Skip to main content
sharethis

'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' ให้สัมภาษณ์ช่องยูทูปสภาที่ 3 สรุป 30 ปีพฤษภา’35 'คนรุ่นใหม่' มีแนวทางชัดเจนเห็นคุณค่าของประชาธิปไตย แม้ระบบมีปัญหา เชื่อแรงกดดันทำให้เปลี่ยนแปลง รธน.ให้เป็นสากลมากขึ้น แต่ยังมีคนต้องการใช้กติกาที่เอื้อให้ตัวเองได้เปรียบ หวั่นเกิดความขัดแย้งเนื่องจาก ปชช.ส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ หากไม่เรียนรู้แก้ไขจุดอ่อนในอดีต เชื่อจะกลับไปสู่วัฎจักรเดิมๆ แนะออกแบบองค์กรอิสระให้ทุกฝ่ายยอมรับ เป็นไปตามหลักของประชาธิปไตย และตามหลักของธรรมาภิบาล

1 พ.ค. 2565 สภาที่ 3 แจ้งข่าวว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ช่องยูทูปสภาที่ 3 ถึงบทเรียนเหตุการณ์ '30 ปีพฤษภา’35' ว่าผ่านมา 30 ปีจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 สรุปสุดท้ายแล้วจะเห็นว่า ความตื่นตัวของประชาชนในปัจจุบัน เห็นได้ชัดคือกลุ่มคนรุ่นใหม่ เรื่องประชาธิปไตยมีความชัดเจนแม้ว่าตัวระบบจะมีปัญหา แม้ว่าจะมีความล้มลุกคุกคลานความไม่ต่อเนื่อง แต่ประชาชนทั่วไปที่ได้เคยสัมผัส ประชาธิปไตยปี 2535 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน เห็นคุณค่าของประชาธิปไตย เห็นความสามารถของกระบวนการการเลือกตั้ง ที่สามารถได้รัฐบาลที่เข้ามาผลักดันนโยบายต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ของเขาอย่างเป็นรูปธรรม เช่น นโยบายทางด้านสาธารณสุข นโยบายทางด้านการศึกษา เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ช่วยเหลือเกษตรกรผ่านโครงการและมาตรการต่างๆ ดังนั้นความตื่นตัวและแรงสนับสนุนประชาธิปไตย 30 ปีผ่านมาไม่ได้ลดลงไป

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า แต่ขณะเดียวกันใน 30 ปีนั้นไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย กลับปรากฏว่าโลกเสรีประชาธิปไตย ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ไม่เพียงแต่ประเทศไทย ที่ยังมีรัฐประหารอีกถึง 2 ครั้ง แม้แต่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมายาวนาน ก็เริ่มพบว่ามีผู้นำเข้ามาผ่านระบบการเลือกตั้ง ที่ไม่ได้มีค่านิยมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แฝงเข้ามาเป็นผู้นำในลักษณะ อำนาจนิยม ,ชาตินิยม, ประชานิยมเกิดขึ้นมากมาย แม้กระทั่งในประเทศปัจจุบันโลกตะวันตกหรือโลกเสรีประชาธิปไตย บอกว่าไม่เป็นประชาธิปไตยเราก็จะเห็นว่า ผู้นำในประเทศเหล่านั้นก็ยังมาจากการเลือกตั้ง แต่ว่าจะยอมรับหรือไม่เท่านั้นว่า เป็นการเลือกตั้งตามประชาธิปไตยหรือไม่ เพราะฉะนั้นสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น กับระบอบประชาธิปไตยไทยขณะนี้ แม้จะมีเหตุผลที่มาที่ไปสภาวะแวดล้อมเฉพาะ ที่เกี่ยวกับสังคมไทย แต่ก็มีปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกด้วย ที่ประชาธิปไตย

“โดยเฉพาะเสรีประชาธิปไตยอ่อนแอลงเปิดทางให้มีการได้ผู้นำที่มีลักษณะอำนาจนิยมขึ้นมา คำถามก็คือว่าจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร ในทัศนะของผมยังเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งดูจะไม่เป็นที่ยอมรับของคนจำนวนมาก แม้จะผ่านกระบวนการประชามติมา แต่ผ่านมาโดยไม่เปิดโอกาสให้ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ให้ข้อมูลกับประชาชนได้ครบถ้วนทุกด้าน รวมไปถึงเกิดขึ้นในภาวะที่ประชาชนจำนวนไม่น้อย ลงมติรับรัฐธรรมนูญด้วยความหวังเพียงแต่ว่า ให้ประเทศเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งเร็วขึ้น ผมเชื่อว่าแรงกดดัน ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ คงจะดำรงอยู่แน่นอน และถึงจุดหนึ่งก็คงจะต้องนำไปสู่ การแก้ไขเพิ่มเติมแม้กระทั่งการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งนี้ปัญหามีอยู่ว่าแม้สมมุติเราไปถึงจุดนั้นแล้ว การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ จะสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ ของประเทศในรอบที่ยาวนานกว่า 30 ปี ว่าจะทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยมีความยั่งยืน”

หวังคนพูดคุยเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่มากขึ้น ให้มีความเป็นสากลมากขึ้น

อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่าตนยังเชื่อว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ในแง่ของได้ความเป็นรัฐธรรมนูญ ที่มีความเป็นสากลมากขึ้น เช่น ไม่ให้อำนาจคนที่มาจากการแต่งตั้ง เข้ามาเลือกนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ตรงนี้คงไม่ค่อยมีการโต้แย้งมากนัก แต่จุดที่ประเทศไทยยังไม่สามารถหาความลงตัวได้ คือ กลไกที่จะมาตรวจสอบถ่วงดุล คนที่มาจากการเลือกตั้งไม่ให้ทุจริต ไม่ให้ใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบเพื่อผลประโยชน์ของพวกพ้อง ฝ่าฝืนกฎหมาย ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ หรือบั่นทอนกลไกต่างๆ ในสังคม ไม่ให้มีบทบาทในการมาตรวจสอบตัวเอง ตรงนี้จะทำอย่างไร เพราะถ้ากลับไปในความเชื่อที่ว่า ปล่อยให้เป็นเรื่องของเสียงข้างมากในสภา ก็เชื่อว่ามีโอกาสสูงมาก ว่าจะได้ผู้นำในที่สุดเข้ามาแล้วใช้อำนาจในทางไม่ชอบแล้ว ก็ต้องนำไปสู่การประเชิญหน้าบนท้องถนนอีก จะกลับไปสู่ระบบที่หวังว่าทุกอย่างเข้าสู่กระบวนการของศาลยุติธรรมปกติคงเป็นไปได้ยาก เพราะกลไกของศาลไม่ค่อยเหมาะกับการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ จะเป็นองค์กรอิสระก็ต้องหาจุดที่ลงตัวให้ได้ว่า องค์กรอิสระจะต้องออกแบบมาอย่างไร จึงจะมีทั้งความเชื่อมโยงและยึดโยงกับประชาชน ควบคู่ไปกับการไม่ตกไปอยู่ภายใต้การครอบงำ ของคนที่มาจากการเลือกตั้ง

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่าโจทย์ตรงนี้คือโจทย์ที่ยาก แต่ถ้าเราแก้ไขโจทย์ตรงนี้ได้ ก็มองว่าประชาธิปไตยไทย จะสามารถเดินหน้าไปได้ และมีโอกาสที่จะยั่งยืนมากขึ้น เป็นเรื่องที่น่าเสียดายว่าในปัจจุบัน แม้มีการเถียงกันในเรื่องของรัฐธรรมนูญพอสมควร แต่น้อยคนที่หยิบตรงนี้ขึ้นมา เป็นประเด็นหลักที่บอกว่า เราจำเป็นต้องแสวงหาทางออกร่วมกัน กลับกลายเป็นว่าฝ่ายหนึ่ง อยากจะกลับไปเพียงแค่รูปแบบ ที่เสียงข้างมากมีอำนาจทุกอย่าง และมีความสุ่มเสี่ยงมาก ว่าจะยังย้อนกลับไปสู่พฤติกรรมเดิมๆ ขณะที่อีกฝ่ายแทนที่จะพยายามยอมรับ การตัดสินของประชาชนที่เป็นเสียงข้างมากในสังคมแล้วออกแบบกระบวนการถ่วงดุล กลับพยายามใช้กติกาในการที่จะเอื้อให้เกิดความได้เปรียบของตัวเอง ในการที่จะครองอำนาจต่อไป ในที่สุดก็จะเป็นปัญหาเพราะจะเป็นความขัดแย้ง เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่จะไม่ยอมรับกติกาทำนองนี้

“ดังนั้นความท้าทายตรงนี้ ผมคิดว่าถ้าเรานึกย้อนกลับไปถึงการต่อสู้ เดือนพฤษภาคม 2535 เป็นการต่อสู้เพื่อจะให้ประเทศไทย หลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ วัฏจักรทางการเมืองที่สลับสับเปลี่ยน ระหว่างการยึดอำนาจกับการมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แต่ถ้าเราไม่เรียนรู้บทเรียนที่สำคัญเหล่านี้ แล้วจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยไม่พยายามแก้ไขจุดอ่อนที่ผ่านมา โอกาสที่ยังอยู่ในวังวนของวงจรวัฏจักรเดิมๆก็ยังมี จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก และผมก็อยากจะเห็นผู้ที่สานต่อเจตนารมณ์ การต่อสู้ในปี 2535 ได้ตระหนักถึงประเด็นเหล่านี้ และขับเคลื่อนเพื่อนำเราเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่าประเด็นแรกที่อยากจะเห็น คือก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป ทำอย่างไรเราไม่ให้กติกาในปัจจุบัน ที่ทำให้วุฒิสภามีโอกาสขัดแย้งกับเสียงข้างมาก ของสภาผู้แทนราษฎร เพราะอาจจะเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง ถ้าเราปลดตรงนี้ได้ ได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่ประชาชนยอมรับและทุกพรรคการเมืองตกลงกัน ที่จะทำกติกาใหม่ให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อให้ประชาชนเป็นเจ้าของ แล้วเรียนรู้จากบทเรียนในอดีต ตรงนั้นน่าจะเป็นก้าวย่างที่สำคัญที่สุดต่อไป ในการสานต่อการต่อสู้ในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535

ไม่เชื่อว่าจะเอาเผด็จการหนึ่ง ไปสู้กับอีกเผด็จการหนึ่งได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า บางคนมองว่าเลือกที่จะเอาเผด็จการทหาร ไปสู้กับเผด็จการทุนนิยม คิดว่าในอนาคตจะมีอะไรที่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ นายอภิสิทธิ์ ตอบว่าตนไม่เชื่อว่าจะเอาเผด็จการหนึ่ง ไปสู้กับอีกเผด็จการหนึ่ง แนวคิดนี้ในที่สุดประเทศก็อยู่กับเผด็จการ และความอันตรายของเผด็จการ คือเรื่องของการที่มีอำนาจโดยที่ไม่ถูกตรวจสอบ เพราะฉะนั้นถึงจุดหนึ่งฝ่ายที่คิดว่าตัวเองเข้ามา เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาเพราะอีกฝ่ายมีปัญหา ก็กลับกลายเป็นว่าใช้อำนาจไปในทาง ที่ผิดเสียเอง เช่น การที่มีคนจำนวนมากสนับสนุน รัฐบาลชุดปัจจุบันหรือสนับสนุนการรัฐประหาร ด้วยความเชื่อที่ว่าจะมาแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน หรือแก้ไขปัญหาต่างๆ 

“แต่ผ่านมาถึงวันนี้ก็น่าจะปรากฏชัดแล้วว่า ในที่สุดสภาพปัญหาต่างๆ เช่นเรื่องการ ทุจริตคอร์รัปชันไม่ได้ดีขึ้น และใช้อำนาจในทางที่ผิด มีการทำให้องค์กรอิสระเสื่อมเสียความน่าเชื่อถือ เพราะถูกมองว่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองเสียเอง ดังนั้นตรงนี้เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าเราต้องหลุดพ้นจาก การมองสถานการณ์เฉพาะหน้า และมองว่าเราชอบ หรือไม่ชอบฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่ต้องพยายามคิดถึงการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน โดยการวางระบบในระยะยาว ที่จะช่วยให้เราได้รัฐบาลตามความต้องการของประชาชน แต่เมื่อเป็นรัฐบาลแล้วจะต้องใช้อำนาจอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย ตามหลักนิติรัฐนิติธรรม”

เมื่อถามว่าแต่ตลอด 30 ปีที่ผ่านมาก็ไม่เห็นเป็นไปได้อย่างที่พูด นายอภิสิทธิ์ ตอบว่า ไม่ได้เพราะเราขาดความพอดี ในวันที่เรามีประชาธิปไตยเหมือนกับเต็มใบ เราก็ปล่อยให้เกิดการใช้อำนาจที่ไม่ชอบ และเกิดความขัดแย้งแล้วนำไปสู่การเมืองบนท้องถนน ในวันที่เราพยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้ เรากลับโยนประชาธิปไตยทิ้งไป ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่อันตราย แต่ปัจจุบันเราต้องยอมรับว่ามีเรื่องที่ละเอียดอ่อน ที่เกิดขึ้นมากกว่านั้นอีก ในขณะที่ทุกคนจะบอกว่าสนับสนุนให้ประเทศไทย ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กลับกลายเป็นว่าฝ่ายหนึ่งถูกมองว่า เรียกร้องประชาธิปไตยโดยไม่ชัดเจนว่า สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์จะเป็นอย่างไร ขณะที่อีกฝ่ายซึ่งบอกว่าต้องการที่จะปกป้อง รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ กลับไม่มีความชัดเจนว่า จะให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยอย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามว่ามองว่ารัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ ตั้งแต่ปี 2535 มาจนถึงปัจจุบันแต่ละฉบับสามารถตอบโจทย์ปัญหา หรือความเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทยได้มากน้อยแค่ไหน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เราต้องให้ความเป็นธรรม กับคนที่ร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 คิดว่าเป็นผู้ร่างที่มีวิสัยทัศน์ที่ค่อนข้างชัด มีแต่นวัตกรรมทางการเมืองขึ้นมา ให้มีประชาธิปไตยโดยตรง ให้มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง ให้มีองค์กรอิสระมาตรวจสอบ เพียงแต่เขาคาดไม่ถึงว่า เมื่อบังคับใช้จริงไประยะหนึ่งแล้ว ถูกบิดเบือนได้โดยผู้มีอำนาจ ทั้งนี้รัฐธรรมนูญปี 2550 เข้ามา ก็พยายามหาความพอดี แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย แต่พอมาถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็ต้องบอกว่าไม่เหมือนปี 2540 และ 2550 ตรงที่ว่า ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างชัดเจน เพื่อให้คนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีอำนาจสามารถ ที่จะถืออำนาจนั้นต่อได้ หลังการเลือกตั้ง จะกลายเป็นรัฐธรรมนูญที่คล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญปี 2521 ที่ออกแบบมาตอนนั้น พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ สามารถเป็นนายกรัฐมนตรี โดยอาศัยเสียงของวุฒิสภาเป็นผู้ค้ำจุนไว้ 

“ซึ่งรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาในลักษณะนี้ กลายเป็นรัฐธรรมนูญ เหมือนกับเฉพาะกิจ ในแง่ของผู้มีอำนาจ แต่เป็นกติกาซึ่งขาดหลักสากลรองรับ ประเทศไทยที่หลายองค์กรบอกว่า ยังไม่เป็นประชาธิปไตย เฉพาะมาตรา 272 มาตราเดียว ก็ทำให้เขาตัดสินใจได้แล้วว่า ยังไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบสากล และยังไม่นับเรื่องการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ การตีความรัฐธรรมนูญในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การคำนวณสูตร ส.ส. ไปจนถึงการตีความคำว่าเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาอีกมากมาย ซึ่งปัจจุบันกระทบต่อความน่าเชื่อถือ ขององค์กรอิสระจนทำให้ระบบ ขององค์กรอิสระถูกตั้งคำถามไปหมด”

ผู้สื่อข่าวถามว่าตอนนี้ทุกคนมองเห็นแล้ว ว่าองค์กรอิสระบางหน่วยงาน อาจจะต้องทำงานตามรัฐบาลที่มีอำนาจในขณะนี้ อดีตนายกรัฐมนตรี ตอบว่าสุดท้ายก็กลายเป็นว่าไม่เป็นองค์กรอิสระจริง โอกาสที่มันจะเหวี่ยงกลับไปสุดขั้วอีก เพราะฝ่ายหนึ่งที่เคยไม่พอใจองค์กรอิสระมาช้านาน ก็อ้างว่าเป็นเครื่องมือทางการเมือง มาทำลายรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ก็ยิ่งอาศัยตรงนี้แล้วก็จะพยายามหาทาง ไม่ให้มีองค์กรอิสระที่มีอำนาจมากพอ ซึ่งก็จะยิ่งหมุนกลับไปสู่สภาพ ที่สุ่มเสี่ยงกับการที่เสียงข้างมาก ใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบ ที่ตนกังวล คือ ถ้ามีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ภายใต้บรรยากาศที่ผ่านมา 4-5 ปีนี้ ฝ่ายที่ไม่ต้องการองค์กรอิสระ จะได้รับการขานรับพอสมควร แต่ถ้าจะดำรงองค์กรอิสระไว้ก็เห็นชัดเจนว่า ดำรงอยู่ในรูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่ได้ เพราะไม่ได้รับการยอมรับในระดับหนึ่งแล้ว เราจะต้องมีวิธีการในการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นที่มา การใช้อำนาจหรือการตรวจสอบองค์กรอิสระอย่างไร ที่จะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับ เป็นไปตามหลักของประชาธิปไตย และเป็นไปตามหลักของธรรมาภิบาลด้วย

ซัด 'เพื่อไทย' ก้าวไม่พ้น 'ครอบครัวชินวัตร' รับหลายฝ่ายกังวลหากเพื่อไทยชนะเลือกตั้งเป็นรัฐบาลอาจเกิดรัฐประหารอีก 

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ช่องยูทูปสภาที่ 3 ถึงกรณีที่หลายคนไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่มีการมองท่าทีของคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ชู นส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาว ขึ้นมาแล้วหวังว่าจะเกิดแลนด์สไลด์ ถ้าพรรคเพื่อไทยมาในลักษณะนี้ นส.แพทองธาร มาจะเอานายทักษิณกลับบ้าน ก็อาจจะมีการรัฐประหารเกิดใหม่อีกรอบ ว่าต้องยอมรับว่าความกังวลตรงนี้มีแน่นอน เพราะเกิดความรู้สึกว่าในที่สุดพรรคเพื่อไทย ก็ยังก้าวไม่พ้นครอบครัวชินวัตร ทั้งนี้สมมุติว่าพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง คนในครอบครัวมาดำรงตำแหน่งอีก ลำพังตรงนั้นก็ไม่เป็นไรถ้าประชาชนเลือก เพียงแต่ว่าอย่าย้อนกลับไปสู่ พฤติกรรมหรือการกระทำที่เป็นลักษณะของการเอื้อประโยชน์ ให้ครอบครัว ให้พวกพ้องหรือไปทำอะไรที่ฝืนกับหลักธรรมาภิบาล หลักกฎหมาย ซึ่งอาจจะรวมไปถึงแนวคิดเรื่องการนิรโทษกรรม

“เพราะฉะนั้นว่าไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคล ถ้าตัวบุคคลนั้นผ่านการเลือกตั้ง ชนะการเลือกตั้งมาเราก็ต้องยอมรับ แต่ปัญหาคือทำอย่างไร ซึ่งตนพูดเสมอว่าการได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งมา เป็นความยินยอมพร้อมใจของประชาชนให้เข้ามาผลักดัน นโยบายหรือทำงานให้กับประเทศชาติ แต่ไม่ใช่ใบอนุญาตให้เข้ามาทำอะไรก็ได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักของกฎหมาย”

ผู้สื่อข่าวถามว่าในแง่ของการรัฐประหารซึ่ง คุณอภิสิทธิ์ไม่เห็นด้วย และไม่เอาระบอบประยุทธ์ แต่ท้ายที่สุดคนใต้กลับไม่เอาคุณอภิสิทธิ์ แต่สนับสนุนให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ไปร่วมรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ ตอบว่า ตนก็พยายามนำเสนอว่า ถ้าความเห็นต่างตรงนี้ยังถูกมองเป็นแค่เรื่องว่า เราเป็นศัตรูกันเราอยู่คนละข้างกัน สุดท้ายการเมืองก็จะเป็นแพ้แค่เรื่องเอาชนะอีกฝ่าย โดยวิธีการอะไรก็ได้ ซึ่งอาจจะเป็นการใช้เงินใช้อำนาจรัฐซึ่งสุดท้ายทั้งหมด ก็ล้วนแล้วแต่บั่นทอนระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น แต่ตนพยายามนำเสนอในการเลือกตั้งคราวที่แล้ว ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ตนก็เพียงแต่หวังว่าทั้ง 2ฝ่าย เมื่อเวลาผ่านไปจะเห็นชัดเจนว่า การที่ประเทศติดกับดักของการประเชิญหน้ากันแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็ไม่ได้เป็นประโยชน์กับใคร แล้วก็ทำให้ประเทศเรามีปัญหา ในการพัฒนามีความล้าหลัง จากปรากฏการณ์และการเปลี่ยนแปลง และความท้าทายใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในโลก แล้วเราก็ไม่สามารถที่จะไปจัดการกับเรื่องเหล่านั้นได้อย่างจริงจัง

ต้องเข้าใจว่าคนรุ่นใหม่เติบโตมากับโลกที่เป็นโลกาภิวัตน์แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามถึงมุมมองของคนรุ่นใหม่ ท่าทีและการเคลื่อนไหวต่างๆ เกี่ยวกับประชาธิปไตย อดีตนายกรัฐมนตรี ตอบว่า เราต้องเข้าใจว่าคนรุ่นใหม่เติบโตมากับโลกที่เป็นโลกาภิวัตน์แล้ว ไม่เหมือนกับคนรุ่นก่อนเขา ซึ่งโลกาภิวัตน์เป็นเรื่องที่มาทีหลัง เพราะฉะนั้นเขาได้เห็นว่า ทางเลือกต่างๆในโลกมีมากมาย มาตรฐานของประเทศ ,ของสากลในเรื่องต่างๆ ซึ่งรวมถึงเรื่องการเมืองเป็นอย่างไร เราต้องเข้าใจด้วยว่าคนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมา ภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งกำลังถูกเปลี่ยนอย่างรุนแรง จากเทคโนโลยี จากโครงสร้างประชากร หรือจากอะไรหลายอย่าง ฉะนั้นความคาดหวังต่อชีวิตของเขา มันเปลี่ยนไปแล้ว เขาก็มีความรู้สึกว่าถ้าโครงสร้าง ของการเมืองการปกครองไทย ยังเป็นเหมือนในปัจจุบัน มันไม่สามารถรองรับอนาคต ที่เขาอยากจะได้เขาจึงเรียกร้อง ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ความจริงทุกฝ่ายต้องพยายามทำความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนกับเขา

“เราอยากให้แลกเปลี่ยนเพื่อเรียนรู้ได้ว่า การปฏิเสธบางสิ่งบางอย่างแล้วคิดว่าจะกระโดดไปได้อีกสิ่งหนึ่ง เราได้เรียนรู้หรือยังว่าถ้าเราไม่มี กลไกที่มาสร้างความสมดุล ก็มีโอกาสที่จะผิดพลาดเหมือนกับที่เราเคยผิดพลาด มาในอดีตได้เหมือนกันจุดตรงกลางที่จะมาเจอกันนั้นยอมรับว่ายาก เพราะเรื่องแบบนี้ผู้มีอำนาจต้องเป็นฝ่ายเริ่มก่อน เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดพื้นที่ตรงกลาง ถ้าผู้มีอำนาจปฏิเสธ ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ผมยังไม่เคยเห็นสัญญาณใดๆทั้งสิ้นจากผู้มีอำนาจ ว่าพร้อมที่จะคุยพร้อมที่จะฟังว่า ความต้องการคืออะไรที่เห็นด้วยเห็นต่างคือตรงไหน” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่าเรื่องนี้ประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ 1. ทุกยุคทุกสมัยผู้มีอำนาจก็จะมีปัญหานี้ไม่มากก็น้อย รู้สึกว่าการที่คนมาต่อต้าน มาเรียกร้องอะไรไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง ก็อาจจะมีความเชื่อตรงนั้นเป็นพื้นฐานเหมือนกัน 2. เนื่องจากการเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ในรอบ 2 -3 ปีที่ผ่านมา เกี่ยวข้องกับประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนทางสังคม จึงยิ่งกังวลและลังเล เสมือนกับว่าไม่แตะต้องหรือไม่ยุ่งเรื่องนี้ดีกว่า แล้วก็ใช้กฎหมายหรืออะไรก็ตามเป็นเครื่องมือไป 3.บังเอิญสภาวะแวดล้อม , วัฒนธรรมและการสื่อสารของคนรุ่นใหม่ เขาเติบโตมาในยุคที่การสื่อสารมันแรง เพราะถ้าไม่แรงก็ไม่ได้รับความสนใจ

“คนรุ่นก่อนก็เลยมองว่าก้าวร้าว หยาบคาย มองว่าไม่มีเหตุผลแต่ความจริงแล้ว ถ้ามีโอกาสแลกเปลี่ยนกันอย่างจริงจัง จะรู้ว่ามีสาระที่จะต้องอธิบาย มีเรื่องเหตุและผลที่ สามารถนำมาพูดคุยหักล้างกัน ทางหนึ่งทางใดหรือทั้ง 2 ทางได้ แต่พอไปติดตรงว่าทำไมก้าวร้าว ทำไมหยาบคายก็จะมีความลังเล เพราะฉะนั้นต้องก้าวข้ามตรงนี้ ก้าวข้ามส่วนที่ 1. ถ้าผู้มีอำนาจเข้าใจเสียก่อนว่า การที่คนคิดต่างก็ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยการเป็นศัตรูทะเลาะกัน ก้าวข้ามส่วนที่ 2. ต้องยอมรับว่าเมื่อบางประเด็นถูกหยิบยกขึ้นมาแล้ว แม้จะมีความละเอียดอ่อน ก็ต้องหาพยายามหาวิธีการและเวที ที่สามารถคุยเรื่องเหล่านี้ได้ ไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถที่จะเชื่อมต่อกันได้ ก้าวข้ามส่วนที่ 3. คืออาจจะต้องทำใจนิดหน่อยว่า ที่เรามองว่าเป็นเรื่องของความหยาบคายความก้าวร้าว อาจจะเป็นลักษณะการสื่อสารของคนรุ่นนี้”

อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่าอาจเป็นเพราะปัจจุบันใครๆ ก็สามารถใช้สื่อได้และเพราะสื่อเยอะไปหมด การได้รับความสนใจจึงเป็นเรื่องยาก นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเรื่องแรงๆ เรื่องแปลกๆ จึงได้รับความสนใจอยู่ตลอดเวลา เพราะมันไม่เหมือนสิ่งอื่นที่อยู่ในนั้น อย่างไรก็ตามตนยังไม่เห็นสัญญาณ ที่จะมีความพยายามในการจะเชื่อมต่อ ความจริงแล้วไม่ต้องพูดถึงสาระ แต่แค่ลองฟังน้ำเสียงของนายกรัฐมนตรี เวลาพูดถึงเด็กรุ่นใหม่ ก็ชัดเจนแล้วว่ายังไม่สามารถที่จะเปิดใจว่าคุยกันได้ หรือฟังเขาหน่อย ทั้งนี้คนที่เรียกร้องความเปลี่ยนแปลง ถ้าคนที่มีอำนาจคุยกับเขา เขาก็ต้องคุยเพื่อเรียกร้อง แต่ถ้าคนมีอำนาจไม่เปิดตรงนี้เลย ก็จะไม่ก็ไม่รู้จะไปเริ่มต้นที่ไหน แล้วที่ผ่านมานายกฯก็จะใช้วิธีว่า เรื่องการเมืองก็เป็นเรื่องของพรรคการเมืองไป หรือเรื่องนั้นก็ให้ไปอยู่ที่สภาไป แต่ความจริงมันไม่ใช่เพราะว่าข้อเรียกร้อง และจุดที่เขาค้างคาใจนั้นหลายส่วนเกี่ยวกับตัวท่านโดยตรง

ผู้สื่อข่าวถามว่าถ้าได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี อีกรอบจะทำหรือไม่ อดีตนายกฯ ตอบว่า ตนชัดเจนอยู่แล้ว ความจริงแล้วการเปิดทางให้มีการแก้ไขและธรรมนูญแบบกว้างขวาง เป็นการสร้างเวทีที่ง่ายที่สุด ในการที่จะให้ทุกฝ่ายมาคุยกัน แต่ก็เห็นได้ชัดว่าผ่านมา 3 ปี นับจากปี 2562 เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การแก้ไขและธรรมนูญไม่ได้คืบหน้าเลย ไม่มีการขยับในการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นหรือในโครงสร้างที่พูดกันเลย แต่วนไปเวียนมาแล้วก็ถูกมองด้วยว่ามีเล่ห์กลต่างๆ ถึงขั้นว่าต้องผ่านกรรมาธิการ แต่สุดท้ายก็อ้างว่าต้องมีการทำประชามติและตีความกันไปกันมา

เมื่อถามว่า มองอย่างไรในฐานะเป็นทั้งอดีต ส.ส. อดีตรัฐมนตรี อดีตนายกฯ ตอนนี้ชาวบ้าน มองว่า ส.ส.เมื่อเลือกตั้งเสร็จเปิดสภา เรื่องแรกที่ทำ คือ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง แทนที่จะไปแก้ปัญหาของประชาชนก่อน นายอภิสิทธิ์ ตอบว่า เรื่องรัฐธรรมนูญอาจจะมีบางฝ่ายบอกว่า ไม่อยากที่จะให้แก้ไขหรือบางคนมองว่าเร่งด่วนหรือไม่ แต่ประเด็นก็คือว่าถ้าตราบใดที่โครงสร้างทางการเมือ งไม่เป็นที่ยอมรับฟคนจำนวนมาก เราไม่พูดว่าเสียงข้างมาก-ข้างน้อยแล้วก็ทำให้เกิดปมความขัดแย้งอยู่อย่างนี้ อย่างไรเสียการแก้ไขปัญหาของประเทศก็ไม่ราบรื่น และที่น่าเสียดาย คือ ในที่สุดการแก้ไขและธรรมนูญ ทำไปทำมาไปแก้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองเป็นหลัก คือ บัตร 1 ใบหรือ 2 ใบและการคำนวณ ส.ส.อย่างไรมากกว่า ประเด็นอื่นที่เป็นปัญหาจริงๆ

“แต่ในส่วนของประชาชนนั้น ก็ต้องมีความหวัง โดยพื้นฐานของสังคมและประชาชน ความตื่นตัวเรื่องสิทธิ , เรื่องประชาธิปไตยยังไงก็มีเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา ส่วนนักการเมืองนั้นก็ต้องมาจากประชาชน เพราะฉะนั้นก็ต้องพยายามที่จะสนับสนุนนักการเมือง ที่จะสามารถสะท้อนความต้องการตรงนี้ เข้าไปได้มากที่สุด ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องไปสิ้นหวัง ต้องพยายามสนับสนุนให้กระบวนการเดินของมันได้”นายอภิสิทธิ์ กล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net