Skip to main content
sharethis

ตำรวจ ปอท. เข้าตรวจค้น ยึดมือถือและไอแพด แอดมินเพจการ์ตูนเสียดสีการเมือง ‘คนกลมคนเหลี่ยม’-เชิญตัวไป ปอท. อ้างไปพูดคุย ไม่ใช่การจับกุม ไม่ต้องให้ทนายติดตาม ก่อนพาตัวกลับมา ด้านทนายยัน ตร.ทำไม่ถูกต้อง พร้อมคำแนะนำรับมือสถานการณ์   

 

8 ก.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานวานนี้ (7 ก.ค.) จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เดินทางมาที่พักอาศัยเพื่อค้น และยึดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของ 'ตั้ม' (สงวนชื่อ-นามสกุล) แอดมินเพจเฟซบุ๊ก 'คนกลมคนเหลี่ยม' ซึ่งเป็นเพจการ์ตูนเสียดสีการเมืองไทย

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลัง สื่อ TOP News รายงานเมื่อ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน หรือ ศปปส. ซึ่งเป็นกลุ่มเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ เดินทางไปร้องทุกข์กล่าวโทษที่ บก.ปอท.ต่อเพจเฟซบุ๊กเพจหนึ่ง ซึ่งมีผู้ติดตามราว 6 หมื่นคน ภายหลังคาดว่า เป็นเพจเฟซบุ๊ก ‘คนกลมคนเหลี่ยม’ ในข้อหา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14(3) โดยทางกลุ่มอ้างว่าเพจดังกล่าวทำตัวการ์ตูนโจมตีรัฐบาล และสถาบันกษัตริย์ไทย ก่อนที่ภายหลัง มีรายงานว่า ปอท.รับเรื่องคดีความดังกล่าวเป็นคดี ม.112 

ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ ‘ตั้ม’ แอดมินเพจ ‘คนกลมคนเหลี่ยม’ เพื่อสอบถามเรื่องราว โดยเจ้าตัวเผยว่า วานนี้ (7 ก.ค.) ตั้งแต่เวลาประมาณ 6.00 น. เพื่อนบ้านโทรมาแจ้งว่ามีตำรวจ บก.ปอท. มาหาเขาที่บ้านจำนวนกว่า 10 นาย เขาจึงโทรหาทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และเพื่อนเพื่อสอบถามข้อมูลและสิทธิต่างๆ หากถูกตำรวจจับกุม

ภาพการ์ตูนจากเพจคนกลมคนเหลี่ยม (ที่มา เพจเฟซบุ๊ก คนกลมคนเหลี่ยม)

ต่อมา ตั้มจึงเปิดประตูบ้านให้ตำรวจเข้ามา โดยตำรวจมีการแสดงเอกสารและอ่านหมายค้น และในเอกสารที่ตำรวจอ่าน ระบุด้วยว่าเจ้าหน้าที่สามารถค้นหายึดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์สื่อสาร หรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องได้

ตั้ม เผยว่า ตำรวจมีการค้นพื้นที่ภายในบ้าน และห้องส่วนตัว รวมถึงมีการยึดโทรศัพท์มือถือ จำนวน 1 เครื่อง ไอแพด จำนวน 1 เครื่อง สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาหน้าแรกสมุดบัญชีธนาคาร และกระดาษโน้ตสรุปเวลาอ่านหนังสือ ทั้งหมดนี้เจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งกับแอดมินเพจเฟซบุ๊กคนกลมคนเหลี่ยมว่าจะเอาไปทำอะไร 

อ้างเชิญตัว ไม่ต้องเรียกทนาย

หลังจากตำรวจมีการยึดสิ่งของของตั้มแล้ว ตำรวจจะพาตัวของแอดมินเฟซบุ๊กคนกลมคนเหลี่ยม ไปที่ ปอท. โดยอ้างว่าเป็นการพูดคุยปรับความเข้าใจ แต่เมื่อตั้ม ต้องการโทรหาทนายความให้ติดตามไปด้วย ตำรวจกลับอ้างว่าเป็นการเชิญตัวไปพูดคุย ไม่ใช่การควบคุมตัวจับกุม และบอกว่าไม่จำเป็นต้องมีทนายความไปด้วย 

"ผมก็งงๆ เพราะว่ามันเป็นหมายค้น ไม่ใช่หมายจับ หรือหมายเรียก เขา (ผู้สื่อข่าว - ตำรวจ) ต้องเอาผมไปทำไม ผมบอกว่าผมไม่ไปได้ไหม แต่ตำรวจบอกว่าขอความร่วมมือให้ไปด้วย ไม่ได้เป็นการควบคุมตัว แต่อยากให้ไปด้วย

“ผมจะโทรหาทนายความ เขาบอกว่าไม่ต้อง ไม่ได้จับ ไม่ได้อะไร ไม่ต้องโทรหาทนาย เอาไว้ที่เราออกหมายเรียก และค่อยให้ทนายความไปวันนั้นดีกว่า วันนี้ไม่มีอะไร แค่ไปพูดคุยกันเฉยๆ” 

“ถ้าอย่างนั้น พูดคุยกันก็ไปร้านกาแฟแถวบ้านผมก็ได้ เขาก็บอกว่า ไปที่ออฟฟิศเขาที่ ปอท. ดีกว่า เขาบอก เขาสะดวกตรงนั้นมากกว่า เขาบอกว่าถ้าเสร็จแล้ว เขาจะให้คนขับรถมาส่งผม ผมก็โอเค” ตั้ม กล่าว พร้อมระบุทางตำรวจมีการบอกด้วยว่า ถ้าไปด้วยจะคืนซิมโทรศัพท์ให้

ภาพตัวอย่างการ์ตูนจากคนกลมคนเหลี่ยม (ที่มา คนกลมคนเหลี่ยม)

จากนั้น ทางตั้ม ก็นั่งรถกระบะ 4 ประตูของเจ้าหน้าที่ไปที่ ปอท. เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. โดยพอไปถึงที่ ปอท. ตำรวจพูดคุยสัพเพเหระกับตั้ม เกี่ยวกับเรื่องทั่วไป และเรื่องการเมือง ไม่ได้มีหัวข้อเฉพาะเจาะจง 

ต่อมา ทางตำรวจให้ตั้ม ถ่ายภาพคู่อุปกรณ์ไอแพด และมือถือ ที่ตำรวจยึดมาจากบ้านของตั้ม โดยอ้างว่าเพื่อเป็นหลักฐานว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้เป็นของเขา พร้อมกับให้เจ้าตัวเซ็นเอกสารยืนยันสิ่งของเหล่านั้นเป็นของตั้ม และก่อนกลับออกจาก ปอท. ตำรวจคืนซิมโทรศัพท์ให้

ตั้มอยู่ที่ ปอท.ถึงเวลาประมาณ 15.00 น. จากนั้น ตำรวจ ปอท.พาตัวของตั้มกลับถึงบ้านเวลาประมาณ 16.30 น. และมีการยื่นหมายเรียก ข้อหา ม.112 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14(1) และ ม.14(3) ให้ตั้ม หน้าบ้าน ถ่ายรูป ให้เซ็นรับ และฉีกตรงที่ตั้มเซ็นกลับไป โดยตำรวจนัดให้ตั้ม มารายงานตัววันที่ 18 ก.ค. 2565 

ตลอดช่วงเวลา 6 ชั่วโมงที่ ปอท. ตั้มมีความกังวลอยู่บ้างว่า การที่ไม่มีทนายความติดตามไปด้วย อาจทำให้เขากลายเป็นผู้ต้องหาง่ายขึ้น ไม่มีทนายความคอยเตือน หรือให้คำปรึกษาเรื่องข้อความในเอกสาร ตอนที่ตำรวจให้ถ่ายรูปกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เขาอยากโทรปรึกษาทนายความ แต่ตำรวจยึดโทรศัทพ์ไป ทำให้เขาไม่สามารถติดต่อใครได้เลยทั้งทนายความ ญาติ และบุคคลใกล้ชิดอื่นๆ 

หลังจากผ่านเหตุการณ์วันนั้น ตั้ม มองว่า การวาดการ์ตูนเสียดสีล้อเลียนการเมืองไทย การ์ตูนตลก มันไม่ได้มีเนื้อหาอาฆาตมาดร้าย ไม่ควรกลายเป็นคดีความแต่แรก หรือต้องเอาตำรวจมา 10 กว่าคน เพื่อมาตรวจค้น ถ้าไม่พอใจสามารถส่งเจ้าหน้าที่มาพูดคุยปรับความเข้าใจกันได้ไม่ใช่เรื่องยากอะไร 

"มันเป็นแค่การ์ตูน และมันไม่สามารถทำให้ใครเป็นอะไรได้ ผมไม่คิดว่าการ์ตูนกลายเป็นเรื่องใหญ่ถึงขนาดนี้ ตำรวจต้องยกขบวนมาบ้าน 10 กว่าคน มันไม่เมกเซนส์ (ผู้สื่อข่าว - ไม่สมเหตุสมผล) ผมไม่ได้เขียนเป็นการ์ตูนชั่วร้าย เป็นการ์ตูนแก๊ก การ์ตูนตลก ผมมองว่ามันเป็นอารมณ์ขันทั่วๆ ไปที่ใครก็เสพได้ ผมเลยงงว่า มันแค่การ์ตูนเองนะ ทำไมต้องเป็นคดี เป็นเรื่องราวขนาดนี้... ไม่เห็นจำเป็นต้องแจ้งข้อหาขนาดนี้ ไม่เห็นจำเป็นต้องเป็นเรื่องร้ายแรง นี่มันเป็นเรื่องเกินเบอร์ไปรึเปล่า คุณส่งเจ้าหน้าที่มาคุย หรือปรับความเข้าใจได้ ผมก็ทำให้ไม่ได้เป็นเรื่องยากอะไร มันกลายเป็นคดี มันเกินเบอร์ไปเยอะ" ตั้ม ทิ้งท้าย

ไม่ใช่กระบวนการปกติ

กิตติศักดิ์ กองทอง ทนายความ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า การเชิญตัวของ 'ตั้ม' แอดมินเฟซบุ๊ก 'คนกลมคนเหลี่ยม' ไปที่ บก.ปอท. โดยอ้างว่าไม่ต้องติดต่อทนายความ เพราะไม่ใช่การจับกุม เป็นการเชิญไปคุยปรับความเข้าใจ เป็นลักษณะที่ไม่ถูกต้อง  

“คือการกระทำของตำรวจมันชัดเจนแล้วว่า เขาต้องการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อมาดำเนินคดี แต่เขาไม่มีพยานหลักฐานดังกล่าว มันมีลักษณะเหมือนการล่อลวงให้ผู้ต้องหาเข้าใจผิดว่า ให้ข้อมูลไป ซึ่งการให้ข้อมูลในลักษณะเป็นการยืนยันรูปภาพ โทรศัพท์มือถือ และไอแพด มันจะนำไปสู่ที่เขาจะเอามาดำเนินคดีทีหลัง เพื่อยืนยันว่านี่คือสิ่งของของเขาเอง เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการกระทำความผิดอย่างนี้” ทนายความกิตติศักดิ์ ระบุ

ศูนย์ทนายฯ แนะนำต้องยืนยันสิทธิ์ ให้ทนายความ และบุคคลผู้ไว้วางใจไปด้วย

กิตติศักดิ์ แนะนำกับประชาชน หรือผู้ที่เผชิญสถานการณ์ในลักษณะเดียวกันว่า ข้อ 1 ต้องตระหนักว่า หากเจอเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันมีแนวโน้มอย่างสูงที่ลูกความ หรือประชาชนจะตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา ประชาชนจึงมีสิทธิที่จะปฏิเสธที่ไม่ให้ความร่วมมือกรณีที่เราจะถูกดำเนินคดี หรือถูกกล่าวหาได้ 

ข้อ 2 หากคิดจะให้ความร่วมมืออะไรต่างๆ ให้คิดไว้เสมอว่า อาจนำไปสู้การจับกุมตัวเองได้ในอนาคต ดังนั้น ควรจะมีบุคคลที่ไว้วางใจ หรือทนายความเพื่อปรึกษาที่จะให้ข้อมูลหรือให้ข้อเท็จจริง เพราะเราไม่ได้ปฏิเสธไม่ให้ข้อมูลใดๆ เลย เพียงแต่เราต้องการให้มีบุคคลที่ไว้วางใจ หรือทนายความอยู่ด้วย เพื่อที่เราจะได้ปรึกษา ไม่ใช่วิธีการหลอกเอาข้อมูลไป ซึ่งไม่ยุติธรรมกับผู้ต้องหา หรือลูกความ 

“สำคัญที่สุด ถ้าเจอสถานการณ์เช่นนี้ควรติดต่อทนายความ หรือบุคคลที่ไว้วางใจที่สุดเพื่อแจ้งข่าว และก็ที่ตำรวจเชิญตัวมีลักษณะไม่ต่างจากการจับกุมไป เพราะเราไม่สามารถติดต่อใครได้เลย มันเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น เราในฐานะประชาชน หรือผู้ที่จะถูกดำเนินคดีต้องตระหนักเรื่องนี้ และปกป้องสิทธิตัวเองด้วยเช่นกัน” ทนายกิตติศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net