Skip to main content
sharethis

ฝ่ายไอทีของศาลรัฐธรรมนูญเบิกความคดีแฮกเว็บศาลว่า “วชิระ” มีการเปลี่ยนหน้าเว็บและเปลี่ยนชื่อเป็น Kangaroo Court แต่ไม่ได้กระทบระบบจัดการของเว็บ อีกทั้งยังบอกไม่ได้ว่าช่องโหว่ที่ทำให้ถูกแฮกเกิดจากจำเลยหรือมีอยู่ก่อนแล้วเนื่องจากเกิดได้จากหลายปัจจัย อย่างไรก็ตามศาลเพิ่มนัดสืบอีก 1 นัดให้ฝั่งศาลรัฐธรรมนูญเนื่องจากไม่ได้นำพยานมาเบิกความว่าศาลรัฐธรรมนูญเสียหายและเสียชื่อเสียงอย่างไรจากการถูกแฮก

24 มิ.ย.2565 ศาลอาญา รัชดาภิเษก มีนัดสืบพยานฝ่ายโจทก์ในคดีแฮ็กเว็บศาลรัฐธรรมนูญส่วนคดีแพ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นโจทก์ฟ้อง “วชิระ” เป็นจำเลยทั้งในคดีอาญาและแพ่ง กรณีแฮกเปลี่ยนหน้าเว็บศาลรัฐธรรมนูญเปลี่ยนเป็นเอ็มวีเพลงกิโยตินของศิลปินชื่อ “เดธกริปส์” และเปลี่ยนชื่อเว็บเป็นศาลจิงโจ้(Kangaroo Court)

ทางด้านนิติกรของศาลรัฐธรรมนูญนำ ปภู ธรรมวงศา นักวิชาการคอมพิวเตอร์ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมาเบิกความประกอบคำร้องคดีแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวน 10,000,000 บาท จากวชิระในฐานที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญได้รับความเสียหายและเสียชื่อเสียง โดยเป็นการส่งคำให้การต่อศาล

นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความของวชิระได้ถามค้านในประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการแก้ไขเว็บไซต์ของศาลและค่าใช้จ่ายในการแก้ไขเว็บไซต์ให้กลับมาใช้งานได้

ปภูตอบคำถามค้านของทนายความว่า ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้จ้างบริษัท บิซโพเทนเชียล (BizPotential) มาสร้างและดูแลเว็บไซต์ของศาลให้ โดยในตอนที่สร้างเสร็จไม่ได้มีการส่งเว็บไซต์ให้แก่สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ตรวจสอบความปลอดภัยของระบบ เนื่องจากในวันที่สร้างเว็บไซต์ของศาลเสร็จเมื่อ 2559เวลานั้นยังไม่มีหน่วยงานดังกล่าวตั้งขึ้นมา

ทนายความถามว่าการที่วชิระเข้าถึงระบบของเว็บไซต์ศาลนั้นมีเพียงการแก้ไขชื่อเว็บไซต์และหน้าเว็บเท่านั้นโดยไม่ได้มีผลกระทบต่อระบบบริหารจัดการภายในของเว็บไซต์ซึ่งปรากฏตามเอกสารรายงานที่ส่งต่อศาลใช่หรือไม่ ปภูตอบว่าใช่

ปภูตอบต่อว่าหลังเว็บไซต์ศาลถูกแฮกทางสำนักงานศาลประสานให้ทางบิซโพเทนเชียลและ สกมช.เข้ามาร่วมกันแก้ไขเพื่อให้ใช้งานได้ โดยเบื้องต้นสามารถกู้เว็บไวต์คืนได้ภายในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงและมีการแก้ไขบัญชีผู้ใช้และรหัสผ่านด้วย แต่ต้องนำเว็บไซต์ออกจากเซิร์ฟเวอร์เพื่อแก้ไขตัวหน้าเว็บไซต์ต่อ ใช้เวลารวมแล้วประมาณ 4 ชั่วโมง แต่เป็นการแก้ไขเพื่อให้ใช้งานได้ชั่วคราวแต่การตรวจสอบความเสียหายต้องใช้เวลา

นักวิชาการคอมพิวเตอร์ของศาลบอกอีกว่าทาง สกมช.ได้แนะนำให้สร้างเว็บไซต์ชั่วคราวขึ้นมาเพื่อนำเสนอข่าวสารที่จำเป็นก่อนระหว่างทำการตรวจสอบที่จะต้องหยุดใช้งานเว็บไซต์ของศาลเป็นการชั่วคราว

ปภูกล่าวว่าทางศาลได้ให้ สกมช.ตรวจสอบเว็บไซต์สองครั้ง ครั้งแรกหลังเกิดเหตุ สกมช.ตรวจโดยการใช้โปรแกรมทำการค้นหาช่องโหว่ที่ไม่ปลอดภัยของระบบจึงได้ให้ทางบริษัททำการแก้ไข จากนั้นจึงได้ส่งให้ทาง สกมช.ตรวจซ้ำอีกครั้งโดยครั้งนี้ให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบเพื่อดูว่าช่องโหว่ที่โปรแกรมตรวจเจอนั้นเป็นเป็นอันตรายร้ายแรงหรือไม่ ก็พบว่าไม่ได้เป็นช่องโหว่ที่ไม่สำคัญมาก

ทนายความถามว่าจากการตรวจสอบของ สกมช.สามารถบอกได้หรือไม่ว่าเกิดจากการกระทำของวชิระหรือเกิดขึ้นมาตั้งแต่การออกแบบของบริษัท ปภูตอบว่าไม่สามารถบอกได้และช่องโหว่ในระบบนั้นก็เป็นได้หลายปัจจัย ทั้งเกิดจากการสร้างเว็บไซต์ของบริษัทหรือเมื่อเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงก็ทำให้เว็บไซต์ที่ใช้เทคโนโลยีเก่าเกิดช่องโหว่ขึ้นมาได้

ทั้งนี้ทนายความถามคำถามสุดท้ายว่าการแก้ไขและการสร้างเว็บไซต์ชั่วคราวขึ้นมาใช้แทนทางสำนักงานศาลได้มีการว่าจ้างให้บริษัทบิซโพเทนเชียลทำหรือไม่ ปภูบอกว่ากระบวนการเหล่านี้ไม่ได้มีการว่าจ้างเพิ่มและไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้

ภายหลังการถามค้านของทนายความ ศาลได้เรียกนิติกรของศาลรัฐธรรมนูญไปแจ้งว่าเท่าที่ปรากฏในเอกสารคำให้การและเบิกความตอบทนายความไม่ได้กล่าวถึงเรื่องว่าสิ่งที่จำเลยกระทำได้ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเสียชื่อเสียงอย่างไรหรือทำให้เห็นว่าเกิดความเสียหายเป็นมูลค่าเท่าไหร่

ฝ่ายโจทก์ชี้แจงว่าทางโจทก์ได้แนบเอกสารค่าใช้จ่ายที่เกิดจากความเสียหายไว้ท้ายคำฟ้องและใส่ไว้ในบัญชีพยานแล้ว แต่โจทก์ได้ถามศาลว่าจำเป็นต้องนำพยานมาเบิกความประกอบเอกสารด้วยใช่หรือไม่ ศาลจึงได้กล่าวกับทางโจทก์ว่าศาลไม่สามารถเห็นได้เองจากเอกสารแนบท้ายที่โจทก์ยื่นมาและต้องให้พยานที่เกี่ยวข้องกับเบิกความรับรองเอกสาร อีกทั้งคดีนี้เป็นคดีอาญาและแพ่งซึ่งอยู่ในระบบกล่าวหา ฝ่ายผู้กล่าวหาต้องเป็นผู้พิสูจน์ว่าจำเลยกระทำความผิดอย่างไร

ศาลได้บอกกับทางนิติกรว่าจะเลือกเลื่อนวันสืบพยานออกไปเพิ่มอีกหรือว่าจะจบเพียงพยานปากนี้

ทั้งนี้นรเศรษฐ์แถลงขอค้านการเลื่อนสืบพยานหากฝ่ายโจทก์จะขอเลื่อน เนื่องจากจะทำให้คดีใช้เวลานานออกไป อีกทั้งวชิระก็ต้องเดินทางมาจากอุบลราชธานีซึ่งเป็นการสร้างภาระให้แก่จำเลย อีกทั้งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเองก็ใช่ว่าจะไม่รู้เรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามทางฝ่ายนิติกรได้ขอเลื่อนออกไปเพื่อขอนำพยานเข้ามาสืบเพิ่ม และทางศาลอนุญาตให้แก่ฝ่ายโจทก์โดยกำชับว่าหากการสืบครั้งหน้าฝ่ายโจทก์ยังไม่พร้อมอีกก็จะไม่อนุญาตให้เลื่อนแล้วพร้อมกับจดในบันทึกกระบวนพิจารณาคดีว่าเนื่องจากฝ่ายโจทก์เข้าใจผิดในกระบวนการ และกำหนดวันสืบพยานโจทก์อีกครั้งในวันที่ 8 ก.ค.2565

คดีนี้เริ่มขึ้นเมื่อ 11 พ.ย.2564 เว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญถูกเปลี่ยนหน้าแรกเข้าเป็นมิวสิควิดีโอเพลง "กิโยติน" ของศิลปินแร็ป “เดธกริปส์” และถูกเปลี่ยนชื่อเว็บเป็น "Kangaroo Court" (ศาลเตี้ย) หลังจากก่อนหน้านั้น 1 วัน ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคำปราศรัยของอานนท์ นำภา หรือทนายอานนท์, ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ในการชุมนุม #ม็อบ3สิงหา เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย หรือม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และการชุมนุม #ม็อบ10สิงหา ธรรมศาสตร์จะไม่ทน 10 ส.ค. 2563 จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

แต่คดีดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญกลับไม่ได้มีการไต่สวนพยานจากทางฝ่ายผู้ถูกร้อง แม้ว่าทนายความของผู้ถูกร้องจะได้ยื่นคำคัดค้านคำร้องและขอให้มีการไต่สวนพยานถึง 8 ปากก็ตาม แต่ศาลกลับเรียกพยานหลักฐานจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ซึ่งศาลระบุว่าพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้

สองวันต่อมา 13 พ.ย. 2564 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสามารถสืบสวนจนติดตามจับกุมและตรวจค้นบ้านพักของวชิระ เบื้องต้นวชิระให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้แฮกเว็บ ศาลรัฐธรรมนูญจริง จึงได้สอบปากคำไว้เป็นหลักฐาน พร้อม ยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด

ทั้งนี้วชิระเองก็รับสารภาพในส่วนของคดีอาญาว่าได้กระทำจริง แต่เนื่องจากทางฝ่ายศาลรัฐธรรมนูญมีการฟ้องคดีส่วนแพ่งเพิ่มเติมเข้ามาโดยเรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 10,000,000 บาท โดยให้เหตุผลว่าการกระทำดังกล่าวของวชิระทำให้เสียชื่อเสียงและเป็นการสร้างความเสียหายให้แก่ศาล

วชิระให้สัมภาษณ์ไว้ภายหลังการสืบพยานว่าที่ทำการเจาะระบบเว็บของศาลเพียงแค่ต้องการแสดงความไม่เห็นด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเนื่องจากเห็นว่าสิ่งที่ประชาชนออกมาเรียกร้องนั้นยังอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายและสื่อสารเพื่อหาทางออก แต่ศาลกลับเลือกที่จะซุกปัญหาไว้ใต้พรมต่อไป

วชิระยังกล่าวถึงอีกเหตุผลหนึ่งที่เขาลงมือทำครั้งนี้คือเขาต้องการสื่อสารว่าเว็บไซต์ของทางราชการนั้นมีความเสี่ยงต่อการถูกเจาะระบบอยู่แล้วแต่เขาได้เคนสื่อสารเรื่องนี้ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่กลับไม่ได้รับความสนใจ อย่างไรก็ตามในวันที่เขาถูกจับกุมก็ได้อธิบายเรื่องนี้ให้ทางตำรวจทราบถึงช่องโหว่ดังกล่าวและหลังจากนั้นยังเคยให้คำแนะนำแก่ สกมช.ด้วย ว่าเว็บไซต์ของศาลมีช่องโหว่อย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net