อย่าปล่อยให้เพื่อนสู้คนเดียว! ทำความรู้จักกับสหภาพแรงงาน การรวมพลังเพื่อขับเคลื่อนสังคม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อพูดถึงสหภาพแรงงานแล้ว ความรู้สึกของคนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเป็นแค่การรวมกลุ่มของแรงงานเพื่อเจรจาต่อรองค่าแรงหรือสิทธิสวัสดิการกับนายจ้างเพียงเท่านั้น แต่ทว่าความเป็นจริงแล้วบทบาทของสหภาพแรงงานยังมีบทบาทอื่นในการขับเคลื่อนสังคมอีกด้วย  ในหลายประเทศสหภาพแรงงานมีส่วนในการต่อสู้กับเผด็จการ เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือรวมพลังกันขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมในด้านต่างๆ เพราะหากพูดกันตามตรงแล้ว ประเทศจะพัฒนาได้ล้วนมาจากหยาดเหงื่อของแรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม แม้เป็นคนส่วนใหญ่ แต่เหล่าแรงงานมักจะถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนส่วนน้อยอยู่เสมอ

บทความนี้จึงขอพาทุกท่านไปรู้จักกับเรื่องราวของสหภาพแรงงาน ทั้งความเป็นมาว่าสหภาพแรงงานเกิดขึ้นมาได้อย่างไร บทบาทหน้าที่ของสหภาพ ฯ การต่อสู้เพื่อขับเคลื่อนประเด็นสังคมของแรงงานประเทศต่างๆ  รวมถึงสถานการณ์ในอนาคตของสหภาพแรงงานในประเทศไทย

สหภาพแรงงานเกิดขึ้นได้อย่างไร?

หากย้อนไปยังจุดเริ่มต้นของสหภาพแรงงาน คงต้องย้อนไปเมื่อ 200 กว่าปีที่แล้วเมื่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรก (Industrial Revolution) ซึ่งเป็นยุคที่มนุษย์เริ่มนำเครื่องจักรมาใช้ในการผลิตสินค้า มีระบบสายพานที่สามารถผลิตสินค้าได้จำนวนมากภายในระยะเวลารวดเร็ว การปฏิวัติครั้งนี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานของมนุษย์จากหน้ามือเป็นหลังมือ จากเดิมที่ผลิตสินค้าภายในครัวเรือนกลับกลายเป็นการผลิตสินค้าในโรงงานใหญ่ๆ มาจนถึงปัจจุบัน  

แม้จะมีเครื่องจักรมาช่วยทำงาน แต่แรงงานมนุษย์นั้นก็ยังจำเป็นในการควบคุมเครื่องจักร นายทุนเข้ามามีบทบาทในการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต คือ เงินทุนและที่ดิน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอำนาจในการจ้างแรงงานมาผลิตสินค้าเพื่อสร้างกำไร ในทางกลับกัน แรงงานผู้มีเพียงแค่แรงงานของตนเองถูกทำให้ไร้อำนาจต่อรองเพื่อแลกกับค่าแรงที่นายจ้างกำหนด หากไม่อยากทำงานก็ไม่มีรายได้

การปฏิวัติอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนไปทั่วโลก จากจุดเริ่มต้นที่ประเทศอังกฤษ แพร่ขยายไปยังทวีปยุโรปและอเมริกา การทำงานในระบบสายพานกลายเป็นวัฒนธรรมการทำงานใหม่ของมนุษย์ ชาวไร่ชาวสวนที่เคยทำงานในพื้นที่ของตนเองกลับต้องย้ายเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ ต้องเข้าทำงานในโรงงานวันละ 8 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย มีเวลาเข้าทำงานเป็นกะชัดเจนภายใต้กฎระเบียบที่ถูกกำหนดอย่างเคร่งครัดจากนายจ้าง
 
เมื่อนายจ้างมีอำนาจควบคุมแถมยังได้กำไรจากการทำงานของแรงงาน จึงเกิดการเอารัด เอาเปรียบแรงงานผู้ไร้อำนาจต่อรอง ทั้งการให้ค่าแรงต่ำ การใช้แรงงานเด็ก เพิ่มชั่วโมงการทำงานมากกว่าวันละ 10 ชั่วโมง หรือไม่ก็ให้แรงงานต้องทนทำงานในสภาพการทำงานแออัด ไม่มีอากาศถ่ายเท ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของแรงงานย่ำแย่ทั้งร่างกายและจิตใจ 

ในมุมของแรงงาน เมื่อถูกเอาเปรียบจากนายจ้างบ่อยครั้ง ย่อมต้องการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม แรงงานทั้งหลายจึงรวมกลุ่มกันก่อตั้งสหภาพแรงงาน เพื่อเจรจาต่อรองกับนายจ้าง โดยเฉพาะในประเทศต้นกำเนิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างอังกฤษ  ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20  สหภาพแรงงานกลายเป็นตัวแทนในการเรียกร้อง หยุดงานประท้วง จนกดดันให้รัฐบาลต้องออกกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อคุ้มครองไม่ให้แรงงานถูกนายจ้างเอาเปรียบในปีค.ศ. 1909 

การเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานอังกฤษยังสร้างแรงบันดาลใจให้แรงงานทั่วโลกออกมารวมตัวเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของแรงงานกันอย่างแพร่หลาย ทั้งสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรป เมื่อแรงงานทั่วโลกตื่นตัวในเรื่องสิทธิของแรงงาน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO (International Labour Organization) จึงได้รับการก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ. 1919  โดยมีภารกิจส่งเสริมให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีและคำนึงถึงศักดิ์ศรีของมนุษย์ เกิดการร่างอนุสัญญาต่างๆ ที่กลายมาเป็นมาตรฐานกฎหมายแรงงานในปัจจุบัน ทั้งจำกัดชั่วโมงทำงานให้เหลือวันละ 8 ชั่วโมง การจำกัดอายุขั้นต่ำในการทำงาน สิทธิในการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเท่าเทียม เป็นต้น

การเกิดขึ้นของสหภาพแรงงานในช่วงแรก ส่วนใหญ่จึงเป็นการรวมกลุ่มของแรงงานผู้ถูกเอาเปรียบจากนายจ้าง โดยเจรจาตกลงเพื่อผลประโยชน์เฉพาะของแรงงาน เช่น การจ่ายค่าแรง การจำกัดชั่วโมงการทำงาน แต่ในเวลาต่อมา สหภาพแรงงานได้เข้ามามีบทบาทในการเรียกร้องประเด็นที่ส่งผลต่อสังคมในวงกว้างมากขึ้น

ไม่ใช่แค่ต่อรองค่าจ้าง การขับเคลื่อนสังคมของสหภาพแรงงาน

ในช่วงทศวรรษ 1980 นักวิชาการจากตะวันตกได้เสนอแนวคิดสหภาพแรงงานที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social movement unionism) หรือ SMU ขึ้น โดยมีมุมมองที่ว่าสหภาพแรงงานได้มีการพัฒนาแนวทางการเคลื่อนไหว คือเริ่มต่อสู้เรียกร้องเพื่อผลประโยชน์ที่ไม่ใช่สมาชิกสหภาพแรงงานเพียงเท่านั้น แต่ขยายขอบเขตของการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทั้งสังคม

ตัวอย่างแรกไปกันที่ประเทศฟิลิปปินส์ในปีค.ศ. 1985 กลุ่มแรงงานรวมพลังกันประท้วงหยุดงาน               เพื่อต่อต้านเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (Ferdinand Marcos) ผู้นำเผด็จการที่ปกครองประเทศกว่า 21 ปี 

แม้เรื่องราวจะเริ่มต้นจากปัญหาเศรษฐกิจที่สร้างความเหลื่อมล้ำ และการถูกขูดรีดผลประโยชน์จากนายทุนที่ทำให้แรงงานต้องทนทำงานหนักแลกกับค่าจ้างเพียงน้อยนิด แต่การต่อสู้ของพวกเขาได้สั่นสะเทือนไปถึงอำนาจของมาร์กอส เพราะนายทุนใหญ่ล้วนมีสายสัมพันธ์กับผู้นำเผด็จการ โดยมีผลประโยชน์ร่วมคือการกอบโกยผลประโยชน์ของประเทศชาติจากการคอร์รัปชัน

เมื่อเจอกับความไม่เป็นธรรม เหล่าแรงงานจึงรวมพลังกันต่อสู้ ก่อตั้งสมาพันธ์แรงงานฟิลิปปินส์ (Trade Union Congress of the Philippines – TUCP) ขึ้น เพื่อรวมรวบแรงงานหลายสาขาอาชีพจากทั่วประเทศให้เข้ามาเป็นสมาชิก จากนั้นจึงเริ่มหยุดงานประท้วงทั่วประเทศมากถึง 371 ครั้ง การเคลื่อนไหวของแรงงานครั้งนี้นอกจากจะมีเป้าหมายในการส่งเสียงไปยังกลุ่มนายทุนแล้ว เป้าหมายของพวกเขาที่มีร่วมกันคือการขับไล่ผู้นำเผด็จการที่ครองอำนาจมายาวนาน ซึ่งการเคลื่อนไหวครั้งนี้ได้ส่งแรงสะเทือนไปยังสังคมให้ตื่นตัว ส่งผลให้นักศึกษา ทหาร พระสงฆ์และประชาชนกว่าล้านคน ออกมาขับไล่มาร์กอสออกนอกประเทศเป็นผลสำเร็จในปีค.ศ. 1986

เช่นเดียวกับที่ไต้หวันและเกาหลีใต้ ในยุคที่มีผู้นำเผด็จการปกครองประเทศ กลุ่มสหภาพแรงงานทั่วประเทศต่างออกมาประท้วงหยุดงาน เพื่อให้เศรษฐกิจหยุดชะงักลง พร้อมเรียกร้องประชาธิปไตยร่วมกับนักศึกษาและประชาชน ซึ่งระหว่างทางของการต่อสู้ มีแรงงานหลายคนต้องสละชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก กลุ่มแรงงานผู้เป็นเสาหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศกลายมาเป็นกำลังสำคัญในการเรียกร้องประชาธิปไตย

อีกบทบาทหนึ่งที่แรงงานมีส่วนในการขับเคลื่อนประเด็นสังคม คือที่ประเทศอินโดนีเซียในปีค.ศ. 2010 กลุ่มสหภาพแรงงานร่วมมือกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ร่วมกันทวงสัญญาจากรัฐบาลที่ให้คำมั่นว่าจะผลักดันให้เกิดกฎหมายระบบประกันสังคมแห่งชาติ ซึ่งนอกจากจะเป็นหลักประกันคุ้มครองแรงงานแล้ว ยังช่วยส่งเสริมสวัสดิการด้านสุขภาพให้แก่ประชาชนทั้งประเทศ กลุ่มแรงงานจึงเดินขบวนประท้วง เสนอนโยบาย สื่อสารรณรงค์ให้สังคมตื่นตัว รวมไปถึงฟ้องร้องรัฐบาลในฐานะที่เพิกเฉยสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน จนกระทั่งศาลตัดสินให้รัฐบาลต้องยอมออกพระราชบัญญัติกฎหมายประกันสังคมเป็นผลสำเร็จในปีค.ศ. 2011

หากพูดถึงเรื่องของสหภาพแรงงานแล้ว ย่อมต้องพูดถึงประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ที่มีแรงงานในประเทศเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในสัดส่วนที่สูงที่สุดในโลก (Trade Union Density) ไม่ว่าจะเป็นประเทศเดนมาร์ก สวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ ที่แรงงานในประเทศเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานมากกว่า 50 %  ซึ่งเป็นผลจากการต่อสู้เรียกร้องและวางโครงสร้างของสหภาพแรงงานให้แข็งแรงตั้งแต่ร้อยกว่าปีที่แล้ว การมีจำนวนสมาชิกในสหภาพมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้แรงงานมีอำนาจต่อรองมากขึ้นเท่านั้น

นอกจากนั้น กลุ่มสหภาพแรงงานยังมีบทบาทในเวทีการเมืองของประเทศในสแกนดิเนเวียยังแข็งขัน เพราะกลุ่มแรงงานได้ก่อตั้งพรรคแรงงานหรือพรรคที่มีอุดมการณ์สังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democratic Party) ขึ้นมาเป็นปากเสียงของผู้ใช้แรงงานทั้งประเทศ และออกนโยบายที่คำนึงถึงสิทธิสวัสดิการของแรงงาน เช่น ในฟินแลนด์  ซานนา มาริน (Sanna Marin) นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันก็มาจากพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย ซึ่งมีนโยบายเงินช่วยเหลือเมื่อว่างงาน (Unemployment Benefit) โดยรัฐจะช่วยหางานให้ พร้อมให้เงินช่วยเหลือและสนับสนุนการศึกษาเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือจะเป็นที่สวีเดน พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยสามารถชนะเลือกตั้งเป็นผู้นำรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้พรรคออกนโยบายที่คำนึงถึงสิทธิและสวัสดิการของแรงงาน ทั้งระบบประกันสุขภาพฟรี การศึกษาฟรี การเพิ่มเงินบำนาญให้ผู้สูงอายุ ฯลฯ

รับรู้เรื่องราวของสหภาพแรงงานจากทั่วโลกแล้ว ลองหันกลับมาดูสหภาพแรงงานในประเทศไทยของเรากันบ้าง

จะเป็นคนชาติไหน แรงงานก็ต้องสู้ เรื่องราวของสหภาพแรงงานไทย

สำหรับประเทศไทยนั้น การต่อสู้ของแรงงานมีมานานกว่า 100 ปี จากหลักฐานทางเอกสารพบว่า แรงงานไทยเริ่มมีการนัดหยุดงานของกรรมกรรถรางบริษัทไฟฟ้าสยามจำกัด (Siam Electrical Co. Ltd)  ในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2465 เพื่อเรียกร้องค่าจ้างที่เป็นธรรมจากนายจ้าง และในสมัยนั้นยังมีการนัดหยุดงานของแรงงานจีนที่ทำงานในไทยอีกหลายครั้ง 

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การนัดหยุดงานของแรงงานเริ่มมีมากขึ้น มีการจัดตั้งสมาคมวิชาชีพต่างๆ ให้แรงงานรวมตัวกัน เช่น สมาคมกรรมกรโรงสีและข้าวสาร สมาคมกรรมกรโรงเลื่อย ฯลฯ ซึ่งมีการนัดประชุมเพื่อวางแผนในการดำเนินงาน ไม่ต่างกับสหภาพแรงงานในประเทศอื่น  จึงทำให้เห็นว่าการต่อสู้ของแรงงานกับนายจ้างเป็นเรื่องสากลที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ต่อเนื่องมาถึงพ.ศ. 2500 มีการจัดตั้งจดทะเบียนสหภาพแรงงานไทยกว่า 154 แห่ง แต่กลุ่มแรงงานยังไม่ทันได้ทำงานเรียกร้องสิทธิ เพราะเกิดการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2501 ยกเลิกพ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์       ห้ามแรงงานนัดชุมนุมกัน แรงงานต้องทนกับการทำงานที่มีค่าแรงต่ำโดยไม่มีปากเสียง และตกอยู่ภายใต้การปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยยาวนานกว่า 15 ปี

การต่อสู้ของแรงงานไทยมาถึงยุคเฟื่องฟูอีกครั้งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่กระแสการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยกำลังเบ่งบาน กลุ่มแรงงานต่างรวมตัวกันประท้วงเรียกร้องสิทธิที่ควรได้รับ โดยในพ.ศ. 2516 มีการนัดหยุดงานทั่วประเทศถึง 501 ครั้ง มากกว่าพ.ศ. 2514 ที่มีการนัดหยุดงานเพียง 27 ครั้ง โดยแรงงานหลากหลายอาชีพได้ร่วมกันต่อสู้ เช่น กลุ่มกรรมกรโรงงานทอผ้านับหมื่นคนร่วมชุมนุมที่สนามหลวงในปีพ.ศ. 2517 กดดันนายจ้างจนต้องยอมปรับค่าจ้างขั้นต่ำจากวันละ 16 บาทเป็นวันละ 25 บาท ส่วนกลุ่มพนักงานรัฐวิสาหกิจมีการประท้วงขอปรับเงินเดือนและสวัสดิการ จนเป็นผลสำเร็จเช่นกัน

นอกจากการเจรจากับนายจ้างแล้ว กลุ่มแรงงานได้จัดตั้งองค์กร “ศูนย์ประสานงานกรรมกรแห่งชาติ” เพื่อทำงานร่วมกับกลุ่มนักศึกษาและชาวนา โดยมีเป้าหมายในการเคลื่อนไหวเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนในสังคม  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเหตุการณ์เดือนมกราคม พ.ศ. 2519  “กลุ่มสหภาพแรงงานแห่งประเทศไทย”ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของแรงงานหลากหลายอาชีพ เป็นตัวแทนของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจ ชุมนุมเพื่อคัดค้านการขึ้นราคาข้าวสารและน้ำตาล การคัดค้านครั้งนี้ทำให้รัฐบาลยอมลดราคาสินค้าลงเป็นผลสำเร็จ

แต่การต่อสู้ของแรงงานที่กำลังเบ่งบานกลับต้องหยุดชะงักลง หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เมื่อกลุ่มฝ่ายขวาจัด เช่น กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มนวพล กลุ่มกระทิงแดง ฯลฯ ซึ่งได้รับสื่อปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชังต่อนักศึกษาและคนเห็นต่าง ต้องการจะหยุดยั้งขบวนการประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย โดยเข้าทำร้ายร่างกายนักศึกษาและประชาชนอย่างเหี้ยมโหด เหตุการณ์จบลงด้วยการทำรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน 

หลังเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ประชาธิปไตยในประเทศเริ่มถดถอย ขบวนการนักศึกษาและแรงงานต่างลดบทบาทในการเคลื่อนไหวเพื่อสังคม ด้วยบริบททางการเมืองที่มีการรัฐประหารบ่อยครั้ง รวมไปถึงแรงงานต่างต้องทำงานหนักเพื่อเอาตัวรอด  ทำให้การรวมกลุ่มของแรงงานน้อยลง เห็นได้ชัดจากสถิติการนัดหยุดงานในปีพ.ศ. 2520 ที่มีเพียงแค่ 7 ครั้งเท่านั้น แม้หลังจากนั้นจะเกิดการรวมตัวกันต่อสู้ของกลุ่มแรงงานเพื่อสังคมอยู่บ้าง เช่น การต่อสู้เพื่อผลักดันให้เกิดประกันสังคมในปี พ.ศ. 2533 แต่กระแสการต่อสู้ที่เคยรุ่งเรืองของกลุ่มแรงงานในช่วงปีพ.ศ. 2516 -2519 ก็ไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลย

คำถามต่อมา แล้วอนาคตของสหภาพแรงงานไทยจะเป็นอย่างไร ?

สู้ไปด้วยกัน หนทางของแรงงานไทยในอนาคต

อ่านเรื่องราวของสหภาพแรงงานทั้งต่างประเทศและไทยแล้ว คิดว่าทุกคนคงเห็นตรงกันว่า การที่แรงงานจะมีอำนาจต่อรองกับนายจ้าง ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในการจ้างงานนั้น จะเกิดขึ้นโดยแรงงานแค่ไม่กี่คน หรือหวังว่านายจ้างจะใจดียอมเสียสละเพื่อแรงงานคงเป็นไปไม่ได้ รวมทั้งการเรียกร้องของแรงงานจะไม่มีทางสำเร็จในระบบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ที่ไม่เปิดโอกาสให้แรงงานได้ส่งเสียงแสดงความคิดเห็น 

ดังนั้นแล้ว สิทธิอันชอบธรรมของแรงงานจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อรวมตัวกันต่อสู้กับอำนาจของนายทุนและผู้นำเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นการรวมตัวต่อสู้ของแรงงานเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้วในอังกฤษเพื่อกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ การรวมกันต่อสู้ระบบเผด็จการของฟิลิปปินส์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ เพื่อให้เกิดประชาธิปไตยในสังคม หรือว่าจะเป็นการต่อสู้ของกลุ่มแรงงานในสแกนดิเนเวีย เพื่อสร้างรากฐานสวัสดิการในสังคมให้แข็งแรง 

สำหรับประเทศไทย ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ ยิ่งเป็นบทพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นความไม่มั่นคงของชีวิตแรงงานกันมากขึ้น แม้สัดส่วนของแรงงานไทยที่อยู่ในสหภาพแรงงานจะมีเพียง 1.6%  แต่ในปัจจุบันความคิดเรื่องสิทธิของแรงงานก็ได้รับการพูดถึงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มไรเดอร์ หรือพนักงานรับส่งอาหาร ก่อตั้งสหภาพและนัดหยุดงานในภูมิภาคต่างๆ เพื่อเรียกร้องค่าจ้างที่เป็นธรรม หรือการเปิดตัวสหภาพคนทำงาน Workers' Union เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งมีแนวคิดในการก่อตั้งสหภาพแรงงานรูปแบบใหม่ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในสถานที่ทำงานที่ใดที่หนึ่ง แต่ต้องการรวบรวมคนทำงานจากทุกสาขาอาชีพ เพื่อต่อรองค่าแรงขั้นต่ำ สวัสดิการในที่ทำงาน และกฎหมายที่คุ้มครองแรงงานได้จริง

กระแสตื่นตัวดังกล่าว จึงเป็นความหวังของแรงงานไทยท่ามกลางสถานการณ์ในประเทศที่ดูมืดหม่นในทุกทาง หากเราทุกคนเป็นแรงงานที่อยากเห็นคุณภาพชีวิตของเราดีขึ้น การคิดว่าเรื่องสหภาพแรงงานจะเป็นของคนอาชีพใดอาชีพหนึ่งเท่านั้น คงไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้องนัก เพราะไม่ว่าจะเป็นพนักงานออฟฟิศ พนักงานโรงงาน คนขนส่งอาหาร พนักงานเก็บขยะ ฯลฯ ล้วนเป็นแรงงานที่มีความสำคัญในการสร้างการเจริญเติบโตให้ประเทศด้วยกันทั้งสิ้น 

หากคุณเห็นการต่อสู้เรียกร้องของกลุ่มแรงงานไหนก็ตาม ลองปรับความคิดใหม่และมองพวกเขาเป็นเพื่อนที่ออกมาต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเราเช่นกัน และถ้าอยากให้ความเป็นธรรมเกิดขึ้นกับชีวิตตัวเราเองและแรงงานคนอื่น เข้าร่วมสนับสนุนพวกเขา อย่าปล่อยให้เพื่อนของเราต้องต่อสู้คนเดียว
 

 

อ้างอิง
1. สหภาพแรงงานไทยที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม โดย นภาพร อติวานิชยพงศ์
2. สหภาพแรงงานในการเปลี่ยนแปลง เรื่องเล่าความสำเร็จ 6 กรณี โดย Mirko Herberg (บรรณาธิการ)
3. เมื่ออรุณจะรุ่งฟ้า ขบวนการนักศึกษาไทย พ.ศ. 2513-2519 โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
4. หนังสือ Asia's Unknown Uprisings Volume 2: People Power in the Philippines, Burma, Tibet, China, Taiwan, Bangladesh, Nepal, Thailand and Indonesia 1947–2009 เขียนโดย George Katsiaficas หน้าที่ 37 -79
5. https://www.brandthink.me/content/equality-in-european
6. https://stats.oecd.org/Index.aspx?DataSetCode=TUD
7. https://www.britannica.com/topic/trade-union
8. https://www.history.com/topics/19th-century/labor
9. https://nordics.info/show/artikel/trade-unions-in-the-nordic-region
 

ที่มาภาพ: สหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส
ตร.คุม 4 แกนนำ คนงาน GM ไปสอบประวัติ หลังร้องสถาoทูตสหรัฐ ช่วยแก้ปัญหาแรงงาน https://www.flickr.com/photos/prachatai/40921220835

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท