Skip to main content
sharethis

กรมการแพทย์เผยโรคฝีดาษลิงติดจากสัมผัสใกล้ชิด หายได้เองใน 4 สัปดาห์ อาการไม่รุนแรง รักษาตามอาการ แต่ถ้าอาการรุนแรงไทยมีความพร้อมในการรักษา ย้ำตื่นตัวแต่อย่าตื่นตระหนก - พบผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโรคฝีดาษลิงนอกทวีปแอฟริกาเป็นครั้งแล้วที่ 'บราซิล-สเปน' - 'นิวยอร์ก' ประกาศให้เป็นภัยคุกคามต่อระบบสาธารณสุข

30 ก.ค. 2565 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่าจากการที่กรมควบคุมโรค ลงพื้นที่สอบสวนผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง ซึ่งเป็นผู้ป่วยรายที่ 2 ของประเทศไทย อาศัยในกรุงเทพมหานคร พบว่าเป็นผู้ป่วยชายไทย อายุ 47 ปี ประวัติมีเพศสัมพันธ์กับชายต่างชาติ โดยผู้ป่วยเริ่มมีอาการปวดเมื่อยตามตัวประมาณ 1 สัปดาห์ก่อน พบมีตุ่มหนองตามตัวและอวัยวะเพศ ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ส่วนผู้สัมผัสร่วม 10 ราย กรมควบคุมโรคได้มอบให้ทีมสอบสวนโรคติดตามผู้สัมผัสอย่างใกล้ชิด

โรคฝีดาษลิง เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส (POX Virus) กลุ่มเดียวกับโรคไข้ทรพิษ แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ แพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ เปิดเผยว่าการติดต่อและการแพร่กระจายของโรค พบว่าส่วนมากติดต่อจากการสัมผัสสารคัดหลั่งจากตุ่มหนอง สะเก็ดแผล (Contact) ของผู้ป่วย ถ้าอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยในระยะประชิด เช่น กินข้าว หรืออยู่ห้องเดียวกัน หรืออาศัยนอนด้วยกัน การแพร่กระจายอาจติดต่อทางฝอยละออง (Droplet) ได้ ไวรัสฝีดาษลิง มีเปลือกหุ้ม ธรรมชาติเป็นไวรัสที่ไม่แข็งแรง โดนสบู่ล้างก็ตาย แต่เชื้อจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมนานหรือไม่ ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ จริงๆ ไวรัสตัวนี้ไม่ได้ติดง่าย แต่ก็ไม่ยาก หากใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันก็มีโอกาส แต่ถ้าล้างมือบ่อยๆ ป้องกันตัวเอง สวมหน้ากาก จะลดโอกาสการสัมผัสเชื้อ ระยะฟักตัวของโรคขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของแต่ละคน โดยทั่วไประยะฟักตัวอยู่ระหว่าง 7-21 วัน แต่บางรายก็มีระยะฟักตัวนานกว่านั้น

อาการที่พบในผู้ป่วยฝีดาษลิง นอกจากมีไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ต่อมน้ำเหลืองโตแล้ว มีรายงานการศึกษาในวารสารทางการแพทย์ พบว่าผู้ป่วยจะมีผื่นหรือแผลตามผิวหนัง หรือเยื่อบุในอวัยวะต่างๆ ผื่น ตุ่ม หรือแผลนั้นเกิดที่อวัยวะเพศ 56.3% บริเวณทวารหนัก 41.6% ผู้ป่วยส่วนใหญ่ (86%) จะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต หรือปวดกล้ามเนื้อ โดยอาการเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนมีผื่น หรือหลังผื่นขึ้นก็ได้ มีผู้ป่วยบางส่วนที่มีผื่น โดยไม่มีอาการร่วมอื่นๆ เลย อาการผิดปกติอื่นที่พบ คือ ปวดทวารหนัก เจ็บคอ แผลในช่องปาก และองคชาตบวม มีผู้ป่วยถึง 1 ใน 3 ที่ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย อาการหายได้เองภายในระยะ 2-4 สัปดาห์ การรักษาเน้นการรักษาแบบประคับประคอง เป็นการรักษาตามอาการ เช่น มีไข้ ให้ยาลดไข้ ส่วนยารักษาเฉพาะ ยังไม่มียารักษาเฉพาะ มียาที่ใช้รักษาผู้ป่วยไข้ทรพิษ ในต่างประเทศนำมาศึกษาวิจัยในการดูแลผู้ป่วยฝีดาษวานรที่มีอาการรุนแรง

