Skip to main content
sharethis

สำนักข่าว Proekt ของรัสเซียเปิดเผยรายงานข่าวสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับสุขภาพของ ‘วลาดิเมียร์ ปูติน’ ประธานาธิบดีรัสเซีย ตลอด 20 ปีที่ครองอำนาจ ชี้ สุขภาพที่แท้จริงของผู้นำยังคงเป็นปริศนา แต่ข้อมูลจากเอกสารประวัติการรักษาทางการแพทย์ของปูตินย้อนหลังตั้งแต่ปี 2016-2020 บ่งชี้ว่าสุขภาพของเขาอาจจะย่ำแย่กว่าที่เห็น เพราะมีการเกณฑ์หมอระดับท็อปของประเทศตามประกบทุกการเดินทาง และมีความเสี่ยงว่า ‘ปูติน’ อาจป่วยเป็นมะเร็ง ซึ่งสวนทางกับการให้ข่าวของรัฐที่พยายามสร้างภาพให้เห็นว่า 'ผู้นำยังคงสบายดี'

18 เม.ย. 2565 ในวันที่ 7 ต.ค. ปีนี้ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซียจะฉลองวันลค้ายวันเกิดอายุครบ 70 ปีย้อนกลับไปในอดีต เมื่อครั้งที่ผู้นำและนักการเมืองระดับสูงของรัสเซียนับมาตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียตมีอายุล่วงเลยเข้าวัยเลข 7 พวกเขามีข่าวคราวเกี่ยวกับสัญญาณสุขภาพที่ไม่สู้ดีนัก ตัวอย่างเช่น โจเซฟ สตาลิน อดีตผู้นำสหภาพโซเวียต มีอาการโรคหลอดเลือกในสมองกำเริบเป็นครั้งที่ 2 ในช่วงวัยเดียวกันนั้น เลโอนิด เบรจเนฟ อดีตผู้นำสหภาพโซเวียตคนที่ 5 กลายเป็นบุคคลไร้ความสามารถจนทำให้อำนาจในการบริหารประเทศที่แท้จริงตกไปอยู่ในมือของลิ่วล้อ ขณะที่ยูริ อันโดรปอฟ ผู้นำคนถัดมา ไม่มีโอกาสได้สัมผัสวัย 70 เพราะเสียชีวิตก่อนถึงวันคล้ายวันเกิดไม่กี่เดือน ส่วนบอริส เยลต์ซิน ประธานาธิบดีคนแรกของรัสเซียหลังสิ้นสุดสงครามเย็นก็ต้องลาออกจากตำแหน่งเพราะปัญหาสุขภาพในช่วงวัย 70

อย่างไรก็ตาม ในช่วงวัยเดียวกันนี้ สุขภาพของปูตินยังคง “ดีเยี่ยม” ตามคำบอกเล่าของดิมิทรี เปสคอฟ โฆษกประจำทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซีย ประกอบกับภาพที่เห็นในสื่อโทรทัศน์ที่บอกได้ว่าสุขภาพของปูตินนั้นเทียบไม่ได้กับอดีตผู้นำยุคก่อนหน้า เขาทั้งออกกำลังกาย เดินตะลุยป่าเขตหนาวในไซบีเรีย และเจ็บป่วยเพราะเป็นหวัดเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ถ้ารายงานเหล่านี้เชื่อได้จริง ปูตินคงได้บริหารรัสเซียต่อจนถึงปี 2036 เป็นแน่ เพราะเขาได้แก้รัฐธรรมนูญไว้รอแล้ว แต่สุขภาพของปูตินตามรายงานเหล่านี้เชื่อถือได้จริงหรือ

เมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา Proekt สำนักข่าวอิสระของรัสเซียที่เชี่ยวชาญด้านข่าวสืบสวนสอบสวน หรือที่รู้จักกันอีกชื่อคือ Agentstvo เผยแพร่รายงานข่าวสืบสวนสอบสวนชิ้นใหม่เกี่ยวกับสุขภาพของปูติน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของรัสเซียที่ก้าวขึ้นสู่อำนาจสูงสุดในวัยเพียง 47 ปี ด้วยภาพลักษณ์ ‘ชายผู้กระฉับกระเฉง’ และเมื่อครั้งที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 2 สมัยแรกในปี 200-2008 ภาพลักษณ์ดังกล่าวส่งเสริมให้เขาได้รับความนิยมจนเรียกได้ว่าเป็น ‘ยุคทองของปูติน’ แม้ว่าในปี 2002 จะมีข่าวว่าเขามีลูกนอกสมรสกับภรรยาน้อยที่ชื่อว่าสเว็ตลานา คริโวโนกิฟ (Svetlana Krivonogikh) ก็ไม่ได้ทำให้ความนิยมของเขาลดลงเท่าไร แต่ยิ่งช่วยตอกย้ำภาพลักษณ์ ‘ชายผู้แข็งแกร่ง’ ให้สมจริงยิ่งขึ้น ต่างจากภาพลักษณ์ของผู้นำคนก่อนๆ ที่ป่วยออดๆ แอดๆ และสุขภาพทรุดหนักในเวลาต่อมา

ยุคทองของ 'ปูตินผู้แข็งแกร่ง'

