Skip to main content
sharethis

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการกระจายอำนาจ (คนก.) ออกแถลงการณ์คัดค้านร่างกฎหมายเข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ชี้ขัดกับรัฐธรรมนูญ หลักการถอดถอนฯ และจะก่อปัญหาร้ายแรงให้แก่การปกครองท้องถิ่น

17 ก.ค. 2565 เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการกระจายอำนาจ (คนก.) ออกแถลงการณ์ 'คัดค้านร่างกฎหมายเข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ หลักการถอดถอนฯ และจะก่อปัญหาร้ายแรงให้แก่การปกครองท้องถิ่น' โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

เนื่องด้วยเครือข่ายนักวิชาการเพื่อการกระจายอำนาจ (คนก.) ซึ่งมีรายชื่อตามที่ปรากฎท้ายแถลงการณ์นี้ได้ทราบว่าสภาผู้แทนราษฎรได้รับพิจารณาร่างพรบ. การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น  พ.ศ.......ซึ่งเสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ตามการเสนอของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น) และโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์และขณะนี้ร่างฯ นี้ได้ผ่านการพิจารณาในวาระ 2 แล้ว ซึ่งเมื่อได้พิจารณาเนื้อหาของร่างฯ นี้แล้ว พวกเรามีความห่วงใยและเกิดความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่า หากร่างฯ นี้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาจนมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว จะไม่เอื้ออำนวยต่อการเกิดพัฒนาการของประชาธิปไตยในท้องถิ่น ก่อให้เกิดปัญหาความแตกแยก ความรุนแรงทางการเมืองในท้องถิ่น การแบ่งเป็นฝักฝ่าย การกลั่นแกล้งทางการเมือง ฯลฯ อันเนื่องมากจากปัญหาการอาศัยช่องทางการถอดถอนที่ออกแบบขึ้นใหม่ในร่างนี้ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ หลักการถอดถอน หลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น หลักการควบคุมด้วยการกำกับดูแล หลักการคุ้มครองสิทธิของพลเมืองที่จะมีส่วนร่วมในการเมืองระดับท้องถิ่น ฯลฯ ดังเหตุผลในส่วนที่เป็นสาระสำคัญต่อไปนี้

1. ทั้งกระบวนการผลักดันร่างฯ และเนื้อหาของร่างฯ นี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 77 อย่างชัดเจน เพราะเกิดขึ้นอย่างเงียบเชียบขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ไม่มีการวิเคราะห์ผลกระทบอย่างเป็นระบบและรอบด้าน ไม่มีการเปิดเผยผลการรับฟังและการวิเคราะห์ต่อประชาชน และนำผลนั้นมาประกอบพิจารณาในทุกกระบวนการ หากแต่เป็นร่างกฎหมายที่ถูกเขียนเนื้อหาเพื่อสนองความต้องการของผู้กำหนดนโยบายเพียงเท่านั้น นอกจากนี้ ยังเป็นร่างกฎหมายที่ไม่จำเป็นและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในลักษณะที่เป็นการสร้างกติกาใหม่ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และมีมาตรฐานคุณภาพของกฎหมายที่ต่ำกว่ากติกาเดิมที่มีอยู่ในพรบ.ว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2542 (ฉบับที่มีอยู่ในปัจจุบัน) เสียอีก

2. ร่างกฎหมายนี้ได้ตัดสิทธิผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จะออกเสียงโดยตรงและโดยลับเพื่อถอดถอนหรือให้คงสถานะสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นไว้ต่อไปซึ่งเป็นกระบวนการที่เป็นสาระสำคัญอย่างยิ่งออกไป โดยให้คงไว้แต่การเข้าชื่อแสดงความประสงค์ให้ถอดถอนให้ครบจำนวนขั้นต่ำที่กำหนด ซึ่งจะเป็นการปิดโอกาสที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนจะได้ตัดสินใจกำหนดอนาคตทางการเมืองของตัวแทนของตนและกำหนดชะตากรรมของอปท.ของตนอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง การตัดกระบวนการออกเสียงซึ่งมีผลเป็นการตัดสิทธิของประชาชนเรื่องนี้นับว่าขัดต่อหลักการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น (Recall) ที่ได้รับการเคารพและปฏิบัติอยู่ทั่วโลกและที่มีอยู่เดิมในประเทศไทยอย่างชัดเจน นอกเหนือจากการขัดต่อหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญทั่วไป หลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและอื่นๆ ดังกล่าวมาแล้ว

3. ร่างฯ นี้ได้เปิดช่องให้ราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคขยายอำนาจเข้ามาแทรกแซงและควบคุม อปท.ภายใต้รูปแบบของการถอดถอนโดยการให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อเสนอให้ผู้กำกับดูแล (รมต.มหาดไทยในกรณีผู้ว่ากรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดในกรณีอปท.อื่นๆ ทั่วประเทศ) ตั้งคณะกรรมการสอบสวนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นของตนเอง แล้วให้ผู้กำกับดูแลนั้น มีอำนาจสั่งให้พ้นจากตำแหน่งและอาจสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างการสอบสวนทั้งที่อาจไม่ปรากฎว่ามีความผิดในท้ายที่สุดด้วย

การถอดถอนและการให้หยุดปฏิบัติหน้าที่โดยช่องทางนี้จึงไม่ได้เชื่อมโยงกับสิทธิที่จะได้ตัดสินใจในเรื่องที่เป็นแก่นสารสำคัญของการถอดถอนโดยประชาชนแต่อย่างใด แต่ทำให้กระบวนการถอดถอนตามร่างฯ นี้กลายเป็นกระบวนการเพิ่มอำนาจให้ผู้กำกับดูแลได้“อาศัยฐานอำนาจจากการเข้าชื่อของประชาชน” เข้ามาทำการสอบสวนอีกช่องทางหนึ่งอย่างไม่มีความจำเป็น ทั้งที่มีอำนาจสอบสวนตามปกติอยู่แล้วตามกฎหมายจัดตั้ง อปท.แต่ละฉบับ

นอกจากนี้ จำนวนผู้เข้าชื่อให้สอบสวนก็มีเพียงไม่ต่ำกว่า 5,000 คนหรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในท้องถิ่นนั้นๆ (แล้วแต่จำนวนใดจะน้อยกว่า) ไม่ว่าท้องถิ่นนั้นจะมีขนาดใหญ่หรือเล็กเพียงใด กรณีจึงเป็นไปได้ว่า แม้แต่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่เป็นผู้บริหาร อปท.ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศก็อาจถูกผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนน้อยมากเพียงเท่านี้เข้าชื่อให้สอบสวนและอาจถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไปโดยมิชอบ ทั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน กทม.มีอยู่เกือบ 5 ล้านคน

ด้วยเหตุผลดังกล่าวมา พวกเราจึงขอเรียกร้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกพรรคการเมืองและวุฒิสมาชิกทุกท่านออกเสียงยังยั้งร่างกฎหมายนี้หรืออย่างน้อยที่สุดหาทางป้องกันหรือระงับปัญหาที่จะเกิดขึ้นดังที่ห่วงกังวล และขอให้ประชาชนชาวไทยทั้งหลายโปรดติดตามการทำหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทน สมาชิกวุฒิสภา  รัฐบาล และหน่วยงานรัฐทุกองค์กรที่ผลักดันร่างกฎหมายไปจนกว่าจะแน่ใจว่าร่างฯ นี้ได้ถูกยังยั้งหรือมีการแก้ไขปัญหาความไม่ถูกต้องทั้งปวงลงแล้ว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net