กรรมการมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม กล่าวว่า ประเทศนี้จะก้าวหน้าอย่างมีศักดิ์ศรีต้องมีประชาธิปไตยที่ดีขึ้น ในวาระ 30 ปี พฤษภา 35 และ 90 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น เราต้องสร้างประชาธิปไตยที่ดีให้เกิดขึ้นแก่สังคมไทยให้ได้ โดยประเด็นสำคัญที่ต้องสรุปบทเรียนและเรียนรู้ร่วมกันหลายมิติคือ กรณีผู้สูญหายหลายร้อยคนในเหตุการณ์ที่เสียเลือดเนื้อไปจะต้องมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริง นอกจากนี้เหตุการณ์พฤษภา 35 เป็นการเรียกร้องประชาธิปไตยที่ร่วมสมัยที่สุด มีผู้รักประชาธิปไตยหลากหลายมาเรียกร้องร่วมกันหลังการรัฐประหารและปัจจุบันกว่าครึ่งก็ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น คนหลายกลุ่มควรมาร่วมกันจัดงานนี้ให้ยิ่งใหญ่ และเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตยและเรียนรู้ประวัติศาสตร์เป็นบทเรียนไม่ให้เกิดรัฐประหารขึ้นอีก ก่อนจะเกิดมิคสัญญีใหญ่ในอนาคต ไม่เช่นนั้นพลังประชาชนจะอ่อนแอลง และอีกมิติคือประชาชนที่ถูกกระทำได้อโหสิกรรมการกระทำในอดีตและเปลี่ยนวลีพฤษภาทมิฬเป็นพฤษภาประชาธรรม ซึ่งเป็นมุทิตาจิตในการแก้ไขความขัดแย้งเพื่อนำไปสู่การปรองดองทางสังคมในครั้งก่อน ซึ่งจะต้องสรุปบทเรียน ชำระประวัติศาสตร์และความจริง เรียนรู้ความกตัญญูของผู้เสียสละและการให้อภัยในอดีต เป็นเกียรติยศประชาชน เพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปสู่หนทางประชาธิปไตยที่มีความหมายต่อไป

ขณะที่ ภูมิ มูลศิลป์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนรินทรวิโรฒ (มศว.) ประสานมิตร และกรรมการสมานฉันท์รัฐสภา กล่าวถึงกิจกรรมเสวนาวิชาการที่ทางคณะสังคมศาสตร์ มศว. ประสานมิตร จะเป็นผู้ร่วมจัดงานเพื่อประสานมิตร มิตรประสาน โดยธีมการเสวนาจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับการเรียนรู้ เข้าใจ ให้อภัย และจดจำ โดยจะเป็นการรวบรวม 'ข้อเท็จจริง' ทั้งหลายให้ได้มากที่สุด จะได้ทราบว่าในช่วงเวลาดังกล่าว เกิดสิ่งใดบ้าง ประเด็นต่อมา คือ 'การเข้าใจ' การที่เรารู้ว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างไรนั้นจะทำให้เกิดความเข้าใจระหว่างกัน ถึงแม้จะต่างกันในเรื่องความคิด ความเชื่อ ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ ส่วนประเด็น 'การให้อภัย' สิ่งนี้ความชอบธรรมอยู่ที่ตัวญาติวีรชน สังคมโดยทั่วไปต้องหัดเรียนรู้ว่าผู้ที่ถูกกระทำ ในการที่จะให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้นั้น เขาพร้อมจะเสียสละ พร้อมจะให้อภัย โดยมีเงื่อนไขบางประการที่รอติดตามกันต่อไป และประเด็นสุดท้ายจะต้อง 'จดจำ' เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ควรจะเลือนหายไปตามหน้าประวัติศาสตร์ ควรจะต้องเกิดการจดจำในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการจดจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือจดจำบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมดนี้จะเป็นกิจกรรมที่ส่งต่อจากเดือนพฤษภาคมไปถึงเดือนมิถุนายน เนื่องในวาระครบรอบ 90 ปีประชาธิปไตย

อดุลย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 เปิดเผยว่าในปีนี้ขอเรียกร้องให้มีการเปิดเผยผลสอบสวนข้อเท็จจริงทั้งหมดในเหตุการณ์พฤษภา 35 โดยไม่ต้องขีดฆ่าสีดำเหมือนเก่า เพราะต้องมีการชำระประวัติศาสตร์เพื่อให้เหตุการณ์พฤษภา 35 เป็นบทเรียนแก่สังคมและคนรุ่นหลัง พร้อมการให้อภัยและการปรองดองแก่สังคม แต่ต้องเปิดเผยความจริงว่า กรณีคนหายในเหตุการณ์พฤษภา 35 จริงๆ แล้วอยู่ที่ไหนกันแต่ ซึ่งตนทราบมาว่า หลังจากเคยได้พบกับพล.อ.สุจินดา คราประยูร เพื่อรับคำขอโทษแก่ญาติวีรชน มีนายทหารโทรมาให้ข้อมูลว่า ศพวีรชนผู้สูญหายส่วนหนึ่งถูกนำไปทำลายฝังกลบที่กองพลทหารราบที่ 9 จ.กาญจนบุรี ซึ่งปัจจุบันคือใต้ฐานพลับพลาที่สร้างขึ้นเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งรัฐบาลและกองทัพสมควรที่จะต้องเปิดเผยความจริงต่อไปแก่สาธารณะ

พิภพ ธงไชย ที่ปรึกษาญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่า ตนอยากให้งาน 30 ปีนี้จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เหมือนกับงานรำลึกเหตุการณ์ 18 พฤษภาคมที่เมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ ที่เป็นเหตุการณ์ฝาแฝดของเหตุการณ์พฤษภา 2535 บ้านเรา ซึ่งมีอนุสรณ์สถานที่ยิ่งใหญ่และกว้างขวางหลายไร่เพื่อให้ประชาชนมาเรียนรู้พื้นที่ประวัติศาสตร์และผู้นำประเทศต้องมาคารวะร่วมงานรำลึกทุกปี โดยคนทั้งเมืองเข้าร่วมงานรำลึกดังกล่าว แต่อนุสรณ์สถานของไทยกว่าจะได้มาก็เลือดตาแทบกระเด็น แทบจะไม่ได้งบประมาณจากรัฐบาลสักบาท นอกจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่อนุญาตให้สร้างอนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม โดยงานรำลึก 30 ปีนี้ อยากให้รัฐสภาเป็นเจ้าภาพจัดเป็นรัฐพิธีและเชิญประธานญาติวีรชนกล่าวปาฐกถาที่รัฐสภา เหมือนเช่นงานครบรอบ 100 ปี ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งจะเป็นเกียรติประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย และตนขอเรียกร้องให้กองทัพและรัฐบาลสืบสวนเปิดเผยข้อเท็จจริงเรื่องคนหาย เหมือนดั่งที่ประธานญาติวีรชนให้เบาะแสเพิ่มเติม และจุดนี้จะเป็นเรื่องสำคัญในวาระ 30 ปีพฤษภา

ต่อมา บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ประธาน ครป. กล่าวว่า จะมีกิจกรรมเวทีสัมมนาสากลระหว่างประเทศ ในวันที่ 18-19 พ.ค. 2565 โดยจะประสานกับเครือข่ายองค์กรประชาธิปไตยในประเทศอื่นๆ เพื่อมาระดมความคิดเห็นและทิศทางการพัฒนาประชาธิปไตย 5 เรื่อง คือ 1.เรื่องสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคของสังคม 2.เรื่องการเข้าถึงความยุติธรรมและยึดมั่นในหลักนิติธรรม 3.เรื่องหลักการสิทธิมนุษยชน การให้การเยียวยาผู้ประสบภัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคนหาย การถูกซ้อมทรมานหรือเสียชีวิต 4.เรื่องของการสร้างความเข้มแข็งให้กับธรรมาภิบาลประชาธิปไตย และ 5.เรื่องของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยจะเชิญแมรี โรบินสัน อดีตข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ อดีตประธานาธิบดี ทูตานุทูตประเทศต่างๆ และผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วม

จากนั้น เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวสรุปรูปแบบกิจกรรมว่า 1.จะมีเวทีอภิปรายสาธารณะที่ มศว. ประสานมิตร และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในเดือน ก.พ.-มิ.ย. 2565 โดยกำหนดประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการรวบรวมข้อขัดแย้งทางการเมืองเพื่อลดความขัดแย้ง ยุติความรุนแรง นำไปสู่การปรองดองสมานฉันท์ประชาชนเพื่อสันติประชาธรรม ในวาระ 30 ปี พฤษภาประชาธรรม และ 90 ปี 24 มิถุนายนกับประชาธิปไตยไทย 2.ในปีนี้จะจัดงานรำลึกสืบสานวีรชน "30 ปีประชาธรรม" อย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติ ในวันที่ 17 พ.ค. 2565 ณ อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม สวนสันติพร ถ.ราชดำเนิน โดยภาคเช้าจะมีพิธีกรรมทางศาสนา และจะมีการเชิญทุกภาคส่วน ทุกพรรรคการเมือง รวมถึงเชิญประธานรัฐสภามาเป็นประธานในรัฐพิธี เพื่อจะจัดให้เป็นวาระของสังคมไทย จะมีการชำระประวัติศาสตร์ มีการเสวนาอภิปรายในช่วงบ่าย โดยในปีนี้จะมีการเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริง รวมถึงคนหายในเหตุการณ์ และสร้างอุทาหรณ์บทเรียนทางประวัติศาสตร์ โดยประสานงานนิสิต นักศึกษา มหาวิทยาลัยต่างๆ ร่วมจัดกิจกรรมในวันดังกล่าว 3.เวทีสัมมนานานาชาติ เพื่อประชาธิปไตยและสันติภาพ ระหว่าง 18-19 พ.ค. 2565 โดยเชิญผู้แทนสหประชาชาติ และองค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วม ซึ่งบางท่านอาจใช้ระบบออนไลน์เข้ามาในที่ประชุมสัมมนา และ 4. กิจกรรมศิลปวัฒนธรรมตลอดเดือน พ.ค. 2565 ณ อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม สวนสันติพร และศิลปกรรมริมถนนราชดำเนิน โดยความร่วมมือของเครือข่ายศิลปินเพื่อประชาธิปไตย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท