Skip to main content
sharethis

มูลนิธิเสมสิกขาลัย ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานในประเด็นเกี่ยวกับประเทศเมียนมา จัดนิทรรศการแสดงศิลปะ “365 Days after…” ที่ BACC ระหว่างวันที่ 1-27 ก.พ. 65 เพื่อสะท้อนเรื่องราวการต่อสู้กับเผด็จการของชาวพม่าตลอด 1 ปีที่ผ่านมา และหวังให้ 'ศิลปะ' เป็นสื่อกลาง เพื่อแสดงความเคารพ และส่งกำลังใจแด่นักสู้เพื่อประชาธิปไตยพม่าทุกคน

เมื่อ 1 ก.พ. 65 ผู้สื่อข่าวมีโอกาสเข้าร่วมชมงานนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะหัวข้อ “365 Days after…” ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร หรือ BACC จัดโดย มูลนิธิเสมสิกขาลัย และเป็นงานที่จัดขึ้นในวาระครบรอบ 1 ปีการทำรัฐประหารพม่า

งานแสดงแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ บริเวณห้อง 104 ชั้น 1 และส่วนพื้นที่ผนังโค้ง ชั้น 3 โดยผลงานศิลปะที่ถูกนำมาจัดแสดงมีหลากหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็น ภาพสีน้ำมัน ภาพวาดดินสอ ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย และอื่นๆ จากฝีมือของศิลปินทั้งชาวไทยและพม่า โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสะท้อนการต่อสู้กับเผด็จการทหารของชาวพม่าตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา 

เมื่อย้อนไปเมื่อ 1 ก.พ. 64 กองทัพพม่านำโดยพลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองทัพพม่า ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นำโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD โดยกล่าวหาว่า พรรค NLD ทุจริตการเลือกตั้งเมื่อ พ.ย. 63

เหตุการณ์ดังกล่าวนำพาพม่าไปสู่วิกฤตการเมืองครั้งสำคัญ มีประชาชนลุกขึ้นมาประท้วงหลายพื้นที่ เพื่อต่อต้านการกระทำของกองทัพ แต่พวกเขากลับถูกทางการใช้ความรุนแรง เพื่อกดปราบ และสร้างความกลัวไม่ให้พวกเขากล้าลุกขึ้นมาต่อต้าน 

รายงานจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองเมียนมา หรือ AAPP องค์กรภาคประชาชนที่ทำการมอนิเตอร์ เก็บรวบรวมข่าวสารผู้เสียชีวิตและถูกจับกุมด้วยข้อหาทางการเมือง เผยว่า นับตั้งแต่มีการทำรัฐประหาร 1 ก.พ. 64-7 ก.พ. 65 มีผู้ต่อต้านรัฐประหารเสียชีวิตอย่างต่ำ 1,526 ราย และมีผู้ถูกจับกุมด้วยข้อหาทางการเมืองอีก 12,009 คน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะถูกปราบปรามอย่างหนัก ชาวพม่าทุกวันนี้ยังคงทำแฟลชม็อบและการประท้วงด้วยความเงียบ เพื่อต่อต้านการทำรัฐประหารอยู่เป็นระยะ

เพื่อให้เข้าใจแนวคิดของงานมากขึ้น ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ วิชัย จันทวาโร ภัณฑารักษ์และเป็นผู้คัดเลือกนำงานศิลปะมาแสดงในนิทรรศการนี้ โดยเขาเล่าให้ฟังถึงเหตุผลของการจัดงานนี้ขึ้นมา เพราะเขาอยากให้มันเป็นเหมือนสมุดบันทึกเหตุการณ์และความรู้สึกของการต่อสู้เผด็จการของชาวพม่าตลอดห้วง 1 ปีที่ผ่านมา และอยากให้งานนี้เป็นสื่อกลาง เพื่อแสดงความเคารพนับถือการต่อสู้ของพวกเขา เพราะในมุมมองของวิชัย สิ่งที่ชาวพม่าทำ ล้วนเป็นสิ่งที่น่าจดจำ โดยเฉพาะการเสียสละชีวิตของตัวเองเพื่อสู้กับระบอบอันโหดร้ายนี้

สำหรับเหตุผลเบื้องหลังชื่องาน ‘365 Days after…’ วิชัย เผยว่าตัวเองจงใจใช้คำว่า ‘after…’ เพราะอยากสื่อสารว่าการทำรัฐประหารยึดอำนาจจากประชาชนเป็นเหตุการณ์ที่เลวร้ายจนไม่อยากจะนึกถึง และไม่ควรเกิดขึ้นมา

แม้ว่าการสื่อสารประเด็นทางสังคมนั้นมีมากมายหลายวิธี แต่ภัณฑารักษ์จากมูลนิธิเสมสิกขาลัย ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานในประเทศพม่ามานาน เลือกใช้ ‘ศิลปะ’ เป็นสื่อกลาง เนื่องจากเขามองว่า ศิลปะไม่ใช่แค่สามารถบันทึกเหตุการณ์ แต่สื่อสารด้านความรู้สึกได้ด้วย  

“เราเชื่อว่าศิลปะมันเปิดกว้างให้พูดไม่ใช่แค่เหตุการณ์ แต่พูดแสดงความรู้สึก มันเป็น Soft Power ที่ทรงพลัง … มันเปิดพื้นที่ให้เราสร้างสรรค์”

“ศิลปินพม่าแน่นอนว่า มันกระทบกับเขาภายใน และนอกจากการบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว งานบางชิ้นมันเล่าถึงความรู้สึกข้างใน และมันได้ปลดปล่อยความรู้สึกนั้นออกมา… ซึ่งงานศิลปะมันอนุญาตให้ทำแบบนั้นได้” วิชัย ระบุ

กำลังใจจากไทยถึงพม่า

‘หวาน’ ชุมพล คำวรรณะ ศิลปินไทย ซึ่งมีชื่อเสียงจากการสร้างสรรค์ศิลปะเสียดสีการเมืองไทยอย่างชุดภาพวาดสีน้ำมัน ‘Ok Thailand’ และในนิทรรศการครั้งนี้ก็มีผลงานของชุมพล ถูกนำมาจัดแสดง ซึ่งแต่ละภาพสะท้อนให้เห็นการกดปรามผู้ชุมนุมของพม่าในอากัปกิริยาต่างๆ แต่ขณะเดียวกัน ผู้ชุมนุมเหล่านั้นก็จะมีการหยิบจับหรือมีบางส่วนของร่างกายเชื่อมร้อยถึงดอกไม้  

ชุมพล คำวรรณะ ศิลปินไทย

ชุมพล เผยกับผู้สื่อข่าวว่า ภาพที่เขารังสรรขึ้นมาชุดนี้เนื่องจากหลังการเกิดรัฐประหารในช่วงแรก ด้วยความที่เขามีเพื่อนเป็นคนพม่าจำนวนมาก แต่กองทัพพม่าใช้วิธีการปิดกั้นสัญญาณอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ ทำให้เขาไม่สามารถติดต่อหรือทราบข่าวคราวของมิตรสหายจากเพื่อนบ้านได้ เขาจึงพยายามค้นหาข้อมูลของเพื่อนจากเพจเฟซบุ๊กหลายเพจ และได้พบเห็นภาพการกดปราบผู้ชุมนุมของทางการพม่า หลายคนมีชะตากรรมต้องถูกจับ และต้องลี้ภัย ทำให้ชุมพล อยากทำงานศิลปะเพื่อเป็นกำลังใจสำหรับชาวพม่า 

“ดอกไม้ที่อยู่ในภาพ เหมือนเป็นกำลังใจที่เราจะส่งต่อให้เขา (ชาวพม่า) ว่ามันมีดอกหนึ่งที่อาจจะโดนกระทำ โดนตัด หรือเหี่ยวเฉาไป โดนทำลายไป แต่มันก็จะมีดอกไม้ดอกใหม่โผล่ขึ้นมา ดอกไม้ดอกใหม่ที่เบ่งบานขึ้นมา จะไม่มีวันเหี่ยวเฉาไป เพราะฉะนั้น เราอยากจะส่งกำลังใจให้เขา”

“มันจะมีสองรูป ที่มันเหมือนเป็นเส้นเลือด เรารู้สึกว่าเส้นเลือดอันนั้นมันคือชีวิต เมื่อชีวิตมันเติบโตถึงจุดๆ หนึ่ง มันก็เบ่งบาน ไอ้ความรู้สึกอย่างนั้น เราอยากให้มันเบ่งบานไปเรื่อยๆ เหมือนเป็นการส่งทอดกำลังใจ ในวันที่ดอกไม้เบ่งบาน มันคือความสวยงาม มันคือการเรียกร้องถึงเสรีภาพ และอิสรภาพ และเราก็รู้สึกว่าคนที่นั่น (ประเทศพม่า) เขามีความผูกพันกับดอกไม้ นกยูง … เราก็เลยคิดว่ามันเป็นภาษาสากลที่ส่งต่อถึงกันได้ มันคือกำลังใจที่จะส่งให้เขา” ชุมพล กล่าวถึงแนวคิดในงานศิลปะ

สำหรับความรู้สึกต่องานนิทรรศการครั้งนี้ของ ‘หวาน’ ชุมพล เขามองว่าเขาดีใจที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม และภูมิใจว่างานศิลปะของเขาสามารถส่งผ่านกำลังใจให้กับคนอื่นๆ ได้

“ผมรู้สึกดีใจจริงๆ ที่หน้าที่การงานของเราสามารถนำไปช่วยสร้างกำลังใจให้กับคนอื่นได้ เพราะเรามองว่า สิ่งที่จะทำให้มีพลังในการลุกขึ้นสู้ ลุกขึ้นเดินอีกครั้งมันคือกำลังใจ …และเรารู้สึกว่า เราภูมิใจและประสบความสำเร็จเล็กๆ ในใจเรา จริงๆ แล้วมันอาจจะไม่ใช่แค่เขาที่ได้กำลังใจ เราเองก็ได้กำลังใจจากพวกเขาเหมือนกัน เพราะฉะนั้น คิดว่ามันคือการส่งถ่ายส่งต่อซึ่งกันและกันมากกว่า” ชุมพล ทิ้งท้ายถึงความรู้สึกถึงนิทรรศการดังกล่าว 

ไม่ได้ต่อสู้แค่คนเดียว 

ทีซออู ชาวพม่าจากเมืองทวาย ปัจจุบันอายุ 35 ปี เขาเข้ามาทำงานในไทยนับสิบปีแล้ว และนอกจากนี้เขายังมีโอกาสร่วมประพันธ์บทกวี และกล่าวในพิธีเปิดนิทรรศการ

ทีซออู เล่าให้ฟังว่า หลังจากกองทัพพม่ายึดอำนาจเมื่อ 1 ก.พ. 64 ก็มีประชาชนออกมาประท้วง และถูกกองทัพพม่าใช้กำลังปราบปรามจนมีผู้เสียชีวิตมากมาย แต่ประชาชนไม่มีใครกลัว และยอมตายดีกว่า ไม่อยากอยู่ในอำนาจของกองทัพ ทุกคนเคยอยู่มา 20-50 ปีแล้ว ไม่อยากกลับไปเป็นแบบนั้น ดั่งคำพูดที่ว่า “ตายดีกว่าอยู่” แต่เนื่องด้วยตัวของทีซออู ไม่สามารถกลับไปร่วมประท้วงที่พม่าได้ จึงได้เริ่มแต่งบทกวีขึ้นมา

“ตอนที่อ่านบทกวี (ในงานเปิดนิทรรศการ) ผมพาเพื่อนไปด้วย เขาน้ำตาไหลลงไปเลย เขาเห็นว่า สิ่งที่ผมเขียนเป็นสถานการณ์ในประเทศทั้งหมด เขาก็เลยเห็นภาพในโซเชียลขึ้นมา ตอนที่โดนยิง โดนตี พวกเขาก็เลยน้ำตาไหล ร้องไห้หลายคน” ทีซออู ระบุ

ทีซออู ชาวทวาย ขณะอ่านบทกวีในพิธีเปิดนิทรรศการ

นักกวีชาวทวาย กล่าวต่อว่า ที่เขาไม่เห็นด้วยกับเผด็จการ เพราะเผด็จการมีข้อเสียเยอะมาก แต่อยากยกตัวอย่างแค่เรื่องเดียว คือ เมื่อก่อนการศึกษาพม่าอยู่อันดับต้นๆ แต่พอเผด็จการปกครอง ก็ไปอยู่รั้งท้ายเลย การศึกษาไม่ดี ประเทศไม่เจริญ ประชาชนก็ยากจนลำบาก มีแต่คนส่วนน้อยที่สบาย แต่คนส่วนมากลำบากกันหมด 

แต่พอเทียบกับรัฐบาลประชาธิปไตยจริงๆ ก็มีข้อเสียเยอะ แต่ข้อดีมีมากกว่า เช่น เส้นทางถนน เมื่อก่อนเดินทางยากลำบาก แต่ตอนนี้ดีขึ้นเยอะ เขาเลยไม่อยากอยู่เหมือนสมัยก่อน และรู้สึกด้วยว่า ถ้าไม่ต่อสู้ อาจจะต้องอยู่กับเผด็จการอีกร้อยปีรึเปล่า อะไรที่ทำได้ ก็จะทำ 

“พวกผมฝันว่าอยากได้เดโมเครซี (ประชาธิปไตย) อย่างที่แท้จริง ผมอยู่ในเขตตะนาวศรี อยากได้อำนาจในการบริหารดูแลตัวเอง ไม่อยากให้อำนาจแก่คนใดคนหนึ่ง” ทีซออู ทิ้งท้าย 

ด้าน ‘ผโย’ นักศึกษาพม่าจากเมืองทวาย อายุ 22 ปี เผยความรู้สึกหลังชมงานนิทรรศการว่า มันมีหลากหลายความรู้สึกมาก ห้วงหนึ่งช่วงนี้เวลานี้เมื่อปีที่แล้ว (ปี 2564) เรากำลังเครียด กำลังเศร้า กำลังไม่รู้ว่าจะทำยังไงต่อ กับอีกความรู้สึกหนึ่งคือ มันผ่านมา 1 ปีแล้ว ไม่ใช่แค่เราที่ต่อสู้ อย่างน้อยพี่น้องฝั่งนี้ช่วยเราอยู่ ต่อสู้กับเราอยู่เหมือนกัน เราไม่ได้สู้อยู่แค่คนเดียว มันมีหลายคนที่สู้อยู่กับเรา ช่วยอยู่กับเรา

“ไม่ใช่แค่งานนี้ หลายๆ พื้นที่ก็คงจะแสดงออกว่าเรากำลังต่อสู้ทางการเมือง เราไม่ได้ยอมแพ้ ทำให้เราทราบว่าเราไม่ได้อยู่แค่คนเดียว มีคนหลายพื้นที่สู้กับเรา ช่วยเหลือเรา” ผโย กล่าว 

“อ่อนโยน แต่เข้มแข็ง”

ก่อนเสร็จสิ้นการรับชมงาน ผู้สื่อข่าวสอบถามวิชัย ในฐานะผู้จัดนิทรรศการว่า มีรูปไหนที่รู้สึกสะท้อนใจเป็นพิเศษไหม 

วิชัย เลือกภาพ ‘หญิงชาวพม่า ชูสัญลักษณ์ 3 นิ้วด้วยมือซ้าย ขณะที่กำลังถูกปลายปากกระบอกปืนจ่อหัวอยู่’ 

“ผมชอบภาพนี้มันมีทั้งความอ่อนโยน และความแข็งแกร่งในตัวเอง … มันเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ของชาวพม่า ที่ถึงแม้ว่าจะด้อยกว่าทุกด้าน แต่เขาก็ยังสู้” วิชัย ทิ้งท้าย ซึ่งภายหลังวิชัย ได้เลือกภาพดังกล่าวมาทำเป็นโปสเตอร์เพื่อประชาสัมพันธ์นิทรรศการ

วิชัย จันทวาโร ภัณฑารักษ์ และสมาชิกมูลนิธิเสมสิกขาลัย

หมายเหตุ - นิทรรศการ "365 Days after..." จัดโดยมูลนิธิเสมสิกขาลัย ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร หรือ BACC ที่ชั้น 1 ห้อง 104 และชั้น 3 บริเวณผนังโค้ง ระหว่างวันที่ 1- 27 ก.พ. 65  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net