6 องค์กร NGO แถลงรัฐใช้สรรพากรคุกคาม ยันส่งรายงานให้อยู่แล้วทุกปี

6 องค์กรภาคประชาสังคมร่วมกันแถลงข่าวกรณีถูกสรรพากรเข้าตรวจสอบ ยืนยันส่งรายงานให้อยู่แล้วทุกปีตามกฎหมายแต่สรรพากรไม่ได้มีอำนาจขอข้อมูลโครงการแล้วยังจำเพาะเจาะจงจะขอแค่ข้อมูลทุนจาก NED รัฐได้ใช้สรรพากรเป็นสายสืบมาคุกคาม สะท้อนการคุกคามที่จะเกิดขึ้นถ้าร่างพ.ร.บ.กิจกรรมองค์กรไม่แสวงกำไรฯ ผ่าน

11 ก.พ.2565 ที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม 6 องค์กรภาคประชาสังคมร่วมกันแถลงข่าวกรณีเจ้าหน้าที่สรรพากรเข้าขอข้อมูลที่มาแหล่งทุนและการใช้จ่ายเงิน ทั้ง 6 องค์กรยืนยันส่งรายงานการเงินการดำเนินงานขององค์กรให้เป็นประจำทุกปีตามกฎหมายอยู่แล้วและจดทะเบียนมูลนิธิอย่างถูกต้องกับกรมการปกครอง อย่างไรก็ตามการเข้ามาตรวจสอบเหล่านี้พฤติการณ์ชี้ชัดว่าเป็นการเลือกปฏิบัติและเป็นการคุกคาม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแถลงข่าวแต่ละองค์กรกล่าวถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเข้ามาตรวจสอบการดำเนินงานองค์กรต่างๆ โดยที่บางองค์กรได้จดหมายแจ้งล่วงหน้าอ้างอำนาจตามประมวลรัษฎากรมาตรา 88/3ว่าจะขอเข้าพบเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับภาษีหรือบางกรณีเจ้าหน้าที่เข้าไปถึงสำนักงานโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าก่อนเลยเช่นกรณีของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนก็ตาม โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับทั้ง 6 องค์กรเกิดขึ้นในช่วงไล่เลี่ยกันตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรมีการเรียกขอข้อมูลในลักษณะใกล้เคียงกันคือโครงสร้างองค์กร ที่มารายได้ ข้อมูลการดำเนินงาน รายงานการเงินขององค์กร รายงานการประชุมสามัญประจำปี แต่นอกจากข้อมูลข้างต้นที่แต่ละองค์กรต้องส่งสำนักงานเขตเป็นประจำปีแล้ว เจ้าหน้าที่สรรพากรยังถามถึงข้อมูลอย่างเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับการได้มาและการใช้เงินที่มาจากแหล่งทุนอย่าง National Endowment for Democracy หรือ NED รวมถึงเอกสารสัญญาระหว่างองค์กรที่รับทุนกับ NED หรือเนื้อหาของโครงการต่างๆ โดยที่เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่ข้อมูลที่กฎหมายกำหนดให้ต้องยื่นกับกรมสรรพากร

สำหรับกรณีของศูนย์ทนายความฯ เมื่อมีการสอบถามเกี่ยวกับการขอเข้าตรวจสอบทางเจ้าหน้าที่สรรพากรอธิบายว่ามาตรวจสอบเพราะได้รับเรื่องร้องเรียนจาก “หน่วยงานราชการ” แห่งหนึ่งที่ไม่เปิดเผย

ทุกองค์กรต่างชี้แจงว่าที่ผ่านมาได้ดำเนินการจดทะเบียนตั้งมูลนิธิอย่างถูกต้องตามกฎหมายและที่ผ่านมาก็ได้ดำเนินการส่งรายงานการเงินและการดำเนินงานขององค์กรให้กรมสรรพากรทุกปีอยู่แล้วตามกฎหมาย และเมื่อทางเจ้าหน้าที่สรรพากรมาขอตรวจสอบก็ให้ความร่วมมือยื่นเอกสารตามที่ขอและตอบคำถามของเจ้าหน้าที่ไปแล้ว แต่เมื่อขอสำเนาบันทึกพูดคุยทางเจ้าหน้าที่กลับไม่ยินยอมให้สำเนามา

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการของ iLaw กล่าวว่าทางที่เจ้าหน้าที่อ้างประมวลรัษฎากรมาตรา 88/3 เข้ามาทำการตรวจสอบทั้งที่มาตราดังกล่าวเป็นเรื่องการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งเป็นการเสียภาษีจากรายได้ที่ได้มาจากการทำการค้าหรือให้บริการ แต่องค์กรที่ตั้งขึ้นมาเป็นมูลนิธิก็ไม่ได้มีกำไรหรือมีรายรับจากการค้าขาย เขามองว่าเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่อ้างอย่างผิดฝาผิดตัว

สุภาวดี เพชรรัตน์

สุภาวดี เพชรรัตน์ จากมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) กล่าวว่ามูลนิธิตั้ง 40 ปี จดทะเบียนถูกต้องแต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีการเข้ามาตรวจสอบแบบนี้มาก่อนและมองว่าการเข้ามาตรวจสอบครั้งนี้เกิดขึ้นไล่เลี่ยกับช่วงที่รัฐบาลกำลังพยายามผลักดันร่างพ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. .… พอดี และที่ผ่านมาองค์กรก็รับเงินทุนจากองค์กรต่างประเทศมาตลอดจนกระทั่งช่วง 4-5 ปี ที่ผ่านมาก็ได้ทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ด้วย แต่เจ้าหน้าที่กลับให้ความสนใจถามรายละเอียดยิบย่อยแต่เงินทุนที่ได้จาก NED เป็นหลักทั้งที่องค์กรก็รับเงินทุนจาก NED มาแล้วตั้ง 16 ปี และขอแต่เอกสารที่เกี่ยวข้องกับ NED ที่เดียวซึ่งเป็นเรื่องไม่ชอบมาพากล

สุภาวดีมองว่าเรื่องนี้เป็นการแทรกแซงและละเมิดสิทธิในการรวมกลุ่มสมาคมและเป็นการคุกคามสร้างความหวาดกลัวให้กับองค์กรต่างๆ ที่เพิ่งตั้งมาใหม่

จีรนุช เปรมชัยพร ในฐานะตัวแทนคณะกรรมการมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชนที่มีประชาไทและ Thisable อยู่ภายใต้มูลนิธิ เธอกล่าวว่าตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่าการเข้ามาตรวจสอบของกรมสรรพากรนี้จะเป็นความพยายามกลั่นแกล้งกันทางการเมืองแต่ภาพก็ชัดขึ้นจากที่ทราบตอนนี้มีเพียง 6 องค์กรที่ถูกตรวจสอบในลักษณะนี้โดยยังมีองค์กรพัฒนาเอกชนอื่นๆ ที่มีเป็นหลักหมื่นไม่ได้ถูกไล่บี้เอาแบบนี้จากกรมสรรพากร

“เราคิดว่าการรกระทำแบบนี้เป็นการคุกคามโดยเปิดเผย แล้วก็เป็นการคุกคามโดยใช้เครื่องมือที่ควรจะอยู่ให้ห่างจากการเมืองมากที่สุด” จีรนุชกล่าวถึงการเข้าตรวจสอบของกรมสรรพากรครั้งนี้ทั้งที่เป็นหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่เก็บรวบรวมเงินของประชาชน ไม่ควรถูกนำมาใช้ทางการเมือง ซึ่งที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมก็มักถูกตั้งคำถามถึงความยุติธรรมและประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนอยู่แล้วและในขณะนี้ก็เข้ามาสู่กระบวนการด้านการคลังมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง จึงเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถจะยอมรับได้

“เราไม่เคยหลีกเลี่ยงและเราไม่เคยคิดว่าเป็นองค์กรเหนือกฎหมาย เราทำงานดำเนินกิจกรรมภายใต้กฎหมาย เราจดทะเบียนภายใต้กฎหมายที่ถูกต้อง เราจ่ายภาษี พนักงานทุกคนจ่ายภาษีเงินได้โดยถูกต้อง เราจ่ายเงินประกันสังคมเพื่อให้พนักงานมีสวัสดิการ เราดำเนินงานโดยให้เป็นองค์กรมีมาตรฐาน มีหลักการ ดำเนินงานอย่างถูกต้องโปร่งใส” กรรมการมูลนิธิสื่อฯ ย้ำถึงการดำเนินงานขององค์กร และกล่าวว่าการดำเนินการของกรมสรรพากรครั้งนี้ก็ชัดเจนว่ามีใบสั่งมาให้ทำและจะมองหาความรับผิดชอบไปที่ใครไม่ได้นอกจากผู้นำรัฐบาลอย่างพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เราไม่ยอมรับการคุกคามแบบนี้และการกระทำแบบนี้เป็นการใช้อำนาจบริหารเกินกว่าที่มีกฎหมายรองรับ

มนทนา ดวงประภา จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวถึงสถานการณ์ที่องค์กรเจอนอกจากเหนือจากการถูกขอข้อมูลเหมือนองค์กรอื่นๆ ว่าทางเจ้าหน้าที่มีการระบุขอเก็บภาษี 2% จากเงินบริจาคและเงินที่มาจากแหล่งทุนด้วยซึ่งก็ถือเป็นประเภทเงินบริจาคเช่นเดียวกันโดยกฎหมายภาษีก็กำหนดให้เงินบริจาคได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว

คอรีเยาะห์ มานุแช จากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) กล่าวว่าการจดจัดตั้งมูลนิธิก็เป็นไปตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งจะต้องจดทะเบียนกับทางกรมการปกครองอยู่แล้วจึงถือได้ว่าได้รับการรับรองจากกรมการปกครองอยู่แล้วว่าให้ดำเนินงานได้ตามวัตถุประสงค์องค์กรที่แจ้งไว้กับทางกรม แต่กรมสรรพากรนั้นไม่มีอำนาจใดที่จะมาตรวจสอบเรื่องนี้สิ่งที่สรรพากรทำจึงเป็นก้าวล่วงล้ำเกินอำนาจที่ตัวเองมีอยู่เข้ามาสอดส่องว่าเราทำกิจกรรมอะไร ได้เงินจากที่ไหนและใช้เงินไปเพื่ออะไร

คอรีเยาะห์กล่าวต่ออีกว่า กรณีของ สนส. ทางเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรมีการส่งหนังสือมาขอเอกสารถึง 3 ครั้งโดยที่ไม่ได้มีผลสรุปอะไรออกมาว่าจะทำอย่างไรต่อกับข้อมูลที่ขอไปการกระทำของเจ้าหน้าที่จึงเหมือนเป็นเพียงต้องการสื่อว่าหน่วยงานมองเห็นและรู้ว่าองค์กรกำลังทำอะไรอยู่

อัมรินทร์ สายจันทร์ จากมูลนินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) กล่าวว่าของทาง EnLAW คงจะเป็นองค์กรแรกๆ ที่เจอการขอเข้ามาตรวจสอบแบบนี้ตั้งแต่เดือนพฤศจิการยน 2564 ตอนแรกก็คิดว่าเป็นการมาตรวจสอบตามปกติแต่ก็มีการสอบถามเกี่ยวกับเนื้อหาของโครงการต่างๆ แล้วก็มีการขอให้ส่งเอกสารบัญชีรวมถึงสัญญาการรับทุนไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ทาง EnLAW ก็ให้ไปแต่จนถึงปัจจุบันทางสรรพากรก็ยังไม่ได้ติดต่อมาว่าผลตรวจสอบเป็นอย่างไรหรือมีปัญหาอะไรที่ต้องแก้ไขหรือไม่ แล้วหลังจากนั้นก็ได้รู้ว่ามีองค์กรอื่นถูกตรวจสอบนลักษณะนี้ด้วย

“ถ้าจะบอกว่าเป็นเรื่องบังเอิญก็เป็นเรื่องเหลือเชื่อเหลือเกินที่องค์กรที่ถูกตรวจสอบเป็นองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยแล้วก็ตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลชุดปัจจุบัน จริงๆ คือเราตรวจสอบทุกรัฐบาลที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ถูกต้องตามหลักยุติธรรมหรือกฎหมาย แล้วก็บังเอิญที่เป็นช่วงขณะเดียวกับรัฐบาลผลักดันร่างกฎหมายการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร” ทนายความ EnLAW กล่าว

ส่วนทางด้านของ iLaw ยิ่งชีพเล่าถึงเหตุการณ์ที่มีเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรมาหาถึงสำนักงานว่าก็จดหมายแจ้งล่วงหน้ามาแล้วทางเจ้าหน้าที่ก็เข้ามาที่สำนักงานเมื่อวันจันทร์ที่ 7 ก.พ. ก็มีเจ้าหน้าที่เข้ามา 3 คน ทาง iLaw ก็เตรียมเอกสารไว้ให้แต่ก็แจ้งกับทางเจ้าหน้าที่ว่าจะมีการตั้งกล้องถ่ายวิดีโอไว้ตลอดการพูดคุยและการตรวจสอบเอกสาร แต่เจ้าหน้าที่กลับแจ้งว่าไม่ให้ถ่าย พอทาง iLaw ยืนยันว่าเป็นเป็นเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติตามหน้าที่ตามกฎหมายต้องตรวจสอบได้ สุดท้ายเจ้าหน้าที่จากสรรพากรก็บอกว่าถ้าจะถ่ายก็จะไม่ตรวจแล้วก็กลับไปเลย

“เป็นเรื่องแปลกมากถ้าเขาแค่ตรวจเอกสารเรื่องภาษีตรงไปตรงมาตามกฎหมาย ถ้าเสียภาษีถูกแล้วเขาก็แจ้งมาแล้วก็กลับไป หรือถ้าไม่ถูกก็แจ้งมาว่าตรงไหนไม่ถูกตรงไหนต้องจ่ายเพิ่ม ก็จ่ายไม่มีปัญหา แต่พอตั้งกล้องถ่ายเขาเขาก็ไม่ยอมคุยกับเราสักคำเดียวแล้วก็กลับไปเลยก็แสดงให้เห็นเจตนา ทำไมถึงถ่ายไม่ได้บทสนทนาจะมีอะไรพิเศษหรือเปล่า สุดท้ายก็ยังไม่ถูกตรวจสอบ แต่ก็รออยู่แล้วก็ยืนยันว่าถ้าจะมาก็จะตั้งกล้องถ่ายเหมือนเดิม”

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรกับทางกรมสรรพากรหรือไม่ เนื่องจากมีการขอข้อมูลที่อยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ด้วย

ยิ่งชีพ ผู้จัดการของ iLaw กล่าวว่ากรมสรรพากรมีอำนาจหน้าที่ที่จะเข้าตรวจสอบได้เพื่อดูเรื่องการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น ถ้าเจ้าหน้าที่เรียกขอข้อมูลทางเราก็จำเป็นต้องให้แล้วก็จะให้ด้วย แต่ว่าเป็นเอกสารที่ไม่เกี่ยวข้องเช่นการดูว่าจะจัดกิจกรรมที่ไหน หรือจ้างใครเพื่อให้ทำงานชิ้นไหนบ้างก็เป็นเรื่องนอกเหนือจากที่กรมสรรพากรจะขอได้ทางเราก็จะไม่ให้ข้อมูลส่วนนั้น แต่ท่าทางสรรพากรยืนยันว่าจะต้องให้ก็ให้ทำเป็นหนังสือคำสั่งมาแล้วถ้าเราไม่เห็นด้วยเราก็จะอุทธรณ์คำสั่ง แล้วถ้าสรรพากรเห็นว่าเราทำผิดที่ไม่ให้ข้อมูลก็ให้เขาไปดำเนินคดี

จีรนุชกล่าวว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้เรียกได้ว่ารัฐใช้กรมสรรพากรเป็นสายสืบแล้วก็มาสอดส่อง ซึ่งเรื่องนี้สอดคล้องกับสิ่งที่อยู่ในร่างพ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร ที่มากำหนดหน้าที่ให้ต้องเปิดเผยข้อมูลที่ทั้งจำเป็นแล้วก็ไม่จำเป็น สิ่งนี้เป็นความพยายามจำกัดพื้นที่ของภาคประชาชนและประชาธิปไตยให้หดแคบลงผ่านการใช้กรมสรรพากรมาเป็นเครื่องมือกลไกสอดส่องโดยที่ยังไม่ต้องมีกฎหมายออกมา ซึ่งเครื่องมือนี้ก็เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวประชาชนมากแล้วก็ทำให้เป็นเหมือนเรื่องปกติไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมือง แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก็ชัดเจนว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ รัฐมีความเฉพาะเจาะจงต้องการข้อมูลที่เกินกว่าเหตุที่ไม่สอดคล้องไม่เกี่ยวข้องกับภาระของสรรพากร

จีรนุช เปรมชัยพร

จีรนุชกล่าวทิ้งท้ายว่าเหตุการณ์นี้เป็นตัวอย่างที่สะท้อนสิ่งที่รัฐใช้คุกคามประชาชน 3เรื่อง คือ เรื่องแรกคือจำกัดลักษณะกิจกรรมที่องค์กรจะทำได้และยังปรากฏอยู่ในมาตรา 20 ของร่างพ.ร.บ.องค์กรไม่แสวงกำไรฯ เช่นที่กำหนดว่าจะต้องไม่กระทบทั้งเรื่องความมั่นคงของรัฐและเศรษฐกิจ การต่างประเทศ หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้ว่าเรื่องพวกนี้จะมีอยู่ในกฎหมายบางฉบับอยู่แล้วก็ตามแต่ก็จะอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาล แต่ร่างกฎหมายนี้ได้ให้อำนาจแก้เจ้าหน้าที่รัฐในการพิจารณาบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเราก็จะถูกตัดสินก่อนที่ศาลจะตัดสิน

เรื่องที่สองคือสร้างภาระงานธุรการให้แก่องค์กรภาคประชาสังคมมากขึ้น ด้วยข้อจำกัดด้านบุคลากรขององค์กรลักษณะนี้ที่บางองค์กรมีคนทำงานเพียง 1-2 คน แล้วเงินทุนส่วนใหญ่ก็ใช้ไปกับการดำเนินกิจกรรมที่เป็นเนื้อหาเป็นหลัก แค่ที่มีเจ้าหน้าที่สรรพากรมาก็ต้องมาเตรียมเอกสารกันแล้ว ก็เป็นเรื่องทำนองเดียวกับที่มีการเขียนไว้ในร่างกฎหมายนี้

จีรนุชกล่าวถึงประเด็นสุดท้ายว่าคือความพยายามในการสอดส่องกิจกรรมของกลุ่มองค์กรใดๆ ที่รัฐมองว่าเป็นปฏิปักษ์กับรัฐ และเหตุการณ์ที่สรรพากรเข้ามาตรวจสอบนี้ก็สะท้อนถึงภาพที่ใหญ่กว่าคือการพยายามคุกคามประชาชนหรือคุกคามองค์กรภาคประชาชน เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท