สื่อ 'เอบีซี' วิเคราะห์สงครามข้อมูลข่าวสาร ปูติน-เซเลนสกี ทำไมผู้นำยูเครนถึงดูเหมือน 'ชนะ' ในด้านนี้

สื่อเอบีซีวิเคราะห์สงครามข้อมูลข่าวสารระหว่างฝ่ายผู้นำรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน และฝ่ายผู้นำยูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ซึ่งมีแนวทางที่ต่างกัน ขณะที่ปูตินยึดติดอยู่กับความยิ่งใหญ่ในอดีตของรัสเซียและสร้างภาพในแบบที่ดูหัวเก่า แต่เซเลนสกีมีความทันสมัยกว่า เล่นกับโซเชียลมีเดียเพื่อดึงดูดการสนับสนุนได้เก่งกว่า

สื่อเอบีซีระบุถึงแนวทางของสองผู้นำรัสเซีย-ยูเครน ที่ไม่เพียงแค่กำลังทำสงครามกันบนภาคพื้นดินเท่านั้น พวกเขายังทำสงครามข้อมูลข่าวสารในพื้นที่สื่อต่างๆ รวมถึงอินเทอร์เน็ตด้วยเช่นกัน เมื่อวิเคราะห์จากพื้นเพของทั้งสองคนแล้ว สองผู้นำนี้เกิดในช่วงยุคสมัยสหภาพโซเวียตทั้งคู่ แต่มีแค่ปูตินที่อายุมากพอจะจดจำถึงเหตุการณ์แตกร้าวจากภายในของโซเวียตได้ และเขาก็สร้างภาพลักษณ์ให้ตัวเองดูเหมือนผู้ที่จะกอบกู้สิ่งที่เคยสูญเสียไปนี้

ขณะที่ปูตินเป็นอดีตสายลับที่ใช้เวลาราว 50 ปีในการปูทางให้ตัวเองเข้าสู่การเป็นผู้นำโลกด้วยวิธีที่โหดเหี้ยม เซเลนสกีมีพื้นเพมาจากการเป็นนักแสดงตลก เขามีประสบการณ์ทางการเมืองก่อนหน้าที่จะมาเป็นประธานาธิบดีมีอยู่อย่างเดียวคือการเล่นบทประธานาธิบดีบนจอโทรทัศน์

ปูตินและเซเลนสกีเคยเจอกันมาก่อนในการหารือที่กรุงปารีสปี 2562 ซึ่งจัดโดยผู้นำเยอรมนีและฝรั่งเศส ในตอนนั้นเป็นช่วงเวลา 6 เดือนหลังจากที่เซเลนสกีชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย บรรยากาศทางการเมืองยูเครนตอนนั้นทำให้เซเลนสกีรู้สึกถูกกดดันให้ต้องพยายามขับไล่อิทธิพลของรัสเซียออกจากพื้นส่วนหนึ่งของประเทศให้ได้ คือพื้นที่ๆ มีกลุ่มกบฏยึดครองอยู่ในทางตะวันออกของยูเครน

หลังจากที่ประชุมหารือกันเป็นเวลา 8 ชั่วโมง ผลลัพธ์จากการประชุมคือการที่ผู้นำทั้งสองให้คำมั่นว่าจะรักษาข้อตกลงหยุดยิงจากที่ก่อนหน้านี้มีการละเมิดมาโดยตลอด ปูตินแถลงข่าวด้วยการพูดในทำนองให้ความหวังว่าความสัมพันธ์กับยูเครนเริ่มดีขึ้นบ้างแล้ว แต่เซเลนสกี แถลงข่าวอย่างซื่อสัตย์มากกว่าว่าพวกเขา "ต้องการมากกว่านี้" คืออยากได้การควบคุมพื้นที่ชายแดนของพวกเขากลับคืนมา ซึ่งเอบีซีมองว่าเป็นการที่ผู้นำรุ่นใหม่อย่างเซเลนสกีแสดงออกเชิงขัดขืนต่อยักษ์ใหญ่อย่างรัสเซียเป็นครั้งแรก

พอมาถึงในช่วงปลายปี 2564 ที่รัสเซียเริ่มเคลื่อนทัพรวมถึงกองกำลังรถถังประชิดเขตแดนยูเครน อดีตดาราอย่างเซเลนสกีก็ต่อสู้กับรัสเซียในสงครามข้อมูลข่าวสารด้วยประสบการณ์เชิงยุทธศาสตร์โซเชียลมีเดียและความเชี่ยวชาญในเรื่องการเป็น "ผู้ส่งอิทธิพลทางโลกโซเชียล" หรือที่เรียกว่า "อินฟลูเอนเซอร์"

ขณะที่ยุทธวิธีของเซเลนสกีดูเป็นสมัยใหม่ ปูตินผู้ที่สื่อระบุว่าเป็น "เจ้าแห่งการโฆษณาชวนเชื่อ" นั้นก็ดูจะหมกมุ่นอยู่กับอดีตและยึดติดกับความยิ่งใหญ่ในอดีตของรัสเซีย ซึ่งเอบีซีระบุว่าเซเลนสกีเป็น "ผู้ชนะ" ในสงครามข้อมูลข่าวสารครั้งนี้

ในแง่ของสงครามภาคพื้นดินนั้น เมื่อตอนที่รัสเซียนำกำลังกองทัพข้ามพรมแดนรุกรานยูเครนเมื่อปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา เซเลนสกีก็รู้ดีว่ายูเครนอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบอย่างมากทั้งทางงบประมาณและกำลังทัพที่มี นั่นทำให้เซเลนสกีหันมาแสวงหาการสนับสนุนจากตะวันตกผ่านทั้งการคว่ำบาตร, การข่าวการทหาร และยุทโธปกรณ์จากตะวันตก การที่จะได้สิ่งเหล่านี้มาเขาต้องชนะสงครามข้อมูลข่าวสารให้ได้

พี ดับเบิลยู ซิงเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกลาโหมสหรัฐฯ ระบุในบทความสื่อโปลิติโกว่า "ยูเครนไม่เพียงแค่กำลังชนะใจคนในโลกออนไลน์ได้ พวกเขาชนะมาตั้งแต่แรกแล้ว ... และในตอนนี้มันก็สายเกินไปที่รัสเซียจะเปลี่ยนเรื่องเล่าของตัวเอง"

มีการตั้งข้อสังเกตว่าเซเลนสกีมักจะมีการใช้วิธีการสื่อสารแบบยุคสมัยใหม่อย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง ใช้ภาพลักษณ์แบบเข้าถึงง่ายอย่างในวิดีโอที่เขานำเสนอผ่านอินสตาแกรมที่มีผู้ชม 3 ล้านวิวในชั่วโมงแรก เซเลนสกีสวมเสื้อยืดและฮู้ดแสดงตัวอยู่บนภาคสนามของเมืองหลวงกรุงเคียฟของยูเครนที่กลายเป็นพื้นที่สู้รบไปแล้ว เขากล่าวว่า "ผมอยู่ที่นี่" และพูดในทำนองว่าเขาและคนในรัฐบาลยูเครนจะปกป้องผืนแผ่นดินและ "สัจจะ" ของพวกเขาไว้ให้ได้

นอกจากนี้ยูเครนยังคอยถล่มโซเชียลมีเดียของทางการรัสเซียด้วยมีมแสบๆ เรื่องเล่าเชิงวีรชนของฝ่ายยูเครน และโศกนาฏกรรมในยูเครนเพื่อให้เรื่องเหล่านี้กลายเป็นไวรัล นอกจากนี้ประธานาธิบดียูเครนยังออก "เดินสาย" คุยโต้ตอบกับทุกคนตั้งแต่คนจากสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ไปจนถึงดาราตะวันตกอย่าง แอชตัน คุชเชอร์ และมิลา คูนิส

ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์ก็มองว่าปูตินยังคงใช้แนวทางตามตำราอำนาจนิยมแบบเดิมๆ ที่เขาเคยใช้ บาร์ต แคมเมิร์ตส์ ศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารจากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ลอนดอนกล่าวว่าปูตินยังคงใช้วิธีการแบบ "การปราบปรามด้วยความรุนแรง, การเซนเซอร์, การบังคับขู่เข็ญ, การปกปิด และการบิดเบือนในแบบที่ชวนให้มองในแง่ร้าย, การนำเสนอความเป็นจริงทางเลือกที่จะเข้ากับมุมมองและผลประโยชน์ของรัสเซีย ส่วนใหญ่แล้วเป็นการมุ่งเสริมความชอบธรรมจากภายใน"

นักวิเคราะห์มองว่าในขณะที่วิธีการเช่นนี้อาจจะได้ผลกับภายในรัสเซียเอง แต่รัสเซียคำนวณพลาดเรื่องสำคัญไป 3 เรื่อง เรื่องแรกคือเขาประเมินกำลังทหารของตัวเองสูงเกินไป เรื่องที่สองคือพวกเขาประเมินความเด็ดเดี่ยวของยูเครนต่ำเกินไป และประเมินการสนับสนุนของชาติตะวันตกต่อเซเลนสกีต่ำเกินไป

ปูตินผู้ที่เคยถูกมองว่าเป็นจอมวางหมากที่คิดล่วงหน้าไปหลายขั้นเพลี่ยงพล้ำในสงครามข้อมูลข่าวสารนี้ได้อย่างอะไร?

เอบีซีระบุว่าก่อนหน้านี้การยึดติดกับอดีตของปูตินอาจจะช่วยส่งเสริมตัวเขา ปูตินเคยแสดงออกในเชิงต้องการจะคืนรัสเซียสู่ความรุ่งโรจน์ในอดีต ในช่วงปี 2534 ที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย เจ้าหน้าที่ทางการรัสเซียก็ถอดรูปภาพผู้นำคอมมิวนิสต์ออกเร็วมากแล้วก็แทนที่ด้วยรูปประธานาธิบดีคนใหม่ในตอนนั้นคือ บอริส เยลต์ซิน แต่ปูตินในวัยหนุ่มไม่ทำเช่นนั้น ในตอนที่เขากำลังทำงานเป็นผู้ช่วยส่วนตัวของ อนาโตลี ซอบชัค นายกเทศมนตรีเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในสมัยนั้น ปูตินได้นำรูปพระฉายาลักษณ์ของซาร์(จักรพรรดิ)ปีเตอร์ที่ 1 ผู้ทรงอำนาจมาประดับแทน

ภาพลักษณ์ของผู้นำที่เปลี่ยนแปลงรัสเซียจากประเทศที่แยกตัวดูห่างไกลกลายเป็นมหาอำนาจของโลกได้ในระดับหนึ่งนั้นดูเหมือนจะเป็นบุคคลต้นแบบสำหรับปูตินผู้ที่เติบโตมาในช่วงที่โซเวียตกำลังช่วงชิงอำนาจผู้นำโลกกับสหรัฐฯ แต่ซาร์ปีเตอร์ก็เป็นที่รู้จักในฐานะคนที่พร้อมรบอยู่เสมอและจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้รัสเซียกลายเป็น "หน้าต่างสู่ยุโรป" ผ่านทางทะเลดำ ทั้งซาร์ปีเตอร์ และจักรพรรดินีแคทเธอรีนมหาราชที่สืบทอดเจตนารมณ์ต่อหลังรัฐประหารสามีตัวเองต่างก็ทำให้รัสเซียเป็นสมัยใหม่ไปพร้อมๆ กับการขยายดินแดนของตัวเองด้วยวิธีที่ไร้ความปรานี และรูปพระฉายาลักษณ์ของทั้งสองคนนี้ก็ยังคงประดับอยู่ในห้องสำนักงานของปูตินจนถึงทุกวันนี้

สิ่งที่ปูตินแสดงออกมาโดยตลอดคือความทะเยอทะยานในการที่จะทำให้โลกเคารพในมาตุภูมิของเขา ไม่ว่าจะแลกมาด้วยอะไรก็ตาม อดีตประธานคณะกรรมการด้านข่าวกรองของสหรัฐฯ ไมค์ โรเจอร์ส เคยพูดถึงปูตินไว้ว่า "เขาเข้านอนโดยนึกถึงปีเตอร์มหาราช แล้วก็ตื่นมาโดยนึกถึงสตาลิน"

ในปี 2548 ปูตินเคยพูดถึงการล่มสลายของสหภาพโซเวียตไว้ว่าเป็น "หายนะทางภูมิศาสตร์การเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในรอบศตวรรษ" ซึ่งกลายเป็นประโยคที่มีชื่อเสียงของปูติน นอกจากนี้การใช้กำลังทหารผนวกรวมไครเมียกับรัสเซียนั้นก็เป็นสิ่งที่แคทเธอรีนมหาราชเคยทำไว้ในปี 2326

ถึงแม้ว่าจะมีคนเปรียบเทียบปูตินกับบุคคลในอดีตเหล่านี้น้อยลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่การที่ปูตินเรียกชาวรัสเซียที่ไม่สนับสนุนสงครามของเขาว่าเป็น "ผู้ทรยศและกากเดนสังคม" และส่งเสริมให้เกิดการ "ชำระล้าง(ประเทศตัวเอง)ให้บริสุทธิ์" ก็มีผู้มองว่าเป็นคำพูดโจมตีจากปากปูตินที่ลักษณะ "แบบสตาลิน" มากที่สุด

มาถึงตอนนี้ ศาลสูงสุดของสหประชาชาติกำลังสืบสวนความโหดร้ายทารุณในยูเครนที่เกิดขึ้นจากสงครามของปูติน และโลกก็กำลังมองอย่างวิตกกังวลถึงผลพวงที่จะเกิดขึ้นจากภายในรัสเซีย กลุ่มผู้นำชาติตะวันตกก็เรียกปูตินว่าเป็นอาชญากรสงครามและเผด็จการกระหายเลือด

ปูตินต้องการให้ตัวเองดูเป็นเผด็จการเน้นตัวบุคคลแบบที่เรียกว่าสตรองแมน เขามักจะสร้างภาพให้ดูมีความเป็นชายมาดแมนด้วยการเผยแพร่ภาพกำลังทำกิจกรรมแบบผู้ชายอย่างขี่ม้า ตกปลา แบบไม่ใส่เสื้อผ้าท่อนบน รวมถึงการปีนเขาเดินป่าไซบีเรีย และเบ่งกล้ามโชว์

อย่างไรก็ตามวาเนสซา ฟรีดแมน เขียนบทความในนิวยอร์กไทม์เกี่ยวกับภาพลักษณ์ของปูตินว่า เป็นเรื่องหายากที่จะเห็นผู้นำมหาอำนาจโลกสร้างภาพลักษณ์ต่อสาธารณะในแบบที่ดู "ครีเอท" ขณะเดียวกันก็ดูมีความเร่าร้อนแบบเชยๆ มันไม่ใช่แค่ทำให้โลกรู้สึกอยากสร้างภาพล้อเลียนตลกๆ ให้กับเขา แต่ตัวเขาเองนั่นแหละที่เป็นผู้สร้างภาพตลกล้อเลียนให้ตัวเอง

อย่างไรก็ตามการสร้างภาพโฆษณาชวนเชื่อแบบเก่าของปูตินก็ดูจะสู้กับความชำนาญเรื่องภาพลักษณ์ทางโซเชียลมีเดียของฝ่ายผู้นำยูเครนไม่ได้ ในขณะที่สื่อรัฐบาลปูตินถูกแบนจากช่องทางต่างๆ นอกรัสเซีย และมีผู้คนในรัฐบาลรัสเซียหลายคนลาออก เซเลนสกีก็เล่นกับโซเชียลด้วยการเซลฟีบนท้องถนนกรุงเคียฟด้วยภาพคมชัดต่ำ และออกวิดีโอแถลงการณ์กลางดึกจากทำเนียบประธานาธิบดีที่มีผู้ชมหลายล้านวิวจากทั่วโลก

จากที่ก่อนหน้านี้ปูตินเคยพยายามปูทางสู่ความยิ่งใหญ่ให้ตัวเองด้วยการวางสมดุลอย่างระมัดระวังระหว่างการดึงดูดชาติตะวันตกในขณะเดียวกันก็ทำให้สถานะของรัสเซียเข้มแข็งในเวทีโลก แต่การสร้างภาพอย่างระมัดระวังแบบนี้กำลังพังทลายลง

มีคำบอกเล่าว่าปูตินกำลังหมกมุ่นอย่างมากกับวิดีโอวาระสุดท้ายของเผด็จการลิเบีย มุมมาร์ กัดดาฟี ในปี 2554 ที่ผู้พากันแห่ประจาน ทำร้ายเขาและสังหารเขาในที่สุด ดักลาส ลอนดอน อดีตเจ้าหน้าที่สำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ หรือ ซีไอเอ บอกว่านี่เป็น "ฝันร้ายขั้นสุดสำหรับปูติน"

ขณะเดียวกันก็มีนักวิเคราะห์ระบุว่าความกลัวแบบนี้ของปูตินก็อาจจะทำให้เขาโจมตียูเครนหนักขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์หลังจากนี้ อีวาน คราสเตฟ นักรัฐศาสตร์กล่าวว่านั่นเพราะ "ถ้าหากปูตินยอมแพ้ ทุกอย่างก็จะจบลงสำหรับเขา"

คราสเตฟกล่าวอีกว่า ปูตินจะยกระดับการรุกรานเพื่อบีบบังคับให้ยูเครนทำตามข้อตกลงในแบบที่รัสเซียต้องการ แต่เซเลนสกีผู้นำของยูเครนก็เป็นคนที่ไม่น่าจะยอมลงนามในข้อตกลงเช่นนั้น

เรียบเรียงจาก : 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท