Skip to main content
sharethis

เช็ควาทะทูตรัสเซียแถลงต่อสื่อไทยกรณีการสู้รบในยูเครน พบ หลายส่วนคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง คลุมเครือ บางครั้งยกเรื่องมาพูดผิดบริบท ผลิตซ้ำข้อกล่าวหาจากรัฐบาลเครมลิน

เยฟกินี โทมิคิน

15 มี.ค. 2565 เยฟกินี โทมิคิน เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย จัดงานแถลงข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์การสู้รบในประเทศยูเครน ณ สถานทูตรัสเซียประจำประเทศไทย ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนไทยจำนวนมาก 

อย่างไรก็ตาม เมื่อทีมข่าว ‘ประชาไท’ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง (factcheck) ถ้อยแถลงของทูตรัสเซีย ได้พบว่ามีหลายท่อนหลายตอนที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง ไม่ชัดเจนในเนื้อหา หรือเป็นนำเอาข้อกล่าวหาที่ไม่มีหลักฐานใดๆ ของรัฐบาลรัสเซียมาผลิตซ้ำ 

ทั้งนี้ งานแถลงข่าวดังกล่าวจัดขึ้นในห้วงเวลาที่ทางการรัสเซียกำลังโหมเดินหน้าสงครามข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับปฏิบัติทางทหารในยูเครน ซึ่งนับวันทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และยังไม่มีท่าทีว่าจะยุติในเร็ววัน 

คำอ้างจากทูตรัสเซีย: การเปิดระเบียงมนุษยธรรมมีทุกวันตั้งแต่ 10 นาฬิกาเป็นต้นไปและรัสเซียก็รับประกันความปลอดภัย แต่รัฐบาลยูเครนต่างหากที่ไม่ตกลงให้ประชาชนเดินทางออกจากเมืองที่ถูกปิดล้อม เหมือนว่าใช้เป็นตัวประกัน

ผลการตรวจสอบ: ไม่ชัดเจน (Contested) 

เจ้าหน้าที่รัฐบาลยูเครนรายงานว่า กองทัพรัสเซียที่ปิดล้อมเมือง Mariupol เพิ่งเปิดทางให้ประชาชนขับรถหลบหนีออกจากเมืองครั้งแรกในวันที่ 15 มีนาคม นับตั้งแต่การปิดล้อมเริ่มต้นขึ้นกว่าสองสัปดาห์ที่แล้ว แต่ยังไม่อนุญาตให้ขบวนรถส่งอาหารและเวชภัณฑ์เข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ยังติดค้างในเมือง 

ก่อนหน้านี้รัฐบาลยูเครนได้กล่าวหารัสเซียว่าละเมิดข้อตกลงหยุดยิงในพื้นที่ระเบียงมนุษยธรรมตามเมืองต่างๆหลายครั้ง ทำให้การอพยพประชาชนต้องถูกล้มเลิกกลางคันบ่อยครั้ง  

นอกจากนี้ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพข้อตกลงว่าด้วยระเบียงมนุษยธรรมอย่างเข้มงวด เพื่อที่การอพยพประชาชนจะได้เป็นไปอย่างปลอดภัยจริง

คำอ้างจากทูตรัสเซีย: ไม่มีสื่อตะวันตกพูดถึงโศกนาฏกรรมในดอนบาสที่ถูกกองกำลังยูเครนยิงปืนใหญ่ มีคนเสียชีวิตมากกว่า 13,000 ราย

ผลการตรวจสอบ: เข้าข่ายบิดเบือน (Misleading) 

ทางการรัสเซียและสื่อในการควบคุมของรัฐบาลรัสเซีย มักให้ข่าวในลักษณะที่ทำให้คนอ่านเข้าใจว่า ยูเครนสังหารประชาชนหรือชาวรัสเซียไปกว่า 13,000 รายในแคว้นดอนบาสและยูเครนตะวันออก 

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่าตัวเลขนี้มาจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ที่ระบุว่าศึกแบ่งแยกดินแดนในยูเครนตะวันออกมีผู้เสียชีวิตประมาณ 13,000 - 14,000 ราย ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา แบ่งเป็นพลเรือน 3,000 กว่าราย ทหารฝ่ายกบฎ (ซึ่งรัสเซียให้การสนับสนุน) ประมาณ 5,600 ราย และทหารฝ่ายยูเครนประมาณ 4,100 ราย 

นอกจากนี้ สื่อตะวันตกหลายแห่งได้พูดถึงและรายงานสถานการณ์สงครามแบ่งแยกดินแดนยูเครนมาตลอดตั้งแต่ปี 2557 

คำอ้างจากทูตรัสเซีย: เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ บอกว่ามีสถาบันวิจัยชีวภาพในยูเครน ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ รัสเซียได้รับทราบข้อมูลมาก่อนแล้ว

ผลการตรวจสอบ: ตรงตามข้อเท็จจริง แต่เข้าข่ายบิดเบือน (Factually true, but misleading)

ในช่วงไม่กี่วันมานี้ เจ้าหน้าที่รัฐบาลรัสเซียได้กล่าวหาหลายครั้งว่ายูเครนมีโครงการพัฒนาอาวุธชีวภาพ และพยายามโยงข้อกล่าวหานี้กับคำพูดของเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ระบุว่ายูเครนมีห้องทดลองชีวภาพและศูนย์วิจัยโรคระบาด

อย่างไรก็ตาม การมีห้องทดลองชีวภาพหรือศูนย์วิจัยโรคระบาด ไม่ได้แปลว่าสถานที่เหล่านั้น มีการพัฒนาอาวุธชีวภาพ เพราะหลายประเทศก็มีห้องทดลองและศูนย์วิจัยในลักษณะเดียวกันเพื่อศึกษาเชื้อโรค, โรคระบาด, และวิทยาศาสตร์ด้านชีวภาพอื่นๆ 

ทั้งนี้ ทางการรัสเซียไม่มีการนำหลักฐานใดๆมาแสดงเพื่อพิสูจน์ว่ายูเครนมีการพัฒนาอาวุธชีวภาพ นอกจากคำกล่าวหาที่อ้างโดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลรัสเซียเท่านั้น 

ด้านสหประชาชาติระบุว่า ไม่ทราบถึงการกระทำใดๆหรือข้อสงสัยใดๆที่บ่งชี้เลยว่า มีการพัฒนาอาวุธชีวภาพในยูเครน

คำอ้างจากทูตรัสเซีย: ยูเครนมีเป้าหมายจะใช้การส่งนกไปที่รัสเซีย เพื่อเป็นพาหะนำอาวุธชีวภาพ ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายมากไปกว่าประเทศรัสเซีย

ผลการตรวจสอบ: กล่าวหาโดยไม่มีหลักฐาน (Baseless) 

คำกล่าวอ้างนี้มีที่มาจากเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมรัสเซีย ซึ่งให้สัมภาษณ์กับสื่อรัสเซียแห่งหนึ่งว่า กองทัพรัสเซียได้ค้นพบแผนลับของยูเครนที่ใช้ฝูงนกอพยพเป็นพาหะนำอาวุธชีวภาพ เพื่อบินไปแพร่เชื้อในรัสเซีย 

การกล่าวอ้างดังกล่าว เป็นการกล่าวหาที่ไม่มีการแสดงพยานหลักฐานใดๆ นอกจากอ้างอิงจากคำพูดของเจ้าหน้าที่ทางการรัสเซียเท่านั้น 

ทั้งนี้ มีข้อมูลระบุด้วยว่าไม่เคยมีประเทศใดประสบความสำเร็จในการใช้ฝูงนกเป็นอาวุธระยะไกล เช่น สหรัฐอเมริกา เคยพยายามทดลองใช้นกบินไปทิ้งระเบิดใส่ข้าศึก แต่ก็ต้องล้มเลิกไปในปี 2496  

คำอ้างจากทูตรัสเซีย: มีกรณีในประเทศตะวันตกห้ามไม่ให้วงดนตรีออเครสตร้า เล่นเพลงรัสเซียที่ประพันธ์โดยไชคอฟสกี้ นักประพันธ์เพลงคลาสสิกชื่อดังชาวรัสเซีย เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย

ผลการตรวจสอบ: เข้าข่ายบิดเบือน (Misleading)

คำกล่าวอ้างนี้มีที่มาจากข่าววงดนตรี Cardiff Philharmonic Orchestra ในสหราชอาณาจักร ยกเลิกการแสดงเพลง “1812 Overture” ของไชคอฟสกี้ออกจากกำหนดการเดิมซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 18 มีนาคมนี้ 

อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการของวงดนตรีอธิบายว่า ตัดสินใจตัดการแสดงเพลง “1812 Overture” เนื่องจากเป็นเพลงที่มีเนื้อหาเชิดชูการทำสงครามของกองทัพรัสเซียในสมัยพระเจ้าซาร์ และตามธรรมเนียมแล้ว การแสดงเพลงดังกล่าวจะต้องจำลองการยิงปืนใหญ่หลายนัด ดังนั้น วงดนตรีและฝ่ายสถานที่จึงสรุปว่า จะดูเป็นเรื่องไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน 

ถึงแม้จะการแสดงเพลง “1812 Overture” ถูกยกเลิก แต่วงดนตรี Cardiff Philharmonic Orchestra ระบุว่าจะมีการแสดงเพลงที่ประพันธ์โดยชาวรัสเซียในอีก 3 รายการด้วยกันเร็วๆนี้ มิได้มีการห้ามเล่นเพลงที่ประพันธ์โดยชาวรัสเซีย หรือมีเจตนาคว่ำบาตรผลงานเพลงรัสเซียแต่อย่างใด 

คำอ้างจากทูตรัสเซีย: UNICEF และองค์กรอื่นๆ ไปไหนตอนที่ยูเครนปฏิบัติการในดอนบาส 8 ปีที่ผ่านมา

ผลการตรวจสอบ: บิดเบือนข้อเท็จจริง (False)

คำถามดังกล่าวส่อเจตนากล่าวหาว่า กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) และองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ มิได้สนใจหรือมีบทบาทตั้งแต่การสู้รบในแคว้นดอนบาสปะทุขึ้นตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา แต่ตามจริงแล้ว UNICEF ได้เคลื่อนไหว ตรวจสอบข้อเท็จจริง และออกข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสวัสดิภาพของเด็กที่ประสบภัยจากการสู้รบในดอนบาสมาตลอดหลายปี เช่น รายงานของ UNICEF เมื่อปี 2563 เตือนว่ามีเยาวชนกว่า 500,000 คนตกอยู่ในความเสี่ยงจากการสู้รบ โดยเฉพาะการใช้กับระเบิดและวัตถุระเบิดจากทั้งสองฝ่ายในสงคราม

นอกจาก UNICEF แล้ว องค์การระหว่างประเทศอื่นๆก็มีบทบาทในแคว้นดอนบาสมาตลอดเช่นกัน อาทิ ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ดำเนินการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากการสู้รบในดอนบาส และ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ประณามการทรมานและละเมิดสิทธิมนุษยชนในดอนบาส ทั้งจากฝ่ายยูเครนและฝ่ายกบฎ 

คำอ้างจากทูตรัสเซีย: รัสเซียไม่โจมตีโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน ไม่ถล่มเมืองในยูเครน 

ผลการตรวจสอบ: บิดเบือนข้อเท็จจริง (False)

มีรายงานข่าว ปากคำพยานเห็นเหตุการณ์ และรายงานจากผู้สังเกตการณ์จำนวนมาก ระบุชัดเจนว่ากองทัพรัสเซียโจมตีหรือถล่มเป้าหมายพลเรือนหลายครั้ง เป็นเหตุให้พลเรือนเสียชีวิตจำนวนมาก เช่น ยิงปืนใหญ่หรือขีปนาวุธใส่อาคารที่อยู่อาศัยในกรุงเคียฟและเมืองอื่นๆอย่างต่อเนื่อง, ทิ้งระเบิดใส่โรงพยาบาลผดุงครรภ์ในเมือง Mariupol เมื่อวันที่ 10 มีนาคม, ยิงปืนครกถล่มกลุ่มผู้ลี้ภัยสงครามในเมือง Irpin เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ฯลฯ 

ทั้งนี้ สหประชาชาติรายงานว่า มีพลเรือนเสียชีวิตในสงครามยูเครนแล้วอย่างน้อย 691 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 48 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 15 มีนาคม) ซึ่งคาดว่าตัวเลขที่แท้จริงสูงกว่านี้มาก 

คำอ้างจากทูตรัสเซีย: หลายคนไม่รู้ว่าทหารยูเครนจัดตั้งกำลังอาวุธ ซ่อนตัวตามโรงเรียนอนุบาล ตามพื้นที่ในเมือง

ผลการตรวจสอบ: กล่าวหาโดยไม่มีหลักฐาน (Baseless)

เป็นการกล่าวอ้างโดยกระทรวงกลาโหมรัสเซียและเผยแพร่ต่อในสื่อทางการรัสเซีย โดยที่ไม่มีการนำหลักฐานใดๆ มาแสดง 

ก่อนหน้านี้ ทางการรัสเซียได้เผยแพร่ข้อกล่าวหาในลักษณะเดียวกันเกี่ยวกับการทิ้งถล่มใส่โรงพยาบาลในเมือง Mariupol โดยอ้างว่าทหารยูเครนเข้าไปซ่อนตัวในโรงพยาบาล ซึ่งก็ไม่มีหลักฐานใดๆ มาแสดงเช่นกัน 

คำอ้างจากทูตรัสเซีย: ตลอดแปดปีที่ผ่านมา มีกรณีนักข่าวในยูเครนตายหลายคนแล้ว ไม่มีการลงโทษใดๆ

ผลการตรวจสอบ: ตรงตามข้อเท็จจริง (Factually true)

รายงานของคณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (CPJ) ระบุว่าในรอบแปดปีตั้งแต่การสู้รบในยูเครนตะวันออกเริ่มต้นขึ้น มีสื่อมวลชนเสียชีวิตอย่างน้อย 9 ราย โดย 6 รายนี้เสียชีวิตขณะลงพื้นที่รายงานการสู้รบระหว่างทั้งสองฝ่าย อีก 3 รายเสียชีวิตในลักษณะที่เชื่อว่าถูกลอบสังหาร อันเป็นผลมาจากการรายงานเปิดโปงการทุจริตและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในยูเครน ซึ่งปัจจุบัน ยังไม่มีการหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมแต่อย่างใด 

คำอ้างจากทูตรัสเซีย: หากถามถึงการปิดสื่อในรัสเซียนั้น สื่อยูเครนก็ถูกปิดเหมือนกันเพราะมีท่าทีต่างจากรัฐบาล 

ผลการตรวจสอบ: ตรงตามข้อเท็จจริง (Factually true)

ทันทีที่กองทัพรัสเซียบุกยูเครน รัฐบาลยูเครนได้ออกคำสั่งระงับใบอนุญาตสำนักข่าว 3 แห่งที่ระบุว่ามีจุดยืน “สนับสนุนรัสเซีย” โดยรัฐบาลยูเครนกล่าวหาว่าทั้ง 3 สำนักข่าวมีพฤติกรรมเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อ 

อย่างไรก็ตาม โฆษกสหภาพยุโรปกล่าวว่าคำสั่งดังกล่าวเสี่ยงต่อการจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชน ขณะที่องค์กรวิชาชีพสื่อในยูเครนก็เตือนว่าส่อเป็นการใช้อำนาจรัฐปิดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเช่นกัน 

คำอ้างจากทูตรัสเซีย: ในส่วนของสื่อรัสเซียที่ถูกระงับนั้น เป็นเพราะผิดเงื่อนไขการจดจัดตั้ง เนื่องจากจดทะเบียนในรัสเซีย แต่มารายงานข่าวให้คนต่อต้านรัสเซีย 

ผลการตรวจสอบ: บิดเบือนข้อเท็จจริง (False)

มีสื่ออิสระที่ไม่ขึ้นตรงกับรัฐบาลรัสเซียจำนวนมาก ถูกกดดันให้เซนเซอร์ตัวเองหรือปิดตัวลง เนื่องจากต้องรายงานข้อเท็จจริงในมุมมองที่รัฐบาลกำหนด เช่น ห้ามเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นในยูเครนว่าสงคราม ต้องเรียกว่า “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” เท่านั้น ซึ่งเมื่อเดือนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เพิ่งลงนามกฎหมายพิเศษ ห้ามการเสนอข้อมูลหรือข่าวสารที่รัฐบาลชี้ว่าบิดเบือนเกี่ยวกับปฏิบัติการในยูเครน โทษสูงสุดจำคุก 15 ปี สร้างความหวาดกลัวไปทั่ววงการสื่อรัสเซีย 

นอกจากนี้ ตำรวจรัสเซียได้จับกุมผู้สื่อข่าวหลายคนขณะรายงานข่าวการชุมนุมต่อต้านสงครามในรัสเซีย ทั้งที่เป็นเพียงการทำหน้าที่รายงานข้อเท็จจริงตามหลักวิชาชีพสื่อเท่านั้น

คำอ้างจากทูตรัสเซีย: สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติมีมติร่วมกันทุกปีคือการประณามการเชิดชูลัทธินาซี (glorification of Nazism) มีสองประเทศที่โหวตค้าน คือสหรัฐอเมริกา และยูเครน 

ผลการตรวจสอบ: ตรงตามข้อเท็จจริง แต่เข้าข่ายบิดเบือน (Factually true, but misleading)

ทูตรัสเซียยกข้อความดังกล่าวมาโดยมิได้ให้บริบทถึงสาเหตุการโหวตค้านของสหรัฐอเมริกาและยูเครนโหวตค้าน

ทางการสหรัฐฯ ระบุว่า สาเหตุที่โหวตค้านเนื่องมาจากข้อความหนึ่งในมติที่ประชุม เรียกร้องให้ชาติสมาชิกออกกฎหมายห้ามการเชิดชูลัทธินาซีหรือเคลื่อนไหวเชิดชูลัทธินาซีอย่างเด็ดขาด ซึ่งขัดกับบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของรัฐธรรมนูญอเมริกัน ที่อนุญาตให้ประชาชนพูด แสดงความเห็น และรณรงค์ในอุดมการณ์ต่างๆได้ โดยที่รัฐไม่สามารถห้ามทางกฎหมายได้ ทั้งนี้ ทางการสหรัฐฯ ระบุเช่นกันว่าถึงแม้ลัทธินาซีจะเป็นที่น่ารังเกียจในสังคมอเมริกัน แต่สังคมอเมริกันย่อมมีสิทธิในการแสดงความเห็น ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือต่อต้านลัทธินาซี  

ด้านรัฐบาลยูเครนระบุว่า สาเหตุที่โหวตค้านเนื่องมาจากเล็งเห็นว่ามติดังกล่าวเป็นเครื่องมือทางการเมืองระหว่างของรัฐบาลรัสเซีย ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลรัสเซียได้พยายามสร้างข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลยูเครนอยู่ในการควบคุมของกลุ่มนาซีขวาจัดมาตลอด เพื่อโจมตีและทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลยูเครน 

ทั้งนี้ ในการบุกยูเครนล่าสุดโดยกองทัพรัสเซียครั้งล่าสุด รัฐบาลรัสเซียได้หยิบยกข้อกล่าวหาว่ายูเครนตกอยู่ในการควบคุมของกลุ่มนาซีขวาจัด มาใช้เป็นสาเหตุหนึ่งของ “ปฏิบัติการทางทหารพิเศษ” ในยูเครนเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ตลอดระยะเวลาการแถลงข่าวในวันนี้ ทูตรัสเซียไม่เรียกปฏิบัติการในรัสเซียว่าสงครามหรือการรุกราน แต่ใช้คำว่า “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” หรือ Special Military Operation นอกจากนั้น สำนักข่าวข่าวสดอิงลิชและไทยเอ็นไควเรอร์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ไม่มีสื่อต่างประเทศได้รับเชิญให้ไปร่วมงานแถลงข่าวเลย

คำแปล การแถลงข่าวโดยเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย เยฟกินี โทมิคิน (รวมช่วงถาม-ตอบ)

แปลจากภาษาอังกฤษเป็นไทย โดย ทีมข่าวประชาไท

ขอบคุณทุกท่านที่เดินทางมา การมาที่นี่น่าจะสะท้อนความหวังในการที่จะทราบข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แม้บางคน ผมรู้ว่าบางท่านก็สนับสนุนยูเครน และโพสท์ภาพและข้อความที่เกี่ยวข้องในบัญชีโซเชียลมีเดีย แต่ผมจะพยายามเปิดกว้าง และให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ก่อนอื่นใดอยากจะขอกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซีย ในปีนี้ก็ถือว่าเป็นอีกปีที่สำคัญที่ความสัมพันธ์ทั้งสองชาติจะครบรอบ 155 ปี เราภูมิใจกับความสัมพันธ์ที่ยืนยาวและต่อเนื่องระหว่างไทยและรัสเซีย ที่เริ่มตั้งแต่ความสัมพันธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ในปี 1891 เมื่อมกุฎราชกุมารนิโคลัสเสด็จมายังสยามเมื่อครั้งเดินทางในเอเชีย กษัตริย์ไทยและรัสเซียมีบทบาทสำคัญในการสร้างพื้นฐานอันสำคัญของความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติ ที่นำไปสู่ความเข้าใจและเจตจำนงร่วมกัน ไปจนถึงการช่วยเหลือกันในยามลำบาก สถานทูตรัสเซียมีการสื่อสารอย่างใกล้ชิดกับทางการไทยและองค์กรต่างๆ เกี่ยวกับงานรำลึกในปีนี้ ในเดือน ธ.ค. ปีนี้ สถานทูตรัสเซีย รัฐบาลไทยและกระทรวงการต่างประเทศ จะมีพิธีสำหรับการแข่งขันคัดเลือกโลโก้ในงานครบรอบความสัมพันธ์ ตอนนี้เรากำลังทำงานในกรอบทวิภาคีหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการคมนาคม สื่อสารมวลชน เทคโนโลยี ปราบอาชญากรรมข้ามชาติ การโทรคมนาคม วิทยาศาสตร์และความร่วมมือด้านอวกาศ ความสัมพันธ์ที่ยืนยาวนี้นี้ยังเป็นที่เห็นได้ไปจนถึงชีวิตประจำวัน เห็นได้จากความสัมพันธ์อันเป็นมิตรของประชาชน

ผมเดาว่าท่านคงจะสนใจเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้และอะไรที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากนั้นระหว่างรัสเซียกับยูเครน หวังว่าทุกคนจะใช้โอกาสนี้เข้าใจภาพรวมของเหตุการณ์โดยไม่เพียงผ่านแต่สายตาของตะวันตก ที่อาจเข้าถึงได้ง่ายกว่าผ่านการนำเสนอข่าวซ้ำๆ ของสื่อท้องถิ่น สิ่งที่ชาติตะวันตกทำเป็นสิ่งแรกด้วยการปิดกั้นสื่อรัสเซียทั้งหมด ก็อาจเป็นเพราะเขาต้องการไม่ให้คนของเขารู้ข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้นในยูเครนกันแน่ ถือเป็นสงครามข้อมูลข่าวสารที่ไม่ล่วงรู้มาก่อน ผมรู้ว่าทีวีรัสเซียหลายรายการ และรายการในช่องยูทูปถูกนำออกจากเครือข่ายนำเสนอเนื้อหาในระดับนานาชาติ เพราะสิ่งที่เขาเรียกกันว่าโฆษณาชวนเชื่อ อาจเป็นเพราะสื่อตะวันตกคงจะรู้สึกมีความสุขกับการดูข้อมูลจากฝั่งตัวเองและข่าวปลอม 

หน้าที่ของเราในวันนี้คือการอธิบายข้อมูลเบื้องหลังทางประวัติศาสตร์ของวิกฤตครั้งนี้ และพูดถึงความเข้าใจของเราต่อเรื่องนี้ เรื่องในยูเครนไม่ได้เกิดขึ้นเพียงสามอาทิตย์ที่แล้ว แต่มันมีปัจจัยเรื่องประวัติศาสตร์ที่ยาวนานหลายศตวรรษและหลายบริบทตามลำดับพัฒนาการของประเทศของผมมาตั้งแต่สมัยยุคกลาง แต่เราเริ่มกันในช่วงสามสิบปีที่แล้วเลยดีกว่า ในช่วงที่สหภาพโซเวียตมีการแยกตัวในปี 1991 ในช่วงที่สิ่งที่เรียกว่าสงครามเย็นจบลง ในวันนั้น ชาวรัสเซียและประชาชนในอดีตสหภาพโซเวียตหลายคนหวังว่าจะมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับชาติตะวันตกและมีสไตล์ชีวิตที่ยืดหยุ่นขึ้น ถ้าเราพูดถึงสถานการณ์การเมืองในครั้งนั้น ที่ก็ไม่ได้เป็นความลับอะไร ก็คือก่อนที่สหภาพจะแยกตัว หลังจากการรวมตัวของเยอรมนีอย่างสันติ ก็มีคำมั่นสัญญาจากประเทศตะวันตกหลายครั้งว่าจะไม่ขยายอาณาเขตของ NATO มายังชายแดนสหภาพโซเวียตเดิม แต่คำสัญญาที่ได้รับในวันนั้นเป็นเรื่องโกหก ที่ผ่านมามีการขยายอาณาเขตของนาโต้มาแล้ว 5 ระลอก เราร้องขอชาติตะวันตกหลายหนให้มานั่งคุยกันเพื่อหาทางออกให้สถานการณ์ความมั่นคง แต่ชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่เป็นคนก่อตั้ง และใครก็รู้ว่าใครเป็นผู้นำชาติตะวันตกตอนนั้น ตอนนั้นเขาคงรู้สึกว่ามีสิ่งที่น่าจะเรียกได้ว่า เป็นความรู้สึกถึงความเหนือกว่าอย่างสมบูรณ์แบบ และแยกตัวประชาคมชาติตะวันตกออกมา และรู้สึกว่าพวกเขาทำอะไรก็ได้ รวมถึงการไปรุกรานประเทศอื่นให้เปลี่ยนรัฐบาล ไปฆ่านักการเมือง บางครั้งคุณจะเห็นจากหลายๆ ครั้ง ว่าสหรัฐฯ ไปทิ้งระเบิดที่ประเทศใดบ้างหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ลิสต์นี้มีอยู่ราว 30 ประเทศในทวีปต่างๆ ของโลก รัสเซียก็มีความกังวลต่อความมั่นคงของตัวเอง และมีการขอพูดคุยหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายก็มีการร้องเรียนอย่างชัดเจนต่อ NATO และสหรัฐฯ ในเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว เราเสนอมาตรการหลายอย่างที่การันตีความมั่นคงและเสถียรภาพต่อประเทศต่างๆ ในยุโรปและรัสเซีย แต่ข้อกังวลก็ถูกเพิกเฉยอีกครั้งโดยสหรัฐฯ ชาติตะวันตก และ NATO เพื่อนผมคนหนึ่งพูดว่า ถ้ามีคนมาตีหัวคุณเป็นเวลานาน คุณจะมีท่าทีอย่างไร คุณจะทนได้นานแค่ไหน หนึ่งชั่วโมง หรือสองชั่วโมง แต่ถ้ามีคนๆ หนึ่งตบหัวคุณเป็นเวลา 8 ปี หรือ 30 ปี คุณจะอดทนได้นานแค่ไหน รัสเซียจึงไม่สามารถทนการยั่วยุจากประชาคมตะวันตกได้

เรื่องวิกฤตยูเครน มีการตระเตรียมความทารุณโหดร้ายไว้ก่อนแล้ว วันนี้เรามีหลักฐานว่าที่ผ่านมาสหรัฐฯ พยายามปลุกปั่นให้รัฐบาลยูเครนโจมตีโดเนตสค์และลูฮันสก์ในวันที่ 8 มี.ค. ปฏิบัติการพิเศษทางทหารจึงเริ่มขึ้น เพราะหลักฐานหลายอย่างที่รัสเซียได้รับ รัสเซียจึงต้องตอบโต้โดยคำนึงถึงเรื่องของประชาชนรัสเซียที่เป็นส่วนใหญ่ของโดเนตสค์ ในทางข้อเท็จจริง ปฏิบัติการทางทหารกระทำเพื่อป้องกันความสูญเสียของพลเรือน ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นเป้าหมายหลักของกองกำลังของเรา ตลอดเวลา 8 ปีที่ผ่านมา รัสเซียพยายามป้องกันการปะทะทางทหาร แต่ผลก็เป็นศูนย์ ท้ายที่สุดก็ไม่มีทางเลือกอื่นแล้วสำหรับการป้องกันหายนะที่จะเกิดขึ้น

ตอนนี้รัสเซียพยายามทุกอย่างที่จะหยุดความทารุณนี้ แต่รัฐบาลเคียฟก็ไม่ร่วมมือ เรื่องวิกฤตมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นจากการปิดล้อม ในปี 2014 ก็มีเรื่องการตัดโครงสร้างพื้นฐานและการสื่อสารในพื้นที่ที่เคยเป็นของยูเครน เช่นการประกาศเอกราชของไครเมีย ยูเครนก็ตัดโครงสร้างพื้นฐานทางประปาบนที่ราบสูงยูเครนที่สร้างในสมัยสหภาพโซเวียต หลังแยกตัวไป โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ก็ควรถูกใช้เพื่อประโยชน์ของพลเมือง แต่รัฐบาลยูเครนก็ตัดมันทิ้งเสีย ปัจจุบันรัสเซียรับรองผู้ลี้ภัยนับล้านจากยูเครนแล้ว และจำนวนก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้มีมากกว่า 6 ล้านคนที่ลี้ภัยจากยูเครนและขอลงทะเบียนมายังรัสเซีย รัสเซียเปิดระเบียงมนุษยธรรมมีทุกวันตั้งแต่ 10 นาฬิกา เรายืนยันการเดินทางอย่างเสรีของประชาชนจากหลายเมือง แต่กองกำลังยูเครนและรัฐบาลยูเครนกลับไม่เห็นด้วยที่จะให้ประชาชนเดินทางออกจากเมืองที่ถูกปิดล้อม เอาจริงๆ ก็เหมือนใช้คนเหล่านี้เป็นตัวประกัน 

สิ่งที่ต่างไปจากโฆษณาชวนเชื่อของตะวันตก รัสเซียไม่ได้ถูกโดดเดี่ยว คุณจะเห็นรายงานประจำวันของวลาดิมีร์ ปูติน หรือรัฐมนตรีเซอร์เก ลาฟรอฟ พูดคุยกับประมุขรัฐจากยุโรป เอเชีย ตะวันออกกลาง เราเดินหน้าดำเนินการทูตเชิงรุก รัสเซียจึงไม่สามารถถูกโดดเดี่ยวได้อย่างที่ใครบางคนต้องการ ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เราไม่เคยได้รับความเคารพจากประชาชาติตะวันตก ผลลัพธ์ของนโยบายที่ไม่รับผิดชอบของเขาก็เป็นสิ่งที่เราเห็นในวันนี้ และฐานทัพอเมริกันในต่างประเทศก็ยังมีมากกว่าสถานทูตของตัวเองในต่างประเทศเสียอีก 

นับตั้งแต่สิ้นสุดศตวรรษที่แล้ว มาถึงตอนนี้ก็จะเห็นว่ามีความพยายามในการปัดให้ยูเครนต่อต้านรัสเซีย ในประเด็นสิ่งที่เกิดขึ้นมา ตามที่เราเข้าใจ และเอาจริงๆ ก็ตามที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้บอกไว้เมื่อสองอาทิตย์ก่อนว่าสหรัฐฯ ได้เตรียมพร้อมกับวิกฤตนี้เป็นเวลานาน ในช่วงปีที่แล้ว พวกเขาก็ได้จัดตั้งพันธมิตรไว้ทั่วโลก อย่างที่คุณรู้ เช่น ความร่วมมือเอเชียแปซิฟิก ที่มีอยู่ 4 ประเทศ หรือ AUKUS ที่ประกอบด้วยสหราชอาณาจักร สหรัฐฯ และออสเตรเลีย ก็ชัดเจนว่าเป็นพันธมิตรทางทหารที่มีเป้าหมายที่อาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในรัสเซียและหลายประเทศในภูมิภาคดังกล่าว

ถ้าพูดถึงปฏิบัติพิเศษทางทหาร ผมได้บอกก่อนแล้วว่าเรามีความสนใจว่า ในช่วงแปดปีที่ผ่านมา ไม่มีสื่อตะวันตกพูดถึงโศกนาฏกรรมในดอนบาสที่ถูกกองกำลังยูเครนยิงถล่มจนมีคนเสียชีวิตมากกว่า 13,000 ราย นับร้อยรายเป็นเด็ก แต่ไม่มีชาติตะวันตกแสดงความกังวลอะไร บางทีอาจจะเป็นแผนในการทำให้ยูเครนต่อต้านรัสเซียก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามก่อนที่จะมีปฏิบัติการพิเศษทางทหาร ประธานาธิบดวลาดิมีร์ ปูตินได้กล่าวว่าเป็นการตัดสินใจที่ยากมาก เท่าที่เข้าใจก็คือเราได้พยายามทุกอย่างแล้วเพื่อหยุดยั้งสิ่งนี้ แต่ก็ไม่มีผลลัพธ์ใดๆ จากข้อตกลงมินสก์ ซึ่งสะท้อนถึงการขาดความพร้อมและเจตจำนงในการทำตามข้อตกลงของรัฐบาลยูเครนในกรณีลูฮันสก์และโดเนตสค์ หลังจากเรามีหลักฐานมากพอว่ากองทหารยูเครนเตรียมตัวจะบุกดอนบาสในวันที่ 8 มี.ค. เราก็ไม่มีทางเลือกอื่น ก็เป็นแผนการปะทะกับรัสเซียที่ชัดเจน หลังจากโจมตีดอนบาสโดยยูเครน รัสเซียก็จะตอบโต้ และหลังจากนั้นนักการเมืองในประเทศตะวันตกก็จะได้พูดว่า นี่ไง เราทำนายแล้วว่ารัสเซียรุกรานยูเครนแล้ว ซึ่งทางเราไม่สามารถอยู่เฉยๆ เพราะชาวรัสเซียกว่า 8 แสนคนก็อาศัยอยู่ในดอนบาส ตอนนี้ทุกคนน่าจะเข้าใจแล้วว่าวิธีการที่ผิดกฎหมายจากประเทศตะวันตกต่อรัสเซีย ถูกเตรียมการมานานแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่จะทำได้ในวันเดียว

ผมอยากจะบอกว่ารัสเซียไม่ได้เป็นคนเริ่มปฏิบัติการพิเศษทางทหารนี้ อย่างที่โฆษณาชวนเชื่อตะวันตกชอบพูดว่าเป็น “สงครามของปูติน” รัสเซียพยายามที่จะจบสงครามในยูเครนที่เกิดขึ้นอย่างน้อยเมื่อ 8 ปีที่แล้ว

สิ่งที่ผมอยากจะพูดอีกอย่าง หลายคนก็อาจจะพบว่าเป็นเรื่องใหม่มาก คือเรื่องที่วิคตอเรีย นูแลนด์ (Victoria Nuland) จากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ บอกว่ามีสถาบันวิจัยชีวภาพในยูเครน ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะก่อนหน้านี้รัสเซียได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโครงการแบบนี้มาก่อน และเรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่องก็คือโครงการเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อ รมว. กระทรวงสาธารณสุขของยูเครนที่มีสัญชาติอเมริกันถูกแต่งตั้งเมื่อปี 2014 เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ร้ายแรงมากไม่เพียงแต่สำหรับยูเครน รัสเซีย แต่กับประชาคมโลกด้วย เราอยากจะเรียกร้องให้สหรัฐฯ และยูเครนชี้แจงเรื่องเกี่ยวกับบทบาทของพวกเขาต่อการสร้างสงครามชีวภาพ

วิคตอเรีย นูแลนด์ ได้ยืนยันแล้วว่ามีโครงการเหล่านี้ ทางสหรัฐฯ เองก็ไม่อยากให้รัสเซียเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ มีโปรเจคหลายอย่างที่บ่งชี้ถึงปัญหานี้ เช่น โครงการ UB4 มีเป้าหมายจะใช้การส่งนกไปที่รัสเซีย เพื่อเป็นพาหะนำอาวุธชีวภาพ ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อประชาชนไม่เพียงในรัสเซีย แต่ในประเทศใกล้เคียง โครงการและแล็บในยูเครนเป็นเพียงหนึ่งข้อต่อจากโครงข่ายทั้งหมดที่มีจำนวนราว 200 แห่งในหลายประเทศ จำนวนมากอยู่รอบๆ รัสเซีย และอยู่ใกล้กับชายแดนจีน แล็บเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนโดยกองทัพสหรัฐฯ ข้อมูลที่เราได้รับมาบ่งชี้ว่าแล็บของยูเครนอยู่ในพื้นที่ใกล้กับสหรัฐฯ ถูกสร้างขึ้นเพื่อพัฒนาชิ้นส่วนอาวุธชีวภาพ อย่างที่ผมพูด รัสเซีย และประเทศอื่นด้วย เรียกร้องให้สหรัฐฯ ชี้แจง บนพื้นฐานของกฎบัตรสหประชาชาติที่ไม่ให้มีการใช้อาวุธพิษและอาวุธชีวภาพ

ช่วงถาม-ตอบ

ถาม: สถานทูตมีท่าทีต่อท่าทีของรัฐบาลไทยอย่างไร ที่ทางหนึ่งก็บอกว่าจะเป็นกลางในเรื่องความขัดแย้ง แต่ก็สนับสนุนมนุษยธรรมในยูเครน และช่วยเหลือนักท่องเที่ยวรัสเซียด้วย อีกคำถามคือ มีอะไรที่อยากจะพูดถึงคนไทยที่สนับสนุนยูเครนบ้าง

ตอบ: แนวทางการทูตรัสเซียมุ่งเน้นการไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศอื่น เราเคารพการตัดสินใจของประเทศต่างๆ ที่อิงกับผลประโยชน์ในประเทศและนโยบายต่างประเทศ เราจึงชื่นชมท่าทีที่สมดุลของรัฐบาลไทย มีการพูดคุยอย่างเปิดเผยกับกระทรวงการต่างประเทศ บางทีเราก็อาจมีความเข้าใจของเรา แต่เราพึงพอใจที่เพื่อนชาวไทยยินดีรับฟังเรื่องราวจากมุมมองของเรา ทางเราเองก็ต้องการเข้าใจเหตุผลและจุดยืนของเพื่อนชาวไทย แต่ต้องย้ำเตือนว่าปีนี้เป็นปีที่มีความสำคัญของความสัมพันธ์ของสองประเทศ ก็ได้มีการพูดคุยถึงงานรำลึกและงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ และความร่วมมือด้านต่างๆ กัน เราพึงพอใจกับท่าทีของรัฐบาลไทย และหวังว่าจุดยืนนี้จะดำเนินต่อไปในอนาคต แม้จะมีแรงกดดันจากประเทศตะวันตก ผมอยากจะพูดถึงวิคตอเรีย นูแลนด์ อีกครั้งที่พูดในสภาคองเกรสสหรัฐฯ ที่ระบุว่า นักการทูตอเมริกันทุกคนได้รับการชี้แจงอย่างชัดเจนว่าจะกดดันประเทศที่ตัวเองอยู่อย่างไร ผมเข้าใจว่าแรงกดดันก่อตัวจากสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรมีมากขนาดไหน เรื่องนี้ไม่ใช่ความลับ เพื่อนๆ จากประเทศกำลังพัฒนาพูดถึงเรื่องนี้อย่างเปิดเผย ที่เราเข้าใจ รัฐบาลไทยเองก็คงได้รับแรงกดดันเช่นกัน คุณอาจจะจำได้ว่ามีการเข้าเยี่ยม กต. ของนักการทูตจาก 25 ประเทศ วัตถุประสงค์ของการเยี่ยมคืออะไรก็คงเดาได้ง่ายๆ ก็คือการกดดันรัฐบาลไทยให้ร่วมมือกับความพยายามของประเทศตะวันตกที่กระทำต่อรัสเซีย

ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือมนุษยธรรมในยูเครนและรัสเซีย เรามีความชื่นชนความพยายามนี้จากทุกประเทศ รัสเซียเองก็ส่งความช่วยเหลือให้ประชาชนชาวยูเครนเช่นเดียวกันในทุกๆ วันโดยการขนส่งทางทหารและหน่วยงานปกครองจากหลายเมืองจากรัสเซีย ได้มีการช่วยเหลือปัจจัยอย่างอาหาร ยา และสิ่งจำเป็นอื่นๆ แล้วมากกว่า 3,000 ตัน ขอแสดงความชื่นชมการช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รัฐบาลท้องถิ่น และสมาคมการท่องเที่ยว ที่ช่วยเหลือชาวรัสเซียในไทยขณะนี้ ตอนนี้มีกลไกระหว่างทางการรัสเซียและหุ้นส่วนต่างประเทศแล้วในการจัดการเรื่องนี้ ต่างไปจาก 2 ปีที่แล้วที่โรคระบาดเกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน

มีอะไรที่จะพูดถึงคนที่สนับสนุนยูเครน และผู้ชุมนุมหน้าสถานทูต

เราพบเจอเรื่องนี้แทบทุกวันสองวัน เราเห็นคนเหน้าเดิมมาและก็ประท้วงด้วยสโลแกน ธงยูเครน ขอขอบคุณตำรวจไทยที่ทำหน้าที่รอบๆ สถานทูต หน้าที่หลักของตำรวจคือการรักษาระเบียบและความปลอดภัยของพื้นที่นี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของเราดำเนินงานให้เป็นไปตามปกติ เป็นสิทธิของเขาที่จะทำกิจกรรมตามกรอบของกฎหมาย ในไทย และรัสเซียเองเช่นกัน มีกระบวนการขั้นตอนในการจัดการชุมนุมบนท้องถนน ผมอยากใช้โอกาสนี้ที่จะขอบคุณตำรวจที่ประจำการรอบๆ สถานทูตอีกครั้งสำหรับการเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ในส่วนของผู้ชุมนุม บางคนก็มาจากยูเครน แต่คนที่เป็นคนยูเครนที่พูดภาษารัสเซียก็มี บางคนมาจากประเทศอื่นๆ ก็มี อยากจะแนะนำให้พวกเขาใช้เวลาไปใช้คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย และระหว่างผู้คนที่มีความแตกต่างในสหภาพโซเวียตเดิมด้วย รัสเซียมี 300 กลุ่มชาติพันธุ์ เราเคยมีสงครามระหว่างศาสนาและชาติพันธุ์มาแล้ว ซึ่งก็เป็นมรดกที่สำคัญที่ตกทอดมาจากรุ่นที่แล้ว และเราก็ต้องการความสมัครสมานภายใน และไม่ยอมให้คนภายนอกมาทำลายความกลมเกลียวนี้

ผมอยากจะยกอีกประเด็นหนึ่งขึ้นมา ตอนนี้กระแสความเกลียดชังในสังคมยุโรปเปลี่ยนไปอย่างไม่คาดคิด อะไรที่เกี่ยวกับคน วัฒนธรรม หรือภาาารัสเซียก็โดนเกลียดจากสื่อและประชาชน ทั้งที่บางคนไม่เคยเดินทางมาที่รัสเซียเลย บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่พูดอย่างสุภาพได้ว่าน่าทึ่ง อย่างการแบนนักแต่งเพลงหรือเพลงรัสเซีย ผมคิดว่าการตอบสนองของรัสเซียที่ผมคิดว่าเป็นการโต้ตอบการคว่ำบาตร ก็คือ รัสเซียควรไม่อนุญาตวงดนตรีตะวันตกเล่นเพลงรัสเซีย รวมถึงเพลงคลาสสิคด้วย ในมุมมองของเราเรามองว่าเป็นเรื่องที่โง่มาก ในตะวันตกตอนนี้คุณจะได้ยินว่าคุณไม่สามารถเล่นเพลงของไซคอฟสกี้ได้ คนที่ตายไปมากกว่าหนึ่งร้อยปีที่แล้วคงไม่ได้คิดว่าเขาจะตกเป็นเป้าการคว่ำบาตรของประชาคมตะวันตก การเกลียดชังนี้เป็นเรื่องใหม่และน่าสนใจ และเริ่มมีการวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญบ้างแล้ว เรื่องนี้เป็นการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของสัญชาติ เป็นการเหยียดเชื้อชาติด้วยซ้ำ อย่างที่นักเรียนรัสเซียถูกห้ามไม่ให้ศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในยุโรปและประเทศตะวันตกโดยไม่มีการเยียวยา และเกิดอะไรขึ้นกับเงินของคนรัสเซียในต่างแดน ประเทศตะวันตกทำตัวเหมือนขโมย เขาขโมยเงินและทรัพย์สินคนอื่น นี่ไม่ใช่เรื่องธรรมดา คนรัสเซียหลายคนเคยเชื่อว่ากรรมสิทธิ์เป็นหลักการที่ศักดิ์สิทธิ์ในโลกตะวันตก ทุกวันนี้มันก็เปลี่ยนไปแล้ว ธุรกิจสัญชาติอื่นๆ ก็คงต้องคิดถึงความมั่นคงปลอดภัยในทรัพย์สินตัวเองในสหรัฐฯ หรือในสหราชอาณาจักรบ้างแล้ว เราได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับราคาแก๊ซธรรมชาติและน้ำมันในวันนี้แล้ว สิ่งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่รัสเซียยังไม่ได้ตอบโต้การคว่ำบาตรของชาติตะวันตกด้วยซ้ำ เรายังคงให้บริการทรัพยากรธรรมชาติกับประเทศหุ้นส่วนตามปกติ แต่สถานการณ์จะเป็นอย่างไรในอนาคต ก็คงต้องรอดู สำหรับเราเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้แล้วที่จะอดทนต่อการเลือกปฏิบัติจากประเทศตะวันตก

มีรายงานมากมายเรื่องความรุนแรงจากปฏิบัติการทางทหาร อย่าง UNICEF ก็ระบุว่ามีเด็กอย่างน้อย 37 รายถูกสังหารระหว่างปฏิบัติการ มีอะไรจะชี้แจงหรือไม่ เพราะสิ่งนี้ดูเหมือนเป็นการโจมตีไม่เลือกหน้า 

สงครามไหนๆ ก็แย่ทั้งนั้น โดยเฉพาะกับพลเรือน แต่ UNICEF และองค์กรอื่นๆ ไปไหนตอนที่ยูเครนปฏิบัติการในดอนบาส 8 ปีที่ผ่านมา ปฏิบัติการทางทหารโดยกำลังทหารรัสเซียนั้น เราไม่ได้สู้กับประชาชน แต่ต้องการทำลายโครงสร้างพื้นฐานทางทหาร ผมย้ำว่ารัสเซียไม่ถล่มเมือง ไม่ถล่มโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน ไม่ถล่มพื้นที่อพาร์ทเมนท์ หลายคนอาจไม่รู้ว่าในหลายๆ กรณี ทหารยูเครนจัดตั้งกำลังอาวุธจู่โจม ปืนใหญ่ อุปกรณ์ต่างๆ ในพื้นที่ที่อยู่อาศัย ใกล้โรงเรียน ใกล้โรงเรียนอนุบาล เพื่อซ่อนตัวจากการจู่โจมของรัสเซีย 

อย่างที่บอกว่าปฏิบัติการทางทหารรัสเซียเพื่อป้องกันการขยายนาโต้ แล้วเมื่อไหร่สงครามจะจบ จะยกระดับเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ไหม ถ้าไทยเรียกร้องให้มีการหยุดยิง จะทำให้กระทบความสัมพันธ์ไทยมั้ย จะไปติดในลิสต์ประเทศที่ไม่เป็นมิตรไหม

เราอ้างอิงกับข้อมูลและเอกสาร ซึ่งคงยังไม่จำเป็นที่ต้องพูดถึงเรื่องลิสต์ และท่าทีต่อรัฐบาลไทยในวันนี้

เรื่องสงครามโลกครั้งที่ 3 ไม่มีใครอยากเห็นสงครามโลกครั้งที่ 3 อยู่แล้ว ประเทศอื่นๆ ก็เห็นว่าสงครามโลกครั้งที่ 3 จะเป็นครั้งสุดท้ายของมนุษยชาติ รัสเซียต้องการจบสงครามให้เร็วที่สุด สงครามนี้ไม่ได้เริ่มเมื่อ 24 ก.พ. 2022 แต่จริงๆ เริ่มตั้งแต่ 8 ปีที่แล้วเป็นอย่างน้อยหลังรัฐประหารในเคียฟ และเมื่อรัฐบาลกรุงเคียฟเริ่มถล่มพื้นที่ดอนบาส 

รัสเซียก็มีความพยายามที่จะหาพื้นที่ตรงกลางจากชาติยุโรปและยูเครนอยู่ ตัวแทนจากรัสเซียก็เล่าว่ามีพื้นที่ตรงกลางในการหาทางออกจากความขัดแย้งอยู่ แต่ก็ขึ้นอยู่กับท่าทีของยูเครนด้วย ในวันนี้ สิ่งที่จะเป็นประโยชน์ก็คือการไม่ยกระดับความขัดแย้งและความไม่มีเสถียรภาพอย่างที่ชาติตะวันตกกำลังทำ การรายงานข่าวของทุกๆ วัน ยังระบุว่าชาติตะวันตกยังคงจะส่งอาวุธให้ยูเครน ไปจนถึงหาอาสาสมัครไปรบที่นั่นเพื่อรบกับรัสเซีย เรื่องนี้น่าสนใจ มันมีพื้นทีที่เรียกว่า International Peacekeeping and Training Centre [คาดว่าหมายถึงศูนย์รักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ (International Peacekeeping and Security Centre--IPSC)] ที่รัสเซียเพิ่งโจมตีทางอากาศที่ชายแดนโปแลนด์ มีข้อมูลหลายอย่างในโซเชียลมีเดียที่เราพบว่าอาสาสมัครหลายคนก็อยากจะกลับบ้านแล้ว เราจะรอดูว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป แต่เรื่องสำคัญก็คือต้องสร้างสถานการณ์ที่เอื้อต่อการพูดคุย ไม่ใช่การช่วยเหลือด้วยการส่งอาวุธ โดยเฉพาะในวันที่รัฐบาลยูเครนไม่สามารถควบคุมกองกำลังติดอาวุธในประเทศได้ทั้งหมด

อยากให้ชี้แจงเรื่องการปิดสื่ออิสระในรัสเซีย และกรณีที่สื่ออเมริกันถูกสังหารในเออร์ปิน โดยเหตุที่อาจเกิดจากกองกำลังรัสเซีย คิดว่านี่เป็นการละเมิดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารหรือไม่

ต้องใช้เวลามากกว่านี้ที่จะเข้าใจสถานการณ์ ตลอดแปดปีที่ผ่านมา มีกรณีนักข่าวในยูเครนตายหลายคนแล้วในหลายเมือง แต่ไม่มีการลงโทษใดๆ ในเดือน พ.ค. 2014 ที่มีประชาชนหลายคนถูกยิงในสำนักงานการปกครองท้องถิ่นโดยพวกชาตินิยมสุดโต่ง ก็ไม่มีการลงโทษจนถึงทุกวันนี้ ถ้าพูดถึงนักข่าวในสงคราม อยากชวนท่านไปดูข่าวจากแหล่งอื่น เช่น ทีวีรัสเซีย ถ้าเห็นนักข่าวในสงครามจะเห็นว่ามีกระสุนปืน (ammunition) [อาจหมายถึงอุปกรณ์ป้องกันตัว] มีหมวก มีอุปกรณ์อื่นๆ เพื่อความปลอดภัย แต่ถ้าดูการรายงานจากสื่อตะวันตกหรือสื่อสหรัฐฯ ในกรุงเคียฟ เขาดูรู้สึกปลอดภัยดีในเคียฟ แต่กลับรายงานถึงการทิ้งระเบิด ถ้ามีใครสักคนทิ้งระเบิดในเมืองหลวงยูเครน คงเป็นไปไม่ได้ที่จะรายงานข่าวโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน 

การสูญเสียในสงครามใดๆ ก็คือโศกนาฏกรรม ผมไม่มีข้อมูลเรื่องสื่ออเมริกัน แต่สมัยก่อนนักข่าวรัสเซียก็ถูกสังหารหรือไม่ก็สูญหายตอนที่ NATO ทิ้งระเบิดใส่ยูโกสลาเวีย นักข่าวรัสเซียบางคนสูญหายไป ไม่ทราบชะตากรรมจนถึงทุกวันนี้ ขอให้ช่วยพิจารณาสถานการณ์ภาพใหญ่ ประเด็นการปิดสื่อในรัสเซียนั้น สื่อยูเครนก็ถูกปิดเหมือนกันเพราะมีท่าทีต่างจากรัฐบาล มีสถานีโทรทัศน์ 3-4 แห่งที่ปิด หนังสือพิมพ์หลายฉบับก็ถูกปิด ในส่วนของสื่อรัสเซียที่ถูกระงับนั้น เป็นเพราะผิดเงื่อนไขการจดจัดตั้ง เนื่องจากจดทะเบียนในรัสเซีย แต่มารายงานข่าวให้คนต่อต้านรัสเซีย 

คำถาม การโหวตประณามรัสเซียของผู้แทนไทยใน UN จะกระทบความสัมพันธ์ทางทหารมั้ย 

เราเคารพการตัดสินใจของเพื่อนนานาชาติ และเข้าใจสถานการณ์คร่าวๆ ที่เกิดในที่ประชุมสหประชาชาติ ที่การตัดสินใจเกิดจากแรงกดดันของสหรัฐฯ และชาติตะวันตก มี 141 ประเทศที่โหวตเห็นด้วยกับการประณาม ซึ่งจะเห็นว่ามีความย้อนแย้ง เพราะมีท่าทีของประชาคมนานาชาติที่พูดอีกอย่าง ผมจะไม่พูดถึงท่าทีจากผู้เล่นใหญ่ๆ อย่างจีนหรือรัสเซีย แต่ไปดูท่าทีของบราซิลหรือชาติอาหรับต่างๆ หรือประเทศเอเชียอื่นๆ ที่โหวตสนับสนุนข้อเสนอนั้น 

ในโอกาสนี้ผมจะพูดถึงข้อเสนอหนึ่งในที่ประชุมใหญ่แห่งสหประชาชาติ จะมีมติที่โหวตทุกปีคือการไม่ยอมรับการเชิดชูนาซี ก็มีสองประเทศที่โหวตค้าน ก็คือสหรัฐฯ และยูเครน เรื่องนาซีเป็นสิ่งที่อันตรายทั้งต่อเราและยุโรปทั้งหมด ประเทศยุโรปยังคงไม่เข้าใจว่ารัสเซียกำลังช่วยเหลือพวกเขาจากนาซี เป็นสิ่งที่ได้ทำแล้วในปี 1945 และตอนนี้เรากำลังเผชิญหน้ากับภัยคุกคามในยุโรปอีกครั้ง แต่พวกเขากลับไม่แคร์เรื่องนาซีในยูเครน ประเทศที่รับรองการเชิดชูนาซีและอาชญากรนาซี..(ไม่สามารถถอดความได้)... นึ่ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง สำหรับการอนุญาตให้มีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับนาซี ถือเป็นภัยที่ร้ายแรง

สรุปได้แล้วใช่ไหมว่าไม่มีความเสียหายทางความสัมพันธ์ระหว่างไทย-รัสเซียจากมติ UN

อย่างที่บอกว่าเราเข้าใจเหตุผล ไทยและรัสเซียมีความเป็นมายาวนาน และมีความพร้อมที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ในหลายแง่มุม

มีชนชั้นนำรัสเซียที่เพิ่งถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตรที่มีทรัพย์สินในไทยหรือไม่ 

คงต้องเช็คกับ รมว. กระทรวงการคลังและแบงค์ชาติ สถานทูตไม่มีการรับผิดชอบเรื่องนี้ แต่ส่วนตัวคิดว่าคงจะมีน้อย และถ้ามี ก็หวังว่าไทยจะไม่ใช้มาตรการเดียวกันนั้นกับสินทรัพย์และทรัพย์สินของเราที่นี่ ไทยและรัสเซียได้มีการเน้นย้ำกันหลายครั้งว่าเราเคารพข้อตกลงที่มีร่วมกัน และเราก็เคารพสนธิสัญญาระหว่างประเทศ

คุณเน้นย้ำว่านี่คือปฏิบัติการพิเศษทางทหาร แต่สิ่งนี้ต่างอย่างไรกับสงคราม อะไรจะเป็นเงื่อนไขให้วิกฤตนี้จบลง

ผมอยากถามคุณด้วยคำถามเดียวกันว่า สหรัฐฯ ที่บุกอัฟกานิสถาน เรียกว่าสงครามหรือไม่ ผมอาจจะไม่ถูก แต่ก็จำไม่ได้ว่าสหรัฐฯ ประกาศสงครามกับอัฟกานิสถาน ในกรณียูเครน ผมก็ไม่ได้ยินว่ารัสเซียประกาศสงครามกับยูเครน และในทางยูเครน ผมก็ไม่เคยได้ยินการประกาศสงครามกับรัสเซีย ผมกล่าวอีกครั้งว่าปฏิบัติการพิเศษทางทหารนี้คือการทำลายโครงสร้างพื้นฐานทางทหาร เราต้องการเห็นยูเครนที่สันติและเป็นมิตร ไม่ใช่สปริงบอร์ดของ NATO ต่อรัสเซีย เราควรจะรู้สึกถึงความปลอดภัยและเสถียรภาพบนชายแดนของเรา

ก่อนจะมีงานแถลงวันนี้ ก็มีความเห็นจากนายทหารตะวันตกว่าภายในสองวันรัสเซียจะยึดเคียฟได้ ผมก็บอกไปว่ารัสเซียต้องการหลีกเลี่ยงความเสียหายต่อพลเรือน

มีแผนที่จะช่วยเหลือชาวรัสเซียในไทยที่มีจำนวน 3,000 คนหรือไม่ มีกำหนดการในการปฏิบัติการทางทหารในยูเครนหรือไม่

คำถามที่สอง เท่าที่รู้คือเราไม่มีกรอบเวลา แต่เรามีวัตถุประสงค์ หนึ่ง ทำลายอำนาจทางทหาร และสอง กระบวนการประณาม (denuncification) แต่จะเริ่มหลังจากการทำลายอำนาจทางทหารแล้ว ผมไม่ใช่คณะเสนาธิการ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเห็นแผนการนี้ แต่ที่เราต้องการคือไม่ต้องการเห็นความสูญเสียในหมู่พลเรือน

กรณีคนรัสเซียในไทย เราพบว่ามีกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียจำนวนมากติดอยู่ในภูเก็ต พัทยา บางส่วนอยู่ที่กรุงเทพฯ หัวหิน เชียงใหม่ เราทำงานอย่างใกล้ชิดกับทางการไทย และมีระบบที่รัสเซียได้ทำในช่วงโควิด-19 ระบาด ที่เราจัดเที่ยวบินกลับประเทศจากไทยและจากประเทศอื่นๆ ด้วยการลงทะเบียนในเว็บไซต์รัสเซีย หลังเก็บข้อมูลแล้วก็จะมีการจัดเที่ยวบินกลับ แต่ตอนนี้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ตอนนี้มีปัญหาคือการขยายวีซ่าให้อยู่ต่อได้อย่างถูกกฎหมาย สถานทูตและสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ในภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยาก็มีการทำหนังสือให้กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อแจ้งเรื่องแล้วประมาณ 1,500 ฉบับ เราได้ติดต่อกับชุมชนชาวรัสเซียในไทยและนักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย และตอนนี้เรารู้ว่าจะต้องทำอะไรในตอนนี้และในอนาคตเกี่ยวกับเรื่องการอยู่อาศัยของพวกเขาในไทย

มีพลเรือนในเคียฟติดอาวุธสู้กับรัสเซียแล้ว ถือว่าหลีกเลี่ยงการสูญเสียของพลเรือนไม่ได้แล้วหรือไม่ และมีท่าทีต่ออาสาสมัครที่ไปสู้กับกองทัพรัสเซียอย่างไร

อย่างที่เน้นย้ำไปว่ารัสเซียพยายามทำให้ความสูญเสียต่อพลเรือนน้อยที่สุด กองกำลังรัสเซียเดินหน้าไปอย่างแม่นยำ ทุกสงครามก็คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเสียหายต่อพลเรือนได้ แต่เทียบกับการที่สหรัฐฯ บุกอิรัก พวกเขาทิ้งระเบิดและยิงปืนใหญ่ใส่เมืองต่างๆ จนราบเพื่อให้ทหารได้เดินหน้าต่อไป สำหรับความกังวลของประธานาธิบดีปูตินต่ออาสาสมัครต่างประเทศที่เข้ามาสนับสนุน เรื่องนี้มองได้สองอย่าง ก็คือคนที่อยากจะเข้าร่วมกองทัพยูเครน หรือคนที่จะเข้าร่วมกองทัพรัสเซีย 

ในกรณีการเข้าร่วมกับกองทัพยูเครน พวกเขาคาดหวังว่าจะได้รับค่าตอบแทน ประมาณ 2,000 ดอลลาร์ต่อเดือนต่อคน ข้อมูลจากกระทรวงกลาโหมรัสเซียที่ส่งให้กับประธานาธิบดีปูตินไม่กี่วันที่ผ่านมาระบุว่ามีประชาชนจำนวน 15,000-16,000 คนที่พร้อมจะร่วมกับกองทัพรัสเซีย พวกเขาเป็นอาสาสมัคร ไม่ต้องการเงิน ประการที่สอง ถ้าหากเขาจะเข้าร่วม กองทัพรัสเซียจะส่งพวกเขาไปยังพื้นที่โดเนตสค์เพื่อไปร่วมกับกองกำลังติดอาวุธของลูฮันสก์และโดเนตสค์

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะมันสะท้อนถึงความแตกต่างในแต่ละประเทศ รมว. กลาโหมรัสเซียบอกปูตินว่าอาสาสมัครส่วนมากมาจากพื้นที่ตะวันออกกลาง ผมไม่รู้รายละเอียด แต่คิดว่าส่วนมากมาจากซีเรีย หลังจากที่รัสเซียเข้าไปช่วยเหลือรัฐบาลซีเรียครั้งใหญ่ ผมว่าเราควรสังเกตกระแสในเรื่องนี้ว่าจะไปในทิศทางใดในอนาคตอันใกล้ แต่แน่นอนว่าทุกอย่างจะต้องดำเนินไปตามกฎหมายรัสเซีย ผมคิดเราคงจะได้เห็นรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้อีก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net