Rocket Media Lab​​​​​​​ สำรวจ นโยบายผู้ว่าฯ กทม.: เลือกตั้งกี่ครั้งก็ยังต้องแก้ปัญหาเดิม 

  • สนามการเลือกตั้งกรุงเทพฯ เปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการอาสาเข้ามาพัฒนากรุงเทพฯ นำเสนอความคิดเห็นได้ค่อนข้างหลากหลาย
  • ประเด็นที่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในแต่ละยุคหยิบยกขึ้นมาเป็นนโยบายในการหาเสียงแทบไม่มีความแตกต่างกันเลย เพราะเป็นปัญหาเรื้อรังของกรุงเทพฯ ที่แก้ไขไม่สำเร็จไม่ว่าในยุคไหน
  • นโยบายหาเสียงของผู้ลงสมัครทุกยุคทุกสมัยมักเป็นปัญหาเดิมๆ และอาจมาพร้อมแนวทางแก้ปัญหาแบบเดิมๆ ที่เคยทำไปแล้วด้วย
  • ผู้ว่าฯ กทม. ที่มาจากการเลือกตั้งส่วนใหญ่ดำเนินงานตามที่กำหนดอยู่แล้วในแผนพัฒนากรุงเทพฯ มีผู้ว่าฯ บางคนสามารถนำเอาสิ่งที่เคยหาเสียงไว้มาปรับใช้ภายใต้แผนพัฒนาฯ ออกมาเป็นโครงการต่างๆ ได้
  • การจัดการกรุงเทพฯ ซับซ้อนเกินกว่าผู้ว่าฯ จะลงมือได้คนเดียว เพราะการพัฒนาถูกกำกับและกำหนดทิศทางจาก ‘แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร’ ทั้งยังมี ‘เจ้าภาพ’ หลายราย ยังไม่นับกฎหมายจากรัฐบาลกลางที่เข้ามาร่วมกำหนดแนวทางบริหารเมืองด้วย

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 เป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งแรกในรอบ 9 ปี มีผู้สมัครลงชิงชัยหลากหลายทั้งจากพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง และผู้สมัครอิสระ รวม 31 คน แต่ละคนต่างก็เร่งหาเสียงพร้อมกับประกาศนโยบายพัฒนากรุงเทพฯ เมืองหลวงที่มีประชากรตามทะเบียนบ้านและประชากรแฝงที่มาทำงานหรือเรียนหนังสือราว 8 ล้านคน

แต่ดูเหมือนว่านโยบายที่ผู้ลงสมัครแต่ละคนใช้หาเสียง ยังเป็นเรื่องรถติด น้ำท่วม พื้นที่สีเขียว สภาพทางเท้า ฯลฯ ไม่แตกต่างจากผู้ลงสมัครในยุคก่อนๆ เท่าใด จนชวนสงสัยว่า ที่ผ่านมาผู้ลงสมัครหรือผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. เคยหาเสียงไว้ว่าอย่างไร ทำอะไรไปแล้วบ้าง แล้วเหตุใดเมื่อมีการเลือกตั้งอีก จึงยังหาเสียงด้วยนโยบายเดิมๆ อยู่ เสมือนว่าผู้ว่าฯ กทม. ไม่เคยแก้ปัญหาอะไรในกรุงเทพฯ ได้เลย

Rocket Media Lab ชวนทบทวนว่าที่ผ่านมาผู้ว่าฯ กทม. คนก่อนๆ เคยหาเสียงอะไรไว้ เคยมีผลงานอะไร ทำตามที่เคยหาเสียงไว้ไหม หรือสิ่งที่ทำนั้นอยู่ในแผนพัฒนากรุงเทพฯ อยู่แล้ว รวมไปถึงในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ นโยบายของผู้สมัครแต่ละคนแปลกใหม่น่าสนใจแค่ไหน เคยมีคนเสนอไว้หรือยัง หรือเป็นสิ่งที่ผู้ว่าฯ คนก่อนๆ เคยทำไปแล้วหรือไม่ ก่อนจะตัดสินใจว่าจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ กทม.

สัญญาอะไรไว้ ทำได้หรือเปล่า? 

นโยบายหาเสียงของผู้สมัครในแต่ละยุคมักมาจากเรื่องที่ชาวกรุงเทพฯ ต้องประสบพบเห็นตลอดมา และมักจะเห็นตรงกันว่าเป็นปัญหา โดยอาจมีแนวทางการแก้ปัญหาเหมือนกันหรือต่างกันไปบ้าง

เมื่อดูเฉพาะผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้ง จำนวน 7 คน (10 สมัย) ตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรกใน พ.ศ. 2518 มาจนถึงการเลือกตั้งครั้งล่าสุดใน พ.ศ. 2556 สามารถจำแนกประเด็นปัญหาที่สำคัญและมักถูกหยิบยกมาหาเสียง ได้ดังนี้

จราจร: เน้นสร้างถนน ขยายรถไฟฟ้า แต่รถเมล์คือสิ่งที่ถูกลืม 

ปัญหาการจราจรติดขัดมักเป็นประเด็นแรกสุดที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ ตลอดระยะเวลากว่า 47 ปี ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ข้อเสนอส่วนใหญ่เน้นไปที่การรองรับรถยนต์ด้วยการเชื่อมต่อเส้นทาง ขยายถนน และปรับปรุงระบบสัญญาณไฟจราจร 

ในสมัยแรกของการลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2528 จำลอง ศรีเมือง หาเสียงว่า “ต้องทำให้ประชาชนให้ความร่วมมือ” จนสมัยต่อมา พ.ศ. 2533 จึงมีข้อเสนอต่อการแก้ปัญหาจราจรติดขัดว่า ควรจะ “สร้างสะพานลอยข้ามแยกที่มีการจราจรหนาแน่น ตัดถนนใหม่ ขยายถนนเก่า สร้างทางลัดให้มากขึ้น” อีกทั้งยังสนับสนุนให้สร้างที่จอดรถและสะพานลอยคนข้ามให้มากขึ้นด้วย 

เช่นเดียวกับ กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา กับนโยบายหาเสียงในการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2535 ก็เป็นการต่อยอดจากนโยบายของ จำลอง ที่ลาออกไป ด้วยการสานต่อการสร้างสะพานข้ามแยกเช่นกัน รวมถึงสมัคร สุนทรเวช ที่เสนอนโยบายสร้างถนนวงแหวน เชื่อมนอกเมืองในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2543 ขณะที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนอื่นๆ ได้แก่ พิจิตต รัตตกุล, อภิรักษ์ โกษะโยธิน และ สุขุมพันธุ์ บริพัตร ให้ความสำคัญกับการขนส่งสาธารณะมากกว่า

นโยบายขนส่งมวลชนเริ่มได้รับความสนใจตั้งแต่ พ.ศ. 2533 โดยจำลองเสนอให้จัดรถวน เป็นรถส่วนกลางรับส่งประชาชนในถนนบางสายที่การจราจรแออัดมาก เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวลง ระหว่างที่จำลองดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครออกประกาศให้บุคคลยื่นข้อเสนอโครงการลงทุนก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2534 ต่อมาจึงได้ทำสัญญากับบริษัท ธนายง จำกัด เมื่อ 9 เมษายน 2535 หลังจากผ่านการอนุมัติโดยกระทรวงมหาดไทยแล้ว

การหาเสียงว่าจะสร้างรถไฟลอยฟ้าเริ่มชัดเจนขึ้นในยุคของกฤษฎา ซึ่งหาเสียงว่าจะสร้างรถไฟลอยฟ้าและจัดทำเครือข่ายรถไฟลอยฟ้าขนาดเล็กใยแมงมุมทั่วกรุงเทพ หลังกฤษฎาเข้ารับตำแหน่งในเดือนเมษายน 2535 ก็มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานคร ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมื่อเดือนสิงหาคม 2535 และกรุงเทพมหานครจัดทำแผนแม่บทโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน พ.ศ. 2538 เป็นครั้งแรก

ต่อมาพิจิตตหาเสียงในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2539 ว่าจะ “ผลักดันรถไฟฟ้าใต้ดินให้เร็วที่สุดและรีบเร่งดำเนินงานที่คั่งค้างและต่อเนื่องให้เสร็จโดยฉับพลัน” พร้อมกับเสนอว่าจะสร้าง “รถรางเลียบคลองแสนแสบ คลองเปรมประชากร คลองภาษีเจริญ” ซึ่งไม่เกิดขึ้นในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง ขณะที่สมัยอภิรักษ์และสุขุมพันธุ์เสนอการเชื่อมโยงระบบเดินทางขนส่งมวลชนทุกพื้นที่ ทั้งขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดิน อย่างไรก็ตาม นี่เป็นการดำเนินการตามแผนที่มีอยู่แล้ว

ขณะที่รถโดยสารประจำทางไม่ค่อยถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นในการหาเสียงมากนัก นอกจากการประกาศนโยบายรถตู้มวลชนเพื่อเชื่อมการเดินทางชานเมืองสู่เมืองชั้นในของพิจิตต ขณะที่ยุคของอภิรักษ์ พ.ศ. 2547 เมื่อตอนหาเสียงเน้นที่การเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนโดยรวม จัดให้มีรถเมล์ด่วนพิเศษบน 10 เส้นทางหลัก สร้างเครือข่ายขนส่งมวลชนขนาดเล็กและเครือข่ายรถโรงเรียน แต่ที่เกิดขึ้นจริงคือ รถเมล์ด่วนพิเศษ BRT 1 เส้นทาง ที่เปิดใช้งานในช่วงที่สุขุมพันธุ์เข้ามาทำงานต่อจากอภิรักษ์ที่ต้องลาออกไป 

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า นโยบายของผู้สมัครมักให้น้ำหนักไปที่รถยนต์และรถไฟฟ้าเป็นหลัก ส่วนระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ เช่น รถโดยสารประจำทาง เรือ ไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก ทั้งที่เป็นการเดินทางที่สามารถเข้าถึงคนจำนวนมาก ราคาถูก เข้าถึงพื้นที่ได้มากกว่ารถไฟฟ้า และแก้ปัญหาการจราจรติดขัดได้ แต่ถึงอย่างนั้น ในสมัยของผู้ว่าฯ จำลอง ก็มีการนำเอาเรือโดยสารคลองแสนแสบมาวิ่งบริการเป็นครั้งแรก แม้ไม่ได้หาเสียงเรื่องนี้ไว้

สิ่งแวดล้อม: จะผ่านไปกี่ปีก็ต้องแก้น้ำท่วมและปลูกต้นไม้ให้มากๆ

น้ำท่วม 

การหาเสียงว่าจะแก้ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ด้วยการปรับปรุงท่อระบายน้ำมีมาตั้งแต่สมัยจำลอง เมื่อ พ.ศ. 2533 โดยเสนอว่าจะ “สร้างท่อระบายน้ำหรือขุดคูคลองสองข้างทางถนนที่ยังไม่มีท่อระบายน้ำ ขยายช่องตะแกรงระบายน้ำริมถนนให้กว้างขึ้น ปรับปรุงท่อระบายน้ำใต้ดินที่มีขนาดเล็กและไม่ได้ระดับ” รวมทั้งจะ “เร่งรัดการก่อสร้างเขื่อน สถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำเพิ่ม” และ “จัดหาแอ่งรับน้ำในกรุงเทพฯ เพิ่มมากขึ้น”

ในช่วง พ.ศ. 2535-2547 นโยบายแก้ปัญหาน้ำท่วมของผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้งคือ กฤษฎา สมัคร และพิจิตต ไม่ชัดเจนนัก ส่วนการหาเสียงทั้งสองครั้งของอภิรักษ์ก็ไม่มีรายละเอียดมากนัก โดยเสนอว่าจะพัฒนาระบบระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม การหาเสียงเมื่อ พ.ศ. 2552 สุขุมพันธุ์เสนอให้มีระบบระบายน้ำที่ใช้การได้ทั่วถึง ต่อมา พ.ศ. 2556 เสนอว่า “สร้างอุโมงค์ระบายน้ำยักษ์ 6 แห่ง เพิ่มขีดความสามารถในการรับน้ำฝนแต่ละพื้นที่ให้รับได้เกิน 60 มม.” 

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯ บางคน แม้ไม่ได้หาเสียงเรื่องนี้ไว้ แต่ขณะดำรงตำแหน่งก็มีผลงาน เช่น พิจิตต มี “อาสาสมัครหน่วยฟองน้ำ” ซึ่งออกปฏิบัติการป้องกันน้ำท่วมในย่านต่างๆ เมื่อมีฝนตกน้ำขัง หรือกฤษฎาที่สร้างสถานีสูบน้ําและประตูระบายน้ํา 18 แห่ง

ขยะ

ตอนที่จำลอง ศรีเมืองหาเสียงใน พ.ศ. 2528 เน้นการรณรงค์ให้ประชาชนมีจิตสำนึก โดยเสนอว่า “ต้องทำให้ประชาชนหันมาให้ความร่วมมือในการรักษาความสะอาด” ต่อมาในการหาเสียง พ.ศ. 2533 มุ่งเน้นการจัดเก็บให้ทั่วถึง “เพิ่มรถขนขยะให้เพียงพอ โดยเฉพาะรถขนขยะขนาดเล็กให้เข้าซอยได้ ใช้เรือเก็บขยะในคูคลองต่างๆ จัดซื้อที่ดินแปลงใหญ่ไกลออกไปจากย่านชุมชนเพื่อนำขยะไปทิ้ง เร่งรัดให้มีการจัดสร้างโรงงานกำจัดขยะและเตาเผาขยะเพิ่มขึ้น” 

ซึ่งคล้ายกับที่พิจิตตหาเสียงเมื่อ พ.ศ. 2539 ว่าจะจัดเก็บขยะให้หมด และจะสร้างโรงเผาขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าที่ท่าแร้ง-บางเขน อ่อนนุช คลองเตย เช่นเดียวกับสมัครที่เสนอว่า จะ “สร้างเตาเผาขยะ ทั้งสามทิศชิดชานเมือง” ส่วนนโยบายของอภิรักษ์ พ.ศ. 2547 ระบุว่า จะเพิ่มเวลาการจัดเก็บขยะให้ถี่ขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งจะมีการลงทุนเพิ่มเติมพร้อมกับการปฏิรูปการบริหารจัดการ 

ขณะที่สุขุมพันธุ์หาเสียงเมื่อปี 2552 ว่าจะจัดให้มีถังขยะพอเพียงในทุกที่ และจัดธนาคารรีไซเคิล แปลงขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า ต่อมา พ.ศ. 2556 เน้นไปที่การจัดหาโรงงานกำจัดขยะเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน โดยเสนอว่า จะสร้างโรงงานขยะแปรรูปอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน สร้างเตาเผาขยะผลิตกระแสไฟฟ้า 2 แห่ง สร้างโรงผลิตปุ๋ยจากขยะอินทรีย์ 1,000 ตัน รวมทั้งสร้างสถานีขนถ่ายย่อย โดยกล่าวถึงนโยบายการแยกขยะว่าเป็นการรณรงค์กับประชาชน

การเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยสวนสาธารณะและปลูกต้นไม้ 

การปลูกต้นไม้เป็นนโยบายที่ถูกนำมาหาเสียงมากที่สุด พ.ศ. 2528 จำลองหาเสียงไว้ว่า จะปลูกต้นไม้ยืนต้นและไม้เลื้อยให้มากขึ้น ต่อมา การเลือกตั้งสมัยที่ 2 เริ่มกล่าวถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเสนอว่า จะรณรงค์ต่อต้านการทุจริตทั่วประเทศเพื่อให้รัฐบาลมีเงินเหลือมาแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมเป็นพิษในกรุงเทพฯ และติดตั้งแผ่นกั้นเสียงบางจุดที่มีเสียงยวดยานอยู่ในเกณฑ์อันตราย 

ด้านพิจิตต ในภาพรวมมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมหลายด้าน โดยเสนอนโยบาย เก็บ-แยก-กำจัด ขยะ บำบัดน้ำเสียทั่วเมือง ฟื้นฟูลำคลอง และปลูกต้นไม้ให้ กทม.เขียวขจี 400,000 ต้น ต่อมา พ.ศ. 2543 สมัครหาเสียงว่า จะเพิ่มข้อต่อติดท่อไอเสียรถยนต์และปลูกต้นไม้เกาะกลางถนน ขณะที่อภิรักษ์ให้ความสำคัญกับปัญหาสภาวะโลกร้อนด้วยการประกาศว่าจะรณรงค์ลดภาวะโลกร้อนทุกวันที่ 9 ของเดือน ส่วนนโยบายของสุขุมพันธุ์ พ.ศ. 2552 คือ ส่งเสริมพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ด้านสวนสาธารณะตั้งแต่ พ.ศ. 2528 เป็นต้นมา ผู้สมัครทุกคนหาเสียงว่าจะเพิ่มสวนสาธารณะให้มากขึ้นผู้ที่ระบุจำนวนไว้ว่าจะสร้างสวนสาธารณะให้ได้ 10 แห่งระหว่างที่ดำรงตำแหน่งคือกฤษฎา ส่วนสุขุมพันธุ์หาเสียงเมื่อ พ.ศ. 2556 ว่าจะเพิ่มพื้นที่สีเขียว 5,000 ไร่ สร้างสวนสาธารณะ 10 แห่ง

คุณภาพชีวิต: พัฒนาศูนย์บริการสาธารณสุข จัดระเบียบแผงลอย พัฒนาชุมชน

สาธารณสุข 

นอกจากการหาเสียงเมื่อ พ.ศ. 2528 ของจำลองที่ว่าจะแก้ปัญหาสาธารณสุขเน้นการขยายและสร้างขึ้นอย่างทั่วถึง ผู้สมัครทุกคนนับตั้งแต่กฤษฎาเป็นต้นมาเสนอให้พัฒนาศูนย์สาธารณสุขให้เป็นโรงพยาบาล หรือปรับปรุงคุณภาพโรงพยาบาลของกรุงเทพมหานครให้เทียบเท่าเอกชน ขณะที่พิจิตตเสนอว่า จะจัดให้มี กทม.โพลีคลีนิก 60 แห่งทั่วกรุงเทพฯ 

ด้านอภิรักษ์หาเสียงในสมัยที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2551 ว่า นอกจากยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ให้ได้มาตรฐานแล้วยังมีแนวคิดจะจัดหน่วยพยาบาล กทม. เคลื่อนที่เยี่ยมบ้านและที่ทำงาน บุคลากรสาธารณสุขของ กทม. ออกเยี่ยมบ้านและที่ทำงานด้วย ส่วนสุขุมพันธุ์สัญญาว่าจะจัดให้มีบริการตรวจสุขภาพประจำปีฟรี จัดตั้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉินและตั้งศูนย์เวชศาสตร์คนเมืองเพื่อศึกษาปัญหาด้านสุขภาพโดยเฉพาะ

หาบเร่แผงลอย 

จำลองเริ่มมีแนวคิดจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยตอนที่ลงสมัครเป็นผู้ว่าฯ สมัยที่ 2 พ.ศ. 2533 ด้วยการหาเสียงว่า จะผลักดันให้มีการแก้กฎหมายเพื่อให้ กทม.มีอำนาจผ่อนผันให้ผู้ค้าวางสินค้าบนทางเท้าบางจุดได้เหมาะสม ให้ กทม.มีอำนาจจับและปรับผู้ฝ่าฝืน กำหนดจุดอนุญาต ขีดสีตีเส้นให้ผู้ค้าตั้งวางเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน ใช้นโยบายปราบผู้ค้าและผู้ซื้อพร้อมกัน และจัดหาสถานที่เหมาะสมให้ผู้ค้ามากขึ้น เช่น จัดให้มีตลาดนัดแห่งใหม่เพิ่ม ด้านสมัครย้ำถึงความสำคัญของการมีอาหารราคาถูก โดยประกาศว่าจะตั้งศูนย์อาหารไว้ใกล้ชุมชน โดยหลังจากได้เป็นผู้ว่าฯ ก็มีการตั้งสำนักเทศกิจขึ้น 

ในปี 2556 สุขุมพันธุ์มีนโยบายว่า จะดำเนินการให้หาบเร่แผงลอยมาอยู่ในอำนาจของ กทม. ขยายโครงการอาหารริมทาง สะอาดปลอดภัยมีใบรับรอง

ชุมชนและคุณภาพชีวิต 

การหาเสียงในประเด็นนี้ จำลองเริ่มต้นด้วยการหาเสียงว่าจะโน้มน้าวจิตใจให้คนเห็นแก่ตัวน้อยลง ในการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2528 ต่อมา กฤษฎาประกาศว่าจะพัฒนาชุมชนแออัด นโยบายของสมัครที่ว่าจัดแฟลตให้ผู้มีรายได้น้อยอยู่ ถือว่าเป็นการเสนอทางแก้ปัญหาชุมชนแออัดอย่างเป็นรูปธรรม ในสมัยแรก อภิรักษ์เสนอว่าจะจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน ส่งเสริมการกระจายสินค้าชุมชนและพัฒนาตลาดนัด พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ต่อมา พ.ศ. 2551 มุ่งไปที่การส่งเสริมชมรมผู้สูงอายุ จัดตั้งศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 500 บาทต่อคนต่อเดือน 

ด้านสุขุมพันธุ์ต่อยอดนโยบายของอภิรักษ์โดยเสนอเมื่อ พ.ศ. 2552 ว่าจะเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครแห่งการค้าและการท่องเที่ยวของภูมิภาค สร้างตลาดนัดอาชีพ เพิ่มพื้นที่ตลาดสินค้าผลิตในครัวเรือนและสินค้าทำมือ และตั้งลานกีฬาใกล้บ้าน ศูนย์กีฬาครบวงจร 1,200 แห่ง โดยจะมีฟุตบาทเรียบ ถนนสวย ในการลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งที่ 2 พ.ศ. 2556 สุขุมพันธุ์มีนโยบายว่าจะจัดให้มีศูนย์กีฬามิติใหม่และกีฬาผาดโผนสี่มุมเมือง สร้างห้องน้ำสาธารณะสะอาดครอบคลุมจุดเชื่อมต่อการเดินทาง ขยายการดูแลนักเรียน บริการหมวกกันน็อกฟรีแก่นักเรียน สร้างห้องสมุดใหม่ 10 แห่ง สร้างศูนย์เยาวชนเพิ่ม 5 แห่ง ติดตั้ง WIFI ความเร็วสูง และทำแท็กซี่สำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ

ปลอดภัยจากอาชญากรรม

ประเด็นนี้ถูกหยิบยกมาหาเสียงอย่างชัดเจนในสมัยของพิจิตต เมื่อ พ.ศ. 2539 ซึ่งเสนอว่าจะติดตั้งไฟแสงจันทร์ทั่วทุกซอย จัดทำโครงการสารสนเทศป้องกันเหตุร้าย 24 ชั่วโมง และตั้งศูนย์อาสาประชากู้ภัยทั้ง 38 เขต บริการ 24 ชั่วโมง คล้ายคลึงกับนโยบายของอภิรักษ์ในปี 2547 ที่จะ “สำรวจจุดเสี่ยงต่างๆ ที่เป็นจุดที่ล่อแหลมต่อการเกิดอาชญากรรม ปรับบทบาทบุคลากรของ กทม. เช่น เทศกิจ ให้เข้ามาดูแลประชาชนโดยให้ผู้รักษาความปลอดภัยโดยจะร่วมกับอาสาสมัครในชุมชนนั้นๆ” 

สมัยของสุขุมพันธุ์ พ.ศ. 2552 นอกจากการติดไฟส่องสว่างเพิ่ม 40,000 จุด ยังเพิ่มการติดตั้งกล้องวงจรปิด 10,000 ตัว ขณะที่ในปี 2556 เน้นเพิ่มจำนวนทั้งการติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) และติดไฟส่องสว่างในพื้นที่เสี่ยง รวมถึงจะจัดตั้งศูนย์บริหารการจัดการภัยพิบัติเร่งด่วน เพิ่มชุดปฏิบัติการดับเพลิงขนาดเล็กสำหรับชุมชน และให้มีอาสาสมัครชุมชนเฝ้าระวังเสริมความปลอดภัยให้ชุมชน

จากข้อมูลสะท้อนให้เห็นว่า การออกแบบนโยบายหาเสียงมักขึ้นอยู่กับสภาพปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ ณ เวลานั้น และตั้งเป้าหมายว่าต้องการเห็นกรุงเทพฯ เป็นอย่างไร และเมื่อพิจารณาจะเห็นได้ว่า ประเด็นที่ผู้ลงสมัครในแต่ละยุคหยิบยกขึ้นมาเป็นนโยบายหาเสียงแทบจะไม่แตกต่างกันเลย หรือในแง่หนึ่งก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นปัญหาเรื้อรังของกรุงเทพฯ ที่ไม่สามารถแก้ไขให้สำเร็จได้เลยไม่ว่าในยุคไหน

จึงเป็นคำถามที่น่าสนใจว่า เมื่อได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.แล้ว ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งคนนั้นๆ ในแต่ละยุค ได้ทำในสิ่งที่ตนเองหาเสียงไว้ว่าจะแก้ไขปัญหาต่างๆ ไปมากน้อยแค่ไหน แล้วทำไมเมื่อการเลือกตั้งครั้งใหม่วนกลับมา ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งก็ยังนำเอาประเด็นปัญหานั้นกลับมาหาเสียงใหม่อยู่ร่ำไป    

คน กทม. เลือกผู้ว่าฯ จากนโยบายหรือจากอะไร? 

หากย้อนกลับไปดูการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ที่ผ่านมา ตั้งแต่ครั้งแรกๆ จะเห็นได้ว่าสนามการเลือกตั้งกรุงเทพฯ เปิดโอกาสให้กับผู้สมัครที่หลากหลาย ทั้งที่สังกัดและไม่สังกัดพรรคการเมือง หรือการเป็นตัวแทนกลุ่มคนทำงาน ส่วนในแง่นโยบายและแนวทางการแก้ปัญหา ก็หลากหลายจนเรียกได้ว่าเป็นตลาดนโยบายย่อมๆ

ด้วยเหตุนี้เองเราเลยชวนมาดูว่า นอกจากนโยบายของผู้ที่ได้รับเลือกตั้งแล้ว บรรดาผู้ที่อาสามาทำงานเพื่อชาวกรุงเทพฯ คนอื่นๆ เคยเสนอนโยบายใดที่น่าสนใจบ้าง

ปรับปรุงรถเมล์

ขณะที่นโยบายด้านจราจรของผู้ที่ได้รับเลือกตั้งมักมุ่งเน้นไปที่การรองรับรถยนต์เป็นหลัก ผู้สมัครอีกหลายคนเสนอให้ปรับปรุงระบบรถโดยสารประจำทาง ในปี 2528 อดิศร อิสี และ มงคล สิมะโรจน์ เสนอให้โอนกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพมาเป็นของกรุงเทพมหานคร และให้กรุงเทพมหานครดำเนินกิจการเอง โดยมงคล สิมะโรจน์ยังมีแนวคิดที่ว่า “เมื่อแก้ปัญหาจราจรแล้วรถเมล์จะวิ่งได้มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องซื้อรถเพิ่ม แก้ปัญหาการขาดทุนด้วยการให้คนขับและกระเป๋าเช่ารถขับเอง เติมน้ำมันเอง"

ส่วนสมิตร สิทธินันทน์ เสนอนโยบายเชื่อมรถเมล์กับโครงข่ายคมนาคมอื่นๆ และพัฒนาเทคโนโลยีของรถเมล์ พ.ศ. 2543 ปวีณา หงสกุล พรรคชาติพัฒนา เสนอให้ “เพิ่มรถเมล์ด่วน โดยเฉพาะจุดที่มีรถไฟฟ้า” ขณะที่สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยเสนอโครงการรถเมล์ไฟฟ้า ต่อมา พ.ศ. 2556 พงศพัศ พงษ์เจริญ พรรคเพื่อไทย เสนอติดตั้งป้ายรถโดยสารดิจิทัลบอกเวลา เชื่อมโยงสัญญาณดาวเทียมบอกตำแหน่ง และระบบแจ้งเตือนระยะเวลาการเดินทางให้แก่ผู้โดยสาร

เปลี่ยนวิธีการสัญจรบนท้องถนน 

แทนที่จะเพิ่มจำนวนถนนหรือขยายถนนเพื่อรองรับรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้น ผู้สมัครหลายคนเสนอให้ปรับเปลี่ยนกฎจราจรใหม่แทน ตั้งแต่ พ.ศ. 2528 สมิตร สิทธินันทน์ เสนอว่า ควรแก้ปัญหาจราจรด้วยการเปิดไฟเขียวและไฟแดงให้เท่าๆ กัน ขณะที่ผู้สมัครอีก 2 คนคือ มงคล สิมะโรจน์ และ อนันต์ ภักดิ์ประไพ เห็นตรงกันว่าควรยกเลิกการเดินรถทางเดียว แต่สัญชัย เตียงพาณิชย์ ที่ลงสมัครในปี 2539 กลับบอกว่า ควรเปลี่ยนทางเดินรถเป็นแบบเดินรถทางเดียว ส่วน วินัย สมพงษ์ ที่ลงสมัครในปี 2543 เสนอให้มีการจัดตั้งอาสาสมัครจราจรอำนวยความสะดวกในจุดที่มีการจราจรแออัด

สารพัดวิธีอยู่ร่วมกับหาบเร่แผงลอย 

ผู้สมัครแต่ละคนมีมุมมองต่อเรื่องนี้ต่างกัน บางคนมองว่าไม่ควรปล่อยให้มีการค้าขายบนทางเท้าได้เลย และเสนอให้กำจัดโดยเด็ดขาด เช่น สมิตร สิทธินันทน์จะให้จับกุมเจ้าของอาคารที่ยอมให้หาบเร่แผงลอยมาวางขายหน้าอาคารของตนเอง ขณะที่ผู้สมัครในสมัยเดียวกันอย่างมงคล สิมะโรจน์ เลือกที่จะจัดระเบียบด้วยการขยายความกว้างของสะพานลอยคนข้ามจากเดิม 2 เมตรเป็น 6 เมตร โดยเก็บค่าที่มาเป็นงบประมาณสร้างสะพานลอย ส่วนการเลือกตั้งในปี 2533 เดโช สวนานนท์เห็นว่า ควรขึ้นทะเบียนพ่อค้าแม่ค้า มีจุดที่จัดให้ขายอาหาร โดยมีซุ้มทำอาหารและที่นั่งให้ผู้ขาย 8-10 รายมาเป็นผู้ประกอบการ

นโยบายที่มาก่อนกาล 

แม้หลายนโยบายอาจไม่ได้รับความสนใจในช่วงที่ผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป หลายข้อเสนอก็นับว่าทันสมัยในเวลานี้ เช่น การกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจในกรุงเทพฯ ชั้นในออกไปยังชานเมืองเพื่อลดปัญหาการกระจุกตัวของประชากร ซึ่งเดโช สวนานนท์ เสนอในปี 2533 ว่าควรตั้งโรงงานขนาดเล็กและที่อยู่อาศัยที่ชานเมือง และอากร ฮุนตระกูล ที่ลงเลือกตั้งในปี 2539 เสนอให้ลดภาษีให้บริษัทที่ลงทุนในต่างจังหวัด สร้างงานในต่างจังหวัด ลดความแออัดในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังเสนอว่า ควรนำที่ดินที่รัฐเป็นเจ้าของมาทำประโยชน์ให้ประชาชนส่วนรวม ไม่ใช่ให้เอกชนเช่า รวมทั้งการจัดสรรงบ 1,000 บาทต่อคนเพื่อพัฒนาชุมชน แนวคิดเหล่านี้ถูกหยิบยกมาพูดถึงในปัจจุบันว่าเป็นส่วนหนึ่งของการลดความเหลื่อมล้ำ กระจายความเจริญออกจากศูนย์กลาง และเป็นสวัสดิการสังคม 

หรือเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ซึ่งลงสมัครเมื่อปี 2551 เสนอให้สร้าง Metro Port (Park & Work) สถานที่ทำงานไฮเทคสี่มุมเมือง จอดรถแวะทำงานได้ ไม่ต้องเสียเวลาเข้าเมือง หยุดรถเข้าเมืองได้ 100,000 คัน ซึ่งก็ตรงกับในยุคปัจจุบันที่นิยมทำงานในร้านกาแฟหรือโคเวิร์คกิ้งสเปซ แทนการทำงานในสำนักงานแบบเดิม

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า นโยบายของผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้งและไม่ได้รับเลือกตั้งหลายเรื่องไม่แตกต่างกันมากนัก และมีข้อเสนอคล้ายกัน เช่น นโยบายที่ว่าจะขยายขนส่งมวลชนและเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทาง ทางบก น้ำ และทางเดินเท้าของอภิรักษ์ในปี 2551 ก็คล้ายกับนโยบายของประภัสร์ จงสงวนที่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง หรือการผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้กับกรุงเทพฯ ของอภิรักษ์ก็ตรงกับนโยบายหาเสียงของเกรียงศักดิ์

ในแง่นี้อาจกล่าวได้ว่า ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อาจจะไม่ได้มาจากเรื่องนโยบายเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงความนิยมในตัวบุคคล ภาพลักษณ์ ทีมทำงาน พรรคการเมืองที่สังกัด ฯลฯ ที่อาจมีผลพอๆ กับนโยบาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เคยเกิดขึ้นแล้วในยุคของจำลองในสมัยแรก ที่แม้จะนำเสนอนโยบายไม่มากนัก แต่ก็ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น หรือแม้แต่การนำเอาประเด็นทางการเมืองมาหาเสียงในยุคของสุขุมพันธุ์ ที่มาพร้อมประโยคที่ว่า “ไม่เลือกเราเขามาแน่” 

ผู้ว่าฯ ทำตามแผนพัฒนากรุงเทพฯ หรือนโยบายที่หาเสียง?

หากย้อนดูผลงานของผู้ว่าฯ ที่ได้รับเลือกตั้งจำนวนหนึ่ง จะเห็นได้ว่ามีทั้งที่มาจากสิ่งที่เคยหาเสียงและไม่ได้หาเสียงไว้ และน่าสังเกตว่าผลงานหลายเรื่องที่เกิดขึ้นซึ่งไม่ได้หาเสียงไว้ สอดคล้องกับแผนพัฒนากรุงเทพฯ ที่จัดทำทุก 5 ปีอยู่แล้ว หรือแม้แต่สิ่งที่หาเสียงไว้ก็ดูคล้ายจะมาจากแผนพัฒนากรุงเทพฯ ในแต่ละยุคนั่นเอง 

Rocket Media Lab ชวนย้อนสำรวจดูผลงานเด่นของผู้ว่าฯ กทม. ในแต่ละยุค เพื่อดูว่าแท้จริงแล้ว ผลงานของผู้ว่าฯ มีที่มาที่ไปอย่างไรกันแน่

ผู้ว่าฯ ที่มาจากการแต่งตั้ง 4 คนแรกคือ ชำนาญ ยุวบูรณ์, อรรถ วิสูตรโยธาภิบาล, ศิริ สันติบุตร และสาย หุตะเจริญ เป็นข้าราชการที่มาจากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งต้องบริหารกรุงเทพฯ ภายใต้แผนแม่บทของกระทรวงมหาดไทย และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต่อมาเมื่อมีการเลือกตั้ง ธรรมนูญ เทียนเงิน ผู้ว่าฯ คนแรกจากพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งหาเสียงไว้ว่า จะแก้ไขปัญหาขยะ น้ำท่วม และสร้างสวนสาธารณะ ก็เข้ามาทำงาน ซึ่งได้ก็ดำเนินการตามที่หาเสียงไว้ เช่น การดำเนินการสร้างสวนสาธารณะสวนจตุจักร

 

ผู้ว่าฯ ต่อมาอีก 4 คนที่มาจากการแต่งตั้ง ได้แก่ ชลอ ธรรมศิริ, เชาวน์วัศ สุดลาภา, เทียม มกรานนท์ และอาษา เมฆสวรรค์ ซึ่งดำรงตำแหน่งในช่วง พ.ศ. 2520-2528 มีผลงานเด่นคือ การริเริ่มแนวคิดย้ายตลาดนัดออกจากสนามหลวง ริเริ่มศูนย์อํานวยการประสานงานการป้องกันนํ้าท่วม 24 ชม. ริเริ่มจ้างบริษัทเอกชนมาเก็บขยะ และสร้างสวนเสรีไทย ตามลำดับ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นไปตามที่ระบุไว้ในแผนพัฒนากรุงเทพฯ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2520-2524 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2525-2529 เช่น การดูแลปรับปรุงซ่อมแซมยานพาหนะเก็บขนมูลฝอยและขนถ่ายปฏิกูลให้ทั่วถึง และการดำเนินการด้านระบบป้องกันน้ำท่วม

สำหรับจำลอง การหาเสียงในการเลือกตั้งสมัยแรก พ.ศ. 2528 เน้นไปที่ตัวบุคคลคือตัวจำลองเองมากกว่าเรื่องนโยบาย หากจะมีนโยบายที่เด่นชัดก็เห็นจะเป็นเรื่องการป้องกันการทุจริตของข้าราชการ กทม. อย่างไรก็ตาม แม้จะมีบางเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในนโยบายการหาเสียง แต่ก็เป็นสิ่งที่เมื่อเข้ามาเป็นผู้ว่าฯ แล้วทำได้จนกลายเป็นภาพจำ นั่นก็คือนโยบายด้านความสะอาด โดยจำลองได้ขยาย “โครงการ กรุงเทพฯ เมืองสะอาด” ของ เทียม มกรานนท์ มาใช้อย่างเข้มงวด จนทำให้กรุงเทพฯ ติดอันดับเมืองสะอาดน่าอยู่ 1 ใน 10 ของโลก นอกจากนี้ในยุคนั้นยังเริ่มมีการใช้เสื้อสีสะท้อนแสงของพนักงานกวาดถนนอีกด้วย

ในสมัยที่ 2 จำลองเน้นการแก้ปัญหาจราจรโดยการขยายถนน และกล่าวได้ว่าเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดการสร้างรถไฟลอยฟ้าเพื่อแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ และยังมีการเดินเรือขนส่งในคลองแสนแสบเป็นครั้งแรกอีกด้วย นอกจากนี้อีกหลายนโยบายที่หาเสียงไว้ก็มาสำเร็จในยุคหลัง เช่น สะพานลอยข้ามแยกเกษตร หรือมีการสานต่อในยุคของกฤษฎา อดีตรองผู้ว่าฯ ในยุคของจำลองและเป็นผู้ว่าฯ กทม.คนต่อมา เช่น การสานต่อเรื่องรถไฟลอยฟ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่กฤษฎาใช้เป็นนโยบายหาเสียงด้วย

นอกจากนี้ กฤษฎายังมีผลงานที่ชัดเจนในเรื่องอื่น เช่น สวนสาธารณะจากภูเขาขยะ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายที่หาเสียงไว้ว่าจะสร้างสวนสาธารณะ 10 แห่ง ส่วนการริเริ่มระบบควบคุมสัญญาณไฟอิเล็กทรอนิกส์ (ATC) นั้นที่แม้จะเกิดขึ้นในยุคของกฤษฎา แต่ก็เป็นไปตามแผนพัฒนาฉบับที่ 4 พ.ศ. 2535-2539 ที่ให้มีการปรับปรุงและติดตั้งระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรตามทางแยกด้วยระบบคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว

 

พิจิตตเป็นผู้ว่าฯ อีกคนหนึ่งที่มีผลงานเป็นไปตามที่หาเสียงไว้ แม้ว่านโยบายสำคัญ เช่น รถรางไฟฟ้าเลียบคลองหรือสภาประชาคมจะไม่สำเร็จ แต่กล่าวได้ว่า รถตู้มวลชนที่เกิดขึ้นในยุคนี้ตรงกับที่หาเสียงไว้ ส่วนการริเริ่มสร้างหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ไม่ปรากฏว่ามีการหาเสียงไว้และไม่อยู่ในแผนพัฒนากรุงเทพฯ ฉบับที่ 4

ขณะที่นโยบายของสมัครที่เสนอให้สร้างแฟลตฝักข้าวโพดสำหรับผู้มีรายได้น้อยเกิดขึ้นได้ตามแผน ส่วนผลงานการตั้งศูนย์บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จที่เกิดขึ้นในยุคสมัครเป็นไปตามแผนพัฒนากรุงเทพฯ ฉบับที่ 5-6 ส่วนอภิรักษ์ที่หาเสียงไว้ว่า จะฟื้นฟูสภาพแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองใส 1,165 คลองสอดคล้องกับผลงานโครงการ 10 สวนสวย 10 คลองใส 10 ถนนสะอาด และยังได้ริเริ่มแนวคิดปรับปรุงคลองช่องนนทรีไว้อีกด้วย

สำหรับสุขุมพันธุ์ซึ่งเป็นผู้ว่าฯ ที่ได้รับเลือกตั้ง 2 สมัยและดำรงตำแหน่งในช่วงที่มีการจัดทำแผนพัฒนากรุงเทพระยะ 12 ปี และระยะ 20 ปี มีผลงานเป็นไปตามนโยบายที่หาเสียงไว้หลายด้าน ที่ชัดเจนที่สุดคือ การให้คำมั่นว่าจะติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มขึ้น 20,000 ตัว ในสมัยที่ 2 ซึ่งอาจเป็นผลมาจากเหตุระเบิดกลางกรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งสมัยแรก อีกทั้งจำนวนกล้องวงจรปิดยังถูกจัดเป็นตัวชี้วัดหนึ่งของมหานครปลอดภัย ในแผนพัฒนากรุงเทพฯ ระยะ 20 ปีด้วย ส่วนนโยบายโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนที่หาเสียงไว้ก็เป็นไปตามการหาเสียงเช่นกัน

ส่วนผลงานของ อัศวิน ขวัญเมือง ซึ่งเข้ารับตำแหน่งจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระหว่าง พ.ศ. 2559-2565 เชื่อมโยงกับนโยบายของรัฐบาลกลางอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างคือ การปรับปรุงภูมิทัศน์คลองโอ่งอ่าง ที่เป็นไปตามแผนขยายการดำเนินการปรับภูมิทัศน์คลองรอบเกาะรัตนโกสินทร์ และคลองอื่นๆ ทั่วกรุงเทพมหานครของรัฐบาลที่สนับสนุนงบประมาณให้กรุงเทพมหานคร

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า ผู้ว่าฯ ส่วนใหญ่ดำเนินงานตามแผนพัฒนากรุงเทพฯ ที่กำหนดไว้อยู่แล้ว นอกจากนี้ผู้ว่าฯ บางคนก็สามารถนำเอานโยบายของตนเองหรือสิ่งที่ตนเองเคยหาเสียงไว้มาปรับใช้เป็นโครงการต่างๆ ได้ เนื่องด้วยในแผนพัฒนากรุงเทพฯ วางกรอบไว้กว้างๆ ในประเด็นปัญหาอมตะและเรื้อรังของกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจราจร น้ำท่วม พื้นที่สีเขียว ฯลฯ ซึ่งจากข้อมูลที่ผ่านมาก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ผู้ว่าฯ กทม. ทุกคนล้วนพยายามแก้ปัญหานั้นตามที่หาเสียงไว้ เพียงแค่ว่าแก้ได้แค่ไหน อย่างไร เท่านั้นเอง

สำรวจนโยบายผู้ลงสมัครผู้ว่าฯ 65 เรื่องไหนใครเคยเสนอไว้แล้วบ้าง 

ขณะที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งที่ 11 พ.ศ. 2565 พากันประกาศนโยบายต่างๆ ว่าตนเองจะทำอะไรบ้างหากได้รับเลือกตั้ง แต่เมื่อลองเปรียบเทียบผู้สมัคร ‘ตัวเต็ง’ ในครั้งนี้กับการเสนอนโยบายของผู้สมัครคนอื่นๆ ในอดีตที่ผ่านมา น่าสนใจว่า มีนโยบายหลายอย่างตรงกัน

ดูเหมือนว่าผู้สมัครเกือบทุกคนจะมีความเห็นตรงกันว่า กรุงเทพฯ ขาดแคลนพื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะ เพราะเรื่องนี้ปรากฏอยู่ในนโยบายของผู้สมัครเกือบทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสวนสาธารณะขนาดเล็กของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ที่เสนอว่าจะทำสวนที่คนสามารถเข้าถึงได้ในระยะ 15 นาที ทั่วกรุง เช่นเดียวกับที่สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ระบุว่าจะสร้างสวนสาธารณะฉบับกระเป๋า ด้านสกลธี ภัททิยกุลไม่ได้กำหนดขนาดระบุเพียงแค่ว่า ทุกเขตจะมีสวนสาธารณะตามขนาดพื้นที่ ขณะที่อัศวินอธิบายว่า จะเพิ่มทั้งสวนขนาดใหญ่และเล็ก Dog Park และสวนสาธารณะฉบับกระเป๋า

ข้อเสนอของวิโรจน์ ลักขณาอดิศรต่างจากคนอื่นเล็กน้อยตรงที่ไม่ประกาศว่า สวนจะมีลักษณะอย่างไร แต่เน้นที่มาของพื้นที่แทนว่า เปลี่ยนที่รกร้างเป็นที่สาธารณะ การหาเสียงว่าตนเองจะสร้างสวนสาธารณะเพิ่มมีมาตั้งแต่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2518 ธรรมนูญก็มีนโยบายว่าจะสร้างสวนสาธารณะ หลังจากนั้น จำลอง ประกาศใน พ.ศ. 2533 ว่า จะเพิ่มจำนวนสวนสาธารณะอย่างไม่หยุดยั้ง ปีเดียวกัน ประวิทย์ รุจิรวงศ์ ระบุเลยว่า จะสร้างสวนสาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10 ทุกปี

การประกาศว่าจะเพิ่มสวนสาธารณะเป็นจำนวนเท่าใดมีอยู่ในนโยบายของ พิจิตต, สมัคร, สุดารัตน์, อภิรักษ์ และ สุขุมพันธุ์ ขณะเดียวกัน นอกจากนโยบายของผู้สมัคร ประเด็นนี้ก็ถูกกำหนดไว้แล้วในแผนพัฒนากรุงเทพฯ ตั้งแต่ฉบับที่ 1 จนถึงแผนพัฒนากรุงเทพฯ ระยะ 20 ปี พ.ศ. 2556-2575 ซึ่งระบุเป้าหมายว่ากรุงเทพฯ จะมีพื้นที่สีเขียวและแหล่งดูดซับมลพิษทางอากาศไม่น้อยกว่า 9 ตร.ม.ต่อประชากร 1 คน

สำหรับการแก้ไขปัญหาจราจร แม้นโยบายของแต่ละคนจะมุ่งเน้นด้านที่ต่างกัน แต่การใช้เทคโนโลยีมาช่วยควบคุมสัญญาณไฟ ให้การจราจรที่ซับซ้อนทั่วกรุงเทพนั้นคล่องตัวขึ้นทั้งระบบ ก็เป็นหนึ่งในข้อเสนอที่ผู้สมัครหลายคนหาเสียงไว้ ไม่ว่าจะเป็นชัชชาติ ที่เห็นว่าควรบริหารจัดการการจราจรด้วยระบบอัจฉริยะ หรือสกลธี ที่แนะนำให้ใช้ระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรแบบเป็นพื้นที่ (ATC) เพื่อให้การปล่อยรถสัมพันธ์กันทุกแยก

อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้เคยถูกนำเสนอมาแล้วหลายครั้ง โดยกฤษฎาเสนอและดำเนินการระบบ ATC แล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2535 ต่อมาการเลือกตั้ง พ.ศ. 2539 จำลองเสนอโครงการติดตั้งระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรด้วยระบบคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2540-2541 และ 15 ปีต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2556 พงศพัศก็เสนอว่าจะประสานกับรัฐบาลกลางเพื่อบริหารจราจรด้วยระบบจราจรอัจฉริยะ (ITS) ควบคุมสัญญาณจราจรให้สัมพันธ์กับจำนวนรถยนต์บริเวณทางแยก ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครเองได้ดำเนินโครงการลักษณะเดียวกันนี้อยู่แล้ว โดยเป็นโครงการความร่วมมือกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) นำร่องติดตั้งระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรเป็นพื้นที่ (BATCP) ตั้งแต่ พ.ศ. 2562 แล้ว

การปรับปรุงโรงเรียนและศูนย์บริการสาธารณสุขให้มีมาตรฐานและคุณภาพเทียบเท่ากับสถานบริการในสังกัดอื่นเป็นนโยบายหลักที่ผู้สมัครหลายคนเน้นย้ำ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครให้มีคุณภาพเทียบเท่ากับโรงเรียนเอกชน โดยเฉพาะการปรับปรุงหลักสูตร เช่น สุชัชวีร์และสกลธี เน้นไปที่โรงเรียนแบบ 2-3 ภาษา ส่วนการพัฒนาศูนย์ให้บริการสาธารณสุขมุ่งไปที่การกระจายไปในทุกพื้นที่อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ

ทั้งสองประเด็นนี้ได้รับการพูดถึงมาตลอดระยะเวลาที่มีการเลือกตั้งกรุงเทพฯ ตัวอย่างเช่น จำลองหาเสียงในการลงสมัครรอบที่ 3 ปี 2539 ว่า จะปฏิรูปโรงเรียน กทม. และเพิ่มจำนวนและยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นศูนย์โพลีคลินิก ปี 2543 ธวัชชัย สัจจกุล และกัลยา โสภณพนิช สัญญาว่าจะพัฒนาคุณภาพโรงเรียน กทม.ให้มีมาตรฐานระดับเดียวกับโรงเรียนสาธิต เฉพาะการปรับปรุงคุณภาพศูนย์บริการสาธารณสุข พ.ศ. 2533 เดโช สวนานนท์ หาเสียงว่า จะปรับปรุงให้ศูนย์สาธารณสุขเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก เช่นเดียวกับการหาเสียง พ.ศ. 2535 ของ กฤษฎา ที่ประกาศว่าจะพัฒนาศูนย์บริการสาธารณสุขให้เป็นโรงพยาบาล หรือนโยบายยกระดับโรงพยาบาลสังกัด กทม. เท่าเอกชนของสมัคร ใน พ.ศ. 2543

ด้านนโยบายที่เสนอโดยผู้สมัครเพียงบางราย เช่น การเปิดช่องทางสื่อสารระหว่าง กทม.กับประชาชนผ่านสภาคนเมืองประจำเขตของชัชชาติ และการเปิดศาลาว่าการ กทม. ที่ถนนดินสอเป็นพื้นที่ให้ประชาชนมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของรสนา โตสิตระกูล ก็เคยถูกพูดถึงมาแล้ว ตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2539 ซึ่งพิจิตตเสนอให้ตั้งสภาประชาคม 2,400 ชุมชน เป็นองค์กรของประชาชนที่มีส่วนร่วมในการบริหารกับ กทม. และจำลองเสนอเปิดให้ประชาชนร้องทุกข์ผ่านเวทีเดือนละ 1 ครั้ง หรือการสร้างเตาเผาขยะระบบปิดในชุมชนของสุชัชวีร์ ครั้งหนึ่งสุดารัตน์ก็เสนอไว้มื่อปี 2543

นโยบาย 4 ด้านนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนโยบายที่ครั้งหนึ่งผู้สมัครเคยใช้หาเสียงมาก่อนหน้านี้แล้ว ยังมีประเด็นอื่นๆ อีก เช่น การจัดหาที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อย การแยกขยะ การตรวจจับผู้ปล่อยมลพิษทางอากาศ ที่หลายประเด็นนั้นล้วนมีผู้เคยเสนอไว้ หรือแม้แต่เคยดำเนินการไปแล้ว ในสมัยผู้ว่าฯ กทม. คนก่อน 

ผู้ว่าฯ ใหม่ ปัญหาเดิม : ภาพซ้ำการเลือกตั้งผู้ว่ากทม. ทุกยุคทุกสมัย 

จากข้อมูลข้างต้นนำมาสู่คำถามที่ว่าเหตุใดกรุงเทพฯ จึงยังประสบกับปัญหาเดิมๆ แม้จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. สักกี่ครั้ง ผู้สมัครก็ยังต้องมาพร้อมกับนโยบายในการแก้ปัญหาเดิม และส่วนมากก็มาพร้อมกับแนวทางที่ไม่สามารถฉีกออกไปจากเดิมมากนัก

เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะการพัฒนาของกรุงเทพมหานครนั้นถูกกำกับและกำหนดทิศทางจาก ‘แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร’ ซึ่งเป็นแผนแม่บท ดังนั้นไม่ว่าใครจะมาเป็นผู้บริหาร ก็ต้องดำเนินการภายใต้กรอบของแผนพัฒนาฯ ในช่วงเวลาน้ัน ไม่ว่าจะสอดคล้องกับนโยบายของตนเองหรือไม่

อีกประเด็นหนึ่งก็อาจเป็นเพราะการบริหารจัดการกรุงเทพฯ ยังถูกกำกับโดยหน่วยงานอื่นๆ ที่ซ้อนทับอยู่ด้วย เช่น ผู้ว่าฯ ไม่มีอำนาจบริหารจัดการรถโดยสารประจำทางโดยตรง การตัดสินใจจัดซื้อรถใหม่ต้องผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน หรือการดำเนินการโครงการขนาดใหญ่เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ก็ต้องผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเช่นกัน

นอกจากนี้ ปัญหาหนึ่งปัญหาของกรุงเทพฯ ยังมี ‘เจ้าภาพ’ หลายราย ไม่นับรวมถึงกฎหมายที่เข้ามากำหนดแนวทางการบริหารจัดการก็ยิ่งทำให้การจัดการกรุงเทพฯ ซับซ้อนมากขึ้น เช่น พระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้กรุงเทพฯ ต้องบริหารภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี, แผนการปฏิรูปประเทศ, นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ปัญหาของกรุงเทพฯ จึงไม่ได้มีแค่ปัญหาเชิงประจักษ์อย่าง รถติด น้ำท่วม อากาศเสีย เพียงเท่านั้น แต่รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างในการบริหารเองด้วย ทั้งโครงสร้างที่ต้องผูกพันกับอำนาจที่ใหญ่กว่าอย่างรัฐบาลกลางหรือกระทรวงมหาดไทย โครงการสร้างภายในอย่าง ส.ก. ส.ข. ที่ถูกยุบไป หรือการทำงานในระดับเขตของผู้อำนวยการเขต ที่ทำให้ผู้ว่าฯ กทม. ไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและเบ็ดเสร็จ

ปัญหาของกรุงเทพฯ ซับซ้อนกว่านั้น และแน่นอนว่า ผู้ว่าฯ ไม่ใช่ซูเปอร์แมน

หมายเหตุ: 

ดูข้อมูลนโยบายหาเสียงของผู้ว่าฯ ปี 2518-2556 ได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-bkk-campaigne 

เอกสารอ้างอิง

  • นรนิติ เศรษฐบุตรและคณะ. (2551). ชิงชัยกรุงเทพ 2551 : ประมวลและสรุปผลการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. กรุงเทพมหานคร: วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า.
  • บรรลือศักดิ์ แสงสว่าง.(2544). กระบวนการสร้างภาพทางการเมืองของผู้สมัครรับเลือกตั้ง : ศึกษาการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 2543. กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  • ปาจรีย์ อ่อนสอาด . (2548). กลยุทธ์การสื่อสารโน้มน้าวใจผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง : กรณีศึกษา "การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครปี 2547".กรุงเทพมหานคร : คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.
  • พิทยา เศรษฐพิทยากุล.(2530). กระบวนการและพฤติกรรมการเลือกตั้ง : ศึกษาเฉพาะกรณีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  • ภคกุล ศิริพยัคฆ์. (2536). การใช้สื่อมวลชนของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร.กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  • สุภาเพ็ญ วงษ์รัตนโต. (2539). ยุทธวิธีการหาเสียงเลือกตั้งโดยใช้ประเด็นนโยบาย: ศึกษากรณี: ดร.พิจิตต รัตตกุล ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ปี 2539. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  • สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กรุงเทพมหานคร. (2556). นโยบายของว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร). กรุงเทพมหานคร
  • ซีรีส์ชุด แผนพัฒนา กทม. มีไว้ทำไม อันเป็นความร่วมมือทางด้านข้อมูล ระหว่าง The Active และ Rocket Media Lab [1], [2], [3]

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท