‘เพื่อไทย’ ห่วงสถานการณ์โควิด-19 หลังสงกรานต์ ยอดตายเกินร้อย 10 วันติด-แนะรัฐศึกษานโยบาย Soft power

โฆษกเพื่อไทย ห่วงสถานการณ์โควิด-19 หลังสงกรานต์ หลังตัวเลขผู้เสียชีวิตเกิน 100 ราย 10 วันติดต่อกัน-ส.ส. ‘น้ำ’ จิราพร ชวนรัฐบาลศึกษานโยบาย ‘Soft Power’ ยุคไทยรักไทย 

 

19 เม.ย. 65 ทีมสื่อเพื่อไทย รายงานต่อสื่อวันนี้ (19 เม.ย.) นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัด กทม. และเป็นโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลังเทศกาลสงกรานต์เมื่อ 13-17 เม.ย.ที่ผ่านมา ทางพรรคเพื่อไทยมีความเป็นห่วงอย่างมาก หลังพบว่ามีผู้ติดเชื้อจำนวนมากกว่าที่รัฐบาลรายงาน สูงถึง 3 เท่า และขณะนี้มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เกิน 100 คนต่อวัน  ติดต่อกัน 10 วันแล้ว นับตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2565 อีกทั้งยอดผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาล ผู้ป่วยปอดบวม และผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้น 

นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ โฆษกพรรคเพื่อไทย

ขณะที่ในหลายจังหวัดยังมีอัตราการฉีดวัคซีนเข็ม 3 น้อยมากเพียง 20 กว่าล้านคน ซึ่งยังไม่ถึง 60-70% ที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 และ 4 ให้มากที่สุด เพราะจะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้  ทั้งนี้จากการลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชนเพื่อสอบถามสถานการณ์การระบาดของโควิดในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันพบว่า แม้เวลาจะผ่านมากว่า 2 ปีที่การระบาดเกิดขึ้น แต่รัฐบาลยังปล่อยให้ประชาชนช่วยเหลือตนเอง  จนเป็นต้นเหตุที่อาจก่อให้เกิด “สังคมอนาถา” คนหาเช้ากินค่ำ อาชีพอิสระ ตกงาน ขาดรายได้  และเข้าไม่ถึงระบบการรักษาได้ทันเวลา โดยเฉพาะตอนนี้โรงพยาบาลของรัฐหลายแห่งจำกัดจำนวนการตรวจหาเชื้อต่อวัน  ทำให้พี่น้องประชาชนเข้าถึงการรักษาล่าช้า เสียชีวิตก่อนเวลาอันควร 

ส่วนกรณีที่รัฐบาลมีแนวคิดจะปรับให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นนั้น  นางสาวธีรรัตน์ กล่าวว่า อยากให้ ศบค. ประเมินสถานการณ์การระบาดของโรคและถามความพร้อมของท้องถิ่นก่อน  รวมทั้งสัดส่วนการรับวัคซีนเข็ม 3  ซึ่งควรเกิน 60% ของประชากรที่รับวัคซีนได้ เพราะขณะนี้ในบางจังหวัดที่เคยมีข่าวว่าจะถูกปรับให้เป็นโรคประจำถิ่น เมื่อมีข่าวแพร่กระจายออกไปทั้งที่ไม่มีการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตัวของคนในท้องถิ่น บางรายติดเชื้อแล้วออกไปใช้ชีวิตปกติ ด้วยความเข้าใจผิดว่าโควิดเป็นโรคประจำถิ่นแล้วและเหมือนโรคหวัดธรรมดา  ซึ่งเกิดมาจากการสื่อสารที่ของรัฐที่ไม่เป็นเอกภาพ ไม่มีความแน่นอนของข้อมูล  หากรัฐบาลไม่มีข้อมูลเพียงพอ  ขอให้ศึกษากรณีตัวอย่างจากต่างประเทศ ที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัย และไม่มีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม โควิดถูกทำให้กลายเป็น “โรคประจำถิ่น” แต่ต้องแลกมาด้วยอัตราการเสียชีวิตพุ่งสูงขึ้น  ขอให้รัฐบาลคิดให้ตกผลึก  ก่อนที่จะประกาศใช้มาตรการใดๆ เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบคือการเจ็บป่วยล้มตายของพี่น้องประชาชน  นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยสนับสนุนให้ปรับมาตรการการเปิดประเทศที่เหมาะสม สะดวก  ไม่เป็นภาระต่อประชาชนและชาวต่างประเทศ เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการลงทุนใหม่ๆ เศรษฐกิจไทยจึงจะเดินหน้าต่อไปได้  

“โควิดระลอกนี้คนติดเชื้อมากขึ้น เสียชีวิตมากขึ้น รัฐบาลอย่าบริหารจัดการเหมือนคนเคยชินกับโรค พลเอกประยุทธ์ก็อย่าทำตัวเลื่อนลอยอยู่เหนือปัญหา โฟกัสผิดจุด  การระบาดของโควิดยังอยู่ คนยากคนจนยังลำบากอีกมากและรอคอยการช่วยเหลือจากรัฐบาลอยู่” นางสาวธีรรัตน์ กล่าว

แนะประยุทธ์ ศึกษานโยบาย Soft Power เพิ่ม

สืบเนื่องจากวันนี้ (18 เม.ย.) ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวชื่นชม นางสาวดนุภา คณาธีรกุล หรือ มิลลิ (Milli) ศิลปินหญิงเดี่ยวชาวไทยคนแรกบนเวทีดนตรีระดับโลกอย่าง "Coachella 2022" ประเทศสหรัฐฯ เมื่อ 17 เม.ย. 2565 และก่อนจบการแสดง มิลลิได้ทานข้าวเหนียวมะม่วง จนกลายเป็นกระแสฮิตในโลกออนไลน์ และทำให้ร้านขายข้าวเหนียวมะม่วงได้รับความนิยมนั้น  

ส.ส.จิราพร สินธุไพร จากพรรคเพื่อไทย

นางสาวจิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด และกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงประเด็นนี้เช่นกันว่า เป็นการตอกย้ำถึงศักยภาพของซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ไทยที่สามารถไปไกลระดับโลกได้ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าส่วนใหญ่ไปด้วยต้นทุนและศักยภาพของตัวเอง ไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมจากภาครัฐ จึงทำให้กระแสที่เกิดขึ้นไม่ต่อเนื่อง และขาดพลังที่จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจประเทศได้ในระยะยาว 

นางสาวจิราพร กล่าวต่อว่า แม้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จะพยายามทำนโยบาย Soft Power แต่ที่ผ่านมายังขาดความเข้าใจในการขับเคลื่อนนโยบายนี้เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีกฎระเบียบและงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันนโยบายนี้ถูกจำกัด มีงบให้แต่เหมือนไม่มี จึงไม่ได้เอื้ออำนวยให้เกิด Soft Power ที่สามารถสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศได้ ทั้งที่ประเทศไทยมี Soft Power ที่หลากหลายและได้รับการยอมรับจากคนไทยและชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้นหลายครั้งรัฐบาลยังมีท่าทีขัดขวางและกดทับความคิดประชาชน ไม่ได้สร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้เกิด Soft Power ที่มีพลังได้ จึงรู้สึกเสียดายโอกาสสร้างรายได้ใหม่ๆ ของประเทศไทยที่หายไปจากการที่ Soft Power ไทยถูกตัดโอกาส นับตั้งแต่ที่พรรคไทยรักไทยได้พยายามสร้างมาตรฐานของ Soft Power ไทยมาโดยตลอด แต่สุดท้ายก็ถูกรัฐประหาร ทั้งนี้ หากพลเอกประยุทธ์ไม่รู้วิธีขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power แนะนำให้เปิดใจลองไปศึกษานโยบายของรัฐบาลยุคไทยรักไทยในอดีต ซึ่งมีโครงการ Soft Power หลายอย่าง เช่น OTOP ครัวไทยสู่ครัวโลก กรุงเทพเมืองแฟชั่น งานแสดงและประชุมสำหรับวงการการ์ตูน แอนิเมชัน และมัลติมีเดีย หรือ Thailand Animation and Multimedia (TAM) ฯลฯ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก 

“หลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลพลเอกประยุทธ์มองไม่เห็นและทำไม่เป็น ทำให้โอกาสในการสร้าง Soft Power ให้มีพลังหลุดลอยไปอย่างน่าเสียดาย แต่หากศึกษานโยบายของไทยรักไทยดูแล้วยังทำไม่เป็น ก็ขอเพียงอย่าขัดขวาง เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนสามารถขับเคลื่อนได้อย่างเต็มที่ก็พอ” นางสาวจิราพร กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท