Skip to main content
sharethis

'นิด้าโพล' เผยผลสำรวจ 1,312 คน พบส่วนใหญ่ 62.35% ยังไม่เข้าใจสูตรคำนวณหา ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ทั้งหาร 100 หรือหาร 500 - 'นิกร จำนง' เตรียมร่วมลงชื่อกับ อดีตประธาน กมธ.แก้ รธน.-สมาชิกรัฐสภา ยื่น ศาล รธน.ตีความ ปมคำนวณปาร์ตี้ลิสต์สูตรหาร 500

17 ก.ค. 2565 สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้าโพล) ได้สำรวจความคิดเห็นเรื่อง “ประชาชนเข้าใจประเด็นหาร 100 หรือหาร 500 หรือไม่” ระหว่างวันที่ 11-13 ก.ค.65 จากการสุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,312 หน่วยตัวอย่าง

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 62.35% ยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ในประเด็นสูตรคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ด้วยวิธีหาร 100 หรือหาร 500 และกลุ่มตัวอย่างอีก 21.11% ยังไม่ค่อยเข้าใจ ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่าง 11.74% ค่อนข้างเข้าใจ และกลุ่มตัวอย่างอีก 4.80% เข้าใจมาก

โดยกลุ่มตัวอย่างที่มีความเข้าใจมากและค่อนข้างเข้าใจ (จำนวน 217 ราย) เกี่ยวกับความคิดเห็นต่อมติที่ประชุมรัฐสภาในการใช้สูตรคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ด้วยวิธีหาร 500 นั้น กลุ่มตัวอย่าง 36.41% ไม่เห็นด้วยเลย รองลงมา 30.41% ค่อนข้างเห็นด้วย และ 16.59% เห็นด้วยมาก และไม่ค่อยเห็นด้วย ในสัดส่วนที่เท่ากัน

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติในการใช้สูตรคำนวณหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ด้วยวิธีหาร 500 พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่เข้าใจมากและค่อนข้างเข้าใจ (จำนวน 217 ราย) 28.11% ระบุว่า ต้องการให้ทุกคะแนนที่ประชาชนไปใช้สิทธิมีความหมาย รองลงมา 23.96% ระบุว่า พรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันต้องการคงอยู่ต่อไปหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า ตามด้วย 20.28% ระบุว่า ต้องการให้โอกาสพรรคเล็กได้มี ส.ส.ในสภา, 17.97% ระบุว่า ต้องการป้องกันไม่ให้มีพรรคการเมืองใดชนะการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ และ 9.68% ระบุว่าเป็นการแลกเปลี่ยนกับการโหวตสนับสนุนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในการอภิปายไม่ไว้วางใจที่กำลังจะเกิดขึ้น

ขณะที่ความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างที่มีต่อการมี ส.ส.แบบแบ่งเขต และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 58.39% ระบุว่า ควรมีทั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ รองลงมา 33.38% ระบุว่า ควรมีแต่ ส.ส. แบบแบ่งเขต และ 8.23% ระบุว่า ควรมีแต่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

'นิกร จำนง' เตรียมร่วมลงชื่อกับ อดีตประธาน กมธ.แก้ รธน.-สมาชิกรัฐสภา ยื่น ศาล รธน.ตีความ ปมคำนวณปาร์ตี้ลิสต์สูตรหาร 500

เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2565 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่านายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ…. รัฐสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีข้อกังวลปัญหาเรื่องการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) ด้วยการหาร 500 ว่า ตอนนี้ที่มีปัญหาลึกซึ้งคือเมื่อแก้มาตรา 128 ไปแล้ว ส่งผลต่อระบบการเลือกตั้งในมาตราที่เหลืออยู่บางมาตราในการกำหนดคำนวณคะแนน และทางรัฐสภายังไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ต่อไป อันที่จริงแล้วควรจะมีการชี้มาเลยว่าจะกระทบต่อมาตราใด อย่างใด และต้องแก้ไขเป็นอย่างไร ซึ่งล่าสุด กมธ.เสียงข้างน้อย ให้ความเห็นมาเป็นการภายใน ว่าอยากจะขอให้มีการประชุมกรรมาธิการฯขึ้น เพื่อปรับปรุงแก้ไข ในกฎหมายลูกมาตราอื่น ๆ ที่จะมีผลกระทบ  แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีความเห็นของกมธ.หลายคนยังเห็นว่า ไม่มีอำนาจ  ต้องให้ทางรัฐสภาสั่งการดำเนินการแก้ไข กมธ. ไม่มีอำนาจใดตามข้อบังคับเพราะถือว่าได้ทำหน้าที่ส่วนแรกเสร็จสิ้นแล้ว

นายนิกร กล่าวว่า ตนเคยให้ความเห็นไปแล้วว่าการคำนวณด้วยการหาร 500 ไม่สามารถนำมาใช้คำนวณปาร์ตี้ลิสได้ เนื่องจากเกิดปัญหา 'แฮงค์โอเวอร์' แบบเยอรมัน และจะมีปัญหาตามมาอีกมาก เช่นที่ตนพบว่ามีปัญหาที่ไม่เคยมีที่ไหนในโลก คือ 'แฮงค์-อัพ' อีกด้วย คือ สมมุติว่าในการเลือกตั้งเขตมีการทุจริตแล้วโดนใบแดงให้เลือกตั้งใหม่ เนื่องจากไปเอาส.ส.ทั้ง 100 และ 500 รวมกันหาร จะทำให้ ส.ส.พึงได้สะเทือนทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ยังมองไม่เห็นทางออก

นายนิกร กล่าวว่า การพิจารณากฎหมายลูกขณะนี้ขั้นตอนยังไม่จบ จำเป็นจะต้องให้จบทุกมาตราก่อน และเมื่อจบแล้วขั้นตอนต่อไปคือต้องนำร่างที่แก้ไขเสร็จแล้วส่งไปตามมาตรา 132 ของรัฐธรรมนูญ คือส่งไปให้ กกต. เพราะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเป็นผู้เสนอร่างหาร 100 มาตลอดทาง ซึ่งกกต. มีหน้าที่ที่จะต้องให้ความเห็นว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ และ กกต. จะต้องพิจารณาด้วยว่าสิ่งที่แก้ไขไปนั้นจะทำได้หรือไม่ในเชิงปฏิบัติจริง ซึ่งหากเห็นว่าทำไม่ได้ก็อาจเสนอให้กลับไปใช้หาร 100 ก็ได้ ถ้าถึงตรงนั้นก็จะกลับมาที่รัฐสภา และรัฐสภามีทางเลือกสองทาง คือ ดำเนินการปรับปรุง แก้ไขให้เป็นไปตามที่กกต.ชี้ หรือยืนยันตามมติเดิม

นายนิกร กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านเตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยการแก้ไขมาตรา 23 ว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ นั้น ทราบว่าพรรคเพื่อไทยเตรียมยื่นว่าขัดรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันอีกคณะหนึ่งที่เตรียมยื่น คือชุดที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานกมธ.แก้รธน. และตน ในฐานะเลขาฯกมธ. ที่กำลังประสานเพื่อรวบรวมเสียงจากสมาชิกรัฐสภาที่เห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ เราต้องทำให้เกิดความชัดเจนเพื่อไม่ให้มีปัญหาในอนาคตได้ ดังนั้นไม่ว่าถึงอย่างไรก็ต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน

นายนิกร กล่าวว่า ส่วนกรณีที่บางฝ่ายเข้าใจว่าฝ่ายค้านสามารถยื่นศาล รธน.ตีความก่อนที่จะมาแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ตนเห็นว่าไม่สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้โดยอัตโนมัติ คงต้องส่งไปที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นการแก้กฎหมายลูกที่เกี่ยวเนื่องกับกกต. ซึ่งในประเด็นนี้ เคยให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบแล้วก็ยืนยันตามนั้น และสอบถามไปที่นายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็ได้ให้ความเห็นยืนยันว่าในชั้นนี้ไม่ได้ส่งศาลรัฐธรรมนูญเลย แต่ต้องส่งไปที่ กกต.ก่อน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net