Skip to main content
sharethis

พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ 'ประยุทธ์' ผลาญเงินภาษี ซื้อสปายแวร์ 'เพกาซัส' สอดแนมผู้เห็นต่าง เพื่อรักษาฐานอำนาจของตัวเอง พร้อมเปิดรายชื่อ 5 ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่ถูกเพกาซัสคุกคาม

  

“ตอนทำภารกิจป้องกันประเทศ ใช้ทหารเยอะๆ ส่วนอาวุธก็ซื้อเท่าที่จำเป็น ดูแล้วเป็นกองทัพไม่ทันสมัยเอาซะเลย แต่พอจัดการกับประชาชนที่เห็นต่าง อันนี้ทันสมัยสุดๆ จัดหนัดจัดเต็ม ใช้อาวุธไซเบอร์ที่ร้ายกาจที่สุดเท่าที่มีบนโลกใบนี้”

20 ก.ค. 2565 ที่รัฐสภา พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (ส.ส.) จากพรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปรายไม่ไว้วางใจ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต่อกรณีใช้สปายแวร์สอดแนม ละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน นักกิจกรรม นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ NGO 

พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.ก้าวไกล

“ประยุทธ์จงใจปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ขาดจิตสำนึกในการเป็นประชาธิปไตย ไร้การเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน จงใจละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างร้ายกาจที่สุด อย่างที่สังคมไทยไม่เคยพบเจอมาก่อน และที่สำคัญทรัพยากรของแผ่นดิน ใช้เงิน และภาษีของงบประมาณจากประชาชน เพื่อให้ตนเองอยู่ในอำนาจได้นานที่สุด” พิจารณ์ กล่าว

การคุกคามนักกิจกรรมในอดีต

พิจารณ์ กล่าวว่า ในอดีตรัฐไทยพยายามติดตามตัว และสอดแนมประชาชนมาแล้วหลายครั้ง ย้อนไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เคยมีข่าวรายงานว่ารัฐบาลไทยมีการแอบลักลอบติด GPS ที่รถยนต์ส่วนบุคคลของประชาชนและนักกิจกรรม เช่น ‘ปิยรัฐ จงเทพ’ นักกิจกรรมจากกลุ่ม We Volunteer หรือศรีไพร นนทรีย์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงาน เพื่อติดตามสืบความเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมเหล่านี้ 

มีเอกสารเมื่อปี 2563 ลงนามโดยพลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. หลุดออกมา ในเอกสารนั้นระบุว่าให้กองบัญชาการตำรวจสันติบาล ติดตามและสืบสวนประวัติของอดีตนักการทูตที่เกษียณอายุราชการ และหาประโยชน์จากการเผยแพร่ข้อมูลเชิงลบโจมตีรัฐบาล เพื่อประกอบการปฏิบัติการข่าวสารตอบโต้ต่อไป

นอกจากนี้ พรรคก้าวไกล เคยออกมาเปิดเผยเมื่อปีที่แล้ว (2564) ว่า เคยมีเอกสารจากภาครัฐเป็นรายชื่อขออนุมัติติดตามประชาชน จำนวน 45 เป้าหมาย โดยรายชื่อส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรม นักวิชาการ สื่อมวลชน นักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน มีข้อมูลการติดตามทั้งโซเชียลมีเดีย เลขที่บ้าน ครอบครัว และเบอร์โทรศัพท์ 

แต่นั่นไม่ใช่ครั้งแรก และครั้งสุดท้าย เพราะพิจารณ์ ระบุว่า ล่าสุด พลเอกประยุทธ์ ทุ่มงบประมาณจากภาษีประชาชน ซื้อสปายแวร์ ‘เพกาซัส’ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยที่สุด แพงที่สุด และเป็นอาวุธที่ร้ายกาจที่สุดในโลก มาช่วยติดตามนักกิจกรรม นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ NGO

“เพกาซัส” ที่ไม่ใช่ม้าบิน แล้วมันคืออะไร

พิจารณ์ กล่าวย้อนไปเมื่อ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา องค์กร iLaw, Digital Reach, และ Citizen Lab ออกมาร่วมกันเปิดเผยหลักฐานชิ้นสำคัญว่า รัฐบาลไทยมีการใช้ ‘เพกาซัส’ เพื่อสอดแนมประชาชนไทย อย่างน้อย 30 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีนักกิจกรรม 24 ราย นักวิชาการ 3 ราย และเจ้าหน้าที่ NGO 3 ราย

แต่ก่อนจะไปต่อ พิจารณ์ อธิบายสั้นๆ ว่าสปายแวร์ และเพกาซัส คืออะไร ส.ส.ก้าวไกล ระบุว่า ‘สปายแวร์’ เป็นเหมือนโปรแกรมคอมพิมเตอร์ที่จะเข้าไปล้วงข้อมูลในอุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ อย่างคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ เพื่อจะเอาข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ 

ขณะที่ “เพกาซัส” คือ สปายแวร์ที่ผลิตโดยบริษัทเอกชนสัญชาติอิสราเอล นามว่า NSO ซึ่งบริษัทนี้มีเงื่อนไขการจำหน่าย คือ จะจำหน่ายให้กับรัฐบาล หรือหน่วยงานของรัฐบาลเท่านั้น จะไม่ขายให้เอกชนเด็ดขาด และการจะจำหน่ายต้องได้รับการอนุมัติจากกระทรวงกลาโหมของประเทศอิสราเอล 

ทั้งนี้ ผู้ผลิต NSO เคยอ้างว่า จุดประสงค์ของการผลิต ‘เพกาซัส’ เพื่อใช้ในการเฝ้าติดตามเครือข่ายก่อการร้าย เพื่อทลายเครือข่ายการค้ามนุษย์ เครือข่ายยาเสพติด และเครือข่ายอาชญากรรมต่างๆ ที่เป็นภัยต่อรัฐ 

พิจารณ์ ระบุต่อว่า เพกาซัส ทำงานเหมือนกับประชาชนยื่นมือถือพร้อมรหัสให้กับรัฐบาลไทย เพราะเมื่อเพกาซัส ฝังตัวเข้าไปในมือถือ รัฐบาลจะสามารถดูข้อมูลในโทรศัพท์ได้ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น ประวัติข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ ประวัติการแชต ข้อมูลธุรกรรมทางการเงินกรณีที่ใช้แอปฯ ธนาคารต่างๆ และอื่นๆ ทั้งที่มือถือยังอยู่กับเจ้าของ และโดยที่เจ้าของไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกขโมยข้อมูล นอกจากนี้ เพกาซัส สามารถดักฟังโทรศัพท์ ดูข้อความบนโซเชียลมีเดียแบบเรียลไทม์ ดูประวัติการโทรเข้า-ออก ดูตารางชีวิต และดูว่าเราเคยเดินทางไปไหนมาบ้าง 

พิจารณ์ ระบุว่า การโทรด้วยแอปพลิชันอย่าง LINE, Telegram, หรือ Signal ก็ไม่รอดพ้นจากเพกาซัส เพราะสปายแวร์ตัวนี้สามารถบังคับสั่งเปิด-ปิดกล้อง และเปิด-ปิดไมค์เพื่อบันทึกการสนทนาได้ 

พิจารณ์ ยกตัวอย่างต่อว่า ประธานสภาขณะนี้ใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นเก่าที่ไม่ใช่สมาร์ทโฟน ตัวของสปายแวร์แม้ว่าจะเจาะมือถือรุ่นเก่าไม่ได้ แต่เพกาซัสจะเจาะข้อมูลคนใกล้ชิดท่านประธาน เพราะทราบว่าอยู่ด้วยกัน ก็สามารถเปิดข้อมูลไมโครโฟน ดักฟังได้ 

หรือสมมติว่า ประชาชนตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตของโทรศัพท์ หรือการเข้าโหมดเครื่องบิน หรือ ‘Airplane’ ก็อาจยังไม่รอด เพราะถ้าผู้ใช้เพกาซัส เข้ามาบังคับเครื่องสมาร์ทโฟนก่อนที่เป้าหมายจะเข้าโหมด ‘เครื่องบิน’ เพกาซัสสามารถเปิดไมโครโฟน และกล้องไว้ก่อนเข้าโหมดเครื่องบิน เพื่อบันทึกข้อมูลไว้ และเมื่อเป้าหมายกลับมาเปิดออนไลน์ รัฐบาลหรือผู้ใช้สปายแวร์สามารถดึงข้อมูลกลับไปได้ทั้งหมด