ทั้งนี้ กรมการแพทย์ได้ร่วมกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ จากสมาคมโรคผิวหนัง สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กและผู้ใหญ่ ราชวิทยาลัย กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หารือถึงแนวทางการรักษาพยาบาลโรคฝีดาษลิง เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2565 ขณะนี้ได้ข้อสรุปแล้ว และอยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลเพื่อเสนอในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) ระดับกระทรวง เพื่อพิจารณาอนุมัติในวันจันทร์ที่ 1 ส.ค. นี้ ดังนั้น ฝีดาษวานร ไม่ติดต่อง่าย ต้องสัมผัสใกล้ชิด ส่วนใหญ่หายได้เอง รักษาตามอาการของโรค อย่าตื่นตระหนก

เตือนเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง ลดสัมผัสใกล้ชิดคนแปลกหน้า

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าโรคฝีดาษลิงพบการระบาดในยุโรปส่วนใหญ่เกิดในกลุ่มชายรักชาย โดยเฉพาะผู้ที่มีคู่นอนหลายคน ซึ่งหากมีการป้องกันที่ถูกต้องและปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงโดยการไม่สัมผัสใกล้ชิดและมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า จะสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงได้ สถานการณ์โรคฝีดาษลิงทั่วโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 29 ก.ค. 2565) มีผู้ป่วยยืนยันทั่วโลก 22,485 ราย พบเพิ่มขึ้นเป็น 79 ประเทศ โดยพื้นที่การแพร่ระบาดส่วนใหญ่พบอยู่ในแถบทวีปยุโรป ประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 4,906 ราย สเปน 4,298 ราย เยอรมัน 2,595 ราย สหราชอาณาจักร 2,546 ราย ฝรั่งเศส 1,955 ราย และมีผู้เสียชีวิต 5 ราย อยู่ในแอฟริกาทั้งหมดซึ่งเป็นผู้ที่มีโรคร่วม

สำหรับสถานการณ์ฝีดาษลิงในประเทศไทย ผู้ป่วยรายที่ 1 เป็นชายชาวไนจีเรีย อายุ 27 ปี เริ่มป่วย วันที่ 9 ก.ค. 2565 ผลตรวจยืนยันวันที่ 18 ก.ค. 2565 และหลบหนีไปกัมพูชาวันที่ 21 ก.ค. 2565 ปัจจุบันแผลแห้งตกสะเก็ดแล้ว ผลตรวจเป็นสายพันธุ์ Western African A.2 และจากการเฝ้าระวังผู้สัมผัสโรคในพื้นที่ภูเก็ตและผู้ที่พบปะในสถานบันเทิงรวมกว่า 50 ราย ยังไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ในพื้นที่

ส่วนผู้ป่วยรายที่ 2 เป็นชายไทยอายุ 47 ปี ติดเชื้อจากชายต่างชาติ มีอาการวันที่ 15 ก.ค. 2565 เป็นตุ่มหนองที่อวัยวะเพศและใบหน้าแขนขา วันที่ 26 ก.ค. 2565 ไปรักษาที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล วันที่ 27 ก.ค. 2565 ผลตรวจ PCR ยืนยันโรคฝีดาษลิงวันที่ 28 ก.ค. 2565 และผลตรวจวิเคราะห์พบเป็นสายพันธุ์ Western African B.1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในแถบประเทศยุโรป กำลังติดตามชายชาวยุโรปที่มีเพศสัมพันธ์ด้วยและคาดว่าเป็นผู้แพร่เชื้อโดยขณะนี้ทีมสอบสวนโรคได้ทำการฆ่าเชื้อในบ้านของผู้ป่วยแล้ว พร้อมเก็บตัวอย่างจากผู้สัมผัสในบ้าน 2 หลัง รวม 17 คน เพื่อส่งตรวจในวันที่ 29 ก.ค. 2565 ผลตรวจออกมาแล้ว 16 ราย ผลเป็นลบ และรอผลตรวจอีก 1 ราย ทั้งนี้ต้องเฝ้าระวังต่อจนครบ 21 วัน

นพ.โสภณ กล่าวเพิ่มเติมว่าได้กำชับไปยังกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค กรมควบคุมโรค และด่านควบคุมโรคติดต่อท่าอากาศยานนานาชาติ ให้ตรวจคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้าประเทศอย่างเข้มงวด โดยกองด่านควบคุมโรคติดต่อฯ รายงานผลการตรวจคัดกรองผู้เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดของโรคฝีดาษลิง (ข้อมูลประจำวันที่ 29 ก.ค. 2565) ทำการคัดกรองทั้งหมด 2,527 ราย แบ่งเป็นผู้เดินทางจากโซนยุโรป จำนวน 2,389 ราย ผู้เดินทางจากแอฟริกา จำนวน 138 ราย พร้อมแจกบัตรคำเตือนสุขภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่พบผู้มีอาการสงสัยป่วยโรคฝีดาษลิง

ทั้งนี้โรคฝีดาษลิง ไม่ได้ติดต่อง่าย ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention : UP ล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัย และโดยเฉพาะผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ขอให้เพิ่มความระมัดระวัง ลดการสัมผัสใกล้ชิดกับคนแปลกหน้า หรือหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ไม่รู้จัก เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อฝีดาษลิง หากมีอาการป่วยสงสัย สามารถติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อรับการตรวจหาเชื้อได้ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

พบผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโรคฝีดาษลิงนอกทวีปแอฟริกาเป็นครั้งแล้วที่บราซิลและสเปน

บราซิลและสเปนรายงานพบผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโรคฝีดาษลิงรายแรกในประเทศและยังเป็นการเสียชีวิตที่เชื่อมโยงกับการระบาดระลอกปัจจุบันนอกทวีปแอฟริกา

โดยสเปนซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญกับการระบาดของโรคฝีดาษลิงรหนักหน่วงที่สุดในโลกมีผู้ป่วยสะสมแล้ว 4,298 คน จากรายงานของศูนย์ประสานงานฉุกเฉินและการแจ้งเตือนสังกัดกระทรวงสาธารณสุขสเปนระบุว่าในจำนวนนี้ 120 คน ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลและเสียชีวิตแล้ว 1 คน เมื่อวานนี้ (29 ก.ค.) แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่เปิดเผยสาเหตุการเสียชีวิตในระหว่างรอผลการชันสูตรศพ

ส่วนในบราซิลผู้เสียชีวิตเป็นชายวัย 41 ปีสื่อท้องถิ่นรายงานว่า เขามีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันและเสียชีวิตเมื่อวานนี้ (29 ก.ค.) ในเมือง เบลูโอรีซองชี เมืองเอกของรัฐมีนัชเจไรช์ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ขณะที่เจ้าหน้าที่เน้นย้ำว่า ผู้เสียชีวิตมีโรคร้ายแรงอื่นร่วมด้วย ดังนั้นประชาชนจึงไม่ควรตื่นตระหนก และว่าอัตราการเสียชีวิตของโรคฝีดาษลิงยังคงต่ำมาก

'นิวยอร์ก' ประกาศให้เป็นภัยคุกคามต่อระบบสาธารณสุข

สำนักงานสาธารณสุขรัฐนิวยอร์กของสหรัฐฯ ประกาศให้การระบาดของโรคฝีดาษลิงเป็นภัยคุกคามต่อระบบสาธารณสุข เพื่อยกระดับการปกป้อง และจำกัดการแพร่ระบาดในชุมชนหลังจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ทั้งนี้สหรัฐมีผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงสะสมแล้วเกือบ 5,000 คน ในจำนวนนี้อยู่ในรัฐนิวยอร์กถึง 1,247 คน หรือราว 1ใน4 โดยสหรัฐฯ ยังคงเป็นประเทศที่มีผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงสะสมมากที่สุดในโลกหลังพบผู้ป่วยรายแรกเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2022 ขณะที่ทางการสหรัฐฯ เตรียมแจกจ่ายวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง อีก 780,000 โดส ให้สถานพยาบาลทั่วประเทศ เพิ่มเติมจากที่แจกจ่ายไปแล้ว กว่า 3 แสนโดส

 

ที่มาเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไทย [1] [2] | สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ [1] [2]


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net