ในช่วงต้นของการดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดทางการเมือง แทบจะไม่ค่อยมีข่าวว่าปูตินป่วยหนัก มีบ้างบางครั้งที่ทำเนียบเครมลินออกมาให้ข่าวว่าเขาเป็นไข้หวัด และได้ให้เจ้าหน้าที่คนอื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องสำคัญมากที่ทำเนียบเครมลินต้องการจะสร้างภาพลักษณ์ ‘ประธานาธิบดียุคอัลฟ่า’ ให้กับปูติน เมื่อปูตินก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 3 และ 4 สังเกตได้ว่าเจ้าหน้าที่ประจำทำเนียบไม่เคยออกมาให้ข่าวคราวร้ายๆ เกี่ยวกับสุขภาพของเขาเลยสักครั้ง เจ้าหน้าที่ของเครมลินพยายามไม่พูดถึงอาการเจ็บป่วยอย่างการเป็นไข้หวัดเล็กๆ น้อยๆ หรือไม่แม้แต่จะพูดถึงเรื่องอุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา ตัวอย่างเช่นเมื่อปีที่แล้ว ที่ปูตินหลุดปากบอก TASS ซึ่งเป็นสื่อหลักของรัสเซียว่าเขาประสบอุบัติเหตุตกจากหลังม้า ขณะกำลังฝึกซ้อมกีฬาขี่ม้า

การตกม้าถือเป็นปัญหาเพราะปูตินได้ชื่อว่าเป็นนักกีฬาขี่ม้าที่เก่งกาจในยุคทศวรรษที่ 2000 และอุบัติเหตุต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการเล่นกีฬาขี่ม้าก็ไม่ได้หายแล้วจบไป อุบัติเหตุตกม้าครั้งหนึ่งรุนแรงมาก ถึงขั้นที่คนรู้จักของปูตินเคยพูดไว้ว่า “เขาไม่สามารถยืนได้ด้วยขาของตัวเองอยู่สักพัก” และต้องเข้ารับการรักษาเป็นระยะเวลานานพอสมควร

วลาดิเมียร์ ปูติน ขณะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกเมื่อปี 2000 (ที่มา: วิกิพีเดีย)
 

เป็นไปได้ว่าอุบัติครั้งที่ว่าเคยเป็นข่าวดังเมื่อปี 2012 ในวันรวมชาติรัสเซียซึ่งตรงกับวันที่ 4 พ.ย. สถานีโทรทัศน์รัสเซียเผยแพร่ภาพพิธีวางดอกไม้ที่อนุสาวรีย์มินินและโปชาร์สกี (Monument to Minin and Pozharsky) บริเวณจัตุรัสแดงกลางกรุงมอสโก ปูตินในฐานะประมุขแห่งรัฐ และพระอัครบิดรคีริลล์ ประมุขสูงสุดของคริสตจักรรัสเซียออร์ทอดอกซ์ เข้าร่วมในพิธีดังกล่าว แต่ภาพที่ออกอากาศทางโทรทัศน์นั้นกลับไม่มีปูติน โดย Proekt ระบุในรายงานข่าวสืบสวนสอบสวนชิ้นนี้ว่าสาเหตุที่สถานีโทรทัศน์รัสเซียตัดภาพปูตินออก เพราะเขาเดินขากระเผลกอย่างเห็นได้ชัด สื่อทีวีรัสเซียจึงต้องปิดข่าวนี้ไว้ ไม่เพียงเท่านั้น แต่เว็บไซต์ทางการของทำเนียบเครมลินยังไม่ได้เผยแพร่วิดีโอพิธีในวันนั้นทั้งๆ ที่เป็นรัฐพิธีอย่างเป็นทางการ แต่เผยแพร่เพียงภาพนิ่งบางส่วนเท่านั้น ทั้งยังสั่งสำนักข่าวอื่นๆ ในรัสเซียห้ามเผยแพร่ภาพผู้นำเดินขากระเผลกอีกด้วย อย่างไรก็ตาม วิดีโอปูตินเดินขากระเผลกนั้นถูกเผยแพร่สู่สายตาชาวโลกและกลายเป็นคลิปไวรัลบนอินเทอร์เน็ตเพราะมันถูกโพสต์บนเว็บไซต์ทางการของคริสจักรรัสเซียออร์ทอดอกซ์ ซึ่งต้องการจะเผยแพร่ภาพรัฐพิธีสำคัญของประเทศนั่นเอง

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับพิธีที่จัตุรัสแดง มีสัญญาณชัดเจนว่าเกิดเหตุผิดปกติขึ้นกับประธานาธิบดีรัสเซีย ย้อนกลับไปในเดือน ก.ย. 2012 ปูตินปรากฏตัวด้วยการเดินขากระเผลกตลอดการประชุมเอเปค (APEC) ที่เมืองวลาดิวอสตอค และต่อมาเขาก็ต้องอยู่ในกรุงมอสโก ทำให้ทำเนียบเครมลินจำเป็นต้องยกเลิกเที่ยวบินและแผนการเดินทางอื่นๆ ที่วางตารางไว้แล้ว และในเดือน ธ.ค. ปีเดียวกัน สถานการณ์ดูจะย่ำแย่ลงกว่าเดิม พิธีการทางการทูตต่างๆ ที่มีประธานาธิบดีเป็นประธานมีกำหนดจัดขึ้นโดยใช้เวลารวมไม่เกิน 1 ชั่วโมง เพราะประธานาธิบดีไม่สามารถนั่งเป็นเวลานานได้เนื่องจากเหตุผลด้านสุขภาพ นอกจากนี้ เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของปูติน เจ้าหน้าที่ได้ลดระยะเวลาการแสดงคอนเสิร์ตฉลองครบรอบ 200 ปีที่รัสเซียชนะฝรั่งเศสในสงครามนโปเลียน ซึ่งจัดขึ้น ณ โรงละครบอลชอย ในกรุงมอสโก โดยใช้เวลาการแสดงทั้งหมดเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น แต่สุดท้าย ปูตินก็ไม่ได้มาร่วมชมการแสดงนั้น ส่วนในพิธีสุดท้ายของปี 2012 นั่นคือการต้อนรับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่มาเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการ ปูตินก็ไม่สามารถมาต้อนรับด้วยตัวเองได้ โดยเจ้าหน้าที่ของทำเนียบเครมลินกล่าวอย่างไม่เป็นทางการว่า “[สุขภาพ]ท่านผู้นำไม่ค่อยดี” ต้องใส่เครื่องพยุงหลัง และจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดหลัง

ในตอนนั้นเองเป็นช่วงที่ทำเนียบเครมลินเริ่มเชี่ยวชาญการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “วิดีโอภาพสำเร็จรูป” หรือการใช้วิดีโอที่บันทึกไว้ล่วงหน้า (pre-recorded) เพื่อแสดงให้เห็นภาพของปูตินขณะพบปะกับเจ้าหน้าที่รัฐบาล ซึ่งเครื่องมือนี้ช่วยให้เขาปลีกตัวหนีจากสายตาของนักข่าวไปอย่างเงียบๆ รวมถึงหายไปจากสายตาของคนทั้งประเทศ เมื่อเวลาผ่านไป จำนวนครั้งที่ปูตินหายออกจากสายตาสาธารณชนเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนผิดสังเก ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากปัญหาสุขภาพ โดย Proekt ได้รวบรวมการหายตัวไปของปูตินที่ผิดสังเกตจำนวน 5 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2012 ได้แก่

  • พ.ย. 2012 การเดินทางอย่างเป็นทางการ รวมถึงเที่ยวบินและพิธีที่ใช้ระยะเวลานาน ซึ่งจัดขึ้นในทำเนียบเครมลินและบ้านพักตากอากาศโนโว-โอการ์โยโว (Novo-Ogaryovo) ถูกยกเลิกทั้งหมด กาประชุมบางงานถูกบันทึกเทปไว้ล่วงหน้า
  • 5-15 มี.ค. 2015 ปูตินไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณชน การประชุมทั้งหมดถูกบันทึกเทปไว้ล่วงหน้า
  • 9-16 ส.ค. 2017 ปูตินเดินทางเยือนเมืองโซชิของรัสเซีย และอับคาเซีย ดินแดนพิพาทระหว่างรัสเซียและจอร์เจีย ร่วมกับนักข่าว และหลังจากนั้น ทำเนียบเครมลินได้เผยแพร่ภาพ “วิดีโอสำเร็จรูป” ต่อสื่อทีวีตลอดทั้งสัปดาห์
  • ก.พ. 2018 ช่วงกลางการหาเสียงเลือกตั้ง ปูตินยกเลิกพิธีสาธารณะทั้งหมดที่จัดขึ้นระหว่าง 12-14 ก.พ. โดยโฆษกทำเนียบเครมลินยอมรับว่าประธานาธิบดี “เป็นหวัด”
  • 13-29 ก.ย. 2021 งานทุกอย่างจัดขึ้นผ่านระบบประชุมออนไลน์ โดยทางการรัสเซียอ้างว่าปูตินต้อง “กักตัว”

เชื่อ 'ยาโด๊ปเขากวาง' สร้างความฟิต สวนทางญาติมิตรสายหมอ

ทุกคนทราบกันดีว่าปูตินเป็นคนรักสัตว์ แต่เพื่อสุขภาพของตัวเองทำให้เขาต้องเข้าสู่กระบวนการบางอย่างที่ดูแล้วเป็นการทรมานสัตว์และถูกตั้งคำถามทางการแพทย์ Proekt บอกว่าเรื่องราวที่พวกเขาจะนำเสนอต่อไปนี้จะอธิบายการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของปูตินที่มีต่อชีวิตอันยืนยาวในช่วงเวลาที่เขากลายเป็นผู้นำที่ไร้ขีดจำกัดของรัสเซีย โดย Proekt บอกว่านับตั้งแต่หลังสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 สุขภาพของปูตินก็กลายเป็นเรื่องสำคัญระดับชาติ

เซอร์เกย์ ชอยกู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรัสเซียคนปัจจุบัน ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่ ค.ศ.1991-2012 เป็นบุคคลแรกในหมู่ชนชั้นนำรัสเซียที่ในความสนใจการบำบัดรักษาโรคด้วยสารสกัดเขากวางอ่อนของกวางแดงบนเทือกเขาอัลไต ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นยาอายุวัฒนะ แต่กระบวนการนำเขากวางที่ว่ามาผลิตเป็นยานั้นมีความโหดร้าย เพราะต้องถอดเขากวางแบบเป็นๆ ซึ่งเขากวางที่เชื่อกันว่าเป็นยาอายุวัฒนะที่ดีที่สุดจะต้องเป็นเขากวางอ่อนที่ยังไม่งอกจนเป็นกระดูกแข็ง ยังคงมีเลือดไหลเวียนผ่านกระดูกอ่อนเหล่านั้น โดยนักพิทักษ์สิทธิสัตว์เปรียบเทียบกรรมวิธีการถอดเขากวางเป็นๆ ว่าเหมือนกับการถอดเล็บคนไม่มีผิดเพี้ยน

เซอร์เกย์ ชอยกู (ซ้าย) และวลาดิเมียร์ ปูติน (ขวา) ขณะพักผ่อนในไซบีเรีย เมื่อเดือน มี.ค. 2021
 

ในช่วงกลางทศวรรษที่ 2000 ชอยกูพาปูตินไปที่เทือกเขาอัลไตเป็นครั้งแรกและโน้มนาวให้ปูตินเชื่อในวิธีการบำบัดรักษาโรคด้วยสารกสัดจากเขากวางอ่อนซึ่งจะช่วยในเรื่องระบบหมุนเวียนเลือดและฟื้นคืนความเปล่งปลั่งให้กับผิว Proekt ระบุในรายงานว่าครั้งหนึ่งในระหว่างทริปท่องเที่ยวที่เทือกเขาอัลไต ปูตินซึ่งเริ่มคิดถึงสุขภาพของตัวเองได้ตัดสินใจแช่กายในอ่างอาบน้ำที่เต็มไปด้วยสารสกัดจากเขากวางอ่อน คนรู้จักคนหนึ่งของปูตินอ้างว่าเขาเคยเตือนท่านผู้นำแล้วว่ายังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนที่บ่งบอกได้ว่าการอาบสารสกัดจากเขากวางอ่อนจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ปูตินชอบการบำบัดรักษาด้วยสิ่งนี้ และนับแต่นั้นมา เขาก็ออกทริปเดินทางไปเทือกเขาอัลไตอยู่หลายครั้ง

กลุ่มชนชั้นนำเริ่มสัมผัสได้ถึงงานอดิเรกใหม่ของปูตินนั่นคือการอาบสารสกัดจากเขากวางอ่อนและกิจกรรมอื่นๆ ที่ช่วยบำรุงความเยาว์วัย และหลังจากนั้น กิจกรรมต่างๆ เหล่านั้นก็กลายเป็นที่นิยมในมวลหมู่ชนชั้นนำรัสเซีย Proekt ระบุว่าอดีตเจ้าหน้าที่ในสมัยประธานาธิบดีคนก่อนซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมเพื่อความเยาว์วัยเปิดเผยว่าเขาพบกับเซอร์เกย์ โซบียานิน นายกเทศมนตรีกรุงมอสโก รวมถึงอะเลคเซย์ มิลเลอร์ ซีอีโอ Gazprom บริษัทน้ำมันและพลังงานรายใหญ๋ของรัสเซีย และคณะผู้ติดตาม บนเทือกเขาอัลไต ส่วนสถานที่ประกอบกิจเพื่อความเยาว์วัยอีกแห่งคือรีสอร์ตในภูมิภาคคาเรเลีย ซึ่งเป็นพื้นที่ทางตอนเหนือของรัสเซียที่มีอาณาเขคติดกับฟินแลนด์ โดยระหว่างการทำกิจกรรมบำรุงความอ่อนเยาว์นั้น ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และจะมีการสวนทวารทุกวัน

หากคุณคิดว่าการบำบัดรักษาโรคด้วยวิธีการที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ตามความเชื่อของปูตินนั้นฟังดูแปลกแล้ว คุณจะยิ่งรู้สึกแปลกใจมากขึ้นไปอีกเมื่อรู้ข้อเท็จจริงสำคัญที่ว่าคนรอบตัวที่ใกล้ชิดกับปูตินนั้นล้วนแต่เป็นแพทย์ที่รักษาคนไข้ในโรงพยาบาล เช่น มาเรีย ปูตินา-ฟาสเซน บุตรสาวคนโตของปูติน เธอจบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมอสโก และก้าวขึ้นมาเป็นนักวิจัยชั้นนำที่ศูนย์ต่อมไร้ท่อวิทยาแห่งชาติรัสเซีย หลังจากนั้นเธอได้กลายเป็นหุ้นส่วนในโปรเจ็กต์โนเมโค (Nomeko) ซึ่งเป็นโครงการทางการแพทย์ที่วิจัยและพัฒนาวิธีการรูปแบบใหม่เพื่อรักษาโรคมะเร็ง และเหนือสิ่งอื่นใด ยูรี โควัลชุค หุ้นส่วนสำคัญของโปรเจ็กต์นี้เป็นเพื่อนของปูติน

นอกจากบุตรและเพื่อนแล้ว ปูติดยังมีญาติคนอื่นๆ ที่ทำงานในด้านการแพทย์ เช่น ‘เยฟเกนี’ ลูกพี่ลูกน้องของปูตินเป็นศัลยแพทย์ด้านกุมารเวชศาสตร์ ขณะที่ภรรยาของลูกพี่ลูกน้องคนนี้เป็นสูตินรีแพทย์ ส่วนลูกทั้ง 3 คนของสามีภรรยาคู่นี้ก็ร่ำเรียนมาด้านการแพทย์ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่ได้ทำงานเป็นแพทย์ทั้งหมด เพราะ 2 ใน 3 แยกย้ายไปทำงานตามเส้นสายของครอบครัวในธุรกิจถ่านหินและพลังงาน

ด้าน ‘ทาเทียนา’ น้องสาวของเยฟเกนีซึ่งมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องของปูตินเช่นกัน เธอคนนี้ยังคงประกอบอาชีพเป็นแพทย์และประสบความสำเร็จทางการเงินอย่างมากในสายอาชีพนี้ Proekt ระบุว่าก่อนที่ปูตินจะก้าวเข้าสู่วงการการเมืองอย่างเต็มตัว ทาเทียนาแต่งงานกับ ‘อนาโตลี ปตาชุค’ ซึ่งเป็นแพทย์เช่นเดียวกัน ทั้งคู่ทำงานด้วยกันอย่างเงียบๆ ที่โรงพยาบาลจิตเวชในเมืองวลาดิเมียร์ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงมอสโกไปทางตะวันออกประมาณ 200 กิโลเมตร ต่อมา เมื่อปูตินได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ทาเทียนาก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเช่นกัน หลังจากนั้น เธอได้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการบริษัทยา Biotek ทันทีที่ทาเนียนาเข้ามาเป็นผู้บริหารของ Biotek บริษัทก็มีความร่วมมือกับรัฐบาลรัสเซียมากขึ้นจนกลายเป็นผู้ผลิตยาและเวชภัณฑ์รายใหญ่ให้กับรัฐบาลรัสเซีย

ปัจจุบัน ทาเทียนาดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลการแพทย์กลาง (CCH) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในกรุงมอสโก และเป็นโรงพยาบาลสวัสดิการของเจ้าหน้าที่ในทำเนียบประธานาธิบดี รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำแหน่งอื่นๆ ในรัฐบาล นอกจากนี้ ‘เอเลนา’ ลูกสาวของทาเทียนาซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของปูตินยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ RZD Medicine และแต่งงานครั้งที่สองกับชาวอเมริกันซึ่งทำงานในแวดวงการแพทย์เช่นเดียวกัน

จากข้อมูลทั้งหมดนี้จะเห็นว่าญาติสนิทและคนใกล้ชิดปูตินทั้งหลาย ล้วนแต่อยู่ในแวดวงการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ซึ่ง Proekt ระบุในรายงานว่าเพราะเหตุนี้จึงเป็นเรื่องน่าแปลกใจว่าทำไมที่ความเชื่อของปูตินเรื่องยาอายุวัฒนะถึงสวนทางกับอาชีพที่เป็นวิทยาศาสตร์ของคนใกล้ตัว

ข่าวลือ ปูตินเป็นมะเร็ง?

พื้นที่บริเวณตะวันตกของกรุงมอสโกจำนวนมากอยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลการแพทย์กลาง (CCH) ซึ่งเป็นสถานพยาบาลที่ดูแลเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงของทางการรัสเซีย ที่นี่มีห้อง VIP มากมาย มีสิ่งอำนวยความสะดวกชนิดพิเศษ และการรักษาความปลอดภัยที่แน่นหนา นอกจากนี้ โรงพยาบาลแห่งนี้ยังมีส่วนงานที่เรียกว่า “แผนกแพทย์ส่วนตัว” ซึ่งปูตินเดินทางเข้ารับการรักษาอยู่หลายครั้ง และบ่อยครั้งขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แหล่งข่าวที่ให้ข้อมูลกับ Proekt บอกว่าผู้บริหารของโรงพยาบาลให้การต้อนรับปูตินทุกครั้งที่เขามาเยือน และส่งตัวประธานาธิบดีต่อถึงมือแพทย์ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลสุขภาพของผู้นำประเทศ โดยหนึ่งในแพทย์ที่มาดูแลปูตินบ่อยที่สุดคือดิมิทรี เวอร์โบวอย (Dmitri Verbovoy) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการกู้ชีพฉุกเฉิน ซึ่งเป็นผู้เขียนตำราการแพทย์ฉุกเฉินสำหรับรักษาอาการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บกะทันหัน รวมถึงวิธีการรักษาฉุกเฉินหากถูกวางยาพิษ แน่นอนว่าเขาดูแลปูตินเป็นอย่างดีจนได้รับยกย่องให้เป็นแพทย์อันดับต้นๆ ของประเทศ และได้เลื่อนตำแหน่งสู่การเป็นรองหัวหน้ากรมการแพทย์รัสเซียในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม ตลอดหลายปีที่ผ่านมานี้ ไม่ใช่ตัวปูตินเองที่เดินทางไปหาแพทย์ที่โรงพยาบาลการแพทย์กลาง แต่เป็นพวกแพทย์ต่างหากที่เดินทางมาหาเขาถึงที่ พวกแพทย์บินมาหาปูตินถึงที่พักและอยู่เป็นเพื่อนเขาตลอดการเดินทาง และการเดินทางเหล่านี้ได้มอบโอกาสพิเศษหนึ่งเดียวที่พอจะทำให้เราเข้าใจได้ว่าปูตินเข้ารับการรักษาอะไร แล้วใครเป็นคนรักษาเขา

รายงานของ Proekt ระบุว่าปูตินใช้เวลาส่วนใหญ่ในเดือน พ.ค. 2017 ในเมืองโซชิ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาโปรดปรานเป็นพิเศษ วันที่ 9 พ.ค. ของทุกปี กองทัพรัสเซียจะจัดพิธีสวนสนามเนื่องในวันแห่งชัยชนะ (Vitory Day) ที่กองทัพนาซียอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 และประธานาธิบดีรัสเซียต้องไปเข้าร่วมในฐานะประธานในพิธี แต่หนึ่งวันหลังเสร็จสิ้นพิธี (10 พ.ค.) ปูตินได้เดินทางไปที่บ้านพักฤดูร้อนที่เมืองโซชิ (Bocharov Ruchei) ซึ่งบ้านหลังนั้นเป็นบ้านพักประจำตำแหน่งของประธานาธิบดี และเขาได้ออกไปเล่นฮอกกี้ที่โซชิไอซ์พาเลซ (Sochi Ice Palace) ในช่วงเย็นวันเดียวกัน การเล่นฮอกกี้เป็นกิจกรรมที่เขาทำเป็นปกติ และในวันนั้น ทีมฮอกกี้ของปูตินที่ชื่อว่า ‘ฮอกกี้เลเจนด์’ (Hockey Legends) ขยี้คู่แข่งจนชนะขาดลอยไปด้วยคะแนน 17 ต่อ 6 และปูตินเองก็มีส่วนในชัยชนะครั้งนี้ด้วยการทำประตูไปถึง 7 ครั้ง ชัยชนะครั้งนี้ช่างดูงดงามสำหรับปูติน เสียเพียงอย่างเดียวคืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจาก ‘ปาเวล บูเร’ นักฮอกกี้น้ำแข็งระดับตำนานของรัสเซียที่บังเอิญวิ่งชนปูตินจนล้มลงอย่างแรงเกือบเท่าอุบัติเหตุตกม้า ทั้งนี้ สำนักข่าวหลายแห่งของต่างประเทศที่เข้ารับชมการแข่งขันได้จับภาพปูตินขณะเกิดอุบัติเหตุล้มไว้ได้ อาทิ สกายนิวส์ของอังกฤษ เป็นต้น

หลังจากประสบอุบัติเหตุในการแข่งขันฮอกกี้ ปูตินเดินออกจากสนามด้วยตัวเอง และในวันเดียวกันนั้น เขาได้เข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลในเมืองโซชิซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลสำหรับคณะประธานาธิบดี สำนักข่าว Proekt นำเอกสารประกอบการรักษาของทางสถานพยาบาลมาเผยแพร่เพื่อเป็นหลักฐานอ้างอิงในรายงานข่าว ข้อมูลในเอกสารระบุว่าแพทย์ที่ให้การรักษาปูติน คือ ‘คอนสแตนติน อาร์คาดเยวิช ซิม’ ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูก และปูตินพักรักษาตัวที่นั่นจนถึงวันที่ 18 พ.ค. ปีเดียวกัน

เหตุการณ์นี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ทำเนียบเครมลิมออกมาแถลงข่าวเรื่องสุขภาพของปูติน พร้อมเผยแพร่ข้อมูลการรักษาให้เข้าถึงได้อย่างสาธารณะ ข้อมูลในเอกสารประวัติการรักษาของปูตินระบุชัดเจนว่าเขาเข้ารับหัตการทางการแพทย์อะไรบ้าง เข้ารับการรักษาวันและเวลาใด รวมถึงระบุชื่อแพทย์ที่รักษา และระยะเวลาการพักฟื้นในสถานพยาบาลหรือโรงแรมที่ใกล้กับสถานพยาบาล

สำนักข่าว Proekt สืบค้นข้อมูลต่อไปในเว็บไซต์ฐานข้อมูลของโรงพยาบาลการแพทย์กลางซึ่งเป็นโรงพยาบาลแม่ของสถานพยาบาลในเมืองโซชิ โดยพบว่าเอกสารดังกล่าวสามารถดูข้อมูลย้อนหลังได้ตั้งแต่ปี 2016-2020 ซึ่ง Proekt ตรวจสอบแล้วพบว่าวันที่ปูตินเข้ารับการรักษานั้นสอดคล้องกับแผนการเดินทางไปเยือนเมืองโซชิ หรือไม่ก็สอดคล้องกับช่วงเวลาที่เขาหายจากหน้าสื่อไปอย่างปริศนา

Proekt รายงานต่อไปว่าข้อมูลประวัติการรักษาที่สืบค้นได้จากเว็บไซต์ของโรงพยาบาลการแพทย์กลางทำให้พอจะสรุปได้ว่าช่วงปี 2016-2017 ปูตินเข้ารับการรัก๋ษาจากแพทย์ 5 คนโดยเฉลี่ย โดย 4 จาก 5 คนเป็นแพทย์หูคอจมูก และแพทย์ด้านโรคติดเชื้อ นอกจากนี้ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้เดินทางร่วมกับคณะของปูติน ขณะที่เขาต้องปฏิบัติหน้าที่ประธานาธิบดี เช่น เกือบทั้งเดือน พ.ค. 2017 คณะแพทย์จะเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างโรงพยาบาลและที่พักของปูติน ยกเว้นวันที่ 29 พ.ค. 2017 ซึ่งเป็นวันที่ปูตินต้องบินไปกรุงปารีส ฝรั่งเศส และบินกลับมาที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ต่อมา ในวันที่ 21 ก.ค. 2017 ปูตินบินกลับมาที่เมืองโซชิเพื่อพบกับอิลฮัม แอลีเยฟ ประธานาธิบดีอาเซอร์ไบจาน และคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ แพทย์หูคอจมูก แพทย์ฉุกเฉิน รวมถึงศัลยแพทย์ด้านระบบประสาท ได้รอเขาอยู่ที่นั่นเช่นกัน โดยแพทย์เกือบทั้งหมดเดินทางไปถึงล่วงหน้าอย่างน้อยๆ 1 วัน หลังจากการพูดคุยกับประธานาธิบดีอาร์เซอร์ไบจานจบลง ปูตินอยู่ที่เมืองโซชิต่อตลอดระยะเวลาที่เหลือ (ก่อนถึงหมายกำหนดการงานของประธานาธิบดีครั้งถัดไป) และยังมีคณะแพทย์เดินทางมาสมมบเพิ่มเติม รวมแล้วในแต่ละครั้งที่เขาไปพักที่เมืองโซชิระหว่างปี 2016-2017 มีแพทย์มาคอยดูแลกว่า 10 คน

อิลฮัม แอลีเยฟ ประธานาธิบดีอาเซอร์ไบจาน (ซ้าย) และวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย (ขวา)
เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2017 (ที่: เว็บไซต์ทำเนียบเครมลิน)
 

นอกจากรายงานของ Proekt จะเปิดเผยรายชื่อแพทย์และพยาบาลที่ให้การรักษาปูตินระหว่างปี 2016-2017 แล้ว พวกเขายังได้นำข้อมูลที่ปรากฏในประวัติการรักษามาเทียบเคียงกับช่วงเวลาการหายตัวไปอย่างปริศนาของประธานาธิบดี ซึ่งพบว่าวันเวลาเหล่านั้นสอดคล้องกันอย่างลงตัว เช่น ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน พ.ย. 2016 หลังจากสตีเวน ซีลกัล นักแสดงและผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอเมริกัน ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้แทนพิเศษด้านความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม มรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ระหว่างรัสเซีย-สหรัฐอเมริกา เดินทางเข้าพบปูตินที่ทำเนียบเครมลิน ปูตินได้หายตัวไปจากหน้าที่เป็นเวลาร่วม 1 สัปดาห์ และระหว่างนั้น ทำเนียบเครมลินได้เผยแพร่ภาพ ‘วิดีโอสำเร็จรูป’ เพื่อยืนยันว่าปูตินยังทำงานอยู่ตามปกติ ในขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันนั้น แพทย์ระดับท็อปของรัสเซียที่มีรายชื่อเป็นคณะแพทย์ประจำตัวของปูตินได้เดินทางไปเช็กอินเพื่อเข้าพักในโรงแรมที่เมืองโซชิแล้วเช่นกัน

ในปี 2019 ช่วงปลายเดือน พ.ย. รอยต่อต้นเดือน ธ.ค. ปูตินอยู่ที่เมืองโซชิแต่ไม่ได้ออกข่าวให้สาธารณชนรับรู้ ในช่วงเวลานั้น พบว่ามีแพทย์จำนวน 13 คนเดินทางไปเข้าพบปูติน ซึ่งรวมถึงศัลยแพทย์ด้านระบบประสาทคนเดิมจากโรงพยาบาลการแพทย์กลาง ทั้งยังมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไขสันหลัง และพยาบาลห้องผ่าตัดรวมอยู่ด้วย

Proekt ตั้งข้อสังเกตว่าจำนวนแพทย์ที่เข้าพบปูตินนั้นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จาก 5 เป็น 9 และเป็น 13 คนในช่วงปลายปี 2019 หากดูจากรูปการณ์เช่นนี้ อาจคาดการณ์ได้ว่าปูตินน่าจะมีปัญหาอะไรสักอย่างเกี่ยวกับไขสันหลัง แต่ Proekt บอกว่าการคาดการณ์นี้อาจจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะก่อนหน้านี้ในวันที่ 13 ก.พ. 2019 ขณะที่ปูตินให้การต้อนรับอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชงโก ประธานาธิบดีเบลารุส อยู่ที่เมืองโซชิ คณะแพทย์ของปูตินได้เดินทางไปที่นั่นในวันเดียวกัน โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในแผนกไอซียู (ICU) 2 คน แพทย์ด้านระบบประสาท 1 คน แพทย์ผิวหนัง 1 คน แพทย์หูคอจมูก 2 คน และศัลยแพทย์ด้านเนื้องอกอีก 1 คน

เยฟเกนี เซลิวานอฟ ศัลยแพทย์ด้านเนื้องอกคือคนที่เดินทางเข้าพบปูตินบ่อยที่สุด ตลอดระยะเวลา 4 ปีตามประวัติการรักษาที่ Proekt สืบค้นมา พบว่าเขาบินไปหาปูติน 35 ครั้ง และใช้เวลารวม 166 วันหรือเกือบ 6 เดือนเพื่ออยู่กับปูติน โดยข้อมูลจากเอกสารทำให้ทราบว่าแพทย์คนนี้ใช้เวลาอยู่กับปูตินทั้งในช่วงที่เขาเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการในเมืองโซชิ รวมถึงช่วงที่เขาหายไปจากหน้าสื่ออย่างปริศนา แต่เซลิวานอฟไม่ใช่แพทย์ที่อยู่กับปูตินนานที่สุด เพราะยังมีอิกอร์ เอซากอฟ และอเล็กเซย์ เชลโกลฟ ศัลยแพทย์ด้านเนื้องอกอีก 2 คนที่บินไปหาปูตินมากถึง 59 ครั้ง และใช้เวลาอยู่กับประธานาธิบดีรวม 282 วันหรือกว่า 9 เดือน และในเอกสารข้อมูลพบว่า 2 คนนี้เดินทางไปที่เมืองโซชิอย่างน้อย 18 ครั้งตลอดช่วงเวลา 4 ปี

มิคาเอล เฟรมเดอร์มาน แพทย์ชาวอิสราเอลอธิบายกับทีมข่าว Proekt ว่าโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์เป็นอาการแรกๆ ที่หากแพทย์วินิจฉัยพบ พวกเขามักจะส่งต่อให้กับแพทย์เฉพาะทางด้านเนื้องอกเพื่อผ่าตัดรักษา ซึ่งรวมถึงโรคมะเร็ง Proekt ระบุว่าปูตินเริ่มแสดงอาการของคนป่วยเป็นโรคมะเร็งไทรอยด์ให้สาธารณชนได้เห็น ในปี 2020 ปูตินเข้าพบอิวาน เดวอฟ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทางการแพทย์แห่งชาติด้านต่อมไร้ท่อ เดดอฟเป็นหัวหน้าของมาเรีย ลูกสาวคนโตของปูติน เขาบอกปูตินเกี่ยวกับเรื่องความชุกของโรคมะเร็งไทรอยด์ และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาด้วยยาฮอร์โมน ซึ่งเป็นยาที่ช่วยสู้กับเนื้อร้ายหลังการผ่าตัด

วลาดิเมียร์ ปูติน (ซ้าย) และอิวาน เดดอฟ (ขวา) เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2020 (ที่มา: เว็บไซต์ทำเนียบเครมลิน)
 

ในช่วงไตรมาส 3 ของปีที่ผ่านมา หลังจากที่ปูตินหายไปเป็นเวลานานโดยให้เหตุผลว่ากักตัวช่วงโควิด-19 Proekt บอกว่าปูตินเริ่มแสดงอาการแปลกๆ ให้เห็นทันทีที่กลับมาปรากฏตัวหน้าสื่ออย่างเป็นทางการ ในวันที่ 13 ก.ย. 2021 ปูตินเข้าพบนักกีฬาพาราลิมปิก และอนุญาตให้นักกีฬาเหล่านั้นได้พูดคุยกับเขาอย่างใกล้ชิด แต่หลังจากนั้น ปูตินก็ได้ประกาศอย่างกะทันหันว่าเขาต้องกักตัวอีกครั้งเพราะคนรอบตัวหลายคนของเขาติดโควิด-19 ทันทีที่ข่าวนี้เผยแพร่ออกไป เลขาประจำโฆษกทำเนียบเครมลิมได้ออกมาพูดอย่างแบ่งรับแบ่งสู้ว่าประธานาธิบดี “พูดเชิงอุปมาอุปไทย” เกี่ยวกับการกักตัว แต่ถึงกระนั้น ปูตินก็เข้าสู่กระบวนการกักตัวในวันรุ่งขึ้น เข้าร่วมการเลือกตั้งในสภาดูมาจากออฟฟิศตัวเอง และไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณชนอีกเลยตลอดเดือน ก.ย. 2021 คนรู้จักของหัวหน้าแพทย์ที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่แห่งหนึ่งที่เคยมีส่วนร่วมกับการรักษาประธานาธิบดีให้ข้อมูลกับ Proekt ว่าเมื่อนับช่วงเวลาที่ปูตินหายไปแล้วพบว่าสอดคล้องกับระยะเวลาการผ่าตัดรักษาโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์อย่างพอดิบพอดี

แม้ว่าในอดีต ปูตินจะเคย ‘แยกตัวเอง’ ออกจากคนธรรมดาทั่วไปในเชิงอุปมาอุปไมย แต่พักหลังๆ มานี้ โดยเฉพาะหลังเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว เขา ‘แยกตัวเอง’ ในแบบที่ตรงไปตรงมามากขึ้น แม้กระทั่งในการพบปะผู้นำฝรั่งเศสและผู้นำเยอรมันเพื่อหารือเรื่องสงครามในยูเครน เขาก็รักษาระยะห่างอย่างเห็นได้ชัด จนกลายเป็นภาพดังไปทั่วโลก ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้นำต่างประเทศเท่านั้น แต่กับเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลรัสเซียเอง ปูตินก็ขอรักษาระยะห่างไว้แบบนั้นเช่นกัน

ความสัมพันธ์ที่แท้จริงของผู้นำรัสเซียและประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายๆ จากเรื่องราวเหล่านี้ ปูตินใช้เวลาช่วงโควิด-19 ในแบบที่ไม่มีผู้นำในโลกคนไหนทำ นั่นคือการประชุมเกือบทุกนัดผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ และอนุญาตให้แขกที่ต้องการเข้าพบสามารถมาเจอได้หลังจากกักตัวครบ 2 อาทิตย์ และตรวจหาเชื้อก่อนเข้าพบ ซึ่ง Proekt มองว่าการระมัดระวังระดับนี้สะท้อนให้เห้นว่าสุขภาพของปูตินเป็นเรื่องที่สำคัญอันดับแรกของรัฐบาลรัสเซีย

แม้กระทั่งการแถลงข่าวครั้งใหญ่ของปูตินในปี 2020 เขาก็ยังจัดในรูปแบบที่ไม่ปกติ โดยมีเพียงปูติน เปสคอฟ และนักข่าวจำนวนหนึ่งที่ได้รับคัดเลือก สามารถเข้าไปนั่งฟังแถลงในห้องเล็กๆ ได้ ขณะที่นักข่าวที่เหลือต้องนั่งอยู่ข้างนอกในห้องโถงขนาดใหญ่ และถามคำถามผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยทั่วไปแล้ว ทุกคนที่จะนั่งอยู่ในห้องเดียวกับปูตินได้ต้องผ่านการกักตัวครบ 2 สัปดาห์และตรวจโควิด-19 แล้ว แต่ผลตรวจโควิด-19 ของเปสคอฟเป็นบวก แน่นอนว่าเปสคอฟไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ใกล้ปูติน แต่เขากลับไม่ได้ถูกสั่งห้ามนั่งในห้องแถลงข่าวใหญ่ร่วมกับนักข่าวอีกกว่า 700 ชีวิต

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net