ส.ส.ก้าวไกล ระบุว่า ‘เพกาซัส’ ยังมีคุณสมบัติอีก 4 ประการ คือ 1.ไม่สามารถป้องกันได้ (Zero Click) 2.ฝังตัวอยู่ตลอดไป ยกเว้นเปลี่ยนเครื่องและเปลี่ยนเบอร์ 3.ไม่รู้ตัวจนกว่าจะเอาไปตรวจโดยวิธีเฉพาะ และ 4.เปลี่ยนเบอร์ไม่ช่วย เพราะถ้าทราบเบอร์ใหม่ ก็มีโอกาสถูกแฮกอีกได้

ทั้งนี้ องค์กร Citizen Lab จากประเทศแคนาดา ใช้เวลาศึกษาเรื่อง ‘เพกาซัส’ และคิดวิธีตรวจสอบว่ามีที่ไหนใช้เพกาซัส จนพบว่า มีรัฐบาล 45 ประเทศที่กำลังใช้เพกาซัส และหนึ่งในนั้นมีรายชื่อประเทศ ‘ไทย’ ด้วย 

เรื่องราวที่ทำให้ “เพกาซัส” โด่งดังไปทั่วโลก เพราะมีการปล่อยเอกสารที่ระบุ 5 หมื่นเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นเป้าหมายถูกโจมตีโดย ‘เพกาซัส’ 

จุดเริ่มต้นดังกล่าวทำให้สำนักข่าว Forbidden Stories ร่วมกับสำนักข่าวอื่นๆ ร่วมกันขุดคุ้ยเอกสารหลุดจนนำไปสู่ข้อค้นพบสำคัญว่า รัฐบาลหลายประเทศใช้เพกาซัส คุกคามประชาชน นักกิจกรรม ฝ่ายต่อต้าน นักสิทธิฯ และอื่นๆ จนสื่อมวลชนขนานนามว่า เพกาซัสเป็นภัยอันตรายต่อประชาธิปไตยทั่วโลก

กรณีที่โด่งดังที่สุดในการใช้ ‘เพกาซัส’ โจมตีประชาชน คือกรณีการลอบสังหาร จามาล คาช็อกกี นักข่าวจากซาอุดิอาระเบีย และเป็นผู้วิจารณ์รัฐบาลซาอุดิอาระเบียอย่างเปิดเผยมาโดยตลอด โดยเมื่อ 2 ต.ค. 2561 นายจามาล คาช็อกกี หายตัวไปอย่างปริศนาหลังเข้าไปทำธุระในสถานกงสุลซาอุดิอาระเบีย ประจำกรุงอิสตันบูล ประเทศตุรเคีย จนตอนนี้ยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สั่งการตัวจริง แต่สิ่งหนึ่งที่ตอนนี้แน่ใจได้คือ โทรศัพท์ของคนใกล้ตัวคาช็อกกี ถูกโจมตีโดยเพกาซัส 2 ครั้ง ก่อนเสียชีวิต และหลังเสียชีวิต

รัฐเริ่มใช้สปายแวร์ หลัง รปห.'57

ล่าสุด Citizen Lab ออกรายงานเมื่อ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้พบว่าประเทศไทยเริ่มใช้เพกาซัส เมื่อปี 2557 ซึ่งเป็นช่วงใกล้เคียงกับการทำรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีหลักฐานคือ มีการตรวจพบเซิร์ฟเวอร์ของเพกาซัสทำงานในประเทศไทย และมีการชี้ไปที่โดเมนชื่อ siamha thtube และ thainews ซึ่งพิจารณ์ ระบุอย่างมั่นใจว่าขื่อนี้เป็นประเทศไทยแน่นอน

ลำดับเหตุการณ์การใช้ สปายแวร์ ในไทย

นอกจากนี้ วิกิลีค (Wikileak) เคยเปิดเผยว่า ไทยเคยใช้สปายแวร์ชื่อว่า “RCS Control” ผลิตโดยบริษัท Hacking Team จากอิตาลี พบว่าซื้อขายช่วงปี 2556-2557 กรมราชทัณฑ์ ซื้อสปายแวร์ตัวนี้ในปี 2556 ใช้งบฯ 11.5 ล้านบาท รวมค่าซ่อมบำรุง รวมเป็นประมาณ 13.5 ล้านบาท และอีกองค์กรที่ซื้อคือกองทัพบก เมื่อปี 2557 ใช้งบฯ วงเงิน 14.4 ล้านบาท 

RCS คุณสมบัติคล้ายของเพกาซัส คือ การดักฟังโทรศัทพ์ ข้อความ เปิดปิดกล้องได้ แต่ไม่มี Zero Click 

หลังการยึดอำนาจของประยุทธ์ ทิศทางการใช้สปายแวร์เปลี่ยนไป และพุ่งเป้ามาที่ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร 

นอกจากนี้ ในรายงานจาก Citizen Lab เปิดเผยว่า พบประเทศไทยใช้สปายแวร์นามว่า “Circles” ผลิตโดยบริษัท NSO คุณสมบัติของ Circles จะโจมตีไปที่เครือข่ายโทรศัทพ์ เพื่อดักฟัง ดักจับข้อมูล SMS และค้นหาตำแหน่งของมือถือ 

รายงานระบุด้วยว่า 3 หน่วยงานของประเทศไทยที่ใช้สปายแวร์ตัวนี้ คือ หน่วยข่าวกรองของกองทัพบก ใช้เมื่อ 2562 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ใช้เมื่อ 2559 และกองบัญชาการปราบปรามยาเสพติด ใช้ตั้งแต่ 12 ก.ย. 2557

จากการตรวจสอบข้อมูลของ ‘พรรคก้าวไกล’ ระบุว่า ข้อมูลจากกรมบัญชีกลาง พบโครงการจ้างบำรุงรักษาชุดค้นหาตำแหน่งโทรศัพท์มือถือ จำนวน 9 โครงการ งบฯ รวม 61.4 ล้านบาท ระหว่างปี 2558-2563 ของกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.)

นอกจากนี้ พิจารณ์ พบด้วยว่า มีอีก 10 โครงการ เกี่ยวกับชุดค้นหาตำแหน่งโทรศัพท์มือถือ ไม่ระบุยี่ห้อ วงเงิน 227 ล้านบาท ระหว่างปี 2558-2563 ของ บช.ปส. โดยถ้ารวมงบทั้งหมด จะอยู่ที่ 300 ล้านบาท

“ผมไม่ได้มีปัญหาที่รัฐไทย หรือหน่วยงานด้านความมั่นคงต้องมีสปายแวร์ แต่ปัญหาคือท่านใช้อย่างไร ท่านใช้ถูกวัตถุประสงค์รึเปล่า หากตำรวจใช้เพื่อติดตามผู้ค้ายาเสพติด อันนี้เป็นเรื่องที่เรายอมรับได้ แต่ภายใต้นายกที่ชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชา ผมไม่มั่นใจเลยว่า อาวุธไซเบอร์เหล่านี้จะไม่หันเข้าหาประชาชน” พิจารณ์ กล่าว 

นอกจากนี้ พิจารณ์ เปิดคลิปวิดีโอเคยให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว กรณีเอกสารจากวิกิลีค เปิดเผยว่า กองทัพไทยเคยซื้อสปายแวร์จาก ‘Hacking Team’ ซึ่งเวลานั้น ประยุทธ์ ตอบปฏิเสธไปว่าไม่ได้ซื้อ

“ที่พลเอกประยุทธ์ไม่พูด เพราะพลเอกประยุทธ์ ใช้มันผิดวัตถุประสงค์ เอาสปายแวร์เหล่านี้มาเล่นงานผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ปี 57” พิจารณ์ กล่าว

เพกาซัส เริ่มคุกคามนักกิจกรรมรุ่นใหม่

พิจารณ์ กล่าวต่อว่า ย้อนไปเมื่อปี 2564 บริษัท Apple เริ่มส่งคำเตือนไปที่ผู้ใช้บริการ iPhone ทุกเครื่อง ถ้อยความที่ Apple ส่งให้ผู้ใช้ iPhone ระบุว่า ท่านมีความเสี่ยงที่จะถูกสอดแนมโดยรัฐบาล แม้ว่าจะไม่ได้ระบุชื่อ ‘สปายแวร์’ อย่างชัดเจน แต่คาดเดาได้ว่าเป็น ‘เพกาซัส’ หลังจากนั้น จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่าง iLaw และ Digital Reach ส่งข้อมูลให้ Citizen Lab เช็กมือถือว่ามีใครบ้างที่ถูกสปายแวร์เจาะระบบ ซึ่งภายหลังได้รายชื่อผู้ถูกเพกาซัสเจาะระบบ 30 ชื่อตามที่รายงานข้างต้น โดยพิจารณ์ ตั้งข้อสังเกตว่า จุดร่วมสำคัญคือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยนักกิจกรรมถูกโจมตีเยอะที่สุดในช่วง มิ.ย. 2563 และเดือน ส.ค. 2564 ซึ่งตรงกับช่วงที่พีกที่สุดของการประท้วงปีที่แล้ว 

iLaw สรุปช้อมูลว่า เหตุผลที่รัฐบาลสอดแนมเพื่อต้องการข้อมูลพฤติกรรมบนโลกออนไลน์ เพื่อต้องการดูความเคลื่อนไหวการชุมนุม และข้อมูลผู้ให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน และทรัพยากรต่างๆ 

“แทนที่จะเอาเพกาซัสไปสอดแนมพ่อค้ายาเสพติด ไปสอดแนมอาชญากร หยุด หยุดสอดแนมอาชญากร หันกลับมาสอดแนมผู้ชุมนุม เพราะโดนแกง อดรนทนไม่ไหว อยากรู้ว่าประชาชนจะไปชุมนุมที่ไหนกัน” ก้าวไกล ระบุ พร้อมกล่าวว่า ขณะที่นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ NGO ที่เหลือก็ไม่ได้มีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางคุกคามความมั่นคงของรัฐ 

พรรคก้าวไกล ถูดสอดแนมอีก 5 ราย

พิจารณ์ ระบุว่า นอกจากรายชื่อ 30 คนที่ iLaw เปิดเผยออกมา มีนักการเมืองพรรคก้าวไกล อีก 5 ราย ที่ตกเป็นเป้าหมายสปายแวร์ ‘เพกาซัส’ ได้แก่ เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ผู้อภิปรายเรื่องงบสถาบันกษัตริย์ในรัฐสภา ถูกโจมตี 3 ครั้งช่วงกลางปีที่แล้ว ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า, พรรณิการ์ วานิช โฆษกคณะก้าวหน้า, ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล, และปกรณ์ อารีกุล ผู้ช่วย ส.ส. รังสิมันต์ โรม 

พิจารณ์ ตั้งข้อสังเกตว่า ทุกคนที่ถูกคุกคาม จะถูกคุกคามในช่วงที่มีอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสำคัญ 

รายชื่อผู้ถูกเพกาซัส สอดแนม 35 รายชื่อ

ผลาญภาษีเพื่อ ‘เพกาซัส’

พิจารณ์ กล่าวว่า เขาจะลองเทียบเคียงกับต่างประเทศเพื่อลองหาว่า รัฐบาลประยุทธ์ จะใช้งบฯ เพกาซัส ไปเท่าไร และเชื่อว่ารัฐบาลประยุทธ์ ใช้ภาษีอย่างน้อยที่สุด 700 ล้านบาท 

พิจารณ์ เทียบกับรัฐบาลประเทศกาน่า โดยเอกสารสัญญาซื้อขายของรัฐบาลประเทศกาน่า กับบริษัท NSO เมื่อปี 2558 ด้วยงบประมาณ 8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 354 ล้านบาท ระบบที่รัฐบาลกาน่า ซื้อไม่ใช่ระบบ Zero Click เป็นเวอร์ชันที่ต้องคลิก 1 ครั้ง ถึงจะติดสปายแวร์ และโจมตีได้แค่โทรศัพท์ 25 เครื่อง พร้อมกันเท่านั้น  ขณะที่ประเทศโปแลนด์ พบใช้ครั้งแรกปี 2560 ใช้เงินจำนวน 5.5 ล้านยูโร หรือ 200 ล้านบาท

ถ้าใช้ประเทศกาน่าเป็นเกณฑ์การคำนวณ พิจารณ์มองว่า รัฐบาลประยุทธ์ น่าจะต้องใช้เงินเป็น 2 เท่าของประเทศกาน่า และมองว่า อาจจะต้องใช้เงินขั้นต่ำ 700 ล้านบาท และน่าจะมากที่สุดเกิน 1,000 ล้านบาท

พิจารณ์ ระบุว่า การจำกัดสิทธิ์ทำได้ เท่าที่จำเป็น เพื่อประโยชน์สาธารณะ คำว่าทำเท่าที่จำเป็นสำคัญมากๆ  ทำไปแล้ว สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ความมั่นคงของรัฐ ทำไปแล้ว ได้ประโยชน์มากกว่าผลเสีย 

สิทธิสามารถถูกจำกัดได้แต่ต้องทำเท่าที่จำเป็น ไม่ใช่จำกัด แต่ว่าการที่รัฐบาลนำมาใช้กับนักกิจกรรม นักการเมือง และนักวิชาการ 35 คน ถามว่ามันจำเป็นไหม  

“ผมยืนยันว่า 35 คนนี้ ไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายไม่ใช่พ่อค้ายาเสพติด ไม่ได้ค้ามนุษย์ ไม่ได้ฟอกเงิน ไม่ได้ทำอันตรายต่อรัฐ ไม่ได้เป็นกองกำลังติดอาวุธ พวกเขามีเพียงแค่ปาก และปากกา มีเพียงแค่ความหวังดี ที่มีต่อชาติบ้านเมือง มีเพียงแค่ความคิดความอ่านที่อยากเห็นประเทศไทยไปไกลกว่านี้ การแสดงออกของพวกเขาไม่ได้ทำให้รัฐไทยล่มสลาย แต่สิ่งเดียวที่พวกเขามี ความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลนี้ ไม่เห็นด้วยกับการดำรงตำแหน่งอยู่ในนายกรัฐมนตรี ของคนที่ชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชา” ส.ส.ก้าวไกล กล่าว

รัฐบาลแม้ว่าจะมาจากประชาธิปไตย มาจากการเลือกตั้ง แต่การทำแบบนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างร้ายกาจที่สุด และเป็นรัฐบาลที่คุกคามอย่างใหญ่หลวงต่อประชาธิปไตย 

การกระทำนี้นอกจากจะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนหวาดกลัวต่อการถูกคุกคาม และขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตยแล้ว ยังกระทบต่อเศรษฐกิจ และสังคม สื่อมวลชน และนักสิทธิมนุษยชน จะกล้าสืบสวนอย่างตรงไปตรงมาได้อย่างไร ถ้าต้องกังวลการถูกสอดแนม และเสรีภาพนักวิชาการจะมีได้อย่างไรถ้าต้องหวาดกลัวว่ารัฐจะสอดแนม 24 ชม.

“สิ่งที่ประยุทธ์ ทำกับพี่น้องประชาชนแบบนี้ไม่ต่างอะไรกับอาชญากรสงครามที่ใช้อาวุธหันหน้าเข้าสู่ประชาชน การสอดแนมโจมตีประชาชนมีเป้าหมายสูงสุดเพียงเป้าหมายเดียว คือ การจัดการผู้เห็นต่างของรัฐบาล จัดการคนที่เป็นภัยความมั่นคงของประยุทธ์ ไม่ใช่ภัยความมั่นคงต่อประเทศชาติแน่นอน”

“ดังนั้น สิ่งที่เป็นภัยต่อเราอาจจะไม่ใช่สปายแวร์ที่ชื่อเพกาซัส แต่สิ่งที่เป็นภัยต่อเราที่สุดคือเผด็จการที่ชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา” พิจารณ์ กล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net