เนื่องในวันวาเลนไทน์ 14 ก.พ. 2565 ประชาไทขอเสนอรายงาน “ก้าวต่อไปบนเส้นทางสู่สมรสเท่าเทียม” ฉบับภาษาไทยเพื่อประมวลสถานการณ์เกี่ยวกับการแก้กฎหมายสมรสเท่าเทียมตั้งแต่ 17 พ.ย. เป็นต้นมา หลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การสมรสระหว่าง “ชาย” และ “หญิง” เท่านั้น ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในช่วงเดียวกับที่ตัดสินว่าการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นการ “ล้มล้างการปกครอง” แม้สถานการณ์จะคืบหน้าบ้างแล้ว เห็นได้จากข่าวรัฐสภาลงมติเสียงข้างมากให้นำร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม หรือการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 ส่ง “แขวน” แก่คณะรัฐมนตรีเพื่อศึกษาเพิ่มเติมอีก 60 วัน หลังรอเข้าพิจารณามา 1 ปีเต็ม แต่รายงานชิ้นนี้ก็ยังคงมีพลังในการอธิบายสถานการณ์มาถึงปัจจุบัน รายงานนี้สัมภาษณ์ ‘มัจฉา พรอินทร์’ เพื่อเล่าสถานการณ์ปัญหาของครอบครัว LGBTQ ซึ่งไม่ได้รับความคุ้มครองและการยอมรับทางกฎหมาย ขณะที่ ‘เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง’ ให้ข้อวิเคราะห์เกี่ยวกับภาพรวมของกระบวนการผลักดันเรื่องนี้ไว้อย่างแหลมคม รวมถึง ปัญหาของศาลรัฐธรรมนูญที่เสนอให้สภาผ่าน “พ.ร.บ. คู่ชีวิต” เป็นกฎหมายแยก ทั้งที่ “คำแนะนำ” ไม่มีผลผูกพันธ์ทางกฎหมาย รายงานนี้ยังครอบคลุมถึง ร่าง พ.ร.บ. สมรส เท่าเทียมของภาคประชาสังคม ที่ยังคงอยู่ระหว่างล่ารายชื่อ และจ่อรอเข้าสภาถัดจากร่างของพรรคก้าวไกล หากร่างของพรรคก้าวไกลผ่านสภาไม่สำเร็จ “ก้าวต่อไปบนเส้นทางสู่สมรสเท่าเทียม” ยังคงมีอยู่เสมอตราบที่ขบวนการเคลื่อนไหวยังคงต่อสู้ แม้อยู่ภายใต้ข้อจำกัดของสังคม เพราะกระบวนการนิติบัญญัติคือกระบวนการทางการเมือง และการเมืองคือ “ศิลปะของความเป็นไปได้” |
เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญของไทยตัดสินใจมาตรา 1448 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งระบุว่าการสมรสจะทำได้ระหว่างชายและหญิงเท่านั้น ไม่ขัดต่อมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน
ศาลยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่ารัฐสภา คณะรัฐมนตรี และองค์กรที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ควรร่างกฎหมายเพื่ออนุมัติสิทธิให้แก่ประชาชนที่เป็น LGBTQ
คำตัดสินดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากมีคำร้องของเพิ่มทรัพย์ แซ่อึ้ง และพวงเพชร เหงคำ ถูกส่งไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ โดยศาลเยาวชนและครอบครัว เพิ่มทรัพย์ และพวงเพชร ยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัว เมื่อต้นปี 2563 หลังจากพวกเขาถูกปฏิเสธการจดทะเบียนสมรส โดยสำนักงานเขตบางกอกใหญ่ และขอให้ศาลสั่งให้นายทะเบียนออกทะเบียนสมรส หรือส่งคำร้องต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อตัดสินว่ามาตรา 1448 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
คำตัดสินดังกล่าวก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากนักกิจกรรมและประชาชนทั่วไป โดยหลายๆ คนแสดงความผิดหวังและความโกรธต่อการตัดสินใจของศาล และเรียกร้องให้กฎหมายมีการแก้ไขเพื่อให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ขณะที่บางคนตั้งข้อสังเกตว่าคำตัดสินออกมา 1 สัปดาห์หลังการตัดสินของศาลเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ว่าการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เป็นการล้มล้างการปกครอง
ขณะเดียวกัน ระหว่างการประชุมทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (UPR) เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 ปลัดกระทรวงต่างประเทศ ธานี ทองภักดี ระบุในระหว่างการแถลงเปิดของเขาว่า รัฐบาลไทยกำลังปฏิบัติงานเพื่อส่งเสริมสิทธิของ LGBTQ และอยู่ในกระบวนการของการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมทางเพศสภาพและ “การพัฒนากฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับคู่ชีวิต”
นักกิจกรรมสิทธิ LGBTQ มัจฉา พรอินทร์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการบริหารโครงการสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน ผู้ประสานงาน V-Day Thai และประธานร่วม International Family Equality Day (IFED) บอกว่าเมื่อพิจารณาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภาพรวมในประเทศไทย คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญต่อการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และข้อเท็จจริงว่าการไต่สวนถูกเลื่อนออกไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า เธอเตรียมใจไว้แล้วว่าคำตัดสินคงไม่เข้าข้างขบวนการเคลื่อนไหว แม้เธอบอกว่าสัญญาของรัฐบาลไทยต่อประชาคมระหว่างประเทศระหว่างการประชุมครั้งสุดท้ายจะให้ความหวังกับเธอก็ตาม
"ส่วนหนึ่งคือเตรียมใจ แต่พอคำตัดสินออกมาจริง ๆ แล้ว ก็รู้สึกแย่มาก เพราะว่ามันตอกย้ำว่ารัฐ โดยศาลรัฐธรรมนูญเป็นตัวแทนของวิธีคิดและอำนาจรัฐ ไม่ได้มองเห็นว่าสิ่งที่เราเผชิญคือการละเมิดสิทธิมนุษยชนและมองว่าการไม่ให้ LGBT สมรสได้อย่างเท่าเทียมไม่ได้ขัดกับหลักรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าเราย้อนกลับไปที่รัฐธรรมนูญบอกว่าคนจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันในสังคมไทย มันก็ไม่ได้ reflect [สะท้อน] ออกมาเลยในทางปฏิบัติและในทางกฎหมาย"
แต่กระนั้น มัจฉาบอกว่าเธอได้รับการสนับสนุนจากนักกิจกรรมอื่นๆ และเธอจะก้าวต่อไป เมื่อ 30 พ.ย. 2564 มัจฉาและครอบครัวสีรุ้งของเธอ (คนรักของเธอ วีรวรรณ วรรณะ และลูกสาวทั้งสองคน ศิริวรรณ พรอินทร์) ร่วมกับ LGBTQ คนอื่นๆ และสมาชิกเพื่อนร่วมทีม ได้ทำการวิ่ง 100 กิโลเมตรจากเชียงใหม่ไปยัง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน โดยเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์กิจกรรม 16 วันเพื่อต่อต้านความรุนแรงบนพื้นฐานของเพศสภาพ เพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมในการสมรส และสิทธิในการมีครอบครัว โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักรู้และเรียกร้องการยอมรับและความคุ้มครองทางกฎหมายให้แก่ครอบครัวสีรุ้งและคู่รัก LGBTQ
ไม่มีสวรรค์สำหรับ LGBTQ
แม้รัฐบาลจะพยายามประชาสัมพันธ์ว่าประเทศเป็นสวรรค์ของคน LGBTQ แต่ประชาชคม LGBTQ ในไทยยังคงเผชิญกับการเลือกปฏิบัติและความรุนแรง นักเรียนในหลายมหาวิทยาลัยยังคงต้องส่งเอกสารเพื่อขออนุญาตแต่งกายตามอัตลักษณ์เพศสภาพของตนเอง ขณะที่กลุ่มทรานส์เผชิญกับการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน
ขระเดียวกัน คู่รัก LGBTQ ไม่ได้รับอนุญาตให้ทะเบียนสมรสของตัวเอง ซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิ ความคุ้มครอง และการยอมรับทางกฎหมาย ซึ่งมาพร้อมกับการแต่งงานตามกฎหมาย และเป็นการลิดรอนสิทธิในการสร้างครอบครัวอีกด้วย
การไม่มีกฎหมายที่คุ้มครองคน LGBTQ ในประเทศไทย มัจฉาระบุว่า สะท้อนทัศนคติเลือกปฏิบัติและความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันที่ยังคงอยู่ในสังคมไทย ซึ่งนำไปสู่อาชญากรรมจากความเกลียดชัง (hate crime) ทัศนะคติเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน และเกลียดกลัวทรานส์เป็นเหตุผลที่กฎหมายจะต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อรับรองสิทธิอย่างเท่าเทียมด้วย
มัจฉาบอกว่ามีครอบครัว LGBTQ มากมายในประเทศไทย ที่เด็กของครอบครัวกำลังทนทุกข์อยู่ในโรงเรียน เพราะพ่อแม่ไม่ได้รับการยอมรับตามกฎหมายและถูกรังแกและถูกเลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก เธอบอกด้วยว่าในหลายกรณี มีพ่อแม่ได้รับการยอมรับตามกฎหมายเพียงคนเดียวเท่านั้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของเด็กในกรณีฉุกเฉิน หากพ่อแม่ของเด็กไม่สามารถเซ็นเอกสารบางอย่างได้
"ยังมีพ่อแม่จำนวนมากที่มีความหลากหลายทางเพศที่สังคม ครอบครัว และกฎหมายไม่ยอมรับ ในทางปฏิบัติเขาดูแลลูกในฐานะลูก แต่ในทางกฎหมาย กฎหมายไม่ยอมรับ เพราะฉะนั้นก็เหมือนเป็นคนอื่นกันในครอบครัว” มัจฉากล่าว
มัจฉาเองไม่สามารถรับศิริวรรณเป็นลูกบุญธรรมได้ในทางกฎหมาย เพราะเธอไม่ได้รับการยอมรับโดยครอบครัวผู้ให้กำเนิดของลูกสาวของเธอ เนื่องจากเพศวิถีของเธอ แม้ว่าพวกเขาจะอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวมาเกือบ 11 ปีแล้วก็ตาม เมื่อใดที่ก็ตามที่โรงเรียนของลูกสาวเธอต้องใช้เอกสาร เธอต้องให้พ่อผู้ให้กำเนิดเซ็นมอบอำนาจก่อน
อย่างไรก็ตาม การทำแบบนี้เป็นไปไม่ได้เลยสำหรับกระบวนที่เป็นทางการมากกว่านี้ มัจฉาบอกว่าเธอและคู่รักของเธอเคยอยากพาลูกสาวของเธอไปเที่ยวแบบเป็นครอบครัวที่ญี่ปุ่น แต่พบว่าพวกเขาไม่สามารถขอหนังสือเดินทางให้กับลูกสาวได้ เธอระบุด้วยว่าศิริวรรณเคยถูกเชิญให้เข้าร่วมงานเสวนาแห่งหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถเดินทางได้ด้วยเหตุผลเดียวกัน ซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิในการเดินทางของเธอ และถ้าศิริวรรณขอกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา มัจฉาก็จะไม่สามารถเป็นผู้ค้ำประกันให้เธอได้ เพราะพวกเขาไม่ใช่ครอบครัวเดียวกันในสายตาของกฎหมาย
การไม่มีความคุ้มครองและการยอมรับทางกฎหมายเช่นนี้บีบให้คู่รัก LGBTQ ต้องหาช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อให้ได้รับความคุ้มครอง มัจฉากล่าวว่ามีบางกรณีที่คนหนึ่งของคู่รักอาจให้พ่อแม่รับคู่รักอีกคนหนึ่งเป็นลูกบุญธรรม เพื่อให้พวกเขาได้รับการยอมรับว่าเป็นครอบครัวเดียวกัน มัจฉาบอกว่าเธอไม่ได้ต่อต้านการทำแบบนี้ แต่รู้สึกเจ็บปวดและรับไม่ได้ในแง่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เนื่องจากคนที่เป็นคู่รักกันในทางปฏิบัติได้รับการยอมรับให้เป็นพี่น้องกันในสายตาของกฎหมายเพื่อให้ได้สิทธิและผลประโยชน์ที่มาพร้อมกับการเป็นครอบครัวเดียวกัน เธอบอกด้วยว่าพวกเขาไม่สามารถมั่นใจได้เลยว่าวิธีการนี้จะทำให้พวกเขาได้รับการยอมรับทางกฎหมายอย่างแท้จริงหรือไม่ และมันเป็นการบังคับให้พวกเขาเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่พวกเขาไม่ได้รับความคุ้มครองเหมือนกับคนอื่น
“ประเทศไทยเองหลอกลวงชาวโลกมาตลอดว่าที่นี่คือสวรรค์ของ LGBT แต่ไม่มีกฎหมายคุ้มครองเราเลยแม้แต่ฉบับเดียว เพราะฉะนั้นเราคิดว่ามันเป็นช่วงเวลาที่เราต้องกระชากหน้ากากของสังคมไทยและทำให้รู้ว่าจริง ๆ แล้ว LGBT ในประเทศไทยสถานการณ์เลวร้ายเหมือนกับทั่วโลก ไม่ได้ดีเลย”
“ภาพโดยรวมของประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และสิทธิความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยก็แย่มาก เพราะฉะนั้นสิ่งนี้เราจะต้องรับมาเพื่อจะปรับปรุงกฎหมายในประเทศเพื่อการปกป้องคุ้มครองพวกเราให้มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับทุกคน แล้วเราจะได้ไปพูดในเวทีนานาชาติว่าเรามีกฎหมายคุ้มครองแบบไม่เลือกปฏิบัติ"
ปัญหายังอาจอยู่ในตัวบทของกฎหมายที่มีอยู่เองด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงอยู่บนพื้นฐานของการแบ่งออกเป็นสองเพศ มาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญระบุว่า “ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน” และเมื่อเพิ่มทรัพย์และพวงเพชรส่งคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อต้นปี 2562 หลังจากพวกขาถูกปฏิเสธการจดหมายโดยสำนักงานเขตภาษีเจริญ คำร้องของพวกเขาก็ถูกปิดทิ้ง โดยอ้างเหตุผลว่าการปฏิเสธการทดทะเบียนสมรสของคู่รัก LGBTQ ไม่ใช่การเลือกปฏิบัติ เนื่องจากกฎหมายพิจารณาเพียงเพศสภาพที่กำหนดให้ ณ ตอนที่เกิดเท่านั้น
เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า เมื่อรัฐธรรมนูญถูกร่างขึ้นมา ประเด็นหลักคือความเท่าเทียมระหว่างชายและหญิง และดังนั้นตัวบทจึงถูกเขียนออกมาแบบนั้นเพื่อความชัดเจน เมื่อมีการพูดในภายหลังว่าแนวคิดเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศสภาพควรถูกรวมอยู่ในรัฐธรรมนูญด้วย จึงมีข้อโต้เถียงว่าทุกเพศสภาพถูกรวมอยู่ในคำว่า “ชายและหญิง” อยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม เข็มทองบอกว่านี่ไม่ใช่ความจริงในทางปฏิบัติ แม้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอ้างว่าไม่มีความจำเป็นต้องรวมแนวคิดเรื่องเพศสภาพเข้าไปในรัฐธรรมนูญ เพราะทุกอัตลักษณ์ถูกรวมอยู่ในคำว่า “ชายและหญิง” อยู่แล้ว แต่เมื่อเรื่องมาสู่ผู้ตรวจการแผ่นดินหรือศาลต่างๆ อัตลักษณ์เพศสภาพไม่ได้รับการยอมรับแต่อย่างใด
เข็มทองบอกว่าเราอาจจำเป็นต้องเปลี่ยนการตีความกฎหมาย และถ้าทุกคนเข้าใจว่าทุกเพศสภาพถูกรวมอยู่แล้วเวลากฎหมายระบุคำว่า “ชายและหญิง” การเปลี่ยนแปลงบทตัวอาจไม่จำเป็น แต่กระนั้น เข็มทองก็บอกว่า ถ้าสังคมมีความเป็นอนุรักษ์นิยมอย่างมาก และปฏิเสธที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการอ่านกฎหมาย การเปลี่ยนตัวบทอาจมีประสิทธิภาพกว่า
เส้นทางข้างหน้า
ปัจจุบัน มีร่างกฎหมาย 2 ฉบับเกี่ยวกับการแต่งงานสำหรับคู่รัก LGBTQ ที่อยู่ระหว่างรอเข้าสภาแล้ว
เมื่อ มิ.ย. 2563 คณะรัฐมนตรีอนุมัติร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ที่เสนอโดยกระทรวงยุติธรรม ซึ่งนิยาม “คู่ชีวิต” ว่าเป็นการร่วมกันระหว่างคน 2 คนที่มีเพศสภาพเดียวกัน โดยทั้งคู่ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 17 ปี และอย่างน้อย 1 คนจะต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย
พ.ร.บ. คู่ชีวิตเคยถูกวิจารณ์จากเอ็นจีโอและนักกิจกรรมสิทธิ LGBTQ ที่ตั้งคำถามต่อความจำเป็นของการออกกฎหมายแยกเพื่อทำให้การแต่งงานของ LGBTQ ถูกกฎหมาย และแสดงความกังวลว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะทำให้ตราบาปต่อประชาคม LGBTQ ในประเทศไทยยิ่งฝังรากลึก พวกเขาวิจารณ์ด้วยกฎหมายดังกล่าวไม่ให้สิทธิแก่คู่รัก LGBTQ เท่าเทียมกับคู่รักต่างเพศ และกฎหมายดังกล่าวยังไม่ชัดเจนว่าจะให้สิทธิบางอย่างหรือไม่ เช่น บุคคลในคู่ชีวิตจะได้รับอนุญาตให้ตัดสินใจเรื่องทางการแพทย์ในนามของคู่ครองได้หรือไม่ หรือพวกเขาจะได้รับอนุญาตให้ใช้นามสกุลเดียวกับคู่รักหรือไม่
ต่อมา เมื่อ ก.ค. 2563 ร่างกฎหมายที่เสนอให้แก้ไขมาตราเกี่ยวกับการสมรสและครอบครัวในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็มีการเปิดให้ทำประชาพิจารณ์ ร่างนี้เสนอโดย ส.ส. พรรคก้าวไกล ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ และเสนอให้คำศัพท์ที่ใช้ในกฎหมายเปลี่ยนมาใช้คำว่า “คู่สมรส” แทนคำว่า “สามี” และ “ภรรยา” และใช้คำว่า “บุคคล” แทนคำว่า “ชาย” และ “หญิง”
ร่างกฎหมายยังเสนอให้เพิ่มอายุขั้นต่ำที่บุคคลสามารถสมรสได้ตามกฎหมายจาก 17 เป็น 18 ปีด้วย
การแก้ไขกฎหมายที่เสนอจะอนูญาตให้บคคลสามารถแต่งงานได้ตามกฎหมายโดยไม่ต้องคำนึงถึงเพศสภาพ และรับรองให้พวกเขาได้รับสิทธิ หน้าที่ และความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย หากร่างกฎหมายผ่าน คู่รัก LGBT ที่จดทะเบียนสมรสจะสามารถรับลูกบุญธรรมด้วยกันได้ ตัดสินใจทางการแพทย์ในนามของคู่ครองได้ และในกรณีที่คู่ครองคนใดคนหนึ่งเสียชีวิต อีกคนหนึ่งจะสามารถรับมรดกจากคู่ครองและตัดสินใจทางกฎหมายเกี่ยวกับสินทรัพย์ของคู่ครองได้
ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับยังคงต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาก่อนที่จะกลายเป็นกฎหมาย ร่างกฎหมายที่เสนอโดยธัญวัจน์ปรากฎอยู่ในวาระการประชุมของสภาตั้งแต่ต้นปี 2564 แล้ว แต่ยังไม่เข้าสู่สภา
ทั้งที่มีคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญออกมา กระบวนการเหล่านี้ก็ควรที่จะสามารถดำเนินต่อไปได้ เข็มทองบอกว่าร่างกฎหมายต่างๆ ที่รอเข้าสู่สภาต้องรอจนกว่าจะถึงตาของร่างกฎหมายเหล่านี้ แต่การดำเนินการผ่านช่องทางตุลาการถูกมองว่าเป็นเส้นทางที่รวดเร็ว โดยการขอคำสั่งศาลจะสามารถเร่งกระบวนการให้เร็วขึ้นได้ เพราะปกติแล้วศาลจะกำหนดกรอบเวลาสำหรับการผ่านกฎหมายเพื่อบังคับใช้เอาไว้
เข็มทองอธิบายว่ากระบวนการนิติบัญญัติปกติแล้วเป็นกระบวนการทางการเมือง และมันไม่มีความจำเป็นที่ศาลจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง มันเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งสำหรับกลุ่มที่เกี่ยวข้องในการตัดสินใจว่าพวกเขาต้องการไปศาลหรือไม่ เขาอธิบายด้วยว่าช่องทางนี้มีไว้เพื่อรับประกันไม่ให้มีการผ่านบังคับใช้กฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่สอดคล้องกับระบบกฎหมายในภาพรวม
เข็มทองกล่าวว่าคำตัดสินของศาล ซึ่งมีการระบุว่าบางสิ่งถูกหรือผิดและต้องทำอย่างไรนั้น ชัดเจนและมีผลผูกพันธุ์กับทุกองค์กร ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง จะถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ ในกรณีของการแก้ไขกฎหมายทำแท้งเมื่อไม่นานมานี้ ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่ามาตรา 301 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งทำให้การทำแท้งเป็นความผิดทางอาญา เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญและสั่งให้มีการแก้ไขกฎหมายภายใน 360 วันหลังจากมีคำตัดสิน เข็มทองระบุว่านี่เป็นกลยุทธ์ที่ใช้โดยศาลรัฐธรรมนูญในหลายประเทศเพื่อลดความตึงเครียด เนื่องจากเป็นการให้เวลารัฐสภาในการแก้ไขกฎหมายแทนที่จะทำให้กฎหมายเป็นโมฆะในทันที
อย่างไรก็ตาม ในกรณีของกฎหมายสมรส ศาลตัดสินว่ากฎหมายไม่ได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ตั้งข้อสังเกตว่าควรมีการร่างกฎหมายใหม่เพื่อให้สิทธิแก้คน LGBTQ ข้อสังเกตดังกล่าว เข็มทองระบุว่า เพียงเป็นคำแนะนำ และไม่ใช่คำสั่ง และดังนั้นจึงไม่มีผลผูกพันธ์ทางกฎหมายเหมือนกับคำตัดสิน และไม่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการของรัฐสภาในปัจจุบัน เพียงแค่คำร้องที่เฉพาะเจาะจงนี้เท่านั้นตกไป
แต่กระนั้น เข็มทองบอกว่าศาลควรตัดสินว่าบางอย่างถูกหรือผิดเท่านั้น เนื่องจากการตั้งข้อสังเกตจะดูเหมือนว่าศาลพยายามบอกรัฐบาลว่ารัฐบาลควรทำอะไร และรัฐบาลอาจไม่รู้ว่าควรรับมือกับคำแนะนำดังกล่าวอย่างไร
"ส่วนตัวผมคิดว่าศาลควรจะหลีกเลี่ยงการทำข้อสังเกต ผิดก็ผิด ถูกก็ถูก แล้วก็จบกันแค่นั้น เพราะว่าข้อสังเกตมันทำให้ศาลกลายเป็นสิ่งที่บางคนเขาจะเรียกว่าเป็น government by court คือศาลเอาความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องทางสังคมทางการเมืองเข้าไปแนะนำรัฐบาล เรื่องนี้มันไม่อยู่ในคำพิพากษาหรืออำนาจตามกฎหมาย อันนี้ศาลเหมือนพูดเลยจากที่กฎหมายอนุญาตให้ศาลพูด กฎหมายอนุญาตให้ศาลพูดว่าถูกหรือผิดเท่านั้น แต่ศาลบอกว่าอันนี้ไม่ผิด แต่ส่วนตัวศาลชอบแบบนี้ มันเกินสิ่งที่กฎหมายอนุญาตให้ทำ"
เข็มทองคาดการณ์ด้วยว่า แม้ศาลจะบอกว่าควรมีการออกบังคับใช้กฎหมายใหม่ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะไม่มีวันได้รับการแก้ไข แม้ดูเหมือนจะศาลจะอยากให้มีการออกกฎหมายแยกสำหรับการแต่งงานของ LGBTQ แต่เรายังไม่สามารถบอกได้อย่างแน่นอนจนกว่าจะมีการเผยแพร่คำตัดสินฉบับเต็มออกมา
ขณะเดียวกัน ภาคประชาสังคมกำลังเคลื่อนไหวเพื่อเสนอร่างกฎหมายความเท่าเทียมทางการสมรสเข้าสู่สภา เมื่อ 28 พ.ย. 2564 ในระหว่างการประท้วงที่แยกราชประสงค์ ภาคีสีรุ้งเพื่อการสมรสเท่าเทียม เครือข่ายองค์กรประชาคมและกลุ่มนักกิจกรรมกว่า 30 แห่ง ได้เริ่มเปิดลงชื่อในคำร้องเพื่อเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่ออนุญาตการจดทะเบียนสมรสระหว่าง 2 บุคคลโดยไม่จำกัดเพศสภาพ
คำร้องดังกล่าวเสนอให้แก้ไขมาตรา 1448 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งกำกับดูแลเกี่ยวกับการสมรส เพื่ออนุญาตให้มีการจดทะเบียนสมรสระหว่าง 2 บุคคลโดยไม่จำกัดเพศสภาพ แทนที่จะสงวนไว้เฉพาะระหว่างชายและหญิง คำร้องดังกล่าวยังเสนอให้เพิ่มอายุที่บุคคลสามารถสมรสได้ตามกฎหมายจาก 17 เป็น 18 ปีด้วย
คำร้องดังกล่าวยังเสนอให้แทนคำว่า “ชาย” และหญิง” ในทุกมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เกี่ยวกับการสมรสด้วยคำว่า “บุคคล” เช่นเดียวกับแทนคำว่า “สามี” และ “ภรรยา” ด้วยคำว่า “คู่สมรส” และแทนคำว่า “พ่อ” และ “แม่” ด้วยคำว่า “พ่อแม่”
การแก้ไขเหล่านี้จะทำให้คู่รัก LGBTQ มีสิทธิ หน้าที่ และการยอมรับตามกฎหมายเท่าเทียมกับคู่รักต่างเพศ รวมถึง สิทธิในการรับลูกบุญธรรมและได้รับการยอมรับในฐานะพ่อแม่ของลูก สิทธิในการรับมอบอำนาจเพื่อตัดสินใจทางการแพทย์ในนามของคู่รักและฟ้องคดีในนามของคู่ครอง สิทธิในการใช้นามสกุลเดียวกับคู่ครอง และสิทธิในการรับมรดกทรัพย์สินจากกันและกันโดยไม่จำเป็นต้องมีพินัยกรรม
หลักเหตุผลของการแก้ไขกฎหมายที่เสนอระบุว่าเป็นการใช้ภาษาที่เป็นกลางทางเพศสภาพ เพื่อให้สิทธิ หน้าที่ และการยอมรับทางกฎหมายอย่างเท่าเทียมแกบุคคลทุกเพศสภาพและเพศวิถี
ภายใน 24 ชั่วโมงหลังเปิดลงชื่อ คำร้องดังกล่าวมีผู้ลงนามกว่า 150,000 ชื่อ สูงกว่าจำนวนขั้นต่ำสำหรับการเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาถึง 10 เท่า และเมื่อ 22.00 น. ของวันที่ 3 ธ.ค. 2564 คำร้องดังกล่าวมีผู้ลงนามกว่า 260,000 ชื่อ
ระหว่างการประท้วงเพื่อประชาธิปไตยในปี 2563-2564 สิทธิ LGBTQ เป็นหนึ่งในประเด็นการรณรงค์หลักของขบวนการเคลื่อนไหว
รายงานโดยกลุ่มสังเกตการณ์เพื่อการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เผยแพร่เมื่อ ก.พ. 2564 ระบุว่า “ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมทางเพศสภาพซึ่งไม่เคยมีมาก่อน” ปรากฎขึ้นในระหว่างการประท้วง โดยผู้หญิงและคน LGBTQ หันมาส่งเสียงเกี่ยวกับประเด็นเพศสภาพมากขึ้น และมีการตั้งกลุ่มสิทธิของผู้หญิงและ LGBTQ ขึ้นจำนวนมาก เยาวชนจำนวนมากออกมาวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการเหมารวมเพศสภาพ การเลือกปฏิบัติทางเพศสภาพ การล่วงละเมิดทางเพศ และวัฒนธรรมการข่มขืน และเรียกร้องให้มีตัวแทนของผู้หญิงและคน LGBTQ ในเวทีการประท้วงมากขึ้น รวมถึง ความเท่าเทียมทางการสมรส การนำงานเกี่ยวกับเพศออกจากความผิดทางอาญา การยกเลิกช่องว่างรายได้ที่เกิดจากเพศสภาพ และระบอบประชาธิปไตยที่เคารพและส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศสภาพ
ขณะเดียวกัน ผู้หญิงและคน LGBTQ ก็แนวหน้าของขบวนการเคลื่อนไหว ทั้งในฐานะผู้เข้าร่วมและแกนนำและผู้จัดการประท้วง เยาวชนหญิงเป็นผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ ขณะที่เด็กนักเรียนมัธยมหญิงมีบทบาทสำคัญในการประท้วงต่างๆ เพื่อต่อต้านระบบการศึกษาที่ล้าหลังและการล่วงละเมิดที่พวกเขาต้องเผชิญ
สำหรับมัจฉา เธอเห็นความต่างกันระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ เธอตั้งข้อสังเกตว่าเยาวชนจำนวนมากระบุตัวตนว่าเป็น LGBTQ หรือบอกว่าพวกเขาโอเคกับการมีเพื่อนเป็น LGBTQ และพร้อมสนับสนุนเพื่อนเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม มัจฉาบอกว่าเยาวชนเหล่านี้ถูกผลักให้ไปอยู่ชายขอบและเสียงพวกเขาไม่เคยถูกรับฟัง พวกเขาถูกกีดกันออกจากการมีส่วนร่วมในการจัดทำนโยบายและกระบวนการนิติบัญญัติ ขณะที่คนรุ่นเก่า ซึ่งหลายคนเกลียดชัวคนรักเพศเดียวกัน เหยียดเพศ หรือกระทั่งต่อต้านประชาธิปไตย ยังคงปกครองพื้นที่ทางการเมือง
มัจฉาระบุว่าการขาดเสียงสนับสนุนจากภายนอกประชาคมสะท้อนถึงทัศนะเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันในสังคมไทย เนื่องจากหลายคนกังวลว่าถ้าพวกเขาบอกว่าพวกเขาสนับสนุนสิทธิ LGBTQ คนอื่นจะคิดว่าพวกเขาเป็น LGBTQ ด้วย ขณะที่ LGBTQ หลายคนยังไม่สามารถเปิดเผยตัวตนกับครอบครัวหรือส่งเสียงเพื่อสิทธิของตนเองได้
ขณะที่มัจฉาเห็นว่าบุคคล LGBTQ ในประเทศไทยกำลังทนทุกข์จากการไม่มีกฎหมายออกมา เธอก็เชื่อว่าสิ่งต่างๆ ดีขึ้นกว่านี้ได้ด้วยการพัฒนาประชาธิปไตย เธอบอกว่าขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งรวมถึงเยาวชนและคนที่ถูกทำให้เป็นชายขอบซึ่งออกมาส่งเสียงเพื่อสิทธิของตนเอง ตั้งแต่เรื่องสิทธิในทรัพยากรและสิทธิคนพื้นเมือง ไปจนถึงสิทธิในการทำแท้ง และความเท่าเทียมทางการสมรส คือขบวนการเคลื่อนไหวที่จะเปลี่ยนแปลงบทสนทนาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
“เราเห็นความเป็นไปได้ ไม่มีใครจะสามารถหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่าได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ยังขาดหายในสังคมไทยก็คือการที่คนที่อยู่ในอำนาจทั้งหลายไม่ยอมฟังเสียงประชาชนและไม่ยอมเอื้อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง”
“การเปลี่ยนรัฐธรรมนูญจะเอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายนโยบายการมีส่วนร่วม และทำให้ระบบประชาธิปไตยมันดีขึ้น แต่ทีนี้รัฐธรรมนูญก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ความเป็นประชาธิปไตยก็ไม่เต็มใบ เลือกตั้งมาก็ไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ สิ่งเหล่านี้มันก็ม้วนกลับลงมาว่าเรายังอยู่ในสังคมที่กดขี่แล้วก็คลื่นของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ยินยอม และคนชายขอบทั้งหมดที่ถูกกดขี่ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ชาวนา เกษตรกร คนที่ทำงานหาเช้ากินค่ำภาคธุรกิจทั้งหลาย ตอนนี้ทุกคนโกรธแค้นกับระบบสังคมที่ไม่เป็นธรรมและเรากำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทย"