Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“ฉันมีเพื่อนคนไทยที่เป็นแรงงานทำงานบ้านหลายคนที่อายุประมาณ 50-60 ปี เพื่อนๆ เริ่มทำงานบ้านตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นตอนปลายหรือวัยประมาณยี่สิบต้นๆ งานบ้านจึงเป็นอาชีพหลักของเขา พวกเราต่างมีงานทำและมีนายจ้างเหมือนกับแรงงานคนอื่นๆ แต่รัฐบาลยังไม่ได้ให้สิทธิกับแรงงานทำงานบ้านในการได้รับสิทธิประโยชน์ประกันสังคม” นางจำปา แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยกล่าว 

แรงงานทำงานบ้านมีบทบาทสำคัญในชีวิตของคนในหลายครอบครัวในประเทศไทย โดยเราพึ่งพาแรงงานทำงานบ้าน ทั้งในเรื่องการหุงหาอาหาร ทำความสะอาด ขับรถรับส่ง ดูแลสวน ดูแลลูกหลาน และพ่อแม่ผู้สูงอายุ ความต้องการแรงงานทำงานบ้านมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นตามจำนวนประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทย เนื่องจากเศรษฐกิจของไทยพัฒนามากขึ้น จึงทำให้คนไทยมีการศึกษาและโอกาสในการได้รับการจ้างงานเพิ่มขึ้น แรงงานข้ามชาติซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงจึงก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่ดูแลคนในครอบครัว 

น่าเสียดายที่แรงงานทำงานบ้าน โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ ส่วนใหญ่ในประเทศไทย ยังไม่ได้รับสิทธิการคุ้มครองแรงงานที่สำคัญๆ ซึ่งรวมถึงการประกันสังคม ดังนั้นเราจึงขอเป็นกระบอกเสียงเรียกร้องให้มีการรับรองให้งานบ้านเป็นงานประเภทหนึ่ง ให้การทำงานสำหรับแรงงานทำงานบ้านมีสภาพการทำงานที่มีคุณค่า และให้แรงงานกลุ่มนี้ได้รับสิทธิและการคุ้มครอง รวมถึงสิทธิการคุ้มครองประกันสังคม เช่นเดียวกันกับแรงงานกลุ่มอื่นๆ

มิติสำคัญประการหนึ่งของงานที่มีคุณค่าคือการเข้าถึงสิทธิการประกันสังคมซึ่งยังห่างไกลจากความเป็นจริงเป็นอย่างมากสำหรับแรงงานทำงานบ้านส่วนใหญ่ อันที่จริงแล้ว ข้อมูลจากการศึกษาพบว่าเกือบร้อยละ 80 ของแรงงานทำงานบ้านในประเทศไทยที่ทำงานในครัวเรือนยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนภายใต้กองทุนประกันสังคม 

ผลกระทบสำคัญประการหนึ่งของการทำงานที่ไม่มีคุณค่าคือ แรงงานทำงานบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงไม่สามารถได้รับสิทธิประโยชน์ในการได้รับค่าจ้างในกรณีลาคลอดบุตร แรงงานทำงานบ้านหญิงจึงต้องเลือกระหว่างงานหรือออกจากงานเพื่อดูแลลูกในช่วงวัยแรกเกิด ซึ่งก็จะทำให้ขาดรายได้หลักไป 

เช่นเดียวกับสิทธิประโยชน์ในการได้รับค่าจ้างในวันลาป่วย หรือรายได้ทดแทนในกรณีที่ได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน นายจ้างควรทำอย่างไรหากแรงงานได้รับบาดเจ็บขณะทำงานในบ้าน ควรให้แรงงานออกและปล่อยให้ไปโดยไม่มีรายได้ หรือรับภาระค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือแรงงานทำงานบ้าน ประเด็นเหล่านี้เป็นปัญหาทางเลือกที่แก้ค่อนข้างยากจึงไม่ควรให้แต่ละครัวเรือนตัดสินใจกันเองว่าจะเลือกทางไหน 

ปัญหาคือระบบของประเทศไทยในปัจจุบันยังไม่ให้สิทธิแรงงานทำงานบ้านตามบทบัญญัติภาคบังคับของพระราชบัญญัติประกันสังคม (มาตรา 33) ซึ่งหมายความว่านายจ้างไม่สามารถขึ้นทะเบียนแรงงานของตนได้ ทางเลือกเดียวคือให้แรงงานทำงานบ้านขึ้นทะเบียนในโครงการภาคสมัครใจ (มาตรา 40) ทั้งนี้ มีสาเหตุหลายประการที่ทำให้วิธีการดังกล่าวไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด ประการแรก มาตรา 40 กำหนดขอบเขตและระดับการคุ้มครองที่ต่ำกว่ามาตาร 33 โดยไม่รวมสิทธิประโยชน์กรณีการเจ็บป่วยจากการทำงาน กรณีคลอดบุตรและกรณีชราภาพ ประการที่สอง ภายใต้ระบบนี้ มีเพียงแรงงานเท่านั้นที่ต้องจ่ายเงินสมทบซึ่งทำให้นายจ้างไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ประการสุดท้าย แรงงานข้ามชาติที่ทำงานบ้านไม่มีสิทธิสมัครเข้าประกันสังคม มาตรา 40 ซึ่งหมายความว่าแรงงานทำงานบ้านส่วนใหญ่จะไม่ได้รับสิทธิการเข้าถึงการประกันสังคมใดๆ เลย เว้นแต่กรณีโครงการประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติภาคสมัครใจเท่านั้น 

โครงการความร่วมมือสหประชาชาติว่าด้วยการคุ้มครองทางสังคมสำหรับทุกคนในประเทศไทย ที่นำโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน และองค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเสริมพลังทางสังคมของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ ได้ศึกษาทบทวนนโยบายเกี่ยวกับแรงงานทำงานบ้าน ข้อมูลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่ายังมีสิ่งที่ต้องดำเนินการอีกมาก กว่าที่แรงงานทำงานบ้านจะได้รับสิทธิด้านการประกันสังคมเช่นเดียวกับแรงงานกลุ่มอื่นๆ อย่างไรก็ตาม รายงานพบว่าสถานการณ์ในประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศมาเลเซียและฟิลิปปินส์ กำลังเปลี่ยนไป และเป็นไปได้ว่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงเชิงบูรณาการที่สำคัญเกิดขึ้นในประเทศไทยด้วยเช่นกัน 

ผลสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้พบว่ามีนายจ้างของแรงงานทำงานบ้านเปิดรับแนวคิดเรื่องการส่งเงินสมทบประกันสังคมมากขึ้น จึงเชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องพิจารณาอย่างจริงจังเพื่อขจัดอุปสรรคต่างๆ ที่มีอยู่ในการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนของกองทุนประกันสังคมสำหรับแรงงานทำงานบ้าน 

ในประเทศไทย กฎกระทรวงฉบับที่ 14 ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานได้ยกเว้นแรงงานทำงานบ้านจากการคุ้มครองที่สำคัญหลายประการ อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยกำลังพิจารณาทบทวนกฎกระทรวงฉบับนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มสิทธิแรงงานของแรงงานทำงานบ้าน เช่น เรื่องค่าแรงขั้นต่ำและการกำหนดชั่วโมงการทำงาน 

การขยายการคุ้มครองทางสังคมให้กับแรงงานทำงานบ้านแม้ว่าจะมีความท้าทายมาก แต่ก็เป็นประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจของไทยโดยรวม การคุ้มครองทางสังคมไม่เพียงแต่เป็นหนึ่งในเสาหลักของงานที่มีคุณค่า แต่ยังช่วยอำนวยความสะดวกในการสร้างการเปลี่ยนผ่านให้แรงงานกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีกด้วย การปรับความสัมพันธ์การจ้างงานให้เป็นระบบและให้การคุ้มครองแรงงานทำงานบ้านอย่างเท่าเทียมจะนำไปสู่การเพิ่มผลิตภาพและการรักษาไว้ซึ่งแรงงานซึ่งถือเป็นผลประโยชน์ของนายจ้างด้วยเช่นกัน 

การกำหนดให้แรงงานทำงานบ้านอยู่ภายใต้การประกันสังคมภาคบังคับตามพระราชบัญญัติประกันสังคม มาตรา 33 จะเป็นการเปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนด้วย หากได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่แรงงานก็จะมีแรงจูงใจในการย้ายถิ่นผ่านช่องทางแบบปกติมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสร้างสภาพการแข่งขันที่ยุติธรรมระหว่างแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติด้วย เนื่องจากแรงงานทำงานบ้านจะมีสิทธิและหน้าที่ทางกฎหมายที่เหมือนกัน 

การให้ความสำคัญกับสิทธิแรงงานทำงานบ้าน จะทำให้เราเห็นประโยชน์ต่างๆ ในสังคม ที่มีความเท่าเทียมและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

 

บทความนี้เป็นบทความที่เขียนร่วมกัน โดย เจรัลดีน อองซาร์ หัวหน้าสำนักงานองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน ประจำประเทศไทย แกรห์ม บัคลีย์ ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย กัมพูชา และ สปป.ลาว และซาร่าห์ นิบส์ รักษาการผู้อำนวยการ องค์การสหประชาชาติเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและการเสริมพลังสตรี สำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค  

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการการคุ้มครองทางสังคมสำหรับทุกคนในประเทศไทย ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนรวมเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนรัฐบาลไทยในการเพิ่มระดับการคุ้มครองทางสังคมแบบถ้วนหน้า โดยการขยายความคุ้มครองให้ครอบคลุมไปยังกลุ่มเปราะบาง รวมถึงแรงงานทำงานบ้านที่เป็นคนไทยและต่างชาติ ทั้งนี้ สามารถรับชมวิดิโอเพิ่มเติมเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขยายการคุ้มครองให้กับแรงงานทำงานบ้านได้ที่ LINK 

  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net