Skip to main content
sharethis

(เก็บตก) องค์กร openDemocracy และเว็บไซต์ข่าวสืบสวนสอบสวน The Intercept กล่าวหาว่าทางการอังกฤษอาจเคยมีส่วนร่วมทำให้ 'พริโกซิน' เจ้าของกองกำลัง 'แวกเนอร์' หนึ่งในกองกำลังที่บุกยูเครน สามารถฟ้องคดี ‘ปิดปาก’ นักข่าวที่สืบสวนเรื่องแวกเนอร์กรุ๊ป

 

ข่าวสืบสวนสอบสวนจากองค์กร 'openDemocracy' (โอเพนเดโมเครซี) และเว็บไซต์ข่าว ‘The Intercept’ (เดอะ อินเตอร์เซปต์) เข้าถึงข้อมูลอีเมลที่ถูกแฮ็กทำให้ทราบว่า กระทรวงการคลังภายใต้การนำของ ‘ริชี ซูนัค’ (Rishi Sunak) ในยุคนั้น (2562-2563) มีส่วนทำให้ เยฟเกนี พริโกชิน ผู้ก่อตั้งกองกำลังแวกเนอร์ และเป็นคนสนิทปูติน สามารถหลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรประเทศอังกฤษ และใช้กฎหมายฟ้องปิดปากนักข่าวอังกฤษที่สืบสวนเรื่องราวของตัวเองได้ แม้ภายหลังนักข่าวคนดังกล่าวได้รับการยกฟ้องก็ตาม

เยฟเกนี พริโกชิน เจ้าของฉายาว่า "เชฟของปูติน" ถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2561 ก่อนถูกคว่ำบาตรจากอังกฤษ และประเทศยุโรปอื่นๆ ตั้งแต่ 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่รัฐบาลนำโดยปูติน ของรัสเซีย จะบุกยูเครน

(ซ้ายสุด) เยฟกินี พริโกชิน คนสนิทของปูติน และเป็นผู้ก่อตั้งกองกำลัง 'แวกเนอร์' (ที่มา: Government of the Russian Federation)

สำหรับที่มาของฉายา 'เชฟของปูติน' เนื่องจากพริโกชิน เป็นนักธุรกิจที่เปิดบริษัทรับบริการอาหารจัดเลี้ยง ซึ่งมักรับผิดชอบการจัดเลี้ยงต่างๆ ของรัฐบาลรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่กองกำลังแวกเนอร์ ของพริโกชิน เป็นที่รู้จักมากขึ้นในสายตาชาวโลกผ่านทางสงครามยูเครน กลุ่มประเทศตะวันตกก็ขยายการคว่ำบาตรจากพริโกชิน ไปสู่ตัวองค์กรแวกเนอร์ โดยกล่าวหาว่ากองกำลังแวกเนอร์ เคยก่ออาชญากรรมสงคราม

เมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ประกาศว่า พวกเขาจะจัดให้แวกเนอร์กรุ๊ป เป็น "องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ" เนื่องจากกองทัพเคยก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนในยูเครน รวมถึงในแอฟริกา และในตะวันออกกลาง

นอกจากนี้ พริโกชิน เคยออกมาแถลงยืนยันข้อมูลเมื่อปี 2565 ด้วยว่า รัฐบาลรัสเซียเคยแทรกแซงการเลือกตั้งของสหรัฐฯ เมื่อปี 2559 ซึ่งขณะนั้น โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 

openDemocracy ซึ่งเป็นเว็บไซต์สื่อเชิงสืบสวนที่มีฐานในอังกฤษ และสื่อ The Intercept ได้ทำการเปิดโปงข้อมูลที่ระบุว่า พริโกซิน ขอใบอนุญาตพิเศษจากกระทรวงการคลังของอังกฤษ เพื่อใช้กฎหมายโจมตี ‘อีเลียท ฮิกกินต์’ นักข่าวอังกฤษผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ข่าวสืบสวนสอบสวน Bellingcat (เบลลิงแคท) หลังจากที่เว็บ 'Bellingcat' ตีพิมพ์รายงานเกี่ยวกับเรื่องที่แวกเนอร์ มีปฏิบัติการแบบลับๆ ในแอฟริกา และตะวันออกกลาง รวมถึงโยงเรื่องที่แวกเนอร์ มีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลรัสเซีย 

การสืบสวนกล่าวอ้างว่า ใบอนุญาตจากกระทรวงการคลังอังกฤษ ซึ่ง ขณ ะนั้น  ริชี  สุนัค เ ป็นรัฐม นตรี ได้ อนุญาตให้บริษัทกฎหมาย 'ดิสครีตลอ ว์' ทำงานใน คดีนี้ และ แผนกดังกล่ าวมีการอนุมัติขั้นต อนที่สำ คัญใน ระหว่างทาง การหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรสามารถได้รับอนุมัติจาก  สำนักงานการบั งคับใช้การคว่ำบาตรทางการเงิน (Office of Financial Sanctions  Implementation) 

เว็บไซต์รัฐบาลอังกฤษ ระบุว่า สำนักงานการบังคับใช้การ คว่ำบาตรทางการเงิน (OFSI) มีพันธกิจ ช่วยให้มั่นใจว่าการคว่ำบาตรทางการเงินได้รับความเข้าใจอย่างเหมาะสม ตลอดจนการดำเนินการและการบังคับใช้ในสหราชอาณาจักร

เอกสารสำนวนคดีจากทนายความของฮิกกินส์ ระบุว่า พริโกชิน ทำการฟ้องร้องต่อตัวของฮิกกินส์ โดยตรงแทนที่จะเป็นการฟ้องร้องต่อ Bellingcat ซึ่งถูกตีความได้ว่าเป็น "การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน (SLAPP) อย่างชัดเจน"

การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน (SLAPP) ที่ว่านี้ เรียกง่ายๆ ว่าเป็น "การฟ้องปิดปาก" เป็นวิธีการที่หน่วยงานรัฐหรือเอกชนที่มีอำนาจอาศัยการฟ้องร้องดำเนินคดีในการปิดปากหรือข่มขู่คุกคามผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์พวกเขา โดยบีบให้ผู้ถูกฟ้องร้องต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนมากในการสู้คดี ถึงแม้ว่าจำเลยจะชนะคดีในภายหลัง แต่ก็ต้องสูญเสียเวลา เงินในการสู้คดีความ และโอกาสในหลายๆ อย่าง 

วิธีการนี้กลุ่มชนชั้นนำทางเศรษฐกิจของรัสเซีย หรือ 'โอลิการ์ช' เคยใช้กับนักข่าวรายอื่นๆ อย่างแคเธอรีน เบลตัน และบริษัทผู้ตีพิมพ์ ‘ฮาร์เปอร์ คอลลินส์’ ในปี 2564 แม้ว่าฝ่ายจำเลยจะชนะคดีก็ตาม แต่ก็ยังต้องมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับคดีไปถึง 1.5 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง (ราว 60 ล้านบาท) 

ระหว่างการฟ้องร้องนักข่าวอังกฤษ 'ฮิกกินต์' นั้น พริโกซิน ถูกคว่ำบาตรไม่ให้เดินทางเข้าประเทศอังกฤษ แต่พริโกซินใช้วิธีการหลบเลี่ยงการคว่ำบาตร โดยการติดต่อไปยังบริษัททนายความในอังกฤษที่ชื่อว่า "ดิสครีตลอว์" แล้วก็มีการขอให้คณะทนายความของบริษัทนี้เดินทางไปพบกับพริโกชิน ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก ประเทศรัสเซีย โดยกระทรวงการคลังของอังกฤษอนุมัติให้ทนายความของดิสครีตลอว์ เดินทางไปหาพริโกซิน แม้ว่าจะเป็นบุคคลที่ถูกคว่ำบาตรก็ตาม

ภายใต้กฎหมายของสหราชอาณาจักร นิยามการคว่ำบาตรรัฐบาลรัสเซีย มีข้อกำหนดที่อนุญาตให้ผู้ที่ถูกลงโทษใช้จ่ายครอบคลุมปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต รวมถึงการยื่นขออนุญาตเพื่อชำระค่าธรรมเนียมทางกฎหมาย

กลุ่มสื่อที่ทำการสืบสวนสอบสวนในเรื่องนี้ระบุว่า ในตอนนั้นคณะทนายความของดิสครีตลอว์ ได้เดินทางด้วยเครื่องบินชั้นธุรกิจไปเข้าพบกับเจ้าของแวกเนอร์กรุ๊ป เพื่อหารือเรื่องการฟ้องร้องดำเนินคดีฮิกกินส์ ในข้อหาหมิ่นประมาท โดยที่พริโกชิน จ่ายเงินให้ทนายเหล่านั้นโดยตรง อาศัยวิธีการโอนเงินแบบอาศัยเครือข่ายผู้ให้บริการเป็นตัวกลางแบบที่เรียกว่า "Wire Transfer" จากรัสเซียไปสู่ธนาคารอังกฤษ ทำให้ภายหลัง ธนาคารอังกฤษทำการระงับเงินตรงส่วนนี้ด้วยเหตุผลเรื่องการคว่ำบาตร

อย่างไรก็ตาม คดีที่พริโกชิน ฟ้องร้องต่อฮิกกินส์ ก็ถูกยกฟ้องไปในเดือน มี.ค. 2565 ในตอนที่บริษัทคิสครีตลอว์ ยกเลิกการให้บริการแก่พริโกชิน หลังจากที่รัสเซียรุกรานยูเครน อย่างไรก็ตาม ฮิกกินส์ ยังต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับคดีความเป็นเงิน 70,000 ปอนด์ฯ (ราว 2.8 ล้านบาท) อยู่ดี

ซูนัค นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ออกปากประณามรัสเซียอยู่หลายครั้งในเรื่องที่รัสเซียรุกรานยูเครน ส่วนพริโกชิน เคยปฏิเสธมาตลอดว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแวกเนอร์ จนกระทั่งเมื่อเดือน ก.ย. 2565 เขาออกมายอมรับว่าเป็นผู้ก่อตั้งกองกำลังแวกเนอร์ โดยที่กองกำลังดังกล่าวนี้เคยช่วยเหลือกองทัพรัสเซีย ก่อเหตุรุกรานภูมิภาคดอนบาส ของยูเครน เมื่อปี 2557

กลุ่มประเทศยุโรป ระบุว่า แวกเนอร์กรุ๊ปเป็นกองกำลังที่คอยเกณฑ์คน ฝึกฝน และส่งกองกำลังทหารรับจ้างไป "จุดชนวนความรุนแรง ปล้นชิงทรัพยากรธรรมชาติ และคุกคามพลเรือน ทำการละเมิดกฎหมายนานาชาติ รวมถึงกฎหมายสิทธิมนุษยชนนานาชาติด้วย"

มาร์กาเร็ต ฮอดจ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคแรงงาน วิจารณ์เรื่องที่รัฐบาลอังกฤษปล่อยให้มีการฝ่าฝืนการคว่ำบาตรเกิดขึ้น โดยกล่าวว่า "มันเป็นเรื่องน่าขันที่รัฐบาลเองเป็นฝ่ายถูกกล่าวหาเรื่องหลบเลี่ยงการคว่ำบาตรที่ตัวเองเป็นผู้ออกมาตรการ"

ฮิกกินส์ นักข่าวที่ถูกพริโกชิน ฟ้องร้องกล่าวว่า เรื่องนี้แสดงให้เห็นได้ชัดถึงการที่ "กลุ่มคนร่ำรวยอาศัยช่องโหว่ของระบบกฎหมายอังกฤษในการโจมตีนักข่าวผู้ทำตามกฎหมาย โดยมีกลุ่มทนายความชาวอังกฤษช่วยเหลือ (คนร่ำรวยเหล่านี้) ด้วย" 

ปัจจุบัน ดิสครีตลอว์ กำลังถูกสอบสวนโดย Solicitors Regulation Authority หรือหน่วยงานกำกับดูแลทนายความ ตั้งแต่ พ.ค. 2565 หลังจากเบลลิงแคท ร้องเรียน

ด้านโรเจอร์ เกอร์ซัน (Roger Gherson) ผู้ก่อตั้งบริษัทกฎหมาย ดิสตรีตลอว์ เผยกับไฟแนนซ์เชียลไทม์ว่า บริษัทได้ "ปฏิบัติตามข้อผูกพันทางกฎหมายและวิชาชีพอย่างเต็มที่ตลอดเวลา"

 

เรียบเรียงจาก

Wagner Group Boss Had U.K. Help in Targeting Journalist—Report, Newsweek, 24-01-2023

Revealed: UK government helped sanctioned Putin ally sue British journalist, openDemocracy, 23-01-2023

'Putin's chef' Yevgeny Prigozhin reveals he is behind Wagner paramilitary group, Euro News, 26-09-2022

Yevgeny Prigozhin: UK reviews rules after Wagner head sued journalist, BBC, 25-01-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net