Skip to main content
sharethis

 

วงถก 'เปิดพื้นที่สร้างการเรียนรู้ SEC แลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง' ที่ปรึกษาสภาองค์กรชุมชนตำบล ระดับชาติ ระบุควรวิพากษ์แนวคิดการเชื่อมทะเล 2 ฝั่ง ของไทย ว่าตอบโจทย์หรือไม่ ขณะที่ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวชุมชน ต.ม่วงกลวง เผยคนระนองส่วนใหญ่ยังไม่ทราบข้อมูล

 

เมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ ภาคใต้ ไทยพีบีเอส จัดกิจกรรม “เปิดพื้นที่สร้างการเรียนรู้ SEC แลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง” ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดระนอง โดยมีวิทยากร ได้แก่ มนัส สุขวาณิชวิชัย ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดระนอง และ สมบูรณ์ คำแหง ที่ปรึกษาสภาองค์กรชุมชนตำบล ระดับชาติ มีผู้เข้าร่วมประกอบด้วยหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชนในพื้นที่ อาทิ อุทยานแห่งชาติแหลมสน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หอการค้าจังหวัดระนอง องค์การบริหารส่วนจังหวัด สภาองค์กรชุมชน เครือข่ายท่องเที่ยวชุมชน เครือข่ายชาติพันธุ์ รวมทั้งมีผู้สนใจจากจังหวัดชุมพรเข้าร่วมเวทีด้วย

มนัส สุขวาณิชวิชัย กล่าวว่า โครงการแลนบริดจ์ชุมพร-ระนอง เกิดจากดำริของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดชุมพร ไม่ได้ผลักดันมาจากระนอง สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ มีการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก 2 ฝั่งทะเล อ่าวไทยกับอันดามัน เพื่อเป็นประตูการค้า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีการระบุพื้นที่เหมาะสมในการก่อสร้างท่าเรือระนอง ที่อ่าวอ่าง ต.ราชกรูด อ.เมือง จ.ระนอง นอกจากนั้นจะมีการพัฒนาทางหลวงและมอเตอร์เวย์ รถไฟรางคู่ ท่อส่งน้ำมัน เส้นทางหลังสวน-พะโต๊ะ-ราชกรูด-อ่าวอ่าง คลังน้ำมัน 2 ฝั่งทะเล พื้นที่หลังท่า 2 ฝั่งทะเล นิคมอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ถ้าไม่มีอุตสาหกรรมหลังท่าไม่มีประโยชน์กับระนอง เป็นแค่ทางผ่าน ไม่มีการเพิ่มมูลค่าให้วัตถุดิบในพื้นที่ โครงการนี้เป็นโอกาสที่ดี ทำให้มีการพัฒนาจังหวัดระนองแบบก้าวกระโดด สามารถสร้างงานให้ลูกหลานในอนาคต

สมบูรณ์ คำแหง กล่าวว่า โครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง เป็นเส้นทางแลนด์บริดจ์เส้นที่ 3 เส้นแรกคือเซาเทิร์นซีบอร์ด ขนอม–กระบี่ มีการยกเลิกโครงการเนื่องจากส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว จ.กระบี่ ต่อมามีการเลือกเส้นทางสงขลา-สตูล มีการทบทวนโครงการกรณีพื้นที่ จ.สตูล เนื่องจากมีความกังวลว่าจะต้องสูญเสียพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ประมาณ 5,000 ไร่ กังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด ประกอบกับกระบวนการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพไม่เป็นไปตามครรลองที่ควรจะเป็น เราควรวิพากษ์แนวคิดการเชื่อมทะเล 2 ฝั่ง ของประเทศไทย ว่าตอบโจทย์หรือไม่ คู่ค้าสำคัญของไทยอยู่ที่ฝั่งตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น ฝั่งอันดามันมีสินค้าน้อย ผู้ประกอบการไม่ได้ต้องการท่าเรือฝั่งอันดามัน เขาต้องการให้พัฒนาท่าเรือสงขลาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

“ถ้าดูบทเรียนจากภาคตะวันออก มีการพัฒนาเต็มพื้นที่ สุดท้ายต้องถมทะเล เกิดความขัดแย้งกับชาวประมง กลุ่มเพาะเลี้ยง ในการใช้ประโยชน์ทะเล ประเภทอุตสาหกรรมของภาคตะวันออกที่มีปัญหามากคือปิโตรเคมี สภาพในอนาคตระนองจะเป็นแบบนี้หรือเปล่า อยู่ในสภาวะที่จะควบคุมได้จริงไหม การเปลี่ยนแปลงในอนาคตของระนองจะมีหลักประกันแค่ไหน ต้องแลกกับฐานทรัพยากรที่มีอยู่ไหม ภายใต้โอกาสมีความเสี่ยง อย่าดูองค์ประกอบของโครงการแบบแยกส่วน ท่าเรือ ลานเทกอง เส้นทางรถไฟ นิคมอุตสาหกรรม จะอยู่ตรงจุดไหน ควรชั่งน้ำหนัก” สมบูรณ์ กล่าว

ส่วน จิรศักดิ์ จารุศักดาเดช หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแหลมสน ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริบทพื้นที่ว่า  โครงการท่าเรือน้ำลึกระนองอยู่บริเวณอ่าวอ่าง รอยต่อของอำเภอเมืองกับอำเภอกะเปอร์ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ 2 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง กับอุทยานแห่งชาติแหลมสน ป่าชายเลนในจังหวัดระนองเป็นป่าชายเลนผืนใหญ่ มีความอุดมสมบูรณ์ และมีความหลากหลายของพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลโลกจากองค์การยูเนสโก อีกทั้งอุทยานแห่งชาติ 6 แห่งในพื้นที่ จ.ระนอง พังงา และภูเก็ต กำลังดำเนินการนำเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่มาก ต้องชั่งน้ำหนักดูว่าเราจะยอมเสียทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพไหม วิถีชีวิตของคนในพื้นที่จะต้องเปลี่ยนไป มันจะคุ้มกันไหม ต้องศึกษาผลดีผลเสีย ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมว่าได้ประโยชน์อย่างไร 

ด้านผู้เข้าร่วมเวทีสะท้อนว่ายังไม่ค่อยรับรู้ข้อมูลโครงการ อยากให้มีการนำเสนอข้อมูลที่รอบด้าน เพื่อการตัดสินใจ อยากให้เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในจังหวัดระนองได้แสดงความคิดเห็นครอบคลุมทุกกลุ่ม อีกทั้งได้แสดงความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อคนในพื้นที่

ปรีชา หัสจักร์ ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวชุมชน ต.ม่วงกลวง กล่าวว่า คนระนองส่วนใหญ่ยังไม่ทราบข้อมูล อยากรู้ว่ามีผลกระทบอย่างไร อยากได้ข้อมูลที่รอบด้าน อยากมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นว่าควรสร้างหรือไม่ ชาวบ้านในพื้นที่โครงการท่าเรือระนองโดยส่วนใหญ่มีอาชีพประมง พึ่งพาระบบนิเวศป่าชายเลน

สำราญ ใจดี ประธานอาสาสมัครทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จ.ระนอง กล่าวว่า เป็นห่วงเรื่องผลกระทบต่อชาวบ้าน กรณีน้ำมันภาคตะวันออก เขารับรองอย่างดีว่าจะไม่รั่วแต่ก็รั่ว วิถีชีวิตของชาวบ้านถูกทำลาย ต้องศึกษาผลกระทบให้ชัดเจน รับฟังความเห็นชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบว่าเห็นด้วยไหม โครงการแลนบริดจ์ใช้พื้นที่มาก บางพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ การเวนคืนที่ดินจะต้องให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้าน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net