Skip to main content
sharethis

ปดิพัทธ์ ส.ส.ก้าวไกล ชี้เป้า ‘ไอ้โม่ง’ ปกปิดการระบาดโรค ASF ในสุกรตั้งแต่ปีที่แล้ว ต้นเหตุทำเนื้อหมูแพง นั่งอยู่ข้าง ‘ประยุทธ์’ รายเล็กสิ้นเนื้อประดาตัว ส่วนทุนใหญ่รอกินรวบ แนะปรับโครงสร้างใหญ่ เพิ่มงบวิจัย-ฐานข้อมูลปศุสัตว์ ช่วยเรื่องทุนเกษตรกร

ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 พรรคก้าวไกล

17 ก.พ. 65 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนวันนี้ (17 ก.พ.) ที่รัฐสภา ในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตาม มาตรา 152 ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 พรรคก้าวไกล อภิปรายในประเด็นความล้มเหลวฉ้อฉลในการจัดการโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) และปัญหาหมูแพง โดยระบุว่า รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ความเสี่ยงโรคระบาดเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก และเพื่อไม่ให้เกิดการกินรวบอุตสาหกรรมสุกร 

ราคาหมูทะยานสูง-ลงเร็ว ไม่ใช่ความปกติ

“ราคาเนื้อหมูแพงขึ้นสูงสุดในประวัติศาสตร์ และลดลงอย่างผิดปกติหลังการประกาศเจอโรค ASF เหตุการณ์นี้เริ่มต้นตั้งแต่เดือน ต.ค. 64 หมูเนื้อแดงจาก 125 บาท ขยับขึ้นเป็น 136 บาทในเดือน พ.ย. ราคา 165 บาทในเดือน ธ.ค. และร้ายแรงที่สุดในเดือน ม.ค. 65 คือ 190-220 บาท สำหรับหมูเนื้อแดง และสาหัสที่สุดคือ 260-300 บาท สำหรับหมูสามชั้น สวนทางกับดัชนีราคาเนื้อสุกรของโลก หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่า ราคาเนื้อหมูหยุดปรับขึ้นและค่อยๆ ปรับตัวลดลง จุดตัดสำคัญอยู่ที่เดือน ม.ค. 65 คือ วันที่การเปิดเผยว่ามีโรคระบาด ASF ในประเทศไทย นำมาสู่การตรวจสอบการกักตุนเนื้อสุกรในห้องเย็นตั้งแต่กลาง ม.ค.เป็นต้นมา จากการตรวจสอบพบหมูในห้องเย็น 1,366 แห่ง มีหมูเก็บหมู 24.66 ล้านกิโลกรัม (กก.) เป็นอย่างน้อย”

(ภาพจากถ่ายทอดสด Voice TV)

ปดิพัทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลออกมาเคลมผลงานว่า แก้ไขปัญหาได้ถูกจุด แต่ต้องย้ำว่า การที่ราคาทะยานขึ้นสูงและลดลงอย่างรวดเร็วได้ไม่ใช่เรื่องปกติ แต่เป็นความชั่วร้ายของรัฐบาล คณะรัฐมนตรี และโดยเฉพาะกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ ที่ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ปี 62-64 ท่องตามโพยอยู่อย่างเดียวว่า “ประเทศไทยไม่มี ASF” ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า “ไม่รู้ว่าหมูแพงได้อย่างไร” สั่งการขึงขัง ตรึงราคา ตั้งวอร์รูมทุกจังหวัด ตรวจสอบห้องเย็น หลอกพี่น้องประชาชนว่าแก้ปัญหาได้แล้ว

“มันคือละครตบตาคนไทยทั้งประเทศ เพราะจริงๆ แล้วคณะรัฐมนตรีรู้มานานแล้วว่ามีโรคระบาด ASF และมีคนจำนวนเล็กๆ กลุ่มหนึ่งรู้สถานการณ์เป็นอย่างดี จึงแสวงหาความร่ำรวย เหยียบย่ำพี่น้องประชาชนผู้บริโภคและเกษตรรายเล็กรายน้อย บางคนล้มละลาย หนี้สินท่วมหัว บางคนเครียดจนเส้นเลือดในสมองแตกเสียชีวิต ความเสียหายย่อยยับเกิดขึ้นในฟาร์มขนาดย่อย ขนาดกลาง และขนาดใหญ่บางที่ แต่ทุนใหญ่ไม่กระทบมาก เพราะมีหมูขายไม่อั้น ทุกคนต้องวิ่งหาหมูจากทุนใหญ่ เพราะไม่มีหมูของรายย่อยเหลือแล้ว กินรวบ เบ็ดเสร็จ ฟาร์มขนาดใหญ่กำลังเพิ่มการผลิต ขึ้นฟาร์มใหม่กันเต็มไปหมด เพราะรู้มาตลอดว่ามีการระบาด และรู้ด้วยว่าจะทำกำไรได้มหาศาล ถ้าใครมีหมูในช่วงปลายปี 64 และสามารถกักตุนไว้ในห้องเย็นต่างๆ ได้” ปดิพัทธ์ กล่าว

ตั้งธงอย่าให้รู้ว่า ASF ระบาด 

ส.ส.ก้าวไกล คนเดิมกล่าวว่า ทั่วโลกมีองค์ความรู้และแนวปฏิบัติในการกำจัดของ ASF คือ การแจ้งเตือนสถานการณ์การระบาด (Alertness), ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ (Cooperation) และความโปร่งใสในการรายงาน (Transparency) แต่ประเทศไทยไม่มีสักอย่างและทำตรงข้ามกันหมด เพราะมีธงตั้งไว้อย่างเดียวว่าทำยังไงก็ได้ ไม่ให้รู้ว่ามีการระบาด 

“ผมกล้าพูดแบบนี้ได้อย่างไร ผมจะแสดงให้ดูว่า รัฐบาลนี้ทำอะไรกับพวกเราบ้าง ปี 2562 รู้ว่ามี ASF และเสนอเป็นวาระแห่งชาติ แต่ไม่มีผลงาน ไร้น้ำยา สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีแจ้งในวันที่ 16 ตุลาคม 2562 ให้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ในหนังสือฉบับนี้ อ้างอิงถึง 3 คน คือ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรกรฯ และรองนายกรัฐมนตรี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ทราบแล้ว ดังนั้น อย่ามาบอกไม่รู้  

“ปี 2563 เริ่มมีสุกรตาย มีการทำลายหมู สหกรณ์เชียงใหม่ ลำพูน พังย่อยยับ ตั้งแต่ปี 2563-2564 มีมติ ครม.ออกมาชดเชยค่าทำลายหมู 3 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,000 ล้านบาท ทำลายหมูไปแล้ว 300,000 ตัว จะไม่เจอ ASF สักตัวเลยหรือ ที่อ้างว่า ทำลายเพราะโรค PPRS แต่โรค PRRS เป็นโรคประจำถิ่นที่มีวัคซีนใช้กันมานานแล้ว และก่อนหน้าประเทศไทยไม่เคยมีการทำลายหมูเพราะโรค PRRS นับแสนตัวมาก่อน แต่หลังปี 2562 ทำลายหมูจำนวนมากโดยบอกว่าเพราะ PRRS จึงเป็นเรื่องที่ฟังดูตลกมาก 

“จบปี หมูตายไป 300,000 ตัว แต่รัฐบาลตบตาเกษตรกรจัดงานเลี้ยงในปี 2563 เห็นรัฐมนตรีเกษตร เฉลิมชัย ศรีอ่อน ท่านอธิบดีกรมปศุสัตว์ ไปยืนยิ้ม ประกาศว่า ประเทศไทย คือ ประเทศเดียวในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ยังไม่พบการระบาดของโรค ASF ในสุกร โดยในปีนั้นประเทศไทยสามารถส่งออกไปยังประเทศกัมพูชา ในปริมาณสูงกว่าปี 2562 อย่างก้าวกระโดดถึง 400% จะไม่ให้ตัวเลขการส่งออกเติบโตได้อย่างไร เพราะประเทศเพื่อนบ้านติดโรคกันหมด มีแต่บ้านเราที่หลอกขายคนอื่นไปทั่ว แถมปิดปีด้วยงานเลี้ยงฉลองยอดการส่งออก จนนึกว่าท่านอธิบดีนี่เป็นผู้จัดการบริษัท แต่พอ เข้าปี 2564 การระบาดลงมาที่ภาคตะวันออกและตะวันตก กลายเป็นเอาไม่อยู่แล้ว ฟาร์มขนาดใหญ่เสียหาย เพราะ ปี 2563 ปกปิดข้อมูลไว้จนหมูเสียหายย่อยยับ เกิดการหนีตาย ระบายหมูขายกันถูกๆ ตัวละ 300-500 พ่อค้าคนกลางกดราคาหน้าฟาร์มกันอย่างเต็มที่ แต่ราคาเนื้อแดงหน้าเขียงราคาเดิม รวยขึ้นกันมหาศาล ด่านกักสัตว์ก็ผ่านกันอย่างสบาย ช่วงเร่งๆ จ่ายกันถึงคันละ 10,000 บาท โดยไม่มีใครสนว่าจะกระจายโรคแค่ไหน เพราะรัฐมนตรีและอธิบดีกรมปศุสัตว์ท่องไว้อย่างเดียวว่า ไม่มี ASF” ส.ส.ก้าวไกล อภิปราย

(ภาพจากไลฟ์ถ่ายทอดสด Voice TV)

ปดิพัทธ์ แสดงข้อมูลเพิ่มเติมว่า ภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสต์ทั่วประเทศถึงกับทนไม่ไหวจนต้องมีมติให้แล็บมหาวิทยาลัย รายงานผลถึงกรมปศุสัตว์ และให้กรมปศุสัตว์ประกาศสถานการณ์โรคระบาด โดยออกเป็นจดหมายถึงกรมปศุสัตว์ เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 64 เพราะผลแล็บของทุกมหาวิทยาลัยยืนยันหมดแล้วว่า พบเชื้อ เช่น ม.จุฬา พบอย่างน้อย 74 ตัวอย่าง ตลอดเดือน ต.ค.-พ.ย. 64 ขณะนั้นหมูเสียหายตายไปเป็นล้านตัว แต่ในเดือน ธ.ค. 64 กรมปศุสัตว์ก็ยังบอกว่าไม่พบและสถาบันสุขภาพสัตว์ยืนยันว่าไม่มี ASF แม้แต่ทางกัมพูชาตรวจเจอเชื้อจากหมูที่ส่งไปจากไทยก็ยังไม่ยอมรับว่ามี 

“ผมมีหลักฐานคือผลตรวจเจอเชื้อจากซากหมูที่ไปขุดเอง เป็นหมูที่ตายตั้งแต่กลางปี 2564 ที่อำเภอสามพราน นครปฐม กลิ่นเหม็นเน่าที่ผมขุดเจอ ไม่ใช่กลิ่นเหม็นเน่าของหมู แต่เป็นกลิ่นเหม็นเน่าของกรมปศุสัตว์ที่ปกปิดข้อมูล ผมเอาไอ้โม่งมาแล้ว อย่างที่ท่านนายกรัฐมนตรีบอกให้ไปหาไอ้โม่งมา หามาแล้วท่านมีปัญญาปรับ ครม.หรือไม่ จะท่องแต่ไม่รู้ๆ ไม่ได้ ถ้าปรับไม่ได้ก็ไม่สมควรเป็นนายกฯ” 

ปดิพัทธ์ ตั้งข้อสังเกตอีกว่า หลังการประกาศพบเชื้อ ASF วันที่ 10 ม.ค. 65 ภายใน 20 วันเท่านั้น กลับเจอเชื้อระบาดไป 21 จังหวัดทุกภูมิภาค เนื่องจากเชื้อไม่ได้เพิ่งมีแต่มีอยู่แล้ว จะให้เข้าใจอย่างไรหากไม่ใช่การปกกปิดข้อมูล ถามว่าปกปิดเพื่ออะไร คำตอบอยู่ที่รอยยิ้มของรัฐมนตรีในวันที่ส่งออกได้ 400%

เตือน ‘ทุนใหญ่’ รอกินรวบอุตสาหกรรมหมู

ปดิพัทธ์ ต่อไปกล่าวว่า หากยังปล่อยให้รัฐบาล กระทรวงเกษตรฯ และกรมปศุสัตว์ ที่เป็นดินแดนสนธยา ปกปิดข้อมูล ลอยตัวเหนือปัญหาต่อไป สิ่งที่จะเจอในอนาคตอันใกล้คือ ทุนใหญ่กินรวบผูกขาดการผลิตและกำหนดราคาเนื้อสุกรได้ทั้งหมด เพราะตอนนี้ โรคระบาดได้ทำลายฟาร์มรายย่อย รายเล็ก และรายกลางไปเกือบหมดสิ้นแล้ว ทุนใหญ่จะคุมปัจจัยการผลิตได้ไปจนถึงแผงราคาขายในตลาดสด เดิมตรงนี้จะมีการถ่วงดุลราคาระหว่างทุนเล็ก ทุนกลาง ทุนใหญ่ ตอนนี้จบแล้ว เหลือแต่ทุนใหญ่กินรวบเบ็ดเสร็จ 

ประการต่อมา การระบาดของโรคระบาดจะเกิดขึ้นซ้ำและซ้ำอีก ภายใต้วงจรอุบาทว์แบบเดิม รัฐปกปิดข้อมูล การเรียกรับผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐ เกษตรรายย่อยรับเคราะห์สิ้นเนื้อประดาตัว ส่วนผู้บริโภคแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่รู้จบ 

“ระบบปกปิดเน่าเฟะ ทำให้ตลอด 3 ปี เราเจอโรคระบาดสัตว์ไปแล้ว 3 ระลอก กาฬโรคม้า ลัมปี้สกิน และ ASF ความเสียหายทางเศรษฐกิจรวมกันคือ 56,868.25 ล้านบาท อีกโรคที่รอปะทุอยู่ระวังให้ดีคือ ไข้หวัดนก สายพันธุ์ใหม่ H5N6 ตอนนี้บทสนทนาเหมือนเดิมเป๊ะ คือ มีคนบอกว่าเจอแล้วที่นั่น เจอแล้วที่นี่ แต่รัฐบอกว่าไม่มี ถามว่าต้องมีคนตายก่อนใช่หรือไม่จึงจะมีการยอมรับเรื่องนี้ออกมา ส่วนประการต่อมา วงการวิชาชีพสัตวแพทย์หมดความน่าเชื่อถือ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติหากไม่กล้ายืนหยัดเพื่อความถูกต้อง 

“ปัญหาทั้งหมดนี้ จึงต้องถามไปยังนายกรัฐมนตรีว่าจะรับผิดชอบการปกปิดข้อมูล ความฉ้อฉลของกรมปศุสัตว์อย่างไร ท่านบอกให้เอาไอ้โม่งออกมาก็นั่งอยู่ข้างๆ กัน ถ้าหาไม่เจอก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร” ปดิพัทธ์ ระบุ 

แนะปรับโครงสร้างใหม่ทั้งระบบ

ปดิพัทธ์ ทิ้งท้ายว่า หากพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล เราจะชั่งน้ำหนักระหว่างการประกาศโรคระบาด และผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรอบคอบ โปร่งใส โดยแนวทางที่เราเสนอคือ การเพิ่มงบวิจัย จัดทำระบบฐานข้อมูลให้เห็นทั้งระบบของการปศุสัตว์ รวมไปถึงวงจรของการตรวจวินิจฉัยโรคที่โปร่งใส เพื่อให้รู้ว่าหากมีโรคระบาดเกิดขึ้นจะต้องปิดวาล์วที่จุดไหน ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีฐานข้อมูลเหล่านี้เลย 

ประการต่อมา รัฐต้องสร้างศูนย์ทำลายสัตว์ติดเชื้อในทุกภูมิภาค เพื่อให้เกิดการทำลายสัตว์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ลดภาระให้เกษตรกร เพราะหากต้องทำลายสัตว์เลี้ยงทีละเป็นล้านตัวก็เกินความสามารถเกษตรกรที่จะทำได้ ในด้านการฟื้นฟู รัฐต้องวางแนวทางเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย ทั้งเรื่องของการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเลี้ยงปศุสัตว์ในระบบ Biosecurity รวมไปถึงการสนับสนุนเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยอย่างน้อย 3 ปี เพื่อให้เกษตรกรนำไปปรับปรุงฟาร์ม สุดท้ายส่งเสริมการพัฒนาวัคซีน ASF โดยหากได้ผล จะต้องมีแผนการใช้วัคซีนที่ชัดเจน และต้องปรับลดการใช้วัคซีนลง จนสามารถเป็นประเทศปลอด ASF ได้ในที่สุด
